อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (๑๒)


เอกสารฉบับร่าง ถอดเทปคำอภิปราย
อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (๑๒) 
เมื่อวันที่ ๗ พย. ๔๘ ผมได้รับ อี-เมล์ จาก ศ. ดร. วิชัย บุญแสง  และแนบเอกสารถอดเทปการ
ประชุมอภิปรายเรื่องนี้ที่ชะอำเมื่อวันที่ ๑๕ ตค. ๔๘    จึงขออนุญาตนำมาลง บล็อก ให้ผู้สนใจ
ได้อ่าน    โปรดอ่านโดยตระหนักว่ายังเป็นเอกสารฉบับร่างนะครับ
เรียน รศ.ดร. วันชัย ดีเอกนามกูล
        ผมคิดจะจัดทำประชาคมวิจัยฉบับพิเศษที่มีเนื้อหาให้นักวิจัยควรทราบในระยะเวลานี้
นอกเหนือจากการจัดทำหนังสือ “นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” หลังการประชุม
โดยที่ประชาคมวิจัยฉบับพิเศษจะมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ ดังนี้
1. ความคืบหน้าของโครงการ mega project และบทความของ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ที่เผยแพร่
ใน blog 
2. สรุปประเด็น “การสร้างเครือข่ายงานวิจัยแบบมุ่งเป้า” จากการประชุมที่โรงแรมรีเจนท์
ชะอำ   เพื่อนำมาปรับให้สอดคล้องกับการให้ทุนแบบ Target based research ของฝ่ายวิชาการ 
3. ประกาศ และยกย่องผู้ที่ได้รับรางวัลต่างๆในการประชุม
        หากอาจารย์วันชัยเห็นด้วย ผมอยากขอให้อาจารย์ช่วยปรับประเด็น และความคืบหน้าตาม
สมควรในบทความเกี่ยวกับ mega project ใน 4 หน้าแรก ที่อาจารย์ได้อภิปรายในงานประชุมวันสุด
ท้าย ดังเอกสารแนบ   และบทความดังกล่าวจะส่งให้นักวิจัยท่านอื่นๆที่ร่วมอภิปรายช่วยปรับความเห็นด้วย
ครับ

                                                        วิชัย บุญแสง

โครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพชราภิเษก
เพื่อการพัฒนาบุคลากรอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา
สู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
"โครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพชราภิเษกเพื่อการพัฒนาบุคลากรอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ" ระยะที่ 1 (2549 - 2552)   เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Mega Project) เสนอโดย สกอ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ในวงการอุดมศึกษาและวงการวิจัย   คณะทำงานผู้ยกร่างโครงการประกอบด้วย รศ.ดร. วันชัย  ดีเอกนามกูล  ศ.ดร. สุพจน์  หารหนองบัว   ศ.ดร. เกตุ  กรุดพันธุ์,   รศ.ดร. วัชรพงศ์  อนันต์ชื่น  และ ผศ.ดร. ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ   ที่ร่วมกันเขียนข้อเสนอโครงการนี้
           คณะทำงานฯนำโดย รศ.ดร. วันชัย  ดีเอกนามกูล  ได้นำเสนอข้อมูลโครงการนี้ ในการประชุม นักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ในวันที่ 15 ตุลาคม 2548 รายละเอียดดังนี้
โครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพชราภิเษกฯ เกิดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาบุคลากรอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเมื่อพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขันเราก็เห็นตัวเลขเป็นภาพรวมใหญ่ๆ  ซึ่งเป็นตัวเปรียบเทียบให้เห็นตำแหน่งของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ในภาพรวม ปี 2547 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 ซึ่งน่าสนใจที่ว่าดีกว่า อินเดีย และเกาหลีด้วยซ้ำไปในภาพรวม แต่จุดที่อ่อนที่สุด คือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโครงสร้างทางด้านวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 55 และโครงสร้างทางด้านเทคโนโลยี อยู่ที่อันดับที่ 45 ซึ่งต่ำกว่าประเทศอินเดีย และ เกาหลี แต่ภาพลักษณ์ของประเทศอินเดียในเชิงวิจัยและพัฒนาและความก้าวหน้าในสายตาระดับโลก ดูเหมือนว่าจะดูดีกว่าประเทศไทยมากทั้งที่ภาพรวมเขาอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า เมื่ออินเดียเน้นงาน R&D ในเรื่องต่างๆ ทำให้เขาได้รับการยอมรับว่าเขากำลังก้าวสู่การเป็น R&D hub ของโลก ซึ่งเรามักจะได้ยินข่าวการพัฒนาของอินเดียในระยะเวลาที่ผ่านมาหากดูในภาพรวมจะเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในระดับเฟสสองเท่านั้นในสายตาของการพัฒนาการศึกษาในระดับโลก มาเลเซียกำลังก้าวสู่ในเฟสสาม สิงคโปร์อยู่ในเฟสสามแล้ว เวียดนามก็กำลังตามเราติดๆ 
เมื่อพิจารณาถึงจำนวนปริญญาเอกในระบบอุดมศึกษา ระบบอุดมศึกษาของรัฐมีจำนวนบุคลากรระดับปริญญาเอก 29 % จากจำนวนบุคลากร 30,000 คน ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยของรัฐ 18 แห่ง ซึ่งมีบุคลากรระดับปริญญาเอกเป็น 36% มหาวิทยาลัยในกำกับ  4 แห่ง มีบุคลากรระดับปริญญาเอกเป็น 45%  มหาวิทยาลัยเปิด 2  แห่ง มีบุคลากรระดับปริญญาเอกเป็น 25%  และมหาวิทยาลัยราชภัฎ 41 แห่ง มีบุคลากรระดับปริญญาเอกเป็น 7 % เมื่อพิจารณาจำนวนบุคลากรระดับปริญญาเอกในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน โดยเฉลี่ย อยู่ที่ 13 % ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยของเอกชน  14 % และระดับวิทยาลัย  8 % รวมทั้งหมดบุคลากรในระบบอุดมศึกษาที่เป็นอาจารย์ มีถึง 40,000  คน  เป็นระดับปริญญาเอกประมาณ 10,000  คน (25%) ตัวเลขนี้ยังไม่รวมของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งหากรวมแล้วจะทำให้ตัวเลขนี้ลงไปอยู่ที่ 22 % 
หากพิจารณาการกระจายอายุของอาจารย์สายวิทยาศาสตร์กายภาพของมหาวิทยาลัยชั้นนำ 8 แห่งที่กลุ่มของเราได้ทำวิจัยจะเห็นว่าลักษณะของการกระจายอายุจะมีอยู่ใน 2 กลุ่ม เป็นลักษณะ 2 ลูกคลื่น กลุ่มแรกนี้กำลังจะเกษียณอายุอย่างรวดเร็ว และกลุ่มหลังเข้ามาแทนที่ กลุ่มแรกถือว่ามีระดับครีมอยู่มากในระดับปรมาจารย์ ทำอย่างไรที่ประเทศไทยของเราจะมีเชิงคุณภาพที่จะมาทดแทนในกลุ่มนี้
เรื่องวิสัยทัศน์ในระดับประเทศต่ออุดมศึกษาในบ้านเรายังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียเขาประกาศตั้งแต่ในปี 1999 ว่าเขาจะเป็น Multimedia Supercorridor โดยที่ดึงเอาอุดมศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง มีจุดยืนที่ชัดเจนและที่สำคัญคือ สร้าง knowledge-based society โดยผ่านกระบวนการของ multimedia  ในขณะที่เกาหลีได้สร้างโครงการที่เรียกว่า Brain Korea 2021 ตั้งเป้าว่าจะมุ่งสู่ World Class University  ชัดเจนในระดับนั้น สำหรับประเทศไทยเราจะตั้งว่าเป็น Wisdom-based Thailand ในระยะ 15 ปี จากนี้ดีไหม เพื่อเป็นการสร้างกรอบว่าเรากำลังจะพัฒนาอุดมศึกษาจากสภาพที่เป็นอยู่อย่างไร Mega project ที่จะนำเสนอก็อยู่ในระดับที่เรากำลังจะสร้างเครือข่ายเชิงกลยุทธ์  เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในลักษณะการกระจายในวงกว้าง และในขณะเดียวกันก็ลงในระดับที่ลึกลงไปด้วย และคาดหวังว่าจะเกิดความเป็นเลิศอย่างแท้จริงในมหาวิทยาลัยในลักษณะของ centers of excellence และหวังผลให้เราเป็น hub ใน area นี้ ถ้าเราพัฒนาได้อย่างถูกทางใช้ระบบ fast tract เราอาจจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลกกับเขาบ้าง
ประเทศของเรามีองค์ความรู้ในลักษณะภูมิปัญญาอยู่มาก น่าจะใช้รูปแบบในลักษณะของการตั้งโจทย์วิจัยอยู่บนฐานขององค์ความรู้เหล่านั้นด้วย เพราะฉะนั้นหากเราจะจัดตั้งในลักษณะของ discipline-based ที่มีอยู่เดิม มาในลักษณะของ problem-based แล้วก็เปิดกว้างทั้ง 20 เครือข่ายทั่วประเทศในลักษณะของสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ตั้งแต่ high end ในระดับมหาวิทยาลัยดั้งเดิมที่พัฒนาแล้วไปจนถึงมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ ราชภัฎ ราชมงคล  แล้วถ้าให้ดีควรครอบคลุมไปถึงเอกชนด้วยก็น่าจะเกิดเป็น  critical mass ของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ให้มาอยู่ในเครือข่ายในลักษณะที่ focus ในเรื่องของงานวิจัยในแง่ของโจทย์ที่จะต้องตอบในลักษณะของงานวิจัยจากภาคอุดมศึกษามากขึ้น
กลไกของการพัฒนาบุคลากร สายวิชาการควบคู่กับการวิจัยและบัณฑิตศึกษา ซึ่งต้องยอมรับว่าบัณฑิตศึกษาเป็นกลจักรสำคัญในการทำงานวิจัยและก็สร้างผลงาน ถ้าผูกทั้งสามเรื่องนี้มาอยู่ด้วยกันก็น่าที่จะทำให้พลังในเรื่องของทั้งการผลิตผลงานและพัฒนาคนไปด้วยกัน สิ่งที่ท่านเลขาได้พูดคือว่าในมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ที่ท่านเปรียบว่าเป็นหลุมใหญ่ๆ พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรของหลุม ของกลุ่มใหม่ก็จะดีขึ้นมาเรื่อยๆ กลยุทธ์ที่ต่างไปจากเดิมก็คือ สกอ. อยากจะให้มีการจัดจ้าง ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามา หลายๆครั้งท่านพูดถึงกลยุทธ์ของอาจารย์สตางค์ที่พัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ของ มหาวิทยาลัยมหิดล จนเป็นที่เลื่องลือในปัจจุบัน สิ่งที่เราขาดไปในปัจจุบันก็คือการเชื่อมโยงกับต่างประเทศในรูปแบบที่เขามาอยู่กับเราด้วยในลักษณะที่ช่วยคิดช่วยทำ อย่างกลยุทธ์ที่สิงคโปร์ใช้แทบจะนำเข้านักวิชาการเข้ามาเลย ของเราคงไม่ถึงระดับนั้น ถ้าเราสามารถที่จะดึงบุคคล เข้ามาแล้วเขาก็อยากจะพัฒนากับเราแล้ว ผมคิดว่ารูปแบบของการผลิตปริญญาเอกในบ้านเราก็อาจพัฒนาขึ้นไปจากเดิม แล้วก็มีประสิทธิภาพในการผลิตเชิงปริมาณควบคู่กับคุณภาพในอัตราที่น่าจะดีกว่าปัจจุบัน  ในโครงการนี้น่าจะสร้าง career path ให้เกิดความมั่นคงให้กับนักวิชาการไปพร้อมๆกัน  โดยใช้รูปแบบต่างๆที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นของ สกอ. เองที่เน้นการให้ทุน ในระดับปริญญาเอก และ สกว. เองที่เน้นในลักษณะขั้นบันไดที่ไต่เต้าไปสู่นักวิจัยอาชีพในระดับต่างๆ ในขณะที่เราอาจจะขาด หรือยังอ่อน ในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมก็น่าที่จะใช้จังหวะนี้เข้ามาด้วย
ที่สำคัญคือเราจะทำอย่างไรที่จะหาผู้จัดการในแต่ละเครือข่ายได้ตรงตามความต้องการที่มองเห็นภาพรวมตั้งแต่ข้างล่างไปจนถึงระดับบนเพื่อที่จะสามารถกำหนดได้ว่าโจทย์ที่น่าจะสอดคล้องกับการพัฒนาในทุกระดับในเครือข่ายนั้นๆ น่าจะเป็นอย่างไร ถ้า CEO ในเครือข่ายนั้นๆ สามารถสร้าง package ของงานได้ถูกต้องหรือสอดคล้องกับปัญหาที่เป็นอยู่ และถ้าผลจากการดำเนินการตรงนี้สามารถชี้ให้เห็นได้ว่าจุดแข็งของสถาบันหนึ่งๆ มีอยู่ที่ไหน ในเรื่องไหน อย่างไร และมี critical mass ของนักวิชาการอยู่ที่นั้นๆ เพียงพอ ความเข้มแข็งในเชิงองค์กรก็จะเกิดขึ้นในรูปของมหาวิทยาลัยในภาพรวม ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ก็จะชัดเจน แล้วก็สามารถจับต้องได้ในเชิง KPI ต่างๆ ข้อมูลเหล่านั้นก็สามารถไปสู่การแข่งขันระดับ world class ได้ เหล่านี้เป็นภาพรวมในเชิงกลยุทธ์
ในเครือข่ายจะมีทั้งผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ของเราในประเทศ ต่างประเทศ มีศูนย์ต่างๆ ศูนย์วิจัยแห่งชาติต่างๆ ทั้งหลายเข้ามาอยู่ในเครือข่ายที่มีชื่อในลักษณะ problem-based มีทุนตั้งแต่ระดับข้างบนที่รวมมาเป็น package ใหญ่ บูรณาการ  ทุนผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ทุนอาจารย์อาวุโส ทุนอาจารย์รุ่นกลาง ทุนอาจารย์รุ่นใหม่ โจทย์วิจัยที่เป็นปัญหาของประเทศมีการดำเนินการเอา input ของนักศึกษาทั้งในระดับ ตรี โท เอก ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในโครงการนี้จะเน้นในหลักสูตรปริญญาเอก ที่มีความทันสมัย output ออกมาเราก็คาดหวังว่าเราจะมีบุคลากรที่พัฒนาไปจากเดิมได้วุฒิปริญญาเอก ที่จะไปเติมเต็มในระดับอุดมศึกษาที่มีสัดส่วนของปริญญาเอกอยู่ในระดับต่ำ เราคาดหวังว่าโดยกระบวนการนี้จะมีผลงานในเชิงวิชาการ ทรัพย์สินทางปัญญา นวัตกรรม และ product เพื่อที่จะตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เขาจะไม่ว่าเราได้ว่าเรามุ่งในเรื่องของการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการอย่างเดียว โครงสร้างจะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของชุมชนในระดับล่างไปถึงระดับ R&D ระดับกลางไปจนถึงเรื่องของ frontier research ในระดับสูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโจทย์ทั้งหลายที่คิดว่าจะให้ระดับปริญญาเอกเขาทำอะไรกัน ถ้าโจทย์เหล่านั้นถูกต้องทุกอย่างก็จะตอบสนองในเชิงของ output ที่อยากจะได้
เครือข่ายเชิงกลยุทธ์ฯ มี 20 เครือข่าย   แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม  ดังนี้
1. กลุ่มกระบวนทัศน์ใหม่   เน้นการก้าวทันสากล   ศาสตร์ใหม่   และการดักแนวโน้มนวัตกรรมในอนาคตสู่โลกของ Molecular Economy ประกอบด้วย 4 เครือข่ายคือ
     (1) เครือข่ายพลังงานทางเลือก
     (2) เครือข่ายนาโนวัสดุและนาโนอุปกรณ์
     (3) เครือข่ายเทคโนโลยีผสมผสานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
     (4) เครือข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศ
2. กลุ่มฐานเศรษฐกิจของประเทศ   เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตตามยุทธศาสตร์รัฐบาล   ประกอบด้วย 6 เครือข่ายคือ
     (5) เครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหาร  สมุนไพร  และผลไม้
     (6) เครือข่ายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรก้าวหน้า
     (7) เครือข่ายอัญมณี  เครื่องประดับ   และแฟชั่น
     (8) เครือข่ายเทคโนโลยีดิจิตัลและซอฟท์แวร์
     (9) เครือข่ายระบบการจัดการเรื่องมาตรฐานและเครื่องมือวิเคราะห์
    (10) เครือข่ายระบบ logistics  การขนส่ง  การบิน (Aviation) และการจราจร
3. กลุ่มการจัดการความรู้และทรัพยากรเพื่อความมั่นคงของชาติ   ประกอบด้วย 6 เครือข่ายคือ
    (11) เครือข่ายโรคอุบัติใหม่และภัยคุกคามด้านชีวภาพ
    (12) เครือข่ายการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ
    (13) เครือข่ายเคมีเพื่อการสร้างนวัตกรรม
    (14) เครือข่ายเทคโนโลยีและการจัดการภาวะฉุกเฉิน  ภัยพิบัติ  และสิ่งแวดล้อม
    (15) เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาและการจัดการความรู้
    (16) เครือข่ายทรัพย์สินทางปัญญาและการพาณิชย์เชิงองค์ความรู้
4. กลุ่มวัฒนธรรมและสังคม   ประกอบด้วย 2 เครือข่ายคือ
    (17) เครือข่ายภาษา  วัฒนธรรม  ศิลปะ   และภูมิปัญญา
    (18) เครือข่ายสังคมศาสตร์เพื่อการจัดระเบียบสังคม
5. กลุ่มพิเศษเพื่อแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์พื้นฐานของประเทศ   ประกอบด้วย 2 เครือข่ายคือ
    (19) เครือข่ายฟิสิกส์
    (20) เครือข่ายคณิตศาสตร์
เป้าหมายในระยะ 4 ปี (2549 - 2552)
1. ผลิตปริญญาเอก 7,800 คน
2. พัฒนาบุคลากรสายวิชาการระดับแนวหน้า  จำนวน 2,300 คน
3. ผลิตผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ 12,000 เรื่อง
4. สร้างหลักสูตรเชิงกลยุทธระดับนานาชาติ 25 หลักสูตร
5. ผลิตสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ระดับอุตสาหกรรม 70 ชิ้น
6. เกิดเครือข่ายวิจัยกับต่างประเทศ 700 เครือข่าย
7. เกิดศูนย์ความเป็นเลิศในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 60 ศูนย์
เงื่อนไขสู่ความสำเร็จที่สำคัญคือเราจะต้องมีผู้จัดการในแต่ละเครือข่ายเป็นมืออาชีพ มีนวัตกรรมของการบริหารจัดการ ซึ่ง key of success คือการจัดการ เราเห็นว่า สกว.ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาในการบริหารจัดการอย่างมาก แล้วก็คิดว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญมากเลยในการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการ และพยายามให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการสนับสนุนต้องมีความต่อเนื่อง  ในงบประมาณรวม 28,000 ล้านบาท จะใช้เงิน 16,000  ล้านบาท ในกรอบ 4 ปี และจะกระจายต่อไปหลังจากปี 2552 ซึ่งก็ทำให้ความกดดันในเรื่องของการที่จะดำเนินการโครงการนี้ลดลงไป ทั้งหมดนี้เป็นภาพสรุปว่าเราต้องการให้ประเทศไทยอยู่ในระดับสากลในเรื่องของระบบอุดมศึกษา  เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตบุคลากรของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และแน่นอนทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม 
ความเห็นจากที่ประชุม
ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดีใจมากที่มีโครงการนี้ขึ้นมา เนื่องจากตอนที่เกิด CRN  ก็ไม่ทราบเพราะตัวเองไม่ได้เป็นผู้บริหาร  ทำให้มีความรู้สึกว่าเครือข่ายไม่ได้ represent ความต้องการจริงๆ  ยกตัวอย่างง่ายๆ ทางประมง สุดท้ายเราก็ทำตัวเป็นกาวตราช้างไปแปะอยู่กับเครือข่ายเกษตร และเครือข่ายวิทยาศาสตร์ทางน้ำ แต่ว่า theme ของ 2 เครือข่ายไม่ได้ serve ดิฉันมองว่าเราใน sector ทางประมงเราทำรายได้เข้าประเทศตั้งเท่าไหร่ แต่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ได้เป็น highlight เลย คือขอไปเขาให้ แต่ก็เป็นกระเซ็นกระสาย ขอเสนอความคิดซึ่งหลายท่านคงจะคิดไว้แล้วว่าระบบที่น่าจะดีที่สุด น่าจะเป็นการ bid  คือเมื่อฟอร์ม cluster ใหญ่เรียบร้อยแล้ว ลูกข่ายทำโครงการมา bid กัน ว่าของฉันจะทำอย่างนี้นะ จะมีอะไรออกมาเท่านี้ มันจะ serve กับกลยุทธ์ของประเทศได้อย่างไร  ครอบคลุมคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร น่าจะเป็นวิธีที่ fair ที่สุด
ศ.ดร.ประเสริฐ โศภน
มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ภาวิชพูดว่าเรามีปัญหามากมาย มหาวิทยาลัยหลักก็ต้องการเงิน  มหาวิทยาลัยราชภัฎ และราชมงคล รวมกันแล้วร้อยกว่าแห่งที่เกิดใหม่  ก็เป็นหลุมดำที่ต้องมีการเติมทรัพยากรทั้งในด้านเงินและโดยเฉพาะบุคลากรที่มีวุฒิปริญญาเอกซึ่งมีทั้งคุณภาพและปริมาณ ทำอย่างไรเราถึงจะแก้ไขปัญหาที่เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันนี้ได้ ในขณะนี้เราค่อนข้างมองกันไปคนละทาง คณะทำงานฯ ก็มองในเชิงของการพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพในเชิงสากล  แต่ขณะเดียวกันก็เห็นชัดว่ากลุ่มชาวบ้านที่มีปราชญ์ชาวบ้านเป็นแกนถูกทอดทิ้งไว้อยู่ข้างหลัง ที่ผ่านมาเราไม่สามารถทำให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวเชื่อมระหว่างส่วนล่างกับส่วนบนซึ่งนับวันจะทิ้งกันห่างออกไป  ในเชิงสากลมหาวิทยาลัยของเราไม่สามารถแม้กระทั่งติดอันดับของโลกใน 500 หรือ 1000 ได้ ท่านจะสร้างเครือข่ายเชิงกลยุทธ์ 20 เครือข่าย เครือข่ายกับนักวิจัยต่างประเทศ ผู้ชำนาญต่างประเทศ 700 เครือข่าย แต่ที่ท่านควรจะสร้างไปพร้อมกันคือเครือข่ายกับชาวบ้านอีกนับร้อยนับพันเครือข่าย ประเด็นก็คือจะทำได้อย่างไร จะทำให้กระบวนการพัฒนามหาวิทยาลัยเชิงสากลที่ท่านคิดเป็นหัวจักรในการดึงทุกอย่างเข้าไปหากันและไปด้วยกันได้ มหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยราชมงคล  ก็มีสิทธิที่จะเป็นมหาวิทยาลัย เรากีดกั้นเขาไม่ได้ นี่คือกระบวนการของโลกและขณะเดียวกันเป็นสิทธิมนุษยชนที่ว่าจะอยู่แห่งไหนตำบลใด ก็มีสิทธิที่จะเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัย นอกจากระดับมัธยมแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าไปฝืนความจริงว่ามหาวิทยาลัยของไทยร้อยกว่าแห่งจะต้องเท่าเทียมกัน ทำอะไรเหมือนกัน เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเหมือนกัน ฯลฯ  ถ้าไปพยายามถมหลุมดำให้มีระดับเท่ากัน โดยงบประมาณที่จำกัด แล้วท่านก็จะทำให้เนินหรือมหาวิทยาลัยหลักเดิมที่ค่อนข้างมีคุณภาพอยู่แล้วเตี้ยลงด้วยแน่นอน  เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าต้องยอมรับว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎ ราชมงคล มีบทบาทสำคัญยิ่งเหมือนกับ community college ที่ให้คนในท้องถิ่นมีโอกาสร่ำเรียนถึง ปริญญาตรี ปริญญาโท หน้าที่ของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นก็คือให้คนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้บ้านได้เรียนหนังสือถึงระดับปริญญาตรีโดยค่าใช้จ่ายน้อยแต่มีคุณภาพ ผมเสนอว่า ให้พยายามผูกเครือข่ายชาวบ้านที่มีปราชญ์ชาวบ้านเป็นแกนนำในเรื่องต่างๆ เช่น ผู้ชำนาญเฉพาะทางเรื่องแตงโม เรื่องข้าวโพด เรื่องข้าว ฯลฯ ในเครือข่ายต่างๆ เหล่านี้ผูกกับ 20 เครือข่ายของท่าน  เป็นต้นว่า เครือข่ายเคมีสมัยใหม่เพื่อการพัฒนานวัตกรรม  ถ้าเอาโจทย์จากปราชญ์ชาวบ้านขึ้นมาเป็นหัวข้อวิจัยร่วม เช่นว่าด้วยเรื่องสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้ฆ่าหอยเชอร์รี่ก็ดี จุลินทรีย์ต่างๆ และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารหรือยาก็ดี แล้วกำหนดให้เป็นเงื่อนไขก็ได้ว่าใครจะมาแข่งเพื่อทำงานวิจัย ทำงานในเครือข่ายต้อง มีพันธมิตรจากมหาวิทยาลัยหลักส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคมีมหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยราชมงคล แล้วก็มีแกนนำหรือปราชญ์ชาวบ้านและกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งเราเรียกว่า ผู้ใช้ประโยชน์ (end user)  ผมมองดูแล้วเห็นว่าเครือข่ายของท่าน ทั้ง 20 เครือข่าย แทบจะเรียกว่า 90% สามารถผูกพันธมิตรแบบนี้เข้าได้ในการที่จะเป็นโจทย์วิจัย ให้มหาวิทยาลัยราชภัฎฯ ราชมงคลฯ เป็นแนวหน้า ในการที่จะเข้าไปสัมผัสแล้วตั้งโจทย์วิจัยเหล่านี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหลักๆ  ถ้าจะพัฒนาโจทย์วิจัยขึ้นมาแบบใช้นวัตกรรมขั้นสูงก็ทำไป แต่ขณะเดียวกันมองดูว่าอะไรที่เป็นประกายจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ  โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่เราอยากจะช่วยเขาด้วย  แล้วก็เอาเขาเข้ามาทำ Ph.D.  เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ผมคิดว่า มันจะช่วยทำให้โครงการพัฒนาอุดมศึกษาที่ท่านคิดกันสามารถเป็นหัวจักรช่วยดึง ดึงกันตั้งแต่จนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฎและราชมงคล ตลอดจนถึงกลุ่มชาวบ้านที่สามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย
ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาระบบการให้ความดีความชอบ เช่น การเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการโดยผสมผสานแบบเดิมที่ใช้อยู่กับแบบใหม่ที่ประเมินการใช้ประโยชน์เชิงชุมชนและเชิงสาธารณะด้วย การใช้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเชิงสากลก็คงยังต้องมีอยู่เพราะว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกที่บอกว่ามีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแล้วไม่มี publication ที่มีคุณภาพ เพราะว่าการวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์เป็นสิ่งเดียวกันได้  แต่การให้เครดิตกับงานวิชาการที่ได้ผูกไว้กับเรื่องของผลงานที่เอาไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ เช่น ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการผูกติดกับเครือข่ายของชาวบ้านมากขึ้น แต่แน่นอนว่าเราต้องมีการ พัฒนาระบบ peer review ของงานประเภทนี้ให้ชัดเจน ผมคิดว่าถ้าเป็นไปได้ สิ่งที่ท่านทำ กับ สิ่งที่ สกว.ทำเป็นสิ่งเดียวกัน วิธีการจัดการก็คล้ายคลึงกันมากขณะเดียวกัน สกว.ก็ทำมาแล้ว อย่างไรก็ควรผนวกแนวคิดและนำการจัดการของ สกว.  ไปใช้ในการพัฒนาโครงการของท่านด้วยก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง
ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผมเป็นห่วงเรื่องคำว่าเครือข่าย ขึ้นต้นว่าเครือข่ายแล้วเหมือนเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้  คำว่าเครือข่าย ยิ่ง  rigid เท่าไร  failure rate ยิ่งสูงเท่านั้น เพราะเริ่มต้นว่าเครือข่าย จะมีคนที่ไม่อยู่ในเครือข่ายอันนั้นอย่างแรก อย่างที่สองเครือข่ายแต่ละอย่างโตไม่เท่ากัน พอเวลาบริหารงานก็จะให้เงินเท่าๆ กันทุกคน เป็นต้น อย่างที่สามเราตามความรู้ไม่ทันจริงๆ  เราไปกำหนดสถานการณ์ปัจจุบันว่าเครือข่ายควรจะมีแค่นี้ แต่ถึงเวลาจริงๆ เราสร้างคนไว้แค่นี้มันใช้ไม่ได้  อย่างสุดท้ายมันไม่มีวิชาไหนที่แยกแตกต่างจากวิชาอื่นอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นการที่แบ่งเครือข่ายจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างสาขาวิชาไม่เกิดขึ้น  เพราะฉะนั้นผมไม่รู้ว่าเริ่มไปแล้วมันคงไปตัดคำว่าเครือข่ายไม่ได้ แต่ผมขอให้มันหลวมที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมเสนอว่าควรพัฒนามหาวิทยาลัยออกเป็นสองแบบ  แบบหนึ่งคือแบบเป็นสากล  อีกแบบหนึ่งคือเพื่อท้องถิ่น สิ่งที่เราควรจะยอมรับความจริงก็คือว่านักวิจัยไม่ใช่พระเอก นักวิจัยไม่สามารถไปแก้ปัญหาให้ได้ แต่ถ้านักวิจัยรู้ว่าวิธีแก้ปัญหาคืออย่างไรแล้ว สามารถทำให้มันยั่งยืนได้แล้วพัฒนาต่อไปได้เพราะจะรู้ว่ามันเพราะอะไร  ผมคิดว่าระบบของ สกว.ที่ตั้งมาสามารถใช้พัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสากลได้ เห็นจากคนที่ได้รางวัล มาจากมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เช่น ม.นเรศวร ถ้าทำอย่างนี้ต่อไป มหาวิทยาลัยที่เป็นสากลพัฒนาขึ้นไปได้อย่างแน่นอน ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฎ ราชมงคล ควรมีการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยเหมือนกัน แต่ที่มาของโจทย์ปัญหาควรจะไปหาความรู้ที่ประสบความสำเร็จในท้องถิ่นมาทำงานวิจัยต่อ 
ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในเรื่องของการใช้เงิน  เงินก็คือภาษีอากร จะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล  เมื่อพูดถึงการผลิตปริญญาเอก  เราเข้าใจตรงกันว่าเราอยากได้แบบที่มีคุณภาพ  ถ้าผลิตออกมาไม่มีคุณภาพ มันจะสร้างปัญหาอย่างต่อเนื่อง คือจบปริญญาเอกมาแล้วไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ  ทุกวันนี้กำลังจะเป็นปัญหาว่าจะทำให้ตีพิมพ์ได้อย่างไร  สิ่งที่ผมอยากจะให้พูดคือ ตัว KPI   ผมเอาแค่ 2 ตัว  ตัวที่ 1 ผลิตปริญญาเอก 7,800 คน โดยใช้งบประมาณ28,000 ล้านบาท  ซึ่งคนหนึ่งใช้มากกว่า 3 ล้านบาท หมายความว่าปีหนึ่งใช้มากกว่า 1 ล้านบาทหรืออย่างไร  ค่าใช้จ่ายแพงกว่าใน UK หรือ USA ใช่ไหม  KPI ตัวที่ 2 ก็คือ ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่คาดหวังจะได้มา 12,000 เรื่อง แต่ที่เขียนยังไม่ชัด เขียนเพียงว่าตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ  ไม่ได้พูดถึงว่าเป็นวารสารนานาชาติหรือเปล่า นั้นหมายความว่า หนึ่งบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติใช้เงินเท่าไรครับ ผมว่ามันสูงจริงๆ  ตัวเลขของ สกว. ตอนนี้  ตกประมาณ 300,000 ถึง 500,000 บาท ต่อ 1 เรื่อง  เพราะฉะนั้นผมมองว่า KPI สองตัวนี้มันสะท้อนอะไรบางอย่างว่า งบประมาณที่ใช้กับ output ที่ได้สมเหตุสมผลหรือเปล่า ประเด็นสุดท้ายคือเป้าหมายที่จะทำให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ประมาณ 40,000 คน ให้มีปริญญาเอกเพิ่มขึ้น เราเข้าใจตรงกันว่าเป็นปริญญาเอกที่มีคุณภาพ ถ้าเน้นตรงนี้จริง เราจะทำให้คนที่เป็นอาจารย์อยู่แล้วให้ได้จบปริญญาเอกให้ได้มากขึ้นตามเป้าเกือบหมื่นคน พูดตรงๆ ว่าทุกคนพร้อมที่จะเรียนหรือเปล่า  เรียนแล้วจะจบหรือเปล่า เคยสำรวจหรือยังครับว่าเขามีพื้นฐานอะไร จบอะไรมา จะไปเรียนอะไร เขาอยากจะไปเรียนหรือเปล่า บางทีเขาอาจจะไม่อยากไปเรียนแล้ว หลายคนเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเขามีรายได้ดีอยู่แล้ว  มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ  ขอบคุณครับ
รศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล
มหาวิทยาลัยมหิดล
ประเด็นที่ 1 คือการสร้างเครือข่ายแล้วใช้เงินงบประมาณในระยะเวลา 4 ปี โดยการตั้งนโยบายทั้งหมดเป็นวิธีของรัฐบาลที่ทำมาอย่าง fail ตลอด  เพราะว่า 1 ในการพูดถึงเครือข่ายในเวลาแค่ 1 ปี ต้อง submit เครือข่ายที่ยาวไกลจนถึงชุมชนนั้นเป็นไปไม่ได้  ไม่มีเครือข่ายไหนที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานนั้นได้  ประเด็นที่ 2 คือ ถ้าหากว่าผู้ที่จะไปเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวด มี สกว. เป็นตัวอย่างอย่างชัดเจน สกว. สร้างการเรียนรู้ สร้างแต่ละตัวบุคคลก่อน ยังไม่เป็นเครือข่าย ใช้เวลา 5 ปี เข้าใน phase ที่ 2  ถึงจะเห็นภาพ เป็น individual แล้วทำไมไม่ให้ สกว.ทำต่อในลักษณะเครือข่ายจากนี้ไป
ศ.นพ.บุญเสริม วิทยชำนาญกุล
มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์อมเรศได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ทุนวิจัยหลังปริญญาเอก ต่างประเทศ เก้าร้อยทุน เก้าร้อยล้านบาท ท่านให้ความคิดเห็นที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง  เพราะว่าการให้ทุนหลังปริญญาเอกนั้น ถ้าเราไปต่างประเทศเขาต้องให้เงินเดือนเรา  ไม่ใช่เราเอาเงินไป แล้วเราก็กลายเป็น skilled labor ให้เขา
มันไม่ถูก แทนที่จะทำอย่างนั้นสู้ให้ทำ postdoc. เมืองไทยดีกว่า ผมเข้าใจว่าทางนี้จะคิดว่าไปเมืองนอกจะได้ประสบการณ์เพิ่มเติม  อาจจะจบปริญญาเอกเมืองไทย ยังไม่สมศักดิ์ศรี ยังไม่เก่งพอ   อันนั้นก็มีเหตุผลเหมือนกัน แต่ผมเชื่อว่า การลงทุนอย่างนั้นไม่คุ้ม และบ่อยครั้งที่ไปทำวิจัยเมืองนอกแต่ไม่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองไทยเลย เสียดายเงินจริงๆ เลย ถ้าทำ postdoc.ในเมืองไทย น่าจะมีประโยชน์ในเมืองไทยมากกว่า  แล้วในทางกลับกันถ้าจะให้ทุนคนเมืองนอกมาทำ postdoc. เมืองไทยจะดีกว่าด้วยซ้ำ  เพราะผลงานอยู่ในเมืองไทย จริงๆ  
ผศ.ดร.จีรพันธ์ วรพงษ์
มหาวิทยาลัยมหิดล
ดิฉันเคยผ่านการวิจัยเครือข่าย ของ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ คณะสิ่งแวดล้อมฯ ใช้เวลา 1 ปี ในการประชุมเพื่อที่จะได้เครือข่ายที่ลงตัว และเห็นด้วยกับท่านอาจารย์บุญเสริมค่ะ 
ดร.พรเพ็ญ ศาสตริยาภรณ์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ในฐานะนักวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์  ดิฉันมีคำถามซึ่งเป็นเรื่องที่อาจสืบเนื่องกัน  คือว่าทำไมโจทย์ทางการวิจัยถึงเน้นหนักไปในเรื่องของ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราเองต้องยอมรับว่าฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมันจะนำประเทศเราไปสู่การแข่งขัน แต่ดิฉันอยากจะ refer ไปถึง สิ่งที่คุณลุงณรงค์ กับครูบาสุทธินันท์ เล่าให้ฟัง จริงๆ แล้วเรื่องทั้งหมดไม่ได้มีเฉพาะมิติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น  แต่ว่ามีมิติทางสังคมและวัฒนธรรมแฝงอยู่ด้วย  คำถามที่ว่า แล้วความรู้และเทคโนโลยีที่ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จะนำไปสู่การยอมรับของชุมชนจนกลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชนของชาวบ้าน หรือชาวนาได้อย่างไร  ดิฉันคิดว่าอันนี้คือบทบาทหรือเป็นโจทย์ที่สำคัญของนักวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ซึ่งจะต้องทำงานไปพร้อมๆ กับนักวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์  ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยในเรื่องของวัฒนธรรม   แล้วก็กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งมันแตกต่างออกไป ขาดองค์ความรู้ในเรื่องนี้ ในฐานะที่เรามองกระบวนการในการเรียนรู้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการที่จะ transfer ความรู้ของ
หมายเลขบันทึก: 6582เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2005 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท