ชีวิตที่พอเพียง 3311. นิวยอร์ก ๒๕๖๑ : ๖. กินเลี้ยงและเที่ยวพิพิธภัณฑ์


 ตามกำหนดการ เรามีงานเลี้ยงอาหารเย็น ๓ วันติดกัน    คือวันที่ ๙, ๑๐, ๑๑   วันแรก ศ. นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้ามือเลี้ยงสเต๊ก ที่  Sparks Steak House (1)    ซึ่งเป็นร้านใหญ่มากและเก่าแก่   ที่แปลกตาคือเจ้าหน้าที่เสิร์พส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ    เจ้ามือเป็นคนสั่ง เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร    นอกจากเป็นหมอเชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ    เป็นเนื้อสเต๊กที่นุ่มอร่อยมาก และไม่มีมัน    อ. ปิยะมิตรบอกว่าเป็นเนื้อ sirloin    และติกับเจ้าหน้าที่ว่าย่างสุกไปหน่อย    ไม่ใช่ medium แท้    เรากินไม่หมด ทั้งเนื้อวัว และเนื้อแกะ   เหลือค่อนข้างมาก    อ. หมอปิยมิตรขอห่อกลับโรงแรม เอาไปอุ่นกินตอนเช้า ยังอร่อยเหมือนเดิม   มื้อนี้นอกจากสเต๊กอร่อยแล้ว ไวน์แดงยังอร่อยมากด้วย   

วันที่ ๑๐ ท่านทูตวิทวัส เลี้ยงที่ Mission   ผมไม่ค่อยสบาย จึงไม่ได้ไป    คนที่ไปบอกว่าสถานที่สวยมาก  อยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ The MET

วันที่ ๑๑ UNDP เลี้ยงต้อนรับ ที่ภัตตาคาร Miramar : Mediterranean Seafood Restaurant ตั้งอยู่ริมอ่าวฮัดสัน ที่ผมเดินผ่านตอนเดินออกกำลังเช้าวันที่ ๑๑ นั่นเอง    ผมสั่งซุป Clam Chowder   และปลาแซมมอน    อาหารรสชาติดี  ไวน์แดง Cabernet Sauvignon ก็อร่อย    แต่ทั้งอาหารและไวน์คนละชั้นกับของ Sparks Steak House

วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ เที่ยวพิพิธภัณฑ์

วันนี้โชคดีมาก แดดดี ทั้งๆ ที่พยากรณ์อากาศว่าจะมีฝน   อุณหภูมิ ๑๕ องศา  ลมแรงมาก    คงจะเป็นหางพายุเฮอริเคน ไมเคิล ที่เข้าฝั่งฟลอริดา    และมีข่าวว่า ก่อความเสียหายรุนแรงกว่าพายุ แคทรินา เมื่อหลายปีก่อน  

NMAI New York (2)

ชื่อ NMAI ย่อมาจาก National Museum of  American Indian    เป็นส่วนหนึ่งของ Smithsonian   ตั้งอยู่ในอาคาร Alexander Hamilton U.S. Custom House (3)   ซึ่งถือเป็นอาคารประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมที่งดงามมาก    สร้างเสร็จปี 1907 สำหรับเก็บภาษี ในช่วงที่นิวยอร์กเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก   จนถึงปี 1973 งานศุลกากรย้ายไปอยู่อาคารใหม่    เวลานี้นอกจากใช้เป็นพิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียนแล้ว   ยังใช้เป็น National Archives  และเป็นศาลล้มละลายด้วย  

หน้าอาคาร เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ   มองจากสวนสาธารณะไปทางใต้มีคนมุงแน่น    มองสังเกตให้ชัด ก็เห็นประติมากรรมกรทิงดุ ที่ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจการเงินนั่นเอง   

บันไดหน้า ที่สูงและโอ่อ่า นำผมไปยังชั้น ๒ ของอาคาร   ที่เมื่อผ่านการตรวจรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างเข้มงวดแล้ว    ก็ตรงไปยังห้องโถงใหญ่ที่เรียกว่า Rotunda   คือมีทรงกลมรูปไข่    แสดงนิทรรศการคนพื้นเมือง (Native American) ที่มีส่วนสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศ  โดยเฉพาะมีส่วนรับใช้ชาติ ไปต่อสู้ให้แก่ประเทศ เมื่ออเมริกาไปเกี่ยวข้องกับ “global conflict”   และแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาคารหลังนี้ โดยเฉพาะในช่วงกว่าร้อยปีก่อน       

จาก Rotunda เปิดไปยัง South Gallery, East Gallery และ West Gallery

ที่ South Gallery เป็นนิทรรศการ Infinity of Nations  (4) แสดงให้เห็นว่า  คนพื้นเมืองได้มีชีวิตอยู่ในทวีปอเมริกา ไม่ต่ำกว่า ๑๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว    กระจายอยู่ทั่ว ตั้งแต่ขั้วโลกเหนือ ไปจรดปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้   โดยรวมตัวกันเป็น “เผ่า” หรือ “ชาติ” จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน   ในลักษณะของ “farming village”   โดยในบางพื้นที่สังคมของชนเผ่าก็มีพัฒนาการที่ซับซ้อน เป็นมหาอาณาจักรโบราณ    เมื่อคนขาวไปพบทวีปนี้ในปี 1492   ก็นำไปสู่การเปลี่ยนสภาพเป็นเมืองสมัยใหม่   

นิทรรศการ Infinity of Nations  แสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ที่แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นเมืองอเมริกัน    แบ่งออกเป็น ๑๐ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์   ที่สะท้อนความเจริญก้าวหน้าของชนเหล่านี้    โดยการรวมตัวกันเกิดจากการมีหัวหน้าชนเผ่าที่มีความสามารถรวมใจคนได้ ผ่านศิลปะการพูดจูงใจ การตัดสินใจ และการประกอบพิธีกรรมร่วมกัน    โดยใช้ศิลปวัตถุหลากหลายแบบ ประกอบพิธีกรรมในการทำหน้าที่ผู้นำ    ศิลปวัตถุเหล่านี้ ส่วนมากมาจากการสะสมของ George Heye (4.1)     โปรดอ่านข้อความในรูปที่ ๓ อย่างละเอียดนะครับ    จะเห็นว่าคนที่มี passion สูงคนเดียว สามารถสร้างและส่งต่อ “สมบัติมีค่า” ให้แก่ชนรุ่นหลังได้สูงเพียงไร   

ที่ East Gallery เป็นนิทรรศการเรื่อง TRANSFORMER : Native Art in Light and Sound  (5)   แสดงชิ้นงานศิลปะของศิลปินอเมริกันพื้นเมือง ๑๐ คน   ที่ใช้เทคโนโลยีสารพัดด้าน รวมทั้งดิจิตัลเทคโนโลยี สะท้อนความรู้สึกว่าด้วยความเชื่อมโยงต่อเนื่องระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับวัฒนธรรมคนขาว ที่เป็น dominant culture   ผมติดใจชิ้นงานแสงเงาที่ชื่อ The Harbinger of Catastrophe  โดย Marianne Nicolson (ดูรูปที่ 9)  

ที่ West Gallery  เป็นนิทรรศการเรื่อง Native Heritage and Identity in the Caribbean (6)    แสดงการใช้ความรู้ว่าด้วยความเป็นคนพื้นเมือง    ที่รู้ว่าเลือดหรือพันธุกรรมของคนพื้นเมืองอเมริกันยังคงมีอยู่    โดยได้ผสมกับคนขาว และคนดำที่เข้าไปอยู่ร่วมกัน   นำไปสู่ขบวนการรื้อฟื้นความเป็นคนพื้นถิ่นเดิม   เช่นในหมู่เกาะคาริบเบียนมีขบวนการ ฟื้นความเป็นคน Taino  

จากชั้น ๒ ผมขึ้นลิฟท์ ไปดู National Archives (7)  ที่เป็นข้อมูลช่วยให้คนตามหารากของตนพบ   เปิดให้บริการแก่คนที่ต้องการค้นข้อมูล   แล้วลงลิฟท์ไปที่ชั้น ๑         

ที่ชั้น ๑  มีนิทรรศการ ImagiNATION Activity Center (8) ที่ผู้ชมจับเล่น ต่อ สิ่งของที่จัดแสดงได้    ของที่จัดแสดงก็มาจากชิ้นสิ่งของตามแนวของคนพื้นเมือง    เป็นการริเริ่มทำหน้าที่รูปแบบใหม่ของพิพิธภัณฑ์ใหม่    คือเป็นที่ส่งเสริมจินตนาการของผู้คน    เป็นสถานที่ที่พ่อแม่ควรพาลูกเล็กๆ ไปเที่ยวพักผ่อน และเรียนรู้    ผมชื่นชมนิทรรศการแนวนี้    ที่จะดึงครอบครัวเข้าหาแหล่งความรู้ คือพิพิธภัณฑ์    ช่วยปลูกฝังจิตใจพลเมืองให้เข้าใจความแตกต่าง และวิวัฒนาการของวัฒนธรรม    ช่วยสร้างกระบวนทัศน์ของการเคารพความแตกต่าง หรือความอดทน (tolerance) ต่อความแตกต่าง    ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสภาพ globalization ของสังคมโลก  

เสียดายที่ผมไม่ได้ชมนิทรรศการ Circle of Dance (8.1) ที่ชั้น ๑

พิพิธภัณฑ์นี้เพิ่งเปิดเมื่อปี 1989   และย้ายมาที่ตึกนี้ในปี 1994     

Museum of Jewish Heritage(9)

ผมไปชมตอนบ่าย ใช้เวลาราวๆ ๒ ชั่วโมง เช่นเดียวกับการชม NMAI    พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ริมอ่าวฮัดสัน  เป็นอาคาร ๓ ชั้น อายุเพิ่งครบ ๒๐ ปี   เสียค่าเข้าชม ๑๐ เหรียญ ราคาผู้สูงอายุ    ราคาเต็ม ๑๒ เหรียญ       

เริ่มจากชั้นล่าง นิทรรศการ Jewish Life A Century Ago : 1880 – 1930 (10) จัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนยิวเมื่อ ๑ ศตวรรษมาแล้ว ปี 1880 – 1930   ที่คนยิวรวมตัวกันเป็นชุมชนที่ช่วยเหลือกัน   มีกิจกรรมการรวมตัวกันแน่นแฟ้นในครอบครัว    มีการนับถือศาสนายิว    และเอาใจใส่การศึกษา    และมีพิธีกรรมตามช่วงชีวิต และตามฤดูกาล เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวคนยิวเข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น      คนยิวกระจายตัวอยู่ในทุกทวีปของโลก 

ดูชั้นล่างจบ ก็ขึ้นบันไดเลื่อนไปชั้นสอง นิทรรศการ The War Against the Jews : 1930 - 1945  (10),  (11)   แสดงสงครามต่อต้านยิว ในปี 1930 – 1945   ซึ่งในการจัดแสดง ระบุการก่อตัวของกระแสเกลียดยิวมาตั้งแต่ คศ. 1901   เกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรป   รวมทั้งที่รัสเซีย ที่จำกัดสิทธิต่างๆ ต่อคนยิว    เมื่อนาซีเยอรมันมีอำนาจรัฐมีการออกกฎหมายยกเลิกสิทธิพลเมืองของคนยิว    ห้ามคนยิวแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์กับคนเยอรมัน ที่ถือว่าเป็นเผ่าอารยัน ที่เหนือกว่า    กำหนดให้คนยิวต้องถือสมุดพกประจำตัวแสดงความเป็นคนยิว ฯลฯ    รวมเกิดกระแสการจำกัดเขตที่อยู่ให้แก่คนยิว ที่เรียกว่า Ghetto ในยุโรป    การจับคนยิวเข้าค่ายกักกัน   และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวรุนแรงที่สุดในสมัยนาซีเยอรมัน   นิทรรศการช่วงนี้มีรายละเอียดมาก    และน่าสยดสยองมาก    ว่าความเกลียดทำให้มนุษย์ทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ถึงขนาดนี้    แต่ก็เห็นขบวนการต่อสู้ และการอพยพย้ายถิ่น ของยิว    รวมทั้งการที่ประเทศอื่นๆ พยายามให้ความช่วยเหลือ (แต่ได้ผลน้อย)    ในช่วงนั้นก็เกิดวิกฤติผู้อพยพลี้ภัยแบบในปัจจุบัน   แต่ผู้ลี้ภัยในช่วงนั้นเป็นคนยิว    ลี้ภัยนาซี

ผมเอาภาพที่ถ่ายในปี 1944 ที่ค่ายกักกัน Auschwitz-Birkenau (โปแลนด์) กลุ่มผู้หญิงยิวถูกกล้อนผม    และหลอกให้เดินไป “อาบน้ำชำระความสกปรก”    ซึ่งในความเป็นจริงคือเข้าห้องรมแก๊สพิษ (รูปที่ ๑๘)     ประมาณปี ๒๕๑๔ ผมเคยไปเยี่ยมชมค่ายกักกันนี้    ได้เห็นภาพทำนองนี้   และเห็น “ผ้า” ที่ทอจากเส้นผมผู้หญิงยิวที่ถูกกล้อน    รวมทั้งไปเห็นห้องรมแก๊สพิษ    และเห็นหวีและเครื่องใช้อื่นๆ ที่ทำจากกระดูกมนุษย์

อีกภาพหนึ่ง (รูปที่ ๑๙) เป็นภาพเด็กกลุ่มหนึ่งในค่ายกักกันเดียวกันที่ได้รับอิสรภาพหลังเยอรมันแพ้สงคราม    เด็กกลุ่มนี้ถูกใช้เป็น “สัตว์ทดลอง” ที่ทดลองในมนุษย์จริงๆ ทำโดยแพทย์ชื่อ Dr. Mengele (11.a)   คนที่ถูกทดลองเหล่านี้ตายไปเป็นจำนวนมาก      

เช่นเดียวกัน   พอดูชั้น ๒ จบ  เส้นทางเดินก็พาเราไปขึ้นบันไดเลื่อน ขึ้นชั้นสาม   สู่ นิทรรศการ Jewish Renewal : 1945 – Present (12)  ซึ่งเป็นการจัดแสดงยิวยุคใหม่ ที่มีประเทศของตนเอง ค.ศ. 1945 – ปัจจุบัน    จากวิธีชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ที่ผมคิดขึ้น   เป็น “มรรค ๕” ของการชมพิพิธภัณฑ์ วิจารณ์สไตล์  คือ (๑) เข้าเว็บไปทำความรู้จักคร่าวๆ ล่วงหน้า  (๒) ไปชมและสังเกต/ตีความเป้าหมายภาพใหญ่ของการจัดแสดง   รวมทั้ง (๓) เก็บแผ่นพับมาดูรายละเอียดภายหลัง  (๔) ถ่ายรูปการจัดแสดงและคำอธิบายเอากลับมาทำความเข้าใจภายหลัง  (๕) เขียนบันทึกลง บล็อก โดยทบทวนรูป แผ่นพับ และเข้าเว็บไซต์หาข้อมูลเพิ่มเติม อย่างที่ผมกำลังทำอยู่ที่บ้านในขณะนี้  

โดยวิธีนี้ผมจึงเข้าใจว่า คำว่า Jewish Renewal มีความหมายจำเพาะ    ที่เป็นวิถีที่ลดความเคร่งครัดในความเป็นยิวลงไป   มีมิติของเสรีภาพ และเปิดกว้างทางวัฒนธรรม มากขึ้น  

เขาบอกว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สอง คนยิวมีถิ่นฐานหลักอยู่ในสองประเทศ คือ อิสเรล (ก่อตั้งปี 1948)   และในสหรัฐอเมริกา    โดยคนยิวจากประเทศต่างๆ มีการอพยพย้ายถิ่นสู่สองประเทศนี้    ผ่านความช่วยเหลือขององค์การยิวระหว่างประเทศ  

ดูนิทรรศการหลักจบแล้ว ผมเดินเตร่ไปพบนิทรรศการ Dimension in Testimony  (13) ที่ผมได้มีโอกาสตั้งคำถามต่อคุณ Pinchas Gutter (14) ที่รอดชีวิตมาได้จากการผ่านค่ายกักกันของนาซี ๖ แห่ง    เป็นการคุยกันแบบ virtual    ที่เขาตอบคำถามได้ประมาณ ๑,๕๐๐ คำถาม     เมื่อผมบอกให้เขาเล่าสภาพชีวิตใน concentration camp เขาเล่าได้ชัดเจนดีมาก    แต่เมื่อถามว่า เขาเคยพบ kind Nazi guard หรือไม่   เขากลับเข้าใจว่าผมถามว่าเคยพบฮิตเล่อร์หรือไม่     

ผมหยิบแผ่นพับกลับมาอ่านที่โรงแรมพบ online exhibition ชื่อ Oshpitzin : The Story of Jewish Oswiecim ที่ www.ajcf.pl/online-exhibition   น่าสนใจมาก

บังเอิญตอนเดินทางกลับวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๑   ระหว่างนั่งในเครื่องบิน ผมอ่านหนังสือ 21 Lessons in the 21st Century เขียนโดย Yuval Noah Harari (ศาสตราจารย์ชาวอิสเรล) ใน iPad   ถึงตอนที่ 17  Post-Truth   ในหน้า ๒๔๐ – ๒๔๑ เล่าเรื่องความเกลียดชังของคนอังกฤษที่มีต่อคนยิว ในปี ค.ศ. 1255   มีการกุเรื่องกลั่นแกล้ง   จนในที่สุดคนยิวถูกขับออกจากอังกฤษหมดในปี 1290    

เว็บไซต์ของ NMAI NY ดีกว่าของ NJH NYC มาก     คือ NMAI NY มี Online exhibition ของทุกนิทรรศการ    ช่วยการทำความเข้าใจได้ดีกว่ามาก

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ต.ค. ๖๑

ห้อง ๕๐๑   โรงแรม Hampton Inn, Pearl Street, NY, NY

ปรับปรุง ๑๓ ต.ค. ๖๑  บนเครื่องบิน Asiana Airline  จากสนามบิน JFK  ไปสนามบินกรุงโซล

ปรับปรุงครั้งสุดท้าย ๑๕ ต.ค. ๖๑ ที่บ้าน

  

1 อาคาร US Custom House

2 Oval Room

3 คำอธิบายนิทรรศการ Infinity of Nations

4 คำอธิบายพลังอำนาจของผู้นำในสมัยโบราณ

5 หัวโขนแห่งอำนาจ

6 เสารักษาโรค เครื่องมือแพทย์โบราณ Mapuche machi's rewe pole

7 เหยือกเบียร์อินคา Inka qero

8 คำอธิบายนิทรรศการ Transformer

9 The Harbinger of Catastrophe

10 ความงามภายในอาคาร

11 โคมไฟ

12 ส่วนหนึ่งของห้อง ImagiNATION Activity Center

13 ในลิ้นชักมีของให้เอาออกมาเล่นได้

14 Museum of Jewish Heritage

15 อาคารหลังคาเป็นชั้นๆ คือ Museum of Jewish Heritage

16 คนยิวมีพิธีกรรมตามช่วงชีวิต

17 พิธีกรรมตามฤดูกาล

18 ภาพปี 1944 ผู้หญิงยิวที่ค่ายกักกัน Auschwitz-Birkenau ถูกหลอกให้เดินเข้าห้องรมแก๊สพิษ

19 ภาพปี 1945 หลังเยอรมันยอมแพ้ กลุ่มเด็กที่ถูกใช้เป็นสัตว์ทดลอง

20 โปสเตอร์แนะนำวิธีใช้นิทรรศการ Dimension in Testimony

21 คุณ Pinchas ตัวเสมือน กำลังเล่าเรื่องตามที่ผมถาม ตัวผมก็อยู่ในรูปนี้ด้วย

หมายเลขบันทึก: 658116เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท