รายวิชาศึกษาทั่วไป: ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๑-๒๕๖๑ (๑) "SDGs"


ปีการศึกษา ๑-๒๕๖๑ รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนหลายอย่าง มีการเปลี่ยนให้ ผศ.ดร.เบ็ญจวรรณ ชุติชูเดช อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชานี้ตั้งแต่ก่อนจะปรับหลักสูตรฯ พ.ศ. ๒๕๕๘ กลับมาเป็นผู้ประสานงานใหม่อีกครั้ง (ผมถอยออกมาเป็นผู้ส่งเสริมหนุนเสริมในฐานะผู้บริหารและเป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้สอน) และปรับเพิ่มเนื้อหาใหม่ให้ครอบคลุมเท่าทันการเปลี่ยนแปลงนโยบายเบื้องบนที่ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของประเทศ

วันที่ ๒๔ - ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ สถาบันคลังสมองจัดหลักสูตรอบรมขยายผล (ขับเคลื่อน) "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ผมสมัครไปร่วมในฐานะผู้บริหารของสำนักศึกษาทั่วไป พร้อมกับเพื่อนอาจารย์จาก มมส. อีก ๓ ท่าน  รศ.ดร.รังสรรค์ โฉมยา จากคณะศึกษาศาสตร์ ผศ.ดร.ชลธี โพธิ์ทอง ผู้ช่วยอธิการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และ ผศ.ดร.นิดา ชัยมูล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในงานผมได้เจอ "ผู้นำ" แห่งการเปลี่ยนแปลงหลายท่าน  (ท่านไม่รู้จักผมดอก) รวมทั้ง อาจารย์พีรวัศ กี่ศิริ ที่คอยช่วยหนุนการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนด้วย

กลับมาบ้าน (มมส.) ผมรีบนำเสนอหัวข้อ SDGs ให้เป็นบทเรียนหนึ่งในรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในที่ประชุมอาจารย์ผู้สอน และอาสาเป็นผู้จัดเตรียมเอกสารและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ...ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ภาคเรียนที่ ๑/๒๕๖๑ นิสิตและนิสิตจะได้เรียนรู้เรื่องนี้ประมาณ ๔,๕๐๐ คน

ต่อมา วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ เราจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง SDGs นี้อีกครั้ง เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนเข้าใจแนวทางการจัดการเรียนรู้ และได้ร่วมกันกำหนดขอบเขตและเป้าหมายของการสอนเรื่อง SDGs ก่อนจะจัดการเรียนรู้หลังการทดสอบกลางภาคเรียนที่ผ่านมา ...  เพื่อให้ตนเองเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และเผื่อว่านิสิตหรืออาจารย์อาจจะได้ประโยชน์ ผมจึงสรุปประเด็นสำคัญ ๆ เกี่ยวกับ SEP to SDGs ไว้ในบันทึกนี้

๑) อะไรคือ SDGs

SDGs ย่อมาจากคำว่า Sustainable Development Goals แปลว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เว็บไซต์ที่ให้ความหมายและอธิบายได้ดีที่สุดที่หนึ่งคือมูลนิธิมั่นพัฒนา (คลิกที่นี่) SDGs มีทั้งหมด ๑๗ เป้าหมาย กำหนดเป็นวาระ ๑๕ ปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๗๓ ต่อเนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals, MDGs)

แต่ละเป้าหมาย มีประเด็นหรือคำสำคัญ ดังนี้ครับ

เป้าหมายที่ ๑) ขยัดความยากจน (No Pro)

  • คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจน อยู่ที่ร้อยละ ๔๒.๓  หรือ ๒๕.๘ ล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ลดลงเหลือร้อยละ ๗.๒ หรือ ๔.๘ ล้านค้น โดยแบ่งเป็นชายหญิงพอ ๆ กัน ที่ร้อยละ ๓๘ ที่เหลือร้อยละ ๒๔ เป็นเด็ก
  • การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ที่รัฐบาลนำเสนอต่อ UN คือ 
    • โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ๘๗๘ แห่ง 
    • โครงการลงทะเบียนเพื่อช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อไป ซึ่ง ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ มีผู้ลงทะเบียน ๗.๕ ล้านคน (รวมผู้มีรายได้เหนือกว่าเส้นยากจนเล็กน้อยด้วย) โดยโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ (สู่บัตรคนจน) จำนวนถึง ๑๗,๔๖๙ ล้านบาท  จำนวนเงินที่ให้ เช่น รายได้น้อยและไร้ที่พึ่ง ๓,๐๐๐ บาท ต่อครอบครัว ฯลฯ
    • โครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (Social Enterprise) 
    • เลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจนถึง ๓ ปี คนละ ๖๐๐ บาทต่อเดือน 
    • เลี้ยงดูคนพิการและทุพพลภาพ ในลักษณะเบี้ยยังชีพ ๘๐๐ บาทต่อเดือน จำนวน ๑.๖๗ ล้านคน
    • ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ให้แบบขั้นบันได  จำนวน ๗.๓๔ ล้านคน
  • มีสวัสดีการพื้นฐานแต่ดประชาชนทุกคน ดังนี้ 
    • มีบริการทางสาธารณสุข ร้อยละ ๙๙.๘๗ คน
    • ไฟฟ้าเข้าถึง ร้อยละ ๑๐๐ คน 
    • น้ำบริโภค ร้อยละ ๙๙.๓ คน 
    • มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือร้อยละ ๗๙.๓ คน ของประชากรตั้งแต่ ๖ ปีขึ้นไป 
    • มีครัวเรือนเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ร้อยละ ๕๙.๘ คน 
เป้าหมายที่ ๒) ขจัดความอดอยาก สร้างความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

  • ตามข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FQA) บอกว่า คนไทยที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการลดลงจากร้อยละ ๓๔.๖ หรือ ๑๙.๘ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เหลือร้อยละ ๗.๔ หรือประมาณ ๕ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๕๕๙.... (ความจริงประเทศเราไม่ควรเกินร้อยละ ๒)
  • ความชุกของคนเตี้ยแคระแกรน อยู่ที่ร้อยละ ๑๑.๙ ในปี ๒๕๔๘ ลดลงเป็น ร้อยละ ๑๐.๕ ในปี ๒๕๕๙
  • ความชุกของคนผอมเพิ่มจากร้อยละ ๔.๑ ในปี ๒๕๔๘ เป็นร้อยละ ๕.๔ ในปี ๒๕๕๙
  • ความชุกของคนอ้วนเพิ่มจากร้อยละ ๖.๙ ในปี ๒๕๔๘ เป็นร้อยละ ๘.๒ ในปี ๒๕๕๙
  • สิ่งที่รัฐบาลทำที่ผ่านมา คือ
    • ทำ พ.ร.บ. ควบคุมกรส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก 
  • สิ่งที่จะทำ
    • โครงการเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ให้ได้พื้นที่เพิ่มขึ้น ๕ แสนไร่ต่อปี เป็นเวลา ๕ ปี (๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) มีการทำ MOU กับจังหวัดยโสธร เพิ่มจาก ๓๕,๐๐๐ ไร่เป็น ๗๗,๐๐๐ ไร่ ภายใน ๓ ปี 
    • โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่  มีอำเภอที่สมัครใจเข้าร่วม ๘๘๒ รวมทั้งสิ้น ๗๐,๐๐๐ ราย 
เป้าหมายที่ ๓) สร้างหลักประกันการมีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย

  • ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี ๒๕๕๘ บอกว่า 
    • แม่คลอดลูกแล้วตาย ลูกรอด อยู่ที่ ๒๔.๖๐ คน ต่อ ๑๐๐,๐๐๐ คน 
    • เด็กคลอดตายอยู่ที่ ๓.๕ คนต่อ ๑,๐๐๐ คน และ ที่ตายภายใน ๕ ปีอยู่ที่ ๘.๖ คนต่อ ๑,๐๐๐ คน 
  • ในปี ๒๕๕๙ ข้อมูลจาก WHO (องค์กรอนามัยโลก) บอกว่า
    • ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่หยุดการแพร่เชื้อ HIV และซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ
    • จำนวนผู้ป่วยเอดส์อยู่ที่ ๐.๑๖ คน ต่อ ๑๐๐,๐๐๐ คน เท่านั้น
    • ส่วนโรคไม่ติดต่อ (NCD) เช่น หัวใจ หลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง อยู่ที่ ๑๖.๑๖ คน ต่อประชากรอายุ ๓๐-๗๐ ปี ๑๐๐,๐๐๐ คน 
    • ปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าของคนอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 
  • ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมา ประชากรทุกภาคส่วนมีสิทธิบัตรประกันสุขภาพตามหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า 
  • ไทยได้ออก พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบ  
    • ผู้ซื้อต้องอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป 
    • ห้ามขายในลักษณะจูงใจให้บริโภค
    • จำนวนผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป ยังอยู่ที่ร้อยละ ๒๐.๗  ... โฮ่ ยังเยอะนะเนี่ย
  • ปัญหาที่น่าเป็นห่วง 
    • วัยรุ่น ๑๕-๑๙ ตั้งครรภ์ สูงถึง ๔๗.๙ คนต่อ ๑,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๕๗ 
    • อุบัตเหตุทางถนน สูงถึง ๒๒.๓ คนต่อ ๑๐๐,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๕๘ 
เป้าประสงค์ที่ ๔ สร้างหลักประกันว่า ทุกคนจะมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมและสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  • สิ่งที่ทำมา 
    • โครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน รับทุนไปแล้วกว่า ๔,๐๐๐ คน  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 
    • ร้อยละ ๙๐ คนของ ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปี
    • สถานศึกษาพอเพียงและศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน ๒๑,๑๘๕ แห่ง 
  • สิ่งที่ต้องทำ (เขาเขียนว่า ท้าทาย)  คือ
    • ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ 
    • จัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น 
เป้าหมายที่ ๕ บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน

  • สตรีมีสัดส่วนด้านแรงงานมากกว่าผู้ชาย คือ ร้อยละ ๖๐ แล้ว 
  • สตรีที่มีฐานะยากจนมีแนวโน้มลดลง อยู่ที่ร้อยละ ๖.๘ ในปี ๒๕๕๘
  • สตรีมีตำแหน่งบริหารในภาคเอกชนสูงถึง ร้อยละ ๓๘ 
  • ผู้หญิงทำงานต่อวันนานกว่าผู้ชาย ๘ ช.ม. ๓๓ นาที ต่อ ๘ ช.ม. ๑๒ นาที
  • รัฐบาลทำอะไรแล้ว
    • พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ให้ความคุ้มครองและจัดการปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก
  • ปัญหาที่พบ 
    • ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร  คือสูงถึง ๕๘.๓ ๔๘.๘ และ ๔๗.๙ คน ต่อ ๑,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๕๕ ๒๕๕๖ และ ๒๕๕๗ ตามลำดับ
เป้าหมายที่ ๖) สร้างหลักประกันให้มีน้ำใช้ และมีกาบริหารจัดการน้ำและการสุขภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน

  • ปี ๒๕๕๗ ประชากรร้อยละ ๙๙.๘๐ มีส้วมถูกสุขลักษณะ  และร้อยละ ๙๙.๔๖ มีน้ำสะอาดบริโภค 
  • ปี ๒๕๕๗ พื้นที่ป่าไม้ของไทย มีประมาร ๑๐๒.๒๘ ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ ๓๑.๖๒ ของพื้นที่ทั้งหมด... กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นร้อยละ ๔๐ ในปี ๒๕๗๓
  •  ปัญหาคือ การจัดการน้ำเสีย ในปี ๒๕๕๘ แหล่งน้ำผิวดินร้อยละ ๒๖ ไม่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ต่อจำนวนแหล่งน้ำผิวดินที่มีการตรวจสอบทั้งหมด 
เป้าหมายที่ ๗) สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน

  • ในปี ๒๕๕๙ ไทยมีร้อยละการใช้พลังทดแทนอยู่ที่ ร้อยละ ๑๓.๘๓  ตั้งเป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ ๓๐ ในปี ๒๕๗๓ 
  • ขณะนี้ได้จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๗๓ เรียบร้อยแล้ว
  • ในปี ๒๕๕๙ ประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ ๒,๕๘๒.๐๔ เมกะวัตต์ 
เป้าหมายที่ ๘) ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน และมีผลิตภาพ และมีการงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน 

  • ตั้งเป้า GDP อยู่ที่ ๑๓,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ในปี ๒๕๗๓ 
  • ตั้งเป้าว่า GDP จะโตร้อยละ ๕ ต่อปี 
  • ปี ๒๕๕๙ GDP อยู่ที่ ๖,๐๓๑.๗ ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี 
  • ได้ตั้งเป้าหมายไว้ หลายสาขา ดังนี้ 
    • ภาคเกษตรกรรม ให้เติบโต ร้อยละ ๓.๐ 
    • ภาคอุตสาหกรรม ให้เติบโต ร้อยละ ๔.๐
    • ภาคบริการ ให้เติบโตร้อยละ ๖.๐ 
  • ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยว ไม่ต่ำกว่า ๓ ล้านล้านบาท 
  • สร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจขนาดกลางเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๕ 
  • รัฐบาลได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่แผน ๙ เป็นต้นมา .....  (แต่เน้น GDP เป็นตามที่ อ.ยักษ์บอก เป็นแบบ Cosmetic Society)
  • รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำเอา "มาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง " หรือ Sufficiecy Economy Business Standard หรือ SEBS มาใช้ ซึ่งประกอบด้วย ๗ องค์ประกอบได้แก่ 
    • ภูมิคุ้มกัน
    • ความเพียร
    • ความพอประมาณ
    • ความโอบอ้อมอารี
    • จริยธรรม
    • การพัฒนาภูมิสังคม
    • การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย 
เป้าประสงค์ที่ ๙) สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม

  • แผน ๒๐ ปี จะมุ่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งขอไทยที่ยั่งยืนทุกรูปแบบ ได้แก่ ทางถนน ระบบราง ทางน้ำ และทางอากาศ
  • พัฒนาระบบราง (รถไฟ) ในเมือง ๑๐ เส้นทาง ระยะทางประมาณ ๕๕๐ กิโลเมตร
  • พัฒนาระบบรางระหว่างเมืองทั่วประเทศ คือ ทำรถไฟรางคู่ 
  • ส่วนเมืองใหญ่จะมีการสนับสนุนการเชื่อมต่อด้วยระบบรางความเร็วปานกลางและความเร็วสูง ระหว่างประเทศ
เป้าหมายที่ ๑๐) ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

  • กลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำสุดขึ้นมาร้อยละ ๔๐ มีรายได้เฉลี่ยเพียง ๓,๓๕๓ บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น ในขณะที่ ในปี ๒๕๕๙
    • คนภาคตะวันออก มีรายได้เฉลี่ย ๔๓๒,๗๑๒ บาท ต่อคนต่อปี หรือ ๓๖,๐๕๙ บาทต่อคนต่อเดือน
    • คนกรุงเทพฯ มีรายได้เฉลี่ย ๔๑๐,๖๑๗ บาท ต่อคนต่อปี หรือ ๓๔,๒๑๘ บาทต่อคนต่อเดือน
    • คนอีสาน มีรายได้เฉลีย ๗๐,๙๐๖ บาท ต่อคนต่อปี หรือ ๕,๘๐๙ บาทต่อคนต่อเดือน 
    • ภาคเหนือ มีรายได้เฉลี่ย ๙๓,๐๕๘ บาท ต่อคนต่อปี หรือ ๗,๗๕๕ บาทต่อคนต่อเดือน
    • ภาคกลาง มีรายได้เฉลี่ย ๒๕๑,๓๙๒ บาท ต่อคนต่อปี หรือ ๒๐,๙๔๙ บาทต่อคนต่อเดือน
    • ภาคใต้ มีรายได้เฉลี่ย ๑๓๐,๙๗๘ บาท ต่อคนต่อปี หรือ ๑๐,๙๑๕ บาทต่อคนต่อเดือน
    • ภาคตะวันตก มีรายได้เฉลี่ย ๑๓๕,๒๖๒ บาทต่อคนต่อปี หรือ ๑๑,๒๗๒ บาทต่อคนต่อเดือน
เป้าหมายที่ ๑๑) ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยแปลง และยั่งยืน

  • ขณะนี้ ที่ดินร้อยละ ๖๐ ของไทย อยู่ในกรรมสิทธิ์ของคนร้อยละ ๑๐ 
  • ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒  มีแนวทางการพัฒนาเมือง ดังนี้ 
    • ทำผังเมืองให้เชื่อมโยงและยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติ มีการจัดทำผังดังนี้ 
      • ผังประเทศ 
      • ผังภาค ๖ ผัง
      • ผังอนุภาค ๑๙ กลุ่ม 
      • ผังจังหวัด ๗๓ จังหวัด 
    • ความมั่นคงในที่ดิน  คือ พัฒนากฏหมายการยึดครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น
      • พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน ในอัตราก้าวหน้า
    • ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  
      • ในปี ๒๕๕๘ คนไทยมีอยู่ ๒๑.๓ ล้าน ครัวเรือน  มีครัวเรือนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอยู่ ๕.๘๗ ล้านครัวเรือน 
      • กลุ่มชุมชนบุกรุก คนไร้บ้าน ชุมชนแออัด ผู้มีรายได้น้อย เป็นจำนน ๑.๗๐๗,๔๓๗ ครัวเรือน 
    • ความร่วมมือระหว่างรัฐเอกชน ... จะทำ SMART CITY  ... (เทเงินไปที่ลูกคนโตอีกแล้ว)
    • การบริหารจัดการความเสี่ยงจาภัยพิบัติ 
    • เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ปรับโครงสร้างภาษาที่ดินและโรงเรือน ให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้ของตนเอง 
เป้าหมายที่ ๑๒) สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 

  • ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมการติดฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น 
    • ฉลากเขียว 
    • ฉลากคาร์บอน 
    • สำนักงานสีเขียว
    • ฯลฯ 
  • ส่งเสริมอุตสหรรมสีเขียว (Green Industry) 
  • โครงการจัดซื้อสินค้าและบริการเพื่อสิ่งแวดล้อม 
  • โครงการเมืองน่าอยู่ 
เป้าหมายที่ ๑๓) ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศและผลกระทบ 

  • ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ ๑๒ ของโลก ที่เสียงต่อการเปลี่่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 
  • ในแผนประเทศ มีบทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๙๓
  • มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อพัฒนา เผยแพร่ และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาการเปลียนแปลงภูมิอากาศ 
  • มีความร่วมมือกันระหว่างองค์กรบริหารจัดการก๊าฐเรือนกระจกทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ องค์ JICA ของญี่ปุ่น 

เป้าหมายที่ ๑๔) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน 

  • ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวถึง ๓,๑๔๘ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ถึง ๒๓ จังหวัด 
  • ประเทศไทยประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงมากในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน 
  • แต่ปัญหาที่ไม่สามารถบรรลุเป้าของ MDGs คือ การอนุรักษ์ความหลากหลายของสัตว์น้ำ
  • ปัญหาน้ำกัดเซาะ ถึง ๘๓๐ กิโลเมตร
  • แนวปะการังร้อยละ ๘๐ อยู่ในภาพเสียหายถึงเสียหายมาก 
  • สัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน เต่าทะเล โลมา และปลาวาฬ ร้อยละ ๔๐ มีแนวโน้มเข้ามาเกยตื้นมากขึ้น
  • ปัญหาการใช้ทะเลที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การตั้งถิ่นฐาน การประมง การท่องเที่ยว ทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำและขยะทะเล 
เป้าหมายที่ ๑๕) ปกป้องฟื้นฟูและส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน การต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งการเสื่อมโทรมของดิน และหยุดยั้งความสูญเสียทางชีวภาพ 

  • ในปี ๒๕๐๔ ประเทศไทยมีป่าไม้ ๑๗๑ ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ ๕๓.๓ ของพื้นที่ประเทศไทย 
  • ในปี ๒๕๕๗ ประเทศไทยเหลือป่าเพียง ๑๐๒.๓ ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ ๓๑.๖ ของพื้นที่ประเทศไทย เท่านั้น 
  • รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มจำนวนป่าไม้เป็นร้อยละ ๔๐ ในปี ๒๕๖๔ วิธีการคือ 
    • ปลูกป่าเพิ่ม  ในเขตพื้นที่ของรัฐ โดยปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ ปลูกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ส่งเสริมให้มีการปลูกป่าเศรษฐกิจ  ส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชน 
    • ปรับปรุง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๙
    • สนับสนุนกลไกทางการเงินเพื่อการปลูกป่า เช่น 
      • การออกพันธบัตรป่าไม้
      • ธนาคารต้นไม้
      • กองทุนส่งเสริมการปลูกป่า
    • การส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาการปลูกพืชแซมในสวนป่า
    • การทำวนเกษตร
  • ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ระดับชนิดพันธุ์ และพันธุกรรมระดับสูง โดยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อพิทักษ์ความหลากหลายถึง ๗๓ ล้านไร่ 
  • ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖  และประกาศ พ.ร.บ. ป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตั้งแต่ ๒๕๓๕ 
  •  ประเทศไทยเก่งเรื่องการเลี้ยงช้าง การอนุรักษ์ช้าง การป้องกันการรอบค้าช้าง มีการจัดทำระบบระเบียนข้อมูลช้าง 
เป้าหมายที่ ๑๖) ส่งเสริมสังคมทีสงบสุขและครอบคลุม ที่เอื้ัอต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ

  • มีกรอบการป้องกันอาญชญากรรม ได้แก่
    • สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย
    • สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
    • ลดอัตราการทำผิดซ้ำ 
    • เฝ้าระวังกลุ่มเสียง
    • ลดโอกาสการตกเป็นเหยื่อ 
  • ประเด็นอื่นๆ ไม่ได้กล่าวถึงมากนัก ... เราท่านก็พอรู้ว่า เรากำลังทะเลาะกันอยู่เลย 
เป้าหมายที่ ๑๗) เสริมสร้างความเข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

  • ประเทศไทยมีความตกลงคุ้มครองการลงทุนแล้วกับ ๔๔ ประเทศ  เป็นประเทศที่
    • กำลังพัฒนา ๒๑ ประเทศ 
    • ประเทศพัฒนาน้อย ๔ ประเทศ
  • ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อน SEP for SDGs Partnership และผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในกรอบพหุภาคีต่างๆ  
  • ปัจจุบัน ไทยมีความร่วมมือ SEP for SDGs Partnership แล้ว ๑๐ ประเทศ ในกรอบความร่วมมือ ใต้-ใต้ และไตรภาคี และยังมีประเทศที่กำลังพัฒนาอีก ๑๕ ประเทศ ที่แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sustainable Community Development Model based on the Application of the Philosophy of Sufficiency Economy) 
ผมสรุปมาถึงตรงนี้... รู้สึกภาคภูมิใจเหลือเกินที่ได้เกิดเป็นคนไทย ได้พบพระธรรมและคำสอนเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง .... ขอจบอย่างมีความสุข ตรงนี้ครับ 


หมายเลขบันทึก: 657337เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2018 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2018 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท