ในหลวง ร.๙ ทรงบอกว่า "...ให้ทำแบบคนจน ให้อยู่แบบคนจน..." การศึกษาแบบคนจนเป็นอย่างไร เพิ่งจะเข้าใจวันนี้


ผมสงสัยมานานว่า ทำไม อ.ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ต้องเริ่มสอนทฤษฎีตอนตี ๕ ออกเรียนภาคปฏิบัติตอนมองเห็นลายฝ่ามือ... แต่คลิปที่ฟังมาทั้งหมดท่านไม่ได้บอกไว้ วันนี้เจอคลิปที่ท่านพูดเรื่องนี้ไว้ชัดเจนยิ่งนัก ... ท่านใดใคร่ดูเองเชิญเถิดครับ ... แต่หากชอบอ่านเลื่อนผ่านไปเลยครับ (ผมเขียนบันทึกนี้โดยเอาความรู้เดิมที่เคยฟังท่านมาหลายคลิปมาเติมด้วย)

เกริ่นก่อน (สิ่งที่ผมเพิ่งจะเข้าใจเป็นครั้งแรก)

  • เพิ่งเข้าใจว่า ทำไมการศึกษาไทยสมัยใหม่จึงล้มเหลว ล้มเหลวในที่นี้ หมายถึง การศึกษาสมัยนี้ทำให้คนทิ้งถิ่น ทิ้งบ้านทิ้งเรือน 
  • เพิ่งเข้าใจว่า "คนจนเขาทำงานแบบไหน" ทั้งๆ ที่ผมเองก็ผ่านความยากจนแบบนั้นมาด้วยตนเอง แค่ฟังท่านพูด ภาพในอดีตทั้งหลายมันรวมลงในใจผมว่า ใช่ ใช่เลย ตอนเด็กๆ พ่อแม่ก็สอนแบบนี้... ผมลืมคำสอนของท่านไปนานกี่ปีเนี่ย
  • เพิ่งจะเข้าใจว่า หนังสือพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" ตีความว่า "ต้นมะม่วง" ก็คือ "ประเทศไทย" ... ในใจมีเสียงกังวาลว่า ...อ้อ...เข้าใจแล้ว 
การศึกษาแบบคนจน-คนรวย
  • คนจนตั้งตนอยู่ในความลำบาก (ฝืนกิเลส) กุศลจึงเจริญ  ผู้คนจึงใจดี มีเมตตา เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ... แต่การศึกษาในปัจจุบัน สอนให้นิสิตนักศึกษา ตั้งตนอยู่ในความสบาย (ตามใจกิเลส) สังคมจึงเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด 
  • คนจนตื่นตี ๔ เริ่มเรียนรู้และทำงานตอนตี ๕ นอนเร็ว ตื่นเช้า เข้าวัดวันโกณวันพระ แต่การศึกษาสมัยใหม่ ทำให้คน ตื่นสาย นอนดึก เที่ยวกลางคืน ไม่เข้าวัด หยุดเสาอาทิตย์ 
  • การศึกษาแบบคนรวย(แบบทุนนิยม) ทำให้คนทิ้งถิ่น ยิ่งเก่งยิ่งทิ้งชุมชนเร็ว ใครเก่งที่สุดจะถูกส่งเสริมให้ทิ้งบ้านเข้าเมือง เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ทำงานที่ตั้งตนอยู่ในความสบาย หาเงินเพื่อซื้อความสบาย นำเงินซื้อความสบายให้พ่อแม่ที่อยู่ที่บ้าน .... จึงกระตุ้นให้คืนอื่นๆ เกิดกิเลสอยากสบายและมีหน้าตาเป็นเจ้าเป็นนายบ้าง จึงแห่กันทิ้งบ้านทิ้งเรือนเข้ากรุงมุ่งหาเงินซื้อข้าวกิน (ทั้งที่ตนเองปลูกกินเองได้) ... จนเป็นที่มาของหนี้สินและความจน(จริง)
  • คนที่เคยสบายแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะกลับไปลำบาก(กาย) ยิ่งเด็กรุ่นหลังที่ไม่ได้รับการปลูกฝังให้ผ่านการตั้งตนอยู่ในความยากลำบากกับชีวิต "แบบคนจน" เลย จึงไม่มีทางที่การศึกษาแบบคนรวย จะทำให้คนกลับไปอยู่บ้านเกิดภูมิลำเนาของตนเอง 
การศึกษาแบบคนจน
  • คือการศึกษาบนฐานชีวิตจริงๆ ของชาวบ้าน  มีลำดับขั้นการศึกษาพัฒนา ๓ ขั้นตอน คือ 
    • การศึกษาเพื่อให้เป็นผู้มีวินัย มีคุณธรรม ... เป็นคนดี มีสัมมาสามัญสำนึก
    • การศึกษาเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ ทำมาหากินได้ (สัมมาอาชีวะ) ... พึ่งตนเอง
    • การศึกษาให้เกิดความเชี่ยวชาญ เป็นปราชญ์ เป็นครู พัฒนาต่อยอดหรือสร้างภูมิปัญญา และสอนลูกหลานต่อไป ...แบ่งปัน ช่วยเหลือคนอื่นได้ 
  • วิธีการศึกษาแบบคนจน ควรจะ 
    • ฝึกให้ชินกับการฝืนกิเลส รู้จักกิเลส เอาชนะกิเลส โดยการสร้างปัญญาในตนเอง  เช่น 
      • สอนให้รู้จักศีล เบญจศีล เบญจธรรม 
      • ตื่นเช้า (กิเลสชอบนอนตื่นสาย)  เพียรทำงานหนัก (กิเลสชอบสบาย) ขยัน (กิเลสชอบขี้เกียจ) 
      • ฝึกวินัยในทุกกิจกรรม ทุกกิจวัตร ทุกอริยาบท (ปูพื้นไปสู่การปฏิบัติธรรม เจริญสติ เจริญปัญญาภายใน) ตั้งแต่เท้าถึงเส้นผม ตั้งแต่รองเท้าถึงหมวก ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ 
      • เข้าวัด ฟังธรรมะ เสียสละ ทำเพื่อสวนรวม ผ่านกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ พร้อมๆ กับการรักษาและทำนุวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษ  (บวร บ้าน วัด โรงเรียน)
    •  ฝึกให้รู้สึกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินชีวิตและพัฒนาชีวิตตามลำดับขั้นด้วยความรู้และความดี  
      • พอกิน
      • พอใช้
      • พออยู่
      • พอร่มเย็น
      • สั่งสมบุญ เริ่มจากการดูแลตอบแทนบุญคุณ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ญาติ มิตร สหาย และผู้มีพระคุณทั้งหลาย 
      • ทำทาน อามิสทาน อภัยทาน ธรรมทาน ฯลฯ 
      • ขาย ค้าขายแลกเปลี่ยน ขยายความความสุขความสำเร็จให้เจริญขึ้น 
      • ร่วมตัวกันสร้างเครือข่าย สู่ความสามัคคี พอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน 

อ.ยักษ์ท่านบอกว่า ... พูดแบบนี้มาก็นานแล้ว แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยใดทำเลย....ผมเอาเรื่องนี้มาคุยกับน้อง ๆ ที่ทำงาน  น้องอาจารย์บอกว่า  ยากมากนะครับ

ผมยอมรับว่า เพิ่งจะเข้าใจก็คราวนี้เองว่า ที่ในหลวง ร.๙ ทรงตรัสว่า "ให้ทำแบบคนจน"  นั้น สำหรับด้านการศึกษาเป็นแบบนี้เอง 

หมายเลขบันทึก: 657099เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2018 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2018 05:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท