การฝึกปฏิบัติธรรม ต้องพยายามหยุดความคิด ใช่ไหม


การฝึกปฏิบัติธรรม ต้องพยายามหยุดความคิด ใช่ไหม ?
คำตอบก็คือ ใช่ และไม่ใช่...
เรื่องนี้จะสรุปแบบรวบลัดไม่ได้.
สมมุติว่าเรากำลังคิดงาน แล้วเราจะหยุดความคิดนั้นหรือ.
แล้วเราจะทำงานต่อได้อย่างไร หากไม่คิด ?
.
คือเราต้องรู้จักแยกแยะก่อนว่า ความคิด มีความคิดแบบไหนบ้าง.
ความคิดปรุงแต่ง กับความคิดที่ตั้งใจคิด มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
.
ความคิดปรุงแต่ง คือการคิดโดยขาดสติ
มีกิเลสเข้ามาผสมโรง อย่างน้อยก็ความหลง
ก็ปรุงแต่งอารมณ์ไปเรื่อยๆ
.
หรือแม้แต่มีสติ รู้ว่ากำลังคิดอยู่ก็ตาม
แต่กลับหยุดความคิดที่ฟุ้งซ่าน 
หรือคิดเลยเถิดไปจนมีอารมณ์ต่างๆ เช่น โกรธ หรือคิดโลภอยากได้ หยุดคิดไม่ได้
นี่ก็นับว่าเป็น ความคิดปรุงแต่งด้วยเช่นกัน
.
ความคิดชนิดนี้แหละครับ ที่เราต้องฝึกปฏิบัติให้รู้ทัน 
และหาทางหยุดมันให้ได้ก่อนที่จะลามเป็นไฟลามทุ่ง
.
ส่วนความคิดที่ตั้งใจคิด เพื่อจุดประสงค์ทำงาน
คิดวิเคราะห์ความรู้ต่างๆ คิดด้วยใจที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส
อันนี้ต้องคิด ...ผมใช้คำว่า "ต้อง" เลย
เป็นความคิดที่ต้องใช้ ...ไม่คิดไม่ได้
แต่ก็พยายามมีสติกำกับ เพื่อไม่ให้เผลอมีกิเลสเข้าผสมโรง
.
ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ณ โคนต้นศรีมหาโพธิ์
ท่านก็คิดไตร่ตรอง โยนิโสมนสิการ
ซึ่งธรรมทั้งหลาย เช่น เรื่องสมาธิ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง พิจารณาเหตุให้เกิดสมาธิและอุปสรรคของสมาธิ 
คิดพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คิดพิจารณาธรรมต่างๆ มากมาย
ท่านคิดจนรู้รอบ
ก่อนที่ท่านจะประทับใต้ต้นโพธิ์ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งสติ ทำสมาธิ 
จนตรัสรู้ สัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลังจากนั้นท่านก็ทรงคิด ไตร่ตรองว่าจะทรงสอนผู้ใดบ้าง
นี่เป็นเครื่องบอกเล่าว่า ท่านก็ทรง "คิด" เช่นกัน
.
.
การฝึกความรู้สึกตัว สำหรับผม เป็นเรื่องที่วิเศษมาก
เพราะเมื่อฝึกจนจิตเริ่มเข้าถึงซึ่งปัญญาแท้แล้ว 
จิตจะรู้ได้เองว่าความคิดไหนควรคิด และความคิดไหนไม่ควรคิด
เพราะจิตสัมผัสได้ถึงกิเลสที่ติดมากับความคิดปรุงแต่ง
จิตเกิดความละอาย เกรงกลัวต่อบาปอันเกิดจากกิเลสนั้น
จิตก็เลือกที่จะหยุดความคิดอันนั้นเอง โดยอัตโนมัติ
.
หรือมิเช่นนั้น จิตรู้แล้วว่ากำลังปรุงแต่ง
แค่หายใจยาว หรือขยับตัว ความคิดปรุงแต่งก็หายวับไป
ความคิดปรุงแต่งก็สั้นลง เกิดได้ยากขึ้น กิเลสก็ปรุงได้ยากขึ้น ความทุกข์ก็ลดลง
.
ผมหวังว่า ผู้อ่านคงทำความเข้าใจได้มากขึ้น 
เกี่ยวกับการต้องหยุดความคิดหรือไม่
แท้จริง คือให้รู้ทันความคิดต่างหาก
.
และปรารถนาให้ผู้ปฏิบัติ เกิดปัญญาแท้ 
ที่พิจารณาแยกแยะได้เองโดยอัตโนมัติว่า 
ความคิดใดควรคิด ความคิดใดควรหยุดคิด นะครับ

หมายเลขบันทึก: 656268เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2018 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2018 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สาธุ….-ด้วยความระลึกถึงอาจารย์นะครับ

ถ่องแท้… เจ้าค่ะ….สาธุธรรม..เข้าถึง ด้วยการ ปฏิบัติ…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท