๘๐๑. เด็กเรียนรู้ด้วยการเปิดสมอง ผู้ใหญ่ไตร่ตรองด้วยการเปิดหัวใจ


ผมจะสอนเด็กๆของผมว่า “จงมุ่งมั่นสะสมความรู้ความคิดไว้ให้มากที่สุด” และผมจะบอกตัวเองว่า..”จงรับฟังความคิดแปลกใหม่ของเด็กๆบ้าง” มันสามารถช่วยลดระยะห่างของสัมพันธภาพลงได้ ช่องว่างระหว่างวัยก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป..

             ทุกคน..ย่อมจะเข้าใจช่องว่างระหว่างวัย ไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะเป็นครูเท่านั้น ที่จะต้องเข้าถึงเรื่องนี้ ในสังคมครอบครัวและที่ทำงาน มีเรื่องราวระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ

            ผมเป็นครู ก่อนหน้านี้เรียนวิชาชีพครูและเรียน “จิตวิทยาเด็ก” เพิ่งจะเห็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดของวิชานี้ เมื่อมีประสบการณ์การสอนมากขึ้น..ความที่เคยเป็นเด็กและต่อมาเรียนรู้ “จิตวิทยา” ทำให้เข้าใจและเข้าถึงปัญหาและความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น

            ที่สุดแล้ว..เด็กต้องการความรัก ความเมตตาและการให้อภัย..จากครูหรือผู้ใหญ่อย่างเรา..ความผิดพลาดเล็กน้อยก็ย่อมจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ คนที่เป็นผู้ใหญ่ก็เคยก้าวพลาด..เด็กยังมีโอกาสได้เรียนรู้..การอบรมและเลี้ยงดู บางครั้งอาจต้องออกนอกกรอบบ้าง

            ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมได้ยินมาสารพัด “คำห้าม” และได้รับคำว่ากล่าวตักเตือนมานับครั้งไม่ถ้วน..ผมจำไม่หมดและไม่เคยจดเอาไว้ท่องจำ เท่าที่ทำได้ก็คืออดทน..ยอมรับฟังด้วยดี

            บางทีก็มีอับอายบ้างเล็กน้อย เมื่อพ่อแม่หรือครูอาจารย์ตักเตือนต่อหน้าคนอื่น บางครั้งคำตักเตือนก็ “แรง”จนกลายเป็นการตำหนิติเตียน ทำให้ผมซึ่งเป็นคนอ่อนไหวเศร้าเสียใจไปทั้งวัน...

            เติบโตขึ้นจึงรู้แจ้งแห่งสัจธรรมว่าผู้ใหญ่ทั้งหลายนั้น “หวังดี” จึงห้ามปรามและตักเตือน เพราะเห็นว่าผมผ่านร้อนผ่านหนาวมาน้อย อ่อนประสบการณ์ หรือที่พูดกันว่า..กระดูกยังไม่แข็ง..นั่นเอง

            จริงๆ..ตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่า ผู้ใหญ่เขาคิดอะไรอย่างไร? แต่ตัวเรารู้ดีว่าดื้อรั้นมาก อยากเป็นอิสระ อยากคิดเอง ทำเอง และตัดสินใจเอง

            อยากจะบอกตั้งแต่ตอนนั้นว่า..โตแล้วนะ ฉันไม่ใช่เด็กอมมือสักหน่อย ก็ได้แต่คิด ไม่มีโอกาสได้พูดสักคำ..

            สิ่งที่ทำได้และทำได้ดีที่สุด ณ เวลานั้นก็คือ ตั้งใจศึกษาเรียนรู้ในทุกที่ทุกสถาบัน ใช้สมองหมดไปกับการศึกษาค้นคว้า มากกว่าการเอาชนะหรือเสียใจฟูมฟายกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

            จุดเด่น..ของความเป็นเด็กก็อยู่ตรงนี้นี่เอง..ถ้าลองได้เปิดสมองลองความรู้เสียแล้ว “สติปัญญา”ก็ตามมา ไม่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว คิดใหม่ทำใหม่ในสิ่งที่ดีงามได้เสมอ

            ติดอยู่นิดเดียว ทำไมตอนนั้นผู้ใหญ่ถึงไม่ยอมใช้ “คำแนะนำ” แทนการตักเตือนและตำหนิ ที่ผมคิดได้ในวันนี้คือ..ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งในบ้านและที่โรงเรียน ลองไตร่ตรองสักหน่อยได้ไหม?

            ประสบการณ์ของเด็กไม่ได้เกิดขึ้นจากการประคบประหงม ควรปล่อยให้เขาไปผจญภัยบ้าง ต้องสัมผัสแดดฝนและลมหนาวบ้าง ได้ลองผิดลองถูกและอาจต้องได้ป่วยไข้ได้แผลบ้าง คือภูมิคุ้มกันที่จะทำให้ชีวิตเด็กแข็งแรงและดูแลตัวเองได้ในภายภาคหน้า

            วันนี้..ผมครุ่นคิดอย่างรอบคอบแบบผู้ใหญ่ คิดว่าพลังแบบเด็กของผมเมื่อตอนนั้นนำมาใช้ถูกทางจึงบังเกิดผลดี ต่อจากนี้ไปชั่วโมงบินของผมมากขึ้น ขอนำพาชีวิตเดินทางไปกับกาลเวลาและเปิดใจให้กว้างขึ้น

            ผมจะสอนเด็กๆของผมว่า จงมุ่งมั่นสะสมความรู้ความคิดไว้ให้มากที่สุด” และผมจะบอกตัวเองว่า..”จงรับฟังความคิดแปลกใหม่ของเด็กๆบ้าง” มันสามารถช่วยลดระยะห่างของสัมพันธภาพลงได้ ช่องว่างระหว่างวัยก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๔  กันยายน  ๒๕๖๑

 

          

           

 

 

           

            

หมายเลขบันทึก: 653602เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2018 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2018 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท