คำนิยม หนังสือ SEEEM โดย สุธีระ ประเสริฐสรรพ์



คำนิยม

หนังสือ “SEEEM : ความท้าทายใหม่ของการศึกษาไทย”

วิจารณ์ พานิช

....................

 

วาทกรรม SEEEM  ในหนังสือเล่มนี้เป็นคนละเรื่องกับวาทกรรม STEM    ทั้งๆ ที่ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ คิดคำ SEEEM ขึ้นมาจากความคิดเห็นแย้งกับ STEM ที่ใช้กันโดยทั่วไป    ความเห็นแย้งนี้รุนแรงถึงขนาดเอา T ออกไป    และเติม E เข้ามาสองตัว    พร้อมกับนิยาม M เสียใหม่ด้วย      

ผมมองว่า SEEEM สามารถใช้เป็นหลักการใหญ่ที่ครอบคลุมการเรียนรู้ในภาพรวมได้    ที่ฝรั่งเรียกว่าเป็น overarching concept    แต่ STEM เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาความรู้ ทักษะ และจิตใจ ในระบบการศึกษา    กล่าวให้เข้าใจง่ายคือ SEEEM เป็นเรื่องของ “ภาพรวม” ของการศึกษา     แต่ STEM เป็นเพียง “ภาพย่อย” คือเพียง ๔ หมวดวิชา     ในขณะที่ SEEEM ครอบคลุมเป้าหมายการเรียนรู้ทั้งหมด 

ผมตีความว่า หนังสือ  SEEEM : ความท้าทายใหม่ของการศึกษาไทย  เล่มนี้     เป็นการบูรณาการวิธีจัดการเรียนรู้แบบ RBL (Research-Based Learning) ที่มีการเรียนแบบทำโครงงาน (Project-Based Learning)    เข้ากับกระบวนการคิดแบบ SEEEM    ดังนั้นอาจตีความได้ว่า หนังสือเล่มนี้อธิบายหลักการและรายละเอียดของ SEEEM-Based Learning  

ที่น่าสนใจคือ มีการเชื่อมโยง SEEEM เข้ากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   รัชกาลที่ ๙   นำมาใช้เป็นฐานการคิดขยายจากหลักการ “สามเหลี่ยมมหัศจรรย์ของเพาะพันธุ์ปัญญา” (หน้า ๑๖๙)     ที่ช่วยให้การเรียนผ่าน “โครงงานฐานวิจัย” ของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มีความลุ่มลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น    ช่วยให้ความจำกัดของ การเรียนรู้แบบทำโครงงาน ที่เดิมจำกัดอยู่ในการเรียนรายวิชาด้าน STEM เท่านั้น    ขยายออกไปครอบคลุมเป้าหมายการเรียนรู้ภาพรวมของ “การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑” ได้   

ข้อย่อหย่อน หรือข้อด้อย ของการศึกษาตามที่จัดอยู่ในปัจจุบันอย่างหนึ่งคือ อ่อนแอด้านการฝึกทักษะชีวิตให้แก่นักเรียน    มีผลให้เด็กจำนวนมากพลาดพลั้งเสียท่าความเย้ายวนหลอกล่อของสภาพแวดล้อมที่หากินจากการหาผลประโยชน์ (โดยมิชอบในทางศีลธรรม) จากเด็ก    หลักการตามในหนังสือ SEEEM : ความท้าทายใหม่ของการศึกษาไทย  เล่มนี้    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเรียนรู้ ๑๒ ข้อ ในบทที่ ๘  จะช่วยเสริมความเข้มแข็งของทักษะชีวิตที่ต้องการ ที่ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเรียกว่า “ภูมิคุ้มกัน” ให้นักเรียนรู้เท่าทันมายาต่างๆ ในสังคม   

ไม่เฉพาะนักเรียนเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ แนว SEEEM-Based Learning  หรือ Sufficiency Economy-Based Learning นี้    ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครองนักเรียน  และผู้เกี่ยวข้อง ก็จะได้เรียนรู้ด้วย     เพราะหลักการที่เสนอในหนังสือเล่มนี้คือ การเรียนจากการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด 

ท่านที่พยายามอ่าน และทำความเข้าใจหนังสือเล่มนี้จากการอ่าน จะพบว่าเข้าใจยาก    แต่หากจับหลักการนำไปใช้ปฏิบัติ  คือจัดการสอนแบบโครงงาน ที่นักเรียนทำโครงงานเป็นทีม    และมีการใคร่ครวญไตร่ตรองร่วมกันเป็นระยะๆ ในระหว่างทำโครงงาน    โดยใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือ หรือ “คู่คิด”    จะพบว่าหนังสือเล่มนี้อ่านเข้าใจง่าย  รวมทั้งมีความลุ่มลึกและเชื่อมโยงอย่างยิ่ง    โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้ในโรงเรียนกับสภาพจริงในชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่  และสภาพจริงในสังคมไทย และโลก    

ตามหลักการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นใหม่ จากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การเรียนรู้ (learning science)   และงานวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience)    การเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปมาจากภายนอกตัวเด็ก    แต่เกิดจากการที่เด็กทำกิจกรรม และเก็บข้อมูลจากกิจกรรม มาตีความทำความเข้าใจเปรียบเทียบหรือเชื่อมโยงกับความรู้เดิม    เกิดเป็นความรู้ใหม่ของตน สำหรับนำไปใช้ต่อยอดการเรียนรู้ต่อไป

หนังสือ SEEEM : ความท้าทายใหม่ของการศึกษาไทย  เล่มนี้  จึงเป็น “คู่คิด” ที่ดีเยี่ยมของครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้เกี่ยวข้อง ในการจัดการเรียนรู้แบบ active learning ที่มีคุณภาพสูง ให้แก่เด็ก    หากมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ก็จะเป็นตัวช่วย  เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการฟื้นคุณภาพการศึกษาไทย ที่ทรงพลัง

จุดเด่น (และเป็นจุดด้อยไปพร้อมๆ กัน) ของหนังสือในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ที่เขียนโดย รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ คือ การเขียนสไตล์ ใคร่ครวญสะท้อนคิดจากเหตุการณ์จริง    หยิบยกเอาเรื่องราวในบ้านเมืองมาตีความชี้ประเด็นตามที่กำลังเดินเรื่อง    ท่านผู้อ่านที่ “อิน” ไปกับการไหลของความคิด จะอ่านสนุกมาก    แต่ท่านที่ไม่ “อิน” ก็จะรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้อ่านยาก  

ผมจึงขอเสนอแนะ (ไม่ทราบว่าจะเป็นข้อเสนอที่ถูกหรือผิด) ให้คุณครูและผู้บริหารการศึกษาที่โชคดี มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์หนังสือเล่มนี้    มีวิธีใช้ประโยชน์ที่ช่วยให้เกิดความสนุก    คืออย่าพยายามทำความเข้าใจสาระหลักในหนังสือจากการอ่าน    ให้ทำตรงกันข้าม คือมุ่งทำความเข้าใจจากการปฏิบัติของตนเองและของนักเรียน    แล้วนำเอาการตีความของตนเองจากประสบการณ์จริงนั้นมาเปรียบเทียบ หรือบางครั้งเถียงกับ ดร. สุธีระ ตามข้อความในหนังสือ    ผมคิดว่าวิธีใช้หนังสือแนวนี้จะให้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ  ประโยชน์ทางปัญญา  และประโยชน์สร้างความสนุก ในการทำหน้าที่ครู และผู้บริหารการศึกษา มากกว่า       

ในฐานะพลเมืองสูงอายุของไทย ที่ให้คุณค่าต่อเรื่องคุณภาพการศึกษา สูงกว่าเรื่องอื่นใด    ต่อการมุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทยสู่สภาพ ประเทศไทย ๔.๐   ผมขอแสดงความขอบคุณ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ที่มีความวิริยะ อุตสาหะ (และผมเดาว่า มีหฤหรรษ์ ด้วย) ในการเขียนหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มนี้ออกเผยแพร่    ผมเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้ จะมีส่วนช่วยให้ศักดิ์ศรีของครูไทย ฟื้นกลับคืนมา

วิจารณ์ พานิช

๕ สิงหาคม ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 653584เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2018 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2018 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท