นักกิจกรรมบำบัดวิเคราะห์อารมณ์เด็กอนุบาล


ขอบพระคุณคุณครูแก้วและทีมผู้ช่วย นศ.กิจกรรมบำบัด และเด็กเตรียมอนุบาล ที่สร้างแรงบันดาลใจให้บันทึกความรู้และทักษะที่จำเป็นทางคลินิกกิจกรรมบำบัดที่หลายท่านควรใส่ใจอย่างจริงใจ

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ขณะลงชุมชน ณ ศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งกับนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 4 จำนวน 15 ท่าน ในฐานะแสดงบทบาทความเป็นครูและนักกิจกรรมบำบัดผู้สนใจด้านจิตสังคม จึงขออนุญาตบันทึกข้อมูลไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการแปลความรู้ทางกิจกรรมบำบัดศึกษาแก่คุณครูเตรียมอนุบาล ผู้ปกครอง และกัลยาณมิตร ทุกท่าน ด้วยความขอบพระคุณอย่างยิ่ง

S: มีฝาแฝดชายวัย 4 ขวบ ส่งเสียงร้องไห้ ครูบอกว่า "คู่นี้เรียนซ้ำชั้นเพราะพูดเนื้อหาการเรียนได้ไม่เก่งและกลัวคนแปลกหน้า บางทีร้องจนอ้วกออกมา [เสียงพี่เลี้ยง - เงียบซิลูก...เดี๋ยวอ้วกอีก] ถ้าอยู่กับครู คนพี่ (เอ - นามสมมติ) ก็จะเล่นซนคุยเล่นเก่งกว่าคนน้อง (บี - นามสมมติ) ซึ่งมีแก้มเยอะกว่า น้ำหนักเยอะ สูงกว่า และสังเกตร้องเยอะกว่า โดยเฉพาะผู้ปกครองมาส่งที่รร.จะโอ้ตามใจมากกว่าคนพี่" กับมีเด็กชาย 3 ขวบ ส่งเสียงดัง ไม่ยอมเล่นกับพี่นศ.และกับเพื่อน ตะโกนว่า "ไม่ชอบพี่แล้ว" เมื่อครูนำมาสอบถาม เด็กชาย ซี (นามสมมติ) ก็นั่งตอบเรียบร้อยว่า "รักครู ไม่รักคนนี้ (ชี้มาทางอ.ป๊อป ที่ตามไปนั่งฟังข้างๆ) พี่แกล้งหนู พี่ต่อยหนู (จินตนาการเป็นเรื่องราวด้วยอารมณ์ลบ ทั้งๆที่ไม่มีเหตุการณ์การแกล้งต่อยใดๆ) ครูเล่าว่า "พ่อแม่น้องซีไม่ดูแลลูก ท้องแบบวัยรุ่น แม่หนีไป ทวดดูแลแบบใช้เชือกผูกกับเสาและจูงมารร.ถ้าดื้อซนมาก...ไม่ชอบนอนกลางวัน ครูก็ปล่อยให้นั่งสัปหงก"

O: ประเมินด้วยวิธี Applied Behavioral Analysis ช่วง 15 นาที อ.ป๊อปสังเกตการณ์ ขณะให้นศ.กิจกรรมบำบัด 2 ท่าน ประกบ 1 ต่อ 1 (สบตา ยิ้ม ร้องเพลง เล่นเคาะของเล่น เคาะอารมณ์ ลูบตัวเบาๆ ขอจับมือ และคุยเป็นมิตร) และเปลี่ยนให้นศ.ข้างต้นออกมาสังเกตการณ์ในอีก 15 นาที โดยมีนศ.กิจกรรมบำบัดอีก 2 ท่าน ประกบ 1 ต่อ 1 (กอด พูดคุยโอ้ ลูบตัวเบาๆ ขอจับมือ และคุยเป็นมิตร) ซึ่งวิเคราะห์ความถี่ระหว่างพฤติกรรมที่เหมาะสม (ร้องไห้ลดลง สบตามองผู้สังเกตการณ์มากขึ้น และรับฟังกับยอมให้สัมผัสมือมากขึ้น) กับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (ร้องไห้มากขึ้น มือขยี้ตาหลบตาบ่อยครั้ง และไม่ยอมให้สัมผัสมือมากขึ้น) พบว่า 

1. ในช่วง 15 นาทีแรก คนพี่มีพฤติกรรมเหมาะสม 66.67%  (ร้องไห้ลดลง รับฟัง ยอมให้จับมือ เดินเข้าหาเล็กน้อย บอกนศ.ว่า ไม่เล่นเกม คิดถึงแม่) และไม่เหมาะสม 33.33% (เน้นสบตาอ.ป๊อปแบบกลัวเข้าไปหา) คนน้องมีพฤติกรรมเหมาะสม 50% (ชอบให้เคาะลูบตัว) และไม่เหมาะสม 50% (เน้นมือเข้าปาก เล่นน้ำลาย ร้องไห้มากขึ้น - ยอมให้สัมผัสมือนำออกมาจากปากได้ ยืนนิ่ง)

2. ในช่วง 15 นาทีต่อมา คนพี่มีพฤติกรรมเหมาะสม 50%  (ร้องไห้ลดลง มองเพื่อนเล่น) และไม่เหมาะสม 50% (ยืนนิ่ง) คนน้องมีพฤติกรรมเหมาะสม 50% (ร้องไห้ลดลง มองพี่นศ.) และไม่เหมาะสม 50% (ยืนนิ่ง) เมื่อมองไปที่น้องซี ก็สบตาบ้างและเล่นของเล่นอยู่คนเดียว โดยไม่หงุดหงิด

A: อ้างอิงข้อมูลในลิงค์นี้ จึงสรุปว่า ทั้งสามเคสมีความต้องการในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้จัดการอารมณ์และการสื่อสารสังคมรอบข้างในช่วง 2-4 ปี (Social Emotional Learning) 

P: เมื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูก็พบว่า คุณครูมีวิธีการสื่อสารกับน้องซีได้ดี แต่เคสฝาแฝด ทางอ.ป๊อป ได้ใช้ Psychoeducation และส่งคลิปการสื่อสารให้คุณครูทางไลน์ โดยขออนุญาตบันทึกถอดบทเรียนให้นศ.กิจกรรมบำบัดที่ต้องการปรับพฤติกรรมทั้งสามเคสอย่างเหมาะสม คือ แทนที่จะพูดชวนเล่นเพื่อเบี่ยงเบนอารมณ์เศร้า หรือ แทนที่จะพูดปลอบใจเพื่อลดภาวะอารมณ์เศร้า ให้วิเคราะห์ด้วยการให้ครูหรือคนที่เด็กไว้ใจสอบถามเด็กว่า "ร้องไห้หรือเสียงดังเพราะอะไร" มีการทวนซ้ำให้เด็กมั่นใจในคำตอบ ถ้าเด็กไม่พูด ก็ลองยกคำพูดที่น่าจะเป็นเหตุของอารมณ์ลบนั้นๆ เพื่อให้เด็กเลือกยืนยันเหตุผล จากนั้นครูก็ตั้งคำถามให้เด็กทำความเข้าใจเหตุผลว่า "ควรจัดการอารมณ์อย่างไรดี" 

1. ถ้าเศร้า ก็ให้เฉยรู้หรืออุเบกขา เฝ้ามองความปลอดภัยให้เด็กหยุดร้องเอง (รอสักครู่ไม่เกินเวลาเป็นนาทีตามอายุเด็ก เช่น 3 นาที ถ้าเด็ก 3 ขวบ) แล้วค่อยเข้าไปลูบเคาะอารมณ์ตรงกลางอกเบาๆ แบบไร้เสียง พาเดินจนน้ำตาหยุดไหล หรือพูดคุยกัน 

2. ถ้าโกรธ ก็ให้กอดแบบไร้เสียงแล้วพาเดินมานั่งคุยกัน ให้มองครูแล้วตั้งใจหายใจออกยาวๆ 10 รอบ แล้วค่อยคุยกันเมื่อหายโกรธ 

ทั้งนี้กระบวนการออกแบบโปรแกรมปรับพฤติกรรม ควรวิเคราะห์มากขึ้น โดยศึกษาเพิ่มเติมจากลิงค์นี้ และลิงค์ปรับพฤติกรรมนี้

หมายเลขบันทึก: 653328เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2018 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2018 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท