เอาความวิตกกังวลคืนไป



วารสาร Science ฉบับวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑   คอลัมน์ Editor’s Choice   แนะนำผลงานวิจัย เรื่อง Taking anxiety out of active learning   นำผมไปสู่บทความวิจัยเรื่อง The influence of active learning practices on student anxiety in large-enrollment college science classrooms (1) โดยKatelyn M. Cooper,  Virginia R. Downing and Sara E. Browne  ตีพิมพ์ใน International Journal of STEM Education

 เช้าวันนี้ ได้ฟังข่าวนักศึกษาทันตแพทย์ปี ๒ จุฬาฯ กระโดดตึกตาย   ว่าเพราะความเครียดจากการเรียน   ทั้งๆ ที่เป็นคนร่าเริงสนุกสนาน    หลังจากนั้นก็ค้นพบบทความวิจัยข้างบนพอดี    โดยเขาอารัมภบทว่า เวลานี้พบโรคเครียดในนักศึกษามหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น   และวิชาด้าน STEM เมื่อใช้การเรียนการสอนแบบ active learning  แทนที่การบรรยาย    จึงต้องการรู้ว่าในชั้นเรียนขนาดใหญ่ เทคนิคการสอนแบบ active learning สามวิธีคือ clicker questions, group work, และ cold call / random call มีผลเพิ่มหรือลดความเครียดในการเรียน    โดยสอบถาม นศ. ๕๒ คน     

ผลคือ การสอนแบบ clicker questions และ group work อาจเพิ่มหรือลดความเครียดก็ได้    ขึ้นกับวิธีดำเนินกระบวนการของอาจารย์    แต่ cold call / random call มีผลเพิ่มความเครียด   เพราะนักศึกษากลัวเสียหน้า   

 ร้อยละ ๕๐ ของนักศึกษา บอกว่าการสอนแบบ clicker questions มีผลต่อความวิตกกังวล    นักศึกษาที่มีความกังวล บอกว่ากังวลเพราะกลัวเสียคะแนน   ที่เรียกว่า achievement anxiety   ซึ่งนักศึกษาทั่วไปบอกว่า clicker questions ช่วยลด achievement anxiety  

ร้อยละ ๖๙ ของนักศึกษาบอกว่าการสอนแบบ group work มีผลต่อความวิตกกังวล    ปัจจัยที่ทำให้ความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นคือ ไม่เข้าขากับทีมงาน   และรู้สึกว่าตนรู้น้อยกว่าคนอื่น    ปัจจัยที่ทำให้ความวิตกกังวลลดลงคือ เข้าขากับทีมงาน   ได้เข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์   และการได้เห็นว่ามีเพื่อนที่ไม่เข้าใจวิชาที่เรียน

 cold call / random call มีแต่ผลเพิ่มความวิตกกังวล   ไม่มีที่ลดความวิตกกังวลเลย    เนื่องจากนักศึกษากลัวว่าจะได้รับผลการประเมินไม่ดี   

ที่จริงเป็นที่รู้กันว่าความวิตกกังวลระดับต่ำๆ ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียน   แต่หากระดับความวิตกกังวลสูง ก็จะมีผลให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ลดลง    สิ่งที่อาจารย์พึงตระหนักคือ นักศึกษาแต่ละคนมีแนวโน้มจะมีความวิตกกังวลไม่เท่ากัน   และหากอาจารย์ต้องการเพิ่มแรงจูงใจต่อการเรียนของนักศึกษา อาจใช้ปัจจัยอื่นช่วย   เช่นความใกล้ชิดระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา    การทำให้นักศึกษาเข้าใจความสำคัญของวิชาที่เรียน     

วิจารณ์ พานิช        

๓ ส.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 653250เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2018 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2018 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท