ตำนานซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา?


เมื่อครั้งแรกก่อนก่อรากสร้างซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภาในปี ๒๕๔๐ นั้น พระสงฆ์ คณะกรรมการวัดคุ้งตะเภา นำโดยพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และท่านผู้ใหญ่บุญช่วย เรืองคำ ผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภาในขณะนั้น ได้เข้าไปกราบนมัสการพระเดชพระคุณ พระนิมมานโกวิท (องค์หลวงปู่ทองดำ) มหาเกจิคณาจารย์เอกแห่งเมืองอุตรดิตถ์ กราบขอให้ท่านเมตตาเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ที่จะวางรากซุ้มประตู

องค์หลวงปู่ทองดำได้ทักทาย และกล่าวถึงอดีตเจ้าอาวาสและมัคนายกวัดคุ้งตะเภาซึ่งองค์หลวงปู่ท่านรู้จักมักคุ้น มาตั้งแต่ก่อนสมัย พ.ศ. ๒๕๐๐ (ทายกโตก หลวงพ่อถ้วน เป็นต้น) การสนทนาเป็นไปอย่างเป็นกันเองระหว่างอาจารย์และศิษย์ จากการสนทนาในวันนั้น เห็นได้ว่าองค์หลวงปู่ทองดำ มีความผูกพันหลายประการกับวัดคุ้งตะเภามาช้านาน

ในระหว่างการสนทนานั้น องค์หลวงปู่ทองดำ มหาเกจิคณาจารย์เอกแห่งเมืองอุตรดิตถ์ ได้กล่าวมาประโยคหนึ่ง ความว่า

"...วัดคุ้งตะเภา จะสร้างซุ้มประตูนี้ก็ดีมากแล้ว แต่พ่ออยากให้สร้างซุ้มใหญ่ ๆ หน่อย หลวงพ่อสร้างไว้เองที่วัด ตอนแรกก็ว่ามันใหญ่แล้ว แต่พอเสร็จ ดูไปดูมามันเล็กไป อยากให้้วัดคุ้งตะเภาสร้างซุ้มประตูใหญ่ ๆ ไว้สักวัดในอุตรดิตถ์ ถวายพระพุทธเจ้านะ เอาใหญ่ ๆ สูง ๆ เลยนะ จะดีมากเลย..."

ซุ้มประตูนี้ เดิมมีรูปแบบที่ใหญ่โตกว่านี้มาก เริ่มสร้างก่อฐานรากในปี ๒๕๔๐ แต่ก็ได้ค้างการก่อสร้างไปหลายปี เหตุที่การสร้างใช้เวลาหลายปีเพราะภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในสมัยนั้น แต่ก็สามารถสร้างจนแล้วเสร็จและสมโภชในปี ๒๕๔๕ โดยมีการจัดทำเหรียญวัตถุมงคลที่ระลึก รุ่นสร้างซุ้มประตู แจกแก่ผู้ร่วมสมทบทุนด้วย โดยองค์หลวงปู่ทองดำ มหาเกจิคณาจารย์เอกแห่งเมืองอุตรดิตถ์ เป็นผู้ปลุกเสกด้วยตัวท่านเอง

***ซุ้มประตู วัดคุ้งตะเภา ซุ้มประตูวัดที่ใหญ่ที่สุดในอุตรดิตถ์ สร้างโดยปรารภขององค์หลวงปู่ทองดำ มหาเกจิคณาจารย์เอกแห่งเมืองอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดริมทางแยกคุ้งตะเภา (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ ๑๑ หรือ ถนนสายเอเชีย) ลักษณะซุ้มเป็นซุ้มประตูทรงไทยประยุกต์ศิลปะล้านนาขนาดใหญ่ ออกแบบโดยสล่าเมืองเหนือ ประยุกต์จากรูปแบบเจดีย์ล้านนา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นำมาจากจังหวัดลำปาง ๓ องค์บนองค์เจดีย์บนยอดซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ซุ้มจรนัมทั้ง ๔ ด้าน ประดับเสาและตัวซุ้มด้วยลวดลายปูนปั้นสัตว์หิมพานต์และลายเครือเถาศิลปะล้านนาสวยงาม โครงซุ้มประตูทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งซุ้ม ฐานเสาเข็มเทปูนแท่งเสริมเหล็กลึก ๕ เมตร ขนาดกว้าง ๕ เมตร สูง ๑๙ เมตร แล้วเสร็จบริบูรณ์สิ้นราคาค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑,๐๗๖,๗๖๙. บาท

หมายเลขบันทึก: 652032เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2018 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2018 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท