เรียนรู้ PLC ครูไทย จากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบรับรองคุณภาพโรงเรียน


             

บ่ายวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง   โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบรับรองคุณภาพโรงเรียน ที่เรียกกันย่อๆ ว่า โครงการ sQip    ที่มีเป้าหมายหาทางส่งเสริมให้โรงเรียนมีระบบกำกับคุณภาพของโรงเรียนเอง     ดำเนินการในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวน ๒๐๐ โรงเรียน   ซึ่งดำเนินการมาแล้วหนึ่งปีเศษ    เหลืออยู่ในโครงการ ๑๙๙ โรงเรียน   

โครงการ sQip ใช้เครื่องมือ ๕ ชิ้นคือ (1) Q-Goal  (2) Q-Coach  (3) Q-PLC  (4) Q-Network  (5) Q-Info   และมี ๔ กระบวนการหลักคือ (๑) จัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เหมาะต่อความถนัดของผู้เรียน  (๒) ดูและช่วยเหลือผู้เรียนทั่วถึง เพิ่มโอกาสทางการศึกษา  (๓) พัฒนาครูเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน  (๔) สร้างศรัทธาจากชุมชน

ตอนต้นของการประชุม มี Q-Coach สองท่านมาจาก จ. เชียงราย และกาญจนบุรี   พร้อมกับผู้แทนโรงเรียนจากสองจังหวัดนี้จังหวัดละ ๑ คน  ท่านหนึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน   อีกท่านหนึ่งเป็นครู      

ทางโรงเรียนเล่ากิจกรรม PLC, Lesson Study, Open Classroom    โดยเน้นที่ PLC ที่ทำเพื่อบรรลุ Q-Goal ที่มีกระบวนการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ที่ร่วมกันกำหนดโดยฝ่ายต่างๆ ทั้งผู้บริหารโรงเรียน  ครู  ผู้ปกครอง  กรรมการโรงเรียน  และผู้นำชุมชน     

ครูที่มาเล่า บอกว่า ในการฝึกอบรมของโครงการ ได้แนะนำวิธีการ Lesson Study  จึงได้เครื่องมือนำไปใช้ประกอบการดำเนินการ PLC   แต่เท่าที่ผมฟังจับความได้ (ผมบันทึกเสียงเอามาฟังทบทวนเพิ่มเติมตอนเขียนบันทึกนี้)    เล่าว่าการประชุม PLC ตอนแรกๆ เป็นการประชุมแจ้งข่าวสาร    ตอนหลังจึงปรับมาให้ไม่มีการแจ้งข่าวสารเลย    กลายเป็นการประชุมแบบคุยรับฟังความคิดเห็นกัน

ผมไม่ได้ยินการพูดถึงการพูดคุยในวง PLC  และร่วมกันกำหนดเป้าหมายที่โฟกัสผลสัมฤทธิ์ของการเรียนที่จำเพาะประเด็นเล็กๆ ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าของครูต่อการดูแลการเรียนรู้ของศิษย์    หรือปัญาหาจำเพาะต่อกลุ่มศิษย์ของตน    ได้ฟังแต่โจทย์ใหญ่ๆ กว้างๆ     ที่ไม่มีการวัดผลจริงจัง   

คือผมคิดว่าพลังของ PLC ที่แท้จริงอยู่ที่การที่ครูรวมตัวกันจับประเด็นจำเพาะของนักเรียนที่ครูต้องหาวิธีจัดการเรียนการสอนที่ได้ผล    ร่วมกันคิดยุทธศาสตร์ดำเนินการ    แล้วครูแต่ละคนที่เป็นสมาชิกของวง PLC ไปดำเนินการ   และนำผลที่เกิดขึ้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    เพื่อหาหลักการหรือทฤษฎีจากการปฏิบัติ    สำหรับเป็นความรู้ที่นำไปใช้ในกรณีคล้ายคลึงได้ต่อไป

ในที่ประชุม ผมไม่ได้ยินครู ผู้บริหาร หรือ Q-Coach พูดถึงการเรียนรู้ของครูจากวง PLC เลย    ทั้งๆ ที่เป้าหมายหลักของ PLC คือการเรียนรู้ของครู    ที่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ                       

วิจารณ์ พานิช        

๒๔ ก.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 651825เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2018 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2018 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท