รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ๑-๒๕๖๑ (๒) กิจกรรม "ผ่อนพักตระหนักรู้"


รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ มีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ ไม่มีการทดสอบกลางภาคเรียน ทำให้อาจารย์ผู้สอนในแต่ละกลุ่มการเรียน สามารถออกแบบลำดับของกิจกรรมการเรียนรู้หรือสลับบทเรียนให้เหมาะกับจังหวะ เวลา โอกาส เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการ  

เห็นอาจารย์หลายท่านนำเอากิจกรรม "ผ่อนพักตระหนักรู้" มาเริ่มตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ  รู้สึกเห็นด้วย ที่จะ "เปลี่ยน" ทำให้นิสิตรู้สึกว่าวิชานี้ "เปลี่ยน" เปลี่ยนไปจากการเรียนการสอนแบบบรรยายบอกทั่วไป จึงเลือกที่จะใช้กิจกรรมนี้เช่นกัน 

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง 

  • ประสงค์ให้นิสิต บอกได้ว่า 
    • มนุษย์ประกอบด้วย ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นรูปธรรม คือ กาย (ร่างกาย) และส่วนที่เป็นนามธรรม คือ จิตใจ และสิ่งที่จิตใจปรุ่งแต่งขึ้น 
    • จิตใจทำหน้าที่คิดและรู้ 
    • จิตใจจะทำงานร่วมกับสมองในการคิด
    • นักประสาทวิทยาพบว่า มนุษย์มีคลื่นสมองแบ่งได้เป็น ๔ แบบ ได้แก่  (ไม่ต้องจำตัวเลข ให้รู้ความคิดรวบยอด)
      • คลื่นเบต้า (Beta) ๑๓ -๓๐ เฮิรตซ์ เกิดในขณะเราทำกิจวัตรประจำวัน เคลื่อนไหวเยอะๆ 
      • คลื่นแอลฟา (Alpha)  ๘-๑๒ เฮิรตซ์ เกิดเมื่อเราหลับตาผ่อนคลาย หรือกำลังใจจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ (นี่แหละที่ที่การเรียนรู้เกิดขึ้น)
      • คลื่นเทต้า (Theta) ๔-๗ เฮิรตซ์ เมื่ออยู่ในสภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือกำลังนั่งสมาธิอยู่ในระดับลึก 
      • คลื่นเดลต้า (Delta) ๐-๓ เฮิรตซ์ เมื่อเราหลับสนิท
    • การทำงานของสมองแบ่งออกได้เป็น ๒ โหมด หลัก คือ 
      • โหมดปกป้อง  เมื่อสมองทำงานอยู่ในโหมดนี้ การเรียนรู้จะไม่มีประสิทธิภาพ ใช้เพียงความจำระยะสั้น ร่างกายไม่ซ่อมแซมส่วนที่สึกหลอหรือไม่เจริญเติบโต  ลักษณะของคนที่สมองกำลังทำงานในโหมดนี้ ได้แก่ คนที่กำลังกลัว เกลียด โกรธ เครียด แค้น ฟุ้งซ่าน วิตก ฯลฯ  สมองในโหมดนี้ คลื่นสมองจะอยู่ในย่าน คลื่นเบต้า 
      • โหมดเรียนรู้ เมื่อสมองทำงานในโหมดนี้ จะเรียนรู้ได้ดี จดจำได้ดี คล่องแคล่ว ว่องไวในการคิด ลักษณะของคนที่สมองกำลังทำงานในโหมดนี้ จะรู้สึกเบ่า ผ่อนคลาย โล่ง โปร่ง สบาย ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ  
    • วิธีหนึ่งในการทำให้สมองเข้าสู่โหมดเรียนรู้ คือการนอนหลับ เงียบหลับ โดยการวางใจให้สบาย ภายใต้เสียงเพลงบรรเลงในทำนองที่ใจชอบ (ตอนเองชอบ)
  • ประสงค์จะให้นิสิตได้รับประสบการณ์ตรงในการเข้าสู่โหมดเรียนรู้ คลื่นสมองแอลฟา 

กิจกรรมการเรียนรู้ 

  • เล่าเรื่องธรรมชาติของมนุษย์และสมองของมนุษย์คร่าวๆ ให้พอรู้ว่า กำลังจะทำอะไรเพื่ออะไร (แบบเกริ่นๆ  ไม่เน้นให้จริงจัง เพื่อไม่ให้นิสิตเครียดในการจดจำ)
  • ร่วมกับนิสิตเลือกเพลงบรรเลงที่ชอบ โดยเปิดโดยตรงจากอินเตอร์เน็ต เพลงที่เราเลือกวันนั้นคือ เพลงนี้
  • ปิดไฟฟ้าให้มืดสนิททั่วห้อง แล้วนอนเป็นตัวอย่าง ชวนเชิญให้นิสิตทุกคนนอนพักผ่อน... วันนี้เราจะนอนพัก 
  • สืบค้นหาบทกวีในอินเตอร์เน็ต แล้วอ่านด้วยเสียงความถี่ต่ำ จังหวะธรรมดา ... ผมอ่านบทแนะนำท่านติส นัท ฮัน และกวีเรื่อง "สายลมแห่งรัก" และ เล่าความรู้ที่ต้องการให้นิสิตทราบให้ฟัง 
  • ปล่อยให้นิสิตนอนประมาณ ๓๐ นาที 
  • สะท้อนการเรียนรู้ และบรรยายสรุป องค์ความรู้ที่คาดหวังให้นิสิตทราบ 

สะท้อนผลการเรียนรู้

การเรียนรู้ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเรียน ๘๘ คน ลาเรียน ๑ คน ต่อไปนี้เป็นข้อสะท้อนก่อนเลิกชั้นเรียน ถึงสิ่งที่เกิดกับตนเองจากกิจกรรม "ผ่อนพักตระหนักรู้" 

  • รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ผ่อนคลายตามเสียงดนตรี 
  • รู้สึกสงบ มีสมาธิ
  • นึกถึงโลกของตนเองที่สงบสบาย
  • รู้สึกปล่อยวาง
  • ได้นอน ได้พักผ่อน
  • ได้คิดถึงตอนมัธยม
  • เหมือนว่าได้อยู่กับตนเอง ได้คิดเรื่องต่างๆ ไปเรื่อยๆ มีสมาธิขึ้น
  • ทำให้มีสติ
  • รู้สึกมีพลัง 
  • รู้สึกสดชื่น
  • ฯลฯ 

นิสิตเกือบทั้งหมดสะท้อนลักษณะนี้ ยกเว้นนิสิต ๔ คน ที่ออกทำนองบ่นนิดหนึ่งถึงสถานที่และอากาศในห้อง  ส่วนเรื่ององค์ความรู้ มีนิสิตสะท้อนมาในทำนองว่าได้ฟังเกี่ยวกับอะไรบ้างพอสมควร แต่ไม่มากนัก อย่างไรก็ดีการบรรยายสรุป และการพูดบ่อย ซ้ำ ย้ำ ทวน ก็จะช่วยให้นิสิตจดจำได้ 

ไม่ได้ถ่ายภาพตอน "ผ่อนพัก" แต่อยากบันทึกไว้ว่า เรา "ตระหนักรู้" ว่ากำลังเรียนรู้ร่วมกันด้วยภาพนี้ 

หมายเลขบันทึก: 651364เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2018 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2018 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท