ทั้งรักทั้งเหนื่อย(หน่าย) (๑)


                                           เคยเป็นกันมั้ย ทั้งรักทั้งเหนื่อย(หน่าย)

          บ่อยครั้งที่ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมมักมีอาการหลงผิด และอาการหลงผิดมักเกิดกับคนใกล้ตัว เช้านี้ คุณป้า คุณลุง เข้ามาพบดิฉัน เพราะถูกส่งต่อจากคุณพยาบาลที่ประเมินเบื้องต้นแล้ว เห็นควรว่าต้องให้ดิฉันได้ดูแลต่อ เท่าที่พูดคุยเบื้องต้น คุณลุงป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมระยะกลาง มีอาการหลงผิด เทียวเข้าออกรพ.ทั้งทางกาย และทางจิตเวช เพราะระแวงคุณภรรยา มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง พาร์กินสัน และสมองเสื่อม ดิฉันลอบสังเกตท่าทีคุณป้าก็พอสังเกตเห็นความเหนื่อยหน่ายกับการดูแลคุณลุง โดยเฉพาะเรื่องการรับประทานยา เพราะคุณลุงมีอาการระแวงเรื่องนี้มาก แต่ก็เห็นในความรักจากการที่บอกเล่าว่านอนเฝ้าไม่ห่างในรพ.เมื่อนอนรักษา คอยทำอาหารให้ทานเอง คอยขัดหยูกยาให้ทาน แม้จะต้องทะเลาะกันก็ยอมเกรงว่าสามีจะขาดยา เกรงอาการจะกำเริบ บางครั้งทะเลาะกันจนสามีจะตีต่อย ก็สู้อดทน ไม่ตามรถของโรงพยาบาล เพราะกลัวว่าสามีต้องนอนโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งแน่นอนคงไม่สุขสบายเท่าที่บ้าน นับว่าคุณป้าท่านนี้เป็นคนที่หัวใจงดงามยิ่งนัก

       

        ถามว่าลูกๆ หละไปไหน เธอเล่าว่าเธอส่งเสียลูก ๆ ช่วยกันกับสามีจนได้ดิบได้ดี รับราชการหมดเลย แต่ทั้งหมดต้องทำงานต่างถิ่น กรุงเทพบ้าง โคราชบ้าง ได้แต่โทรมาให้กำลังใจเช้าเย็น ทำอย่างไรได้คุณป้าบอกจะให้เขามาช่วยคงไม่ต้องทำมาหากินกันพอดี พูดไปคุณป้าก็น้ำตาคลอ เช็ดน้ำตาป้อย ๆ เป็นเรื่องที่น่าคิดที่ปัจจุบันคนวัยแรงงานต้องทำมาหากิน ขณะที่คนวัยสูงอายุต้องเผชิญกับการเจ็บป่วย ผู้สูงอายุที่ดูแลกัน เขามีแหล่งสนับสนุนหรือไม่?

        กลับมาที่คุณป้า ดิฉันได้แต่สัมผัสมือคุณป้าเบา ๆ อยากหาทางช่วย เลยถามว่า คุณป้าคะปัญหาที่สำคัญเลยคือเรื่องอะไรคะที่จัดการลำบากที่สุด คุณป้าบอก เรื่องยานี่แหละ จัดให้กินก็ไม่กิน เลือกกิน อันนี้ไม่กิน เขี่ยออก เลือกกินบางเม็ด ระแวงว่าเราจัดยาที่หมอไม่ได้สั่ง ทะเลาะกันทุกวัน ขณะที่ภรรยาพูด คุณลุงก็พูดแทรกตลอดว่า “ก็จัดแต่ยาอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่ยาหมอสั่ง” "จัดยากะให้ตายสิ" พอทราบปัญหาสำคัญแล้วก็รู้แล้วว่าคุณป้ารักและเป็นห่วงคุณลุง เอ...ท่าทีคุณป้าก็ดูชัดเจนว่าเหนื่อยหน่าย ลอง คิดเป็นคะแนนดูหน่อย คุณป้าคะถ้าให้เป็นคะแนนความเหนื่อยหน่าย คิดเป็นเท่าไหร่คะ “100%เต็มเลยค่ะคุณพยาบาล  เพราะจัดทีไรก็ทะเลาะกัน แทบจะตีกัน เถียงกัน ไม่ยอมกินยา หาว่าเราจัดยาเกินให้”

                  อืมก็คงอย่างนั้นนะคะฟังจากที่เล่ามาแล้ว หนักหนาพอดู เลยได้ให้คำแนะนำกับคุณป้าไปว่า การให้ยาคุณลุงใช้หลักการ เข้มงวด แต่ยืดหยุ่น คือ บางตัวถ้าไม่สำคัญก็ยืดหยุ่น เช่น วิตามิน บางตัวเช่น ความดัน ยาลดอาการหลงผิด ต้องเข้มงวด แต่หากไม่กินให้จดบันทึกมาให้แพทย์ทราบว่าตัวใดไม่กินบ้าง โชคดีที่ขณะที่คุณลุงนั่งอยู่บ่นปวดศีรษะ และเกร็งที่คอ ดิฉันเลยสะท้อนไปว่าอาการนี้ีเกิดขึ้นเพราะไม่กินยาพาร์กินสัน เพราะทราบจากภรรยาว่าไม่กินยาพาร์กินสัน รวมทั้งให้ความมั่นใจ (Reassuring) ว่าถ้าภรรยาจะทำให้เสียชีวิตใช้ยาที่แรงกว่านี้ที่หาซื้อง่ายมิดีกว่ารึ  ซึ่งแม้ผู้ป่วยสมองเสื่อมจะความจำเสื่อมถอยแต่การที่เขายังจำเรื่องราวบางเรื่องได้ จากการที่เขาบอกรายละเอียดเม็ดยาได้ว่าภรรยาจัดเม็ดไหน ๆ ให้บ้าง ดิฉันจึงได้ใช้เทคนิคนี้ลองดู เขาตาวาวและมองภรรยาด้วยสายตาเปลี่ยนไป แล้วพูดว่า “ผมก็คิดเหมือนกันครับว่าเขาก็ดูแลผมดีมาก ต่อไปจะพยายามกินยา” ไม่น่าเชื่อ !! เขามีสีหน้าดีขึ้นด้วย ดิฉันจึงสำทับว่าคุณโชคดีนะที่มีภรรยาที่ดูแลคุณดีมาก 

           ส่วนคุณป้าดิฉันก็เสริมพลังด้วยการชวนคิด(Reframing)ว่าถ้าเรามองว่าเขาป่วย เราจะเมตตาเขามากขึ้น และชื่นชมคุณป้าที่อดทนต่อความยุ่งยากใจ ความเหนื่อยหน่ายใจไม่ส่งคุณลุงไปรพ.จิตเวชที่จะทำให้สุขภาพจิตคุณลุงย่ำแย่ลงมาก คุณป้าบอกว่าที่ดูแลกันอยู่ได้เพราะรักร่วมกันสร้างครอบครัวส่งเสียลูกจนได้ดิบได้ดี ตอนนี้แม้จะทั้งรักทั้งเหนื่อย(หน่าย) แต่ก็ต้องทำเพื่อครอบครัว หากครอบครัวไหนที่ได้อ่าน ขอให้ดูแลกันและกันนะคะอย่าให้คนใดคนหนึ่งต้องแบกภาระทั้งกายและใจ เพราะการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมยิ่งกว่าเหนื่อย ยิ่งกว่าหนักจริง ๆ ใครไม่เจอไม่รู้เลย

           นี่แหละค่ะ ทั้งรักทั้งเหนื่อย(หน่าย) ที่ดิฉันเจอบ๊อย(บ่อย)ในคลินิก โดยเฉพาะในคู่รักวัยดึก ที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม ถ้ายังไม่เจ็บป่วยสร้างต้นทุนดีดีไว้นะคะ ป่วยมาจะได้มีคนดูแลคุณดี๊ดี ^___^ ด้วยรักและห่วงใยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 651171เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2018 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2018 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปล.บันทึกย้อนหลังคลินิกเมื่อวันพุธที่ผ่านมาค่ะ (22 สิงหาคม 61)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท