หลักนำทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


หัวใจศาสตร์พระราชา

                 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) คือ ศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิตที่ยึดหลักสายกลาง ความพอประมาณในการดำรงชีวิต โดยมีระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถอยู่ในสภาวะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่าง  มั่นคง  และยั่งยืน

                 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ทรงเตือนเรื่องการใช้ชีวิตของประชาชนชาวไทยมานานแล้วพระองค์ชี้แนะให้คนไทยตระหนักรู้ตระหนักคิด ให้ประชาชนใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกิน ซึ่งเป็นพื้นฐานชีวิตก่อนที่จะมุ่งไปพัฒนาประเทศให้เจริญในด้านอื่น ๆ  เพราะหากจะพัฒนาเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องเชิงอุตสาหกรรมอย่างเดียวจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้  เหตุผลเพราะความเป็นอยู่ของคนไทยในประเทศส่วนใหญ่มีความยากจน  เป็นจุดที่เห็นความต่างอย่างชัดเจน เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น คนที่รวยก็รวยล้นฟ้าคนที่ยากจนก็มีมากล้นประเทศ  แต่ประเทศไทยเพิ่งได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างจริงจัง เมื่อครั้งเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินตกต่ำของหลายประเทศในอาเซียนในช่วงปี พ.ศ. 2540 ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยระบบเศรษฐกิจตกต่ำดังกล่าว เป็นบทเรียนที่เจ็บช้ำมีชื่อเรียกว่า “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” หลายครอบครัวต้องประสบปัญหาทางการเงิน  ล้มละลาย หมดสิ้นอาชีพ มีหนี้สินล้นพ้น  พระองค์ทำให้คนไทยหลุดพ้นความลำบาก โดยพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนนำไปเป็นหลักในการดำรงชีวิต ทำให้หลายคนรอดพ้นวิกฤตชีวิตในช่วงนั้นไปได้  และใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิตจนถึงปัจจุบัน เป็นบุญของคนไทยนักหนา จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ไม่เคยละทิ้งประชาชนแม้แต่วินาทีเดียว  ทรงเป็นเหมือนเนื้อนาบุญอันไพศาลของชาวไทยโดยแท้จริง

                 นับได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวใจของศาสตร์พระราชา  คำว่า “หัวใจ”  แสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างเป็นที่สุดแล้ว   อันจะเห็นได้ว่าเป็นหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้กับทุกเรื่องราว ทุกเพศ ทุกวัย  ทุกสาขาอาชีพ และทุกระดับ  หากทุกคนเข้าใจและนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องแล้ว  จะถือเป็นกำไรของชีวิตอย่างมหาศาล

               ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นหลักนำทางในการดำรงชีวิต เป็นศาสตร์พระราชาที่สำคัญยิ่ง มีหลักคิดที่ลึกซึ้งในการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เพียงพอกับการใช้ทรัพยากรของประชากรที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น  เมื่อมองตามหลักคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว  จะเป็นการสอนให้ทำสิ่งใดก็ตาม ให้คำนึงถึงความสมดุล  มีอย่างสมดุล ใช้อย่างสมดุล  ก็จะเกิดความสมดุลในทุก ๆ เรื่อง ทุกสาขาอาชีพ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเกษตรอย่างเดียว  ยังเป็นหลักการบริหารประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อการดำรงชีวิตของประชาชนมีความสมดุลก็ส่งผลให้ประเทศชาติมีความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนสืบไป

องค์ประกอบหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง          

                 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ 2 เงื่อนไข ดังนี้

หลัก 3 ห่วง    ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ  คือ

                 1. พอประมาณ

                 2. มีเหตุผล

                 3. มีภูมิคุ้มกัน

 1. พอประมาณ    

                 คำว่าพอประมาณ  คือ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ไม่เบียดเบียนใคร  การพึ่งพาตนเอง  ทำสิ่งใดอยู่ในความพอดี  ไม่ตามคนอื่นที่มีศักยภาพสูงกว่า   และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์   เป็นการทำสิ่งใดให้เหมาะกับสภาพของตนเอง  ทำตามอัตภาพ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน  อุ้มชูตัวเองได้  ไม่อยากได้ใคร่มี  และต้องมีความขยันที่จะพัฒนาให้ได้ดีขึ้น โดยไม่หยุดนิ่ง  มีการปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน

2. มีเหตุผล

                 การคิด การตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล มีความรู้ความเข้าใจ โดยพิจารณาอย่างรอบคอบ คิดให้ดี คิดให้ละเอียด รู้จักการวางแผนงาน  และมีความรู้ความเข้าใจที่ดี ไม่ทำอะไรตามอารมณ์    การทำสิ่งใดต้องมีเหตุมีผล  ไม่เอาแต่ใจ ฟังคนอื่นเขาบ้าง  คิดจะทำสิ่งใดก็ต้องทำอย่างรอบคอบ ผลงานที่ออกมาก็จะเป็นผล เป็นคุณประโยชน์

 3. มีภูมิคุ้มกัน   

                 เป็นการสร้างระบบความคุ้มกันให้แก่ตนเอง และสังคม   เตรียมความพร้อมรับมือกับทุกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าดีหรือร้าย เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

โดยองค์ประกอบทั้ง 3 ประการจะต้องมีความเป็นดุลยภาพกัน และหล่อหลอมปัจจัยต่าง ๆ เข้ากันอย่างลงตัว และเหมาะสม

 

หลัก 2 เงื่อนไข

             หลัก 3 เงื่อนไขในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ประกอบด้วย 2 อย่าง คือ ตั้งอยู่บนฐานความรู้  คู่ฐานคุณธรรม  ดังนี้

1. ฐานความรู้ 

                 ประกอบด้วยหลัก “ 3 ร”   คือ รู้รอบ  รอบคอบ และระมัดระวัง  เป็นการนำความรู้ตามหลักวิชาการมาใช้อย่างเป็นระบบ  รู้ปัญหา ศึกษาอย่างเป็นระบบ และรู้วิธีแก้     ต้องพัฒนาความรู้อยู่ตลอดเวลา  มีการส่งต่อความรู้ให้แก่กัน   และมีการรวบรวมองค์ความรู้เก็บไว้ใช้อย่างเหมาะสม สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องความรู้ คือ จะต้องรู้จริง ทำงานอย่างเป็นผู้มีความรู้จริง ไม่ใช่รู้บ้างไม่รู้บ้าง  หรือรู้เป็นบางเรื่อง  ฐานความรู้ในการทำงานอย่างหนึ่งความรู้ด้านเดียวไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้  เพราะการทำงานให้สำเร็จต้องมีความสัมพันธ์กันในหลาย ๆ ด้าน  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับศาสตร์อื่น ๆ ประกอบกันไปด้วย   การรู้รอบ  จะต้องคิดหน้าคิดหลังอย่างรอบคอบ  และสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้คือจะต้องระมัดระวังในการปฏิบัติงานแต่ละขั้นตอนให้ออกมาดี  ทำงานตามลำดับขั้นตอน งานที่ออกมาก็บรรลุวัตถุประสงค์ แก้ปัญหาได้จริง ตามหลักการของศาสตร์พระราชา

 2. ฐานคุณธรรม 

                 หลักง่าย ๆ ในฐานคุณธรรม คือ การทำงานด้วยใจซื่อสัตย์ โปร่งใส  ทั้งต่อตนเอง  และผู้อื่นต่อสังคม  และต่อโลก  มีความขยันอดทน มีความเพียรความพยามยามในการปฏิบัติงาน  มีสติปัญญาในการดำรงชีวิต  ฉลาดคิดในการทำสิ่งใด   เมื่อมีสติ ปัญญาย่อมเกิด  และต้องรู้จักแบ่งปันซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

                  ผลของการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ  ย่อมนำไปสู่การมีเศรษฐกิจ สังคม  สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ของประเทศชาติ มีความสมดุลในองค์รวม  มีความแข็งแรงพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

                 การนำหลักการปฏิบัติงานไปใช้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งถือเป็นหัวใจของศาสตร์พระราชา จะต้องปฏิบัติบนพื้นฐานของทางสายกลาง  ไม่ฟุ้งเฟ้อ  ไม่เห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง  เริ่มปฏิบัติจากน้อยไปหามากแล้วค่อย ๆ กระจายออก   และจะต้องปฏิบัติบนพื้นฐานแห่งความไม่ประมาท   ตั้งอยู่บนหลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข   จะเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานของชีวิตและรากฐานของแผ่นดินเป็นดั่งพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมราชบพิตร ที่ตรัสไว้ทุกประการ

                 “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  หัวใจของศาสตร์พระราชา  เป็นศาสตร์แห่งการพัฒนาผืนแผ่นดินไทย”

หมายเลขบันทึก: 650822เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2018 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2018 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ..-ขอน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชวิต ณ บ้านไร่ของเราครับ

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ คุณเพชร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท