๗๗๙. คู่มือมนุษย์..


“ชีวิตนี้มีค่า” ได้ให้แง่คิดว่า ชีวิตนี้คือสิ่งที่ธรรมชาติให้มาเพื่อการพัฒนา มันจะมีค่าต่อเมื่อพัฒนาสำเร็จแล้ว เด็กๆ ควรจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างยิ่ง เด็กจะได้ตั้งอกตั้งใจสนใจในการศึกษาเพื่อการพัฒนา แล้วการศึกษาก็จะไม่เป็นหมัน มันต้องศึกษาเพื่อพัฒนาให้ถูกต้อง...

             เรื่องราวของหนังสือ..สำหรับผมมีข้อมูลพื้นฐาน ๒ ด้าน ในด้านแรก ผมจะดีใจมากทุกครั้งที่ได้รับหนังสือเป็นของขวัญของฝาก และอีกด้านหนึ่ง ผลงานการเขียนของผมได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือหรือวารสาร...

            ผมได้รับอานิสงส์..อย่างเต็มเปี่ยม เพียงพอและพอเพียงต่อความต้องการ ไม่อยากได้อะไรอีก นอกจากหาเวลาอ่านหนังสือที่มีอยู่..ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

            วันนี้..ได้รับหนังสือ “คู่มือมนุษย์” ของท่านพุทธทาสภิกขุ ส่งมาจากพี่ชาย ที่เป็นญาติผู้ใหญ่และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ “โคราช” ส่งมาให้ ๑๖๐ เล่ม

            ผมเคยอ่านเล่มใหญ่แล้ว แต่อ่านไม่จบ พี่จึงแนะนำให้อ่านฉบับ “พ๊อคเก็ตบุ๊ค” ปกแข็ง รูปเล่มเล็ก ถือได้กระชับ และอ่านสบาย พี่ฝากให้ผมแจกฟรีสำหรับผู้ที่สนใจหรือผู้ที่มาศึกษาดูงานก็ได้

            ก่อนหน้านี้..พี่ได้ส่งหนังสือเล่มเล็ก ชุดธรรมะครองใจ ของท่านพุทธทาส..เช่นเดียวกัน ซึ่งสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ได้จัดทำโครงการ ๑๐๐ ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีและถวายเป็นอาจาริยบูชา

            อีกทั้ง..ต้องการผลิตหนังสือและสื่อธรรมะเพื่อการเข้าถึงของคนทุกวัย ใช้ชื่อชุดว่า “พุทธทาส ๑๐๐ ปี หนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ลักษณะหนังสือเป็นเล่มบางๆ รูปเล่มและภาพประกอบสวยงามมาก พี่ส่งมาให้ผมอ่านครบทั้ง ๑๐๐ เล่ม

            ผมอ่านยังไม่ถึง ๑๐ เล่ม เล่มที่อ่านแล้วผมจัดแยกไว้ต่างหาก และบันทึกสั้นๆเอาไว้ว่า ในแต่ละเล่มให้แง่คิดอะไรบ้าง? อย่างเช่น...

            “เติมความสุขลงในชีวิต”..ให้แนวคิดว่า ถ้าคนมีความรู้แต่หนังสือกับอาชีพแล้ว ชีวิตนั้นมันยังโพรงอยู่ไม่เต็ม เติมธรรมะลงใปในชีวิต ให้ชีวิตนี้เต็มทั้ง ๓ ส่วน คือ ทั้งรู้หนังสือ ทั้งรู้อาชีพ และทั้งมีธรรมะ

            เอาความรู้ธรรมะที่ยังขาดอยู่นั่นแหละเติมให้เต็มให้รู้ว่าปฏิบัติธรรมะอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์..

            “ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด” สอนให้รู้ว่า ความเจ็บไข้นี้มีมาทำไม?..มาเพื่อตักเตือนให้ฉลาด มาเพื่อสั่งสอนให้ฉลาด หรือว่ามาเพื่อบอกให้เตรียมเนื้อเตรียมตัว สำหรับการดับไม่เหลือแห่งความทุกข์..

            “ชีวิตนี้มีค่า”  ได้ให้แง่คิดว่า ชีวิตนี้คือสิ่งที่ธรรมชาติให้มาเพื่อการพัฒนา มันจะมีค่าต่อเมื่อพัฒนาสำเร็จแล้ว เด็กๆ ควรจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างยิ่ง เด็กจะได้ตั้งอกตั้งใจสนใจในการศึกษาเพื่อการพัฒนา แล้วการศึกษาก็จะไม่เป็นหมัน มันต้องศึกษาเพื่อพัฒนาให้ถูกต้อง...

            ไม่ใช่พัฒนาไปตามอำนาจของกิเลส..เหมือนนโยบายทางการศึกษาในปัจจุบัน มันต้องพัฒนาไปตามเหตุผลของสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ”

            ทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า..แนวทางการปฏิรูปการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอน ควรยึด..ธรรมะของพระราชา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙..เพราะพ่อสอนให้เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา ทั้งการศึกษา อาชีพและธรรมะ

            ขอบคุณ “คู่มือมนุษย์” ที่ทำให้ผมตระหนักและสำนึก “คำสอนของพ่อ” ที่ทรงห่วงใยอนาคตของชาติ พระองค์ตรัสกับครูท่านหนึ่งว่า “ขอฝากเด็กๆด้วยนะ ช่วยสอนเขาให้เป็น..คนดี..”

            ผมเป็นครูคนหนึ่ง จึงเขียนเรื่องราวเป็นบทความเกี่ยวกับการเรียนการสอนและการพัฒนาทักษะชีวิตผู้เรียน..ลงในวารสาร “หมอชาวบ้าน” ได้รับการตีพิมพ์มาอย่างต่อเนื่อง เหมือนที่ผม "สานต่อที่พ่อทำ"..มาอย่างมั่นคงและยาวนานเช่นเดียวกัน...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๗  สิงหาคม  ๒๕๖๑

           

 

            

หมายเลขบันทึก: 650789เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2018 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2018 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท