ปัญหาทางบ้าน... ส่งผ่าน...ถึงนักเรียน


" ...ฝากเด็ก ๆ ด้วยนะ...สอนให้เขาเป็นคนดี..."


เชื่อว่า คนที่เป็น  " ครู " ทุกคน จะต้องกลุ้มอก รกใจ และ " เครียด " 

กับปัญหา " นักเรียนตีกัน ทะเลาะวิวาทกัน " เป็นแน่แท้

" เด็กมันโกงกัน ทะเลาะกัน เดี๋ยวมันก็ดีกัน เล่นซุกซนด้วยกัน

ขอเพียงพ่อแม่ ผู้ปกครอง อย่าเอามาเป็นอารมณ์ อย่าเข้ามา

ยุ่งเกี่ยวเท่านั้น "  นี่คือ  ความรู้สึก และความคิดเห็นของครู

ที่จะเห็นตรงกัน  ...  ใช่ไหม ?

ตลอดชีวิตของการเป็น " ครู " ของคุณมะเดื่อ ต้องพบกับปัญหา

นักเรียนทะเลาะวิวาท กันมาตลอด ซึ่งเป็นธรรมดาของเด็ก ๆ 

เหมือนกับที่ครูทุก ๆ คนก็คงพบเจอ  ครูประถมเมื่อพบกับ

ปัญหานี้ ก็คงจะแก้ไขได้ไม่ยาก  เพียงอบรม สั่งสอน หรือถ้า

เด็กยังไม่เลิกพฤติกรรมเกเร  เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อีก  ก็ต้องใช้วิธี

ตามคำสอนของบรรพบุรุษเรา  คือ " รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" 

ไม้เรียวสร้างคนให้เป็นรัฐมนตรีได้ฉันใด  ก็ฉันนั้น


แต่ถ้าหากเป็นปัญหาที่เกิดกับนักเรียนชั้นมัธยมขึ้นไป  ครูก็คงจะต้อง

หนักใจเป็นที่ยิ่ง เพราะวัยที่ต่างกันของเด็กนั่นเอง


ล่าสุด คุณมะเดื่อเจอปัญหานี้ กับนักเรียนชายสองคนในชั้น ป.๔

เป็นนักเรียนที่เป็นญาติ ๆ กัน และที่สำคัญมีบ้านอยู่ติดกันชนิด

ที่ว่า หลังคาบ้านเกยกัน  ข้อมูลที่ได้ทราบมาจากคนในหมู่บ้านนั้น

และครูของโรงเรียน  คือ เมื่อตอนที่เด็กทั้งสองอยู่ชั้น ป.๑ ป.๒

ทั้งสองบ้านยังเป็นญาติและเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันอยู่  แต่พอเด็ก

ทั้งสองขึ้นชั้น ป.๓  ทั้งสองบ้านก็แตกแยกความเป็นญาติมิตร

ที่ดีต่อกัน  สาเหตุเพราะ...ปัญหาการเมืองท้องถิ่นในการเลือกตั้ง

ผู้ใหญ่บ้าน  เพราะทั้งสองบ้าน " ถือหาง" ผู้สมัครผู้ใหญ่บ้านคนละคนกัน

เมื่อผลปรากฏว่า อีกฝ่ายหนึ่งได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน อีกฝ่ายจึง

ไม่พอใจ พาลโกรธกันไป....ปัญหาแบบนี้คงมีแทบทุกท้องถิ่นนะ



นับแต่นั้นมา สองบ้านที่หลังคาชนกัน  ก็หันหลังให้กัน  ในขณะที่ลูกชาย

ทั้งสองบ้าน ก็ยังเรียนอยู่ในห้องเดียวกัน  ชั้นเดียวกัน

" สองคนนี่เขาชกต่อยกันมาตั้งแต่ ป.๓  แล้วค่ะ ่" เด็กหญิงคนหนึ่ง

ในชั้น ป.๔  ให้ข้อมูลกับครูมะเดื่อ  หลังจากที่ครูมะเดื่อ

ได้รับแจ้งว่า ทั้งสองคนนี้ทะเลาะเบาะแว้ง และชกต่อยกัน

บ่อยครั้งมาก  ทั้ง ๆ ที่ได้ทำโทษไป และคาดโทษไว้ ก็ยัง

เกิดขึ้นอีกเสมอ



ในที่สุด  คุณมะเดื่อก็ต้องสั่งนักเรียนทั้งสองนั้น ให้บอกผู้ปกครองว่า

ให้มาพบกับครูมะเดื่อในวันเปิดเรียนต่อไป  เพื่อที่ว่าจะต้องพูดคุย

กับทางผู้ปกครองเพื่อ หาทางแก้ไขปัญหานี้  เพราะจะให้โรงเรียน

เป็นฝ่ายแก้ปัญหาฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว  อีกประการหนึ่ง คุณมะเดื่อ

เชื่อว่า  ปัญหาต้องสืบเนื่องมาจาก การไม่ถูกกันของผู้ปกครอง

เป็นแน่แท้ เพราะเมื่อสอบถามนักเรียนฝ่ายหนึ่งที่เป็นลูกของ

ครอบครัวที่ถือข้างฝ่ายแพ้การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน  เด็กชาย

บอกว่า ทางผู้ปกครองบอก "ให้ต่อย  อีกฝ่ายหนึ่งไปเลย"



ผู้ปกครองของเด็กชายทั้งสอง ก็ไปพบครูมะเดื่อตามที่ได้บอกกับ

เด็กชายทั้งสองไป  แต่ไปพบครูมะเดื่อคนละวันกัน  แต่กลับเป็น

" ย่า " กับ " ยาย"  ไม่ใช่พ่อแม่  แต่ก็ไม่เป็นไร  เพราะทั้งสองบ้านนี้

อยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ทั้งนั้น  ใครมาพบก็ไม่สำคัญ  อีกอย่าง

พ่อแม่ของเด็กทั้งสองบ้าน ก็คือ อดีตลูกศิษย์ครูมะเดื่อทั้งนั้น

ผู้ปกครองของเด็กชาย ที่ฝ่ายเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นฝ่ายชนะ ไปพบ

ครูมะเดื่อก่อน  แล้วก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาของเด็ก

อะไรเลย  เพียงแต่พูดว่า หลานชายของตนไม่ผิด  ไม่ใช่เป็นเด็กเกเร

และอยู่บ้านก็ไม่ได้เล่นกับเด็กชายอีกคน และไม่ได้เล่นกับเด็กคนไหน

เลย  ตรงนี้แหละที่คุณมะเดื่อได้แต่นึกในใจว่า  มันเป็นการเลี้ยงดูลูกหลาน

ที่ถูกต้องแล้วล่ะหรือ ???  และมีกระแสว่า เด็กชายคนนี้จะย้ายโรงเรียน !!

หลังจากนั้น  วันจันทร์ถัดมา  ย่าของเด็กชายอีกคนซึ่งผู้สมัครเลือกตั้ง

ผู้ใหญ่บ้านเป็นฝ่ายแพ้  ก็เช่นเดียวกับฝ่ายแรก คือหลานชายของ

ตนไม่ผิด   อยู่บ้านก็ไม่ได้ให้เด็กไปเล่นด้วยกัน  ต่างคนต่างอยู่

แล้วก็ให้ข้อมูลกับคุณมะเดื่อว่า  " เห็นว่าลูกบ้านนั้นจะย้ายนี่" 

คนมะเดื่อได้แต่นึกฉุนอยู่ใน  แล้วก็ตอบไปว่า " ช่างเขาเถอะถ้า

เขาอยากจะย้ายลูกก็ย้ายไป  เป็นสิทธิ์ของเขา ตามใจเขา"

เป็นอันว่า  ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ผิด  ทำให้คุณมะเดื่อคิดว่า 

" ถ้าอย่างนั้น  ครูคงผิด  ที่สอนเด็กไม่ดีเอง....เฮ้อ ! "

ต้องบอกว่า  ปัญหาที่เด็กทะเลาะกัน อันมีสาเหตุของการไม่ถูกกัน

ของผู้ปกครองแบบนี้  ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดครั้งนี้เป็นครั้งแรก

คุณมะเดื่อพบกับเรื่องแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว...บางครั้ง

ถึงกับมาเอะอะในห้องเรียน เมื่อลูกหลานของตนทะเลาะกัน

ซึ่ง...น่าเบื่อที่สุด...!


จากวันนั้น เด็กชาย ฝ่ายชนะเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ก็ไม่ได้ไปโรงเรียน สองสามวัน

ซึ่งก็พอดีกับที่ คุณมะเดื่อติดภารกิจการประชุมไม่ได้เข้าโรงเรียน  ในใจก็กังวล

กับปัญหานี้ตลอด   แล้ววันศุกร์สัปดาห์นั้น  คุณมะเดื่อเข้าโรงเรียนในภาคเช้า 

ก็พบว่า ยายของเด็กชาย พาเด็กชายมาส่ง พร้อมกับสีหน้าที่ดีขึ้นมาก

และบอกว่า  ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ต้องเป็นเพราะทางบ้านที่ไม่ถูกกัน

นั่นเอง  เพราะเด็กไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งกับเด็กคนอื่น ๆ 

ในโรงเรียนเลย  คุณมะเดื่อก็ได้แต่ยิ้ม  แล้วขอให้เด็กชายได้ไป

ทัศนศึกษากับเพื่อน ๆ ในสัปดาห์หน้ากับเพื่อน ๆ ด้วย  เพราะว่า

ก่อนหน้านี้ ผู้ปกครองบอกว่า จะไม่อนุญาต  แต่วันนี้เมื่อครู

ขออนุญาต ยายของเด็กก็อนุญาต  แต่ขอฝากให้ครูมะเดื่อได้

ช่วยดูแลด้วย.... (เฮ้อ ! เอาอย่างนั้นก็ได้  จะได้จบ ๆ กันไป )

เมื่อนักเรียนเข้าห้องเรียนตอนเช้าวันต่อมา  คุณมะเดื่อก็ได้ให้เด็กชายทั้งสองคน

จับมือกัน กอดคอกัน  และรับปากว่าจะเป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือดูแลกันและกัน

ให้สัญญาต่อหน้าเพื่อน ๆ ว่าจะไม่ทะเลาะชกต่อยกันอีกและไม่เอาเรื่องทางบ้าน

มาเป็นเหตุให้ต้องทะเลาะกันอีกต่อไป   เด็กทั้งสองก็รับปากและให้สัญญา


คุณมะเดื่อได้แต่กราบพระบรมฉายาลักษณ์ของพ่อหลวง ร.๙ 

และ รูปหล่อหลวงพ่ออินทร์ อันเป็นที่สักการะของคุณมะเดื่อ

และชาวบ้านใกล้เคียงทั่วไป  ที่ช่วยให้คุณมะเดื่อมีจิตใจเข้มแข็ง

จนสู้กับปัญหาและแก้ปัญหาในกรณีศึกษานี้ และปัญหาอื่น ๆ 

ได้อย่างลุล่วง  ปัญหาหนักก็ให้เป็นปัญหาเบา  ยอมรับว่า...

สมองและสังขารที่ใช้งานหนักมาตลอดของคุณมะเดื่อ 

มันอ่อนล้า...และ อ่อนแรงลงทุกขณะ  แต่ก็ยังวางมือ

อะไรไม่ได้เลย....ต้องบอกตนเองว่า...เดินต่อไป..

เท่าที่กำลังกาย  กำลังใจจะพาไปได้...ทำให้ดีที่สุด

เป็นครู...ตามที่พ่อหลวงมีพระราชประสงค์ไว้...

" ...ฝากเด็ก ๆ ด้วยนะ...สอนให้เขาเป็นคนดี..." 


หมายเลขบันทึก: 650693เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2018 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2018 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอขอบคุณครูมะเดื่อที่ช่วยสอนจนเด็กดีกันได้ ความสามัคคี คือ พลังค่ะ สู้ๆค่ะ ครูมะเดื่อ

ขอบคุณคุณใบบุญมากมายสำหรับกำลังใจจ้ะมันคืองานและหน้าที่ของครูอย่างหนึ่งนะแต่…บางทีก็สุดทนเหมือนกันจ้ะขอบคุณอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท