853. "สมองวีรบุรุษ (The Hero Brain)"


สามก๊ก เป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ แม้จะมีเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างปนเปเข้ามา แต่ก็มีเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจไม่น้อย วันนี้ผมมีเรื่องราวที่ผมรู้สึกได้แรงบันดาลใจเรื่องหนึ่ง โดยเกิดจากคำถามหนึ่งคือ ทำไมคนจึงไปร่วมกู้ชาติกับเล่าปี่ ทั้งๆ ที่มองเห็นความสำเร็จได้ยากมาก จะว่าไปไม่รู้จะมีที่ซุกหัวนอนวันนี้หรือเปล่า ครอบครัวจะไปไหม  ทำไมมีคนเก่งเช่นกวนอู ขงเบ้ง และคนอื่นตามมาทำงานเป็นพรวน . 

คุณอาจเห็นไม่ชัด มาเทียบกับยุคปัจจุบัน เอาเป็นว่าถ้าเป็นยุคใหม่ องค์กรที่คุณอยู่ มีผู้บริหารสามคน พรุ่งนี้ไม่รู้ว่ามันจะยังอยู่ไหม  คุณจะได้เงินเดือนหรือเปล่า คุณอาจต้องไปอยู่บริษัททุกวัน ไม่ได้กลับบ้านสองสามปี ชีวิตนี้ไม่รู้จะมีความมั่นคงไหม .. คุณอาจไม่มีโอกาสได้พาลูกไปส่งโรงเรียนอนุบาล กลับบ้าน ลูกเมียคุณอาจหายไปไหนไม่รู้ คุณจะกล้าทำงานที่นี่ไหมครับ  ถ้าทำก็บ้าแล้ว..นี่แหละครับก๊กของเล่าปี่ช่วงเริ่มต้น..

ก๊กนี้เริ่มจากสามคน..สามคนครับ สามคน..สามคนที่ร่วมกันก่อร่างสร้างประเทศขนาดใหญ่จ๊กก๊ก กินพื้นที่  485,000 ตร.กม. เกือบเท่าประเทศไทย ... อยู่ได้เกือบ 42 ปี   สร้างประวัติศาสตร์เล่าขานกันมานับพันปี ..

ถ้าคุณคิดว่าธรรมดาอีก คุณลองถามตัวเองสิครับ เคยเห็นคนสามคนรวมหัวกันทำอะไรได้ขนาดนี้ไหมครับ ...

เอาแค่ตั้งร้านกาแฟพื้นที่ 10 ตารางเมตร หลายคนยังไปไม่รอด สองสามปีก็ไปแล้ว ไม่ต้องพูดถึง 42 ปี 


นี่จึงไม่ใช่การรวมตัวของคนสามคนที่ไหนก็ได้..ที่จะสร้างปรากฏการณ์ได้ขนาดนี้ แสดงว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่สุดพิเศษ จะว่าไปเหลือเชื่อด้วยซ้ำ

แล้วเราจะอธิบายปรากฏการณ์เหลือเชื่อนี้ได้อย่างไร? 

ผมมองนึกเรื่องหนึ่งครับคือทฤษฎีชนเผ่า (Tribe) โดยปรมาจารย์ด้านบริหารชื่ออาจารย์เซ็ท โกดิน ...ท่านนี้มองปรากฏการณ์ของขบวนการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมขนาดใหญ่ต่างๆ แล้วสร้างทฤษฎีนี้ออกมา..

ท่านบอกว่า...เริ่มเลยคนทุกคนในสังคมอยู่ร่วมเป็นกลุ่ม ทุกกลุ่มมองหาผู้นำครับ .. มนุษย์เอาตัวรอดมาตลอดประวัติศาสตร์ได้ด้วยการรวมตัวเป็นชนเผ่า (Tribe)  ชนเผ่าพวกนี้เป็นอย่างไร...เรามาดูจากทฤษฎีชนเผ่ากัน  ชนเผ่าประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน และผู้นำ  


สังเกตุไหมครับ เราจะเห็นชนเผ่าเต็มไปหมดรอบตัวเรา เรามีกลุ่ม มีจุดหมาย และมีผู้นำ ... มีกลุ่มเม๊ามอย กลุ่มนินทานาย กลุ่มอะไรท่วมโลก แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เยอะมาก.. แต่ที่ทำอะไรได้ก็มาก ..น่าศึกษานะครับ 

เออจริง ถ้าดูจากทฤษฎีชนเผ่า

เผ่าเล่าปี่สามคน สร้างประเทศได้ กับชนเผ่าสามคนที่รวมกันสร้างร้านกาแฟแล้วเจ๊งอย่างไร หรือชนเผ่าใน Office ที่ได้แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือด่าที่ทำงาน ... ต่างกันยังไง..เพราะมันมีองค์ประกอบเหมือนกันเป็นคือ มันประกอบด้วยกลุ่มคน การมีเป้าหมายเดียวกัน และผู้นำ  

อาจารย์  Seth บอกว่าว่าต่างกันที่เผ่าที่เปลี่ยนโลกได้เหล่านี้ มีเป้าหมายทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาความอยุติธรรมของสังคมในระดับท้าทายมากๆ เกินตัวมากๆ เช่น Wikipedia ที่มีคนจำนวนมหาศาล ทั่วโลก ..ไม่ได้เป็นลูกจ้างองค์กรนี้ ต่างมาร่วมกันเพื่อพัฒนาสารานุกรมสำหรับมนุษยชาติ อย่างทุ่มเทแรงใจ ไม่มีค่าตอบแทน..

Wikipedia กิดจากผู้ก่อตั้งที่เชื่อว่าการสร้างความรู้ให้กับมนุษยชาติ ไม่ควรอยู่ในมือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แค่บอกเท่านี้ก็เริ่มมีคนเห็นด้วย เริ่มหาทุนได้ ที่สุดเกิดเป็นคลังความรู้แห่งมนุษยชาติ ตอนหลังมีการตรวจสอบ Wiki ก็พบว่ามีความน่าเชื่อกว่าสารานุกรมแบบเดิมๆ ที่ขายโดยบริษัทใหญ่ๆ ที่คนจะเข้าถึงได้ต้องมีเงินเท่านั้น ตอนนี้ใครๆก็เข้าถึง คนทุกมุมโลกสามารถเข้าไปมีส่วนในการสร้างคลังความรู้อย่างเป็นระบบได้ ไม่ใช่นักวิชาการบางกลุ่มในบางบริษัทเท่านั้น..  ... นี่ก็เป็นการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาครั้งสำคัญของมนุษยชาติ.. นี่คือสุดยอดชนเผ่า...ชนเผ่าที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ ดีงามร่วมกัน..เท่าที่ดู Wikipedia อาณาจักรทางปัญญาก็เริ่มจากคนสองสามคน.. 

No-Kill Movement of America เป็นขบวนการไม่ฆ่า (หมาแมวจรจัด) แห่งอเมริกา  เกิดจากผู้ก่อตั้งเห็นว่าในซานฟราน ถ้าเทศบาลจับหมาจรจัดได้ จะขังไว้สองสามวัน หลังจากนั้นไม่มีใครมารับกลับก็จะกำจัดทิ้งทันที ผู้ก่อตั้งเลยบ่นออกมาดังๆ ว่าคนเราน่าจะเมตตากว่านี้ บ่นไปไม่กี่ครั้งก็มีคนมาถามว่า แล้วจะทำอย่างไรดี ผู้ก่อตั้งบอกว่าเราต้องช่วยกันเปลี่ยนกฏหมาย  แล้วก็มีคนอาสาช่วยกลายเป็นชนเผ่าขึ้นมา โดยไม่ต้องมีอำนาจทางการเมืองอะไร ตอนมีการผลักดันกฏหมาย มีคนต่อต้านมาก สส.จากรัฐอื่นก็ออกมาต่อต้าน แต่แพ้กลุ่มนี้ที่สุด ซานฟรานเปลี่ยน เมืองอื่นๆ ก็เริ่มเอาตาม หมาแมวมีโอกาสได้ชีวิตใหม่ ต่อชีวิต อเมริกาเป็นเมืองที่มีเมตตาธรรมขึ้น

คำถามคือเราจะสร้างเผ่าเปลี่ยนโลกแบบนี้ได้อย่างไร ..อาจารย์เซ็ท โกดินบอกว่า เท่าที่เขาเห็น ต้องเริ่มจากการที่คุณตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ ว่าสิ่งนี้มันดี มันชอบธรรมแล้วเหรอ ...แล้วสื่อสารออกไปกับกลุ่มคนที่ใช่ สมัยนี้ยิ่งง่าย มี Facebook มี Twitter  ..  มนุษย์เรามีแนวโน้มจะรู้สึกไม่ชอบอะไรที่ไม่ชอบมาพากลอยู่แล้ว คุณมีโอกาสเจอคนที่มี Passion เดียวกับคุณไม่ยาก เขาจะเริ่มถามว่า .. “แล้วจะทำอย่างไรดีพอคุณบอกว่ามันต้องทำโน่นนี่นั่น..พวกเขาก็จะบอกว่า .. “แล้วจะให้พวกผมทำอย่างไร  แล้วชนเผ่านั้นก็จะเกิดขึ้น และขยายตัวไปเรื่อยๆ   

เล่าปี่ก็เริ่มจากการรำพึงรำพันว่า ..โจรโพกผ้าเหลืองทำร้ายแผ่นดิน อยากไปช่วย แต่ขัดสนเงินทอง.. เข้าแก๊ปเรื่องทฤษฎีชนเผ่าเลย.เล่าปี่บ่นเรื่องใหญ่ๆ เป็นปัญหาร่วมกันของคนในชาติ... เท่านั้นเอง บุรุษแปลกหน้า ซึ่งก็คือเตียวหุยก็เข้ามาคุย จะให้ทำยังไง เพราะเงินไม่ใช่ปัญหา... เท่านี้เอง นำไปสู่การนั่งคุยกัน ทั้งสองเจอกวนอูในอีกไม่กี่นาทีต่อมา แล้วตำนานก็เกิดขึ้น ...จะว่าไปถ้าเล่าปี่คิดในใจไม่รำพึงรำพันอะไรออกมา..ก็ไม่มีใครรู้.. เสี้ยววินาทีนั้นเองที่เปลี่ยนชีวิตเลย.. นี่ถ้าไม่พูดก็ไม่ได้อีก... 

และนี่เองก็พอจะบอกได้อีกว่าทำไมทีมเล่าปี่เลยแพ้.. ผมก็แปลกใจว่าทำไมตอนท้ายๆ เล่าปี่ถึงต้องบุกไปแพ้ง่อ ก๊ก มันมีอะไรมากกว่าการแพ้สติปัญญาของลกซุนรึเปล่า..ผมสงสัยมานาน..เลยค้นพบว่าถ้ามองจากทฤษฎีชนเผ่า คำตอบที่ได้คือ เล่าปี่มีเป้าหมายที่ดีงามเพื่อตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายที่ดีงามเพื่อคนหมู่มากอีกต่อไป  ตอนแพ้ กับตอนชนะมันต่างกันตรงนี้.... เผ่าเล่าปี่ตอนท้ายนี่ ต่อให้ตั้งร้านกาแฟได้ ก็ไปไม่รอด ..  ไม่ต้องพูดถึงการไปรบกับประเทศอื่นๆ 

อยากเปลี่ยนโลกไหมครับ

อาจารย์เซ็ท โกดินบอกว่า เราเปลี่ยนโลกได้ครับ..ขอให้คุณอยากต่อต้านอะไรที่ไม่ควรเถอะ  อะไรที่เป็นปัญหาของคนอื่น.. แล้วคุณก็เล่าเรื่องนี้ให้คนฟัง สมัยนี้มีสื่อเพียบ....เดี๋ยวคนอื่นก็จะถามเองว่า จะทำอะไรดีล่ะ คุณบรรจงบอกเลยว่าน่าจะทำอะไร ..ถ้าเป็นเหตุผลที่ดีงาม...จะเริ่มมีคนถามว่า แล้วจะทำอย่างไร แล้วคุณก็บอกทีละขั้นเลย..ว่าจะให้เขาทำอย่างไร.. เหตุผลที่ดีงาม ที่ยิ่งใหญ่พอ จะมีคนสนับสนุนมากขึ้นตามความสำคัญของมัน ...แล้วคุณก็ลงมานำ ทำอย่างต่อเนื่องอย่าหยุดยั่ง อย่าหันกลับมาทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง ถ้าคุณรักษาเส้นทางนี้ได้ การเปลี่ยนแปลงของคุณจะไปได้ไกลเรื่อยๆ สร้างผลกระทบที่หนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ  โดยไม่ต้องกลัวเรื่องเงินทุน หรืออำนาจทางการเมือง เส้นสายอะไร เล่าปี่ Wikipedia No-Kill และอาจารย์พร เป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว 

และที่สุดของที่สุดคือความยั่งยืน...

อยากยั่งยืน ต้องไม่เปลี่ยนจุดยืนไม่งั๊นก็พังแบบเล่าปี่

สมองของวีรบุรุษจึงต่างจากคนทั่วไปด้วยประการฉะนี้

เป็นกำลังใจให้นักสู้ครับ

ด้วยรักและปรารถนาดี

บทความโดยดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์

www.aithailand.org

อ้างอิง:  ยังไม่มีแปลเป็นไทยครับ

หมายเลขบันทึก: 650321เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2018 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2018 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณสำหรับความรู้จากบทความดีๆ ของ อ.ภิญโญ เรื่องของผู้บุกเบิก ผมขอเสริมสักนิดว่า ทีแรกผู้นำการบุกเบิกจะมีทัศนคติที่ดี เช่น เล่าปี่ต้องการรวมชาติ อันนี้คือทำเพื่อส่วนรวม แต่พอ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพิ่มมากเข้า ผู้นำส่วนมากมักแพ้ภัย โลกธรรมเข้าครอบ ทัศนคติเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว กลายพันธุ์จากทำเพื่อผู้อื่นเป็นทำเพื่อตัวเอง…สุดท้ายก็แพแตก

เรื่องนี้มี Case study มากมาย ทั้งองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ องค์กรศาสนา ที่ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อนพอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา เมื่อเผลอขาดสติ และความยึดมั่นในปณิธานไม่แข็งแรงพอครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ที่เขียนบทความดีๆ มีเนื้อหาสาระให้ได้อ่าน สร้างแรงบันดาลใจได้อย่างดี โดยเฉพาะสำหรับคนหนุ่มสาวที่กำลังค้นหาเส้นทาง้ดินของชีวิตครับ

ขอบคุณสำหรับความเห็นและกำลังใจนะครับ ^___^

ขอบคุณบทความดีๆ ที่ให้ขบคิดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท