๗๖๙. ขาดทุน คือ..กำไร


นี่คือ..สิ่งที่เรียกว่า “กำไร” ที่ได้เป็นบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ ในบ้านหลังเล็กนี้ ผมยังอยู่ในท่ามกลางอุปสรรคและความยากลำบาก สัมผัสความ “ขาดทุน” มาจนชาชิน..เพราะทุกเรื่องที่ทำ ทุกกิจกรรมที่สร้าง..ใช้ความมุ่งมั่น ทุ่มเท ใช้เวลา แรงกายและแรงใจตลอดเวลา

              เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา..ผมยังเข้าไม่ถึงเรื่องราวของ “ศาสตร์พระราชา” ยังไม่ได้ศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเต็มที่ ต่อเมื่อเข้ามาอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก แหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม เอื้อให้เข้าถึง “หลักการทรงงาน” ของในหลวงรัชกาลที่ ๙

            โรงเรียนมีสระน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ดินกว้างใหญ่ มีทุ่งนา ที่รายล้อมด้วยอาคารและโรงเรือน ตั้งอยู่อย่างลงตัว เหมือนบ้านเล็กในป่าใหญ่ สามารถประยุกต์ใช้ “ทฤษฎีใหม่” เพื่อให้ที่ดินถูกใช้อย่างมีคุณค่าและสมประโยชน์

            ด้านหลังอาคารเรียน..เป็นห้องเรียนธรรมชาติ รายล้อมด้วยต้นไม้นานาชนิด และสวนสมุนไพร ก็ชวนให้ผมทำงานได้อย่างมีความสุข ยิ่งเห็นสวนป่าของโรงเรียนโตวันโตคืนด้วยแล้ว..ยิ่งรู้สึกมี “แรงบันดาลใจ” ในการทำงาน

            ด้านหน้าอาคาร..สนามกีฬากว้างใหญ่มาก ผมกับคณะครูปรึกษากัน แล้วแบ่งพื้นที่ของสนาม ๒ ไร่ เพื่อปลูกงาดำ ทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว..

            ก่อนปลูก..หาข้อมูลจากกรรมการโรงเรียนและชุมชน จนทราบว่าพื้นที่ใกล้โรงเรียนดั้งเดิมเมื่อ ๓๐ ปีที่ผ่านมา ก็เคยใช้ปลูกงา กาลต่อมา..ไม่นิยมปลูก ชาวบ้านหันไปทำนาและปลูกอ้อยแทน

            ปีที่แล้ว..ฝนตกชุก งาดำเลยได้ผลดี พื้นที่ ๒ ไร่ ได้งาดำมากกว่า ๖๐ กิโลกรัม ปุ๋ยคอกไม่ต้องใส่ น้ำก็ไม่ต้องรดมากนัก..

            ปีนี้..ก็เลยหว่านงาดำในพื้นที่เดิม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ทำกันในวันเดียวกับที่ดำนาข้าวหอมมะลิ โดยมี.คุณทองทรัพย์..วิทยากรท้องถิ่น เข้ามาช่วยเป็นกำลังหลัก....

            หว่านงาเสร็จ ฝนตั้งเค้ามา ผมก็เลยบอกคุณทองทรัพย์ว่า..ไม่ต้องไถปั่นคลุกเคล้าดินก็ได้ ปล่อยให้น้ำฝนซึมซับเมล็ดงาลงไปในดิน ให้ความชุ่มชื้นสัก ๓ – ๕ วันก็คงจะงอกและผลิใบ..อย่างที่เคย

            วันนั้น..และผ่านไปอีก ๗ วัน..ฝนไม่เคยตกเลย มีแต่ก้อนเมฆดำทะมึนทุกวัน ผมรีบไปขอความอนุเคราะห์เทศบาล ขอรถน้ำมาประพรมแปลงงาอย่างหนัก

            ๔ คันรถ..ในช่วง ๒ อาทิตย์..ไม่มีอะไรเกิดขึ้น..นอกจากต้นหญ้าเขียวขจี ที่ผมหลงคิดไปเองว่า..คือต้นงาดำ..จนกระทั่ง คุณเฉลิมศรี กรรมการโรงเรียนเข้าไปดูใกล้ๆ จึงพบว่า..ถึงคราอวสาน..งาดำ..เสียแล้ว

            ปีนี้..แปลงนางาดำ..ลงทุนมากเป็นพิเศษ เพราะได้เรียนรู้จากข้อมูลเดิม จึงเตรียมการและแสวงหาการมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ การบริหารจัดการเป็นไปด้วยดี แต่ก็พบปัจจัย..ที่เป็นปัญหา..และควบคุมไม่ได้

            จะบอกว่า “ขาดทุน”ก็ได้ แต่ไม่ใช่ ผมคิดว่าผมได้ทำดีที่สุดแล้ว นักเรียนได้เรียนรู้วิธีปลูกงา ที่กำลังจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่หายาก ได้ทำกิจกรรมใกล้ชิดกับชุมชนผู้ปกครอง และได้ใช้หลักการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ใช้พื้นที่ดินอย่างมีคุณค่า

            ถ้าไม่ลงมือปลูกงาดำ คงไม่ทำให้รู้จัก “พี่หมู” ผู้ริเริ่มและประสานงานการก่อตั้งกองทุนพัฒนาการศึกษาบ้านหนองผือ ตลอดจนความใส่ใจให้ตระหนักว่า "อย่าประมาท"..รอพึ่งพาน้ำฝน จนลืมพึ่งตนเอง..

            นี่คือ..สิ่งที่เรียกว่า “กำไร” ที่ได้เป็นบทเรียนเพื่อการเรียนรู้  ในบ้านหลังเล็กนี้ ผมยังอยู่ในท่ามกลางอุปสรรคและความยากลำบาก สัมผัสความ “ขาดทุน” มาจนชาชิน..เพราะทุกเรื่องที่ทำ ทุกกิจกรรมที่สร้าง..ใช้ความมุ่งมั่น ทุ่มเท ใช้เวลา แรงกายและแรงใจตลอดเวลา

            แต่ทุกครั้งที่ขาดทุน..กลับลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้ มีความสุขกับงานแม้ว่ายังทำไม่สำเร็จ แค่เด็กเข้าไปมีส่วนร่วม และมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางสร้างสรรค์ ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้..ครูก็พอใจแล้ว..

            วันนี้..เด็กๆช่วยกันหว่านเมล็ดถั่วเขียว ทดแทนงาดำ..ทำกันใหม่ไม่เห็นจะยาก ขณะที่เด็กลงมือทำ ผมคิดและเชื่อว่า..เรื่องเล็กๆที่เราทำไปเหมือนว่าจะไม่ได้อะไร? แต่มันจะกลับมาให้ความสุขกับเรา ..ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง....

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๗  สิงหาคม  ๒๕๖๑

 

 

หมายเลขบันทึก: 650006เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2018 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2018 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขาดทุน คือ กำไรกำไรที่เป็นบทเรียนให้เรียนเกิดการเรียนรู้คือกำไรอันยิ่งใหญ่เป็นกำลังใจให้ชาวหนองผือจ้ะ

เคย ผ่านหูตา มา..ว่า..ร.เก้า..ท่านเขียน หนังสือ ที่มีชื่อว่า..กำไร..คือขาด ทุน..สำหรับ ความเห็น ต่อคำ ๆนี้…มีว่า..เมื่อ..ไรอยากได้..กำไร..เมื่อนั้น..คือ ขาดทุน..(อิอิ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท