สรุปเรื่องสำคัญร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 6 : กระแสการโต้แย้งคัดค้าน


สรุปเรื่องสำคัญร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 6 : กระแสการโต้แย้งคัดค้าน

17 สิงหาคม 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

มีประเด็นร้อนในช่วงนี้ว่า “ร่าง พรบ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ที่ได้แก้ไขชื่อใหม่ จากเดิมที่ชื่อ “ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” นั้น มีสาระสำคัญที่แปลกไปจากหลาย ๆ ร่าง ที่คิดกันไว้แต่เดิม โดยเฉพาะประเด็น“สังกัดของหน่วยงานบริหารงานบุคคลกลาง” หรือที่เรียกย่อว่า “องค์กรกลางฯ” (Central Personnel Agency : CPA) และ ประเด็น “องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น” (Merit Systems Protection Commission) หรือ เรียกย่อว่า “ก.พ.ค.” หรือ “ก.พ.ถ.” (เรียกชื่อให้แตกต่างจากข้าราชการพลเรือน) ที่สำคัญมาก เพราะเปรียบเสมือน “หมาเฝ้าบ้านคุณธรรม” (Watch Dog of Merit System)ของท้องถิ่นก็ว่าได้ ซึ่งขาดหายไป ลองมาแกะประเด็นเสียงคัดค้านดูสักนิด เพราะดังที่กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า “ความแตกต่างหลากหลาย”“การมีหลายกลุ่มหลายพวกของบุคลากรท้องถิ่น” โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงหรือผู้มีส่วนได้เสียหลัก (Focal Stakeholders) ที่มีประเด็นปัญหาโลกแตกแตกต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละกลุ่มไป

 

ร่ายยาวจากร่างรัฐธรรมนูญ

            จำได้แม่นว่าเมื่อครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” (สปช.) ที่เป็นฉบับแรกเริ่มที่ถูกคว่ำไป ในประเด็นหมวดว่าด้วย “การปกครองท้องถิ่น” ก็มีประเด็นถกเถียงกันมากว่า จะมีประเด็นใดบ้างที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญบ้าง ด้วยเกรงว่า “การละเว้นหลักการสำคัญ”ที่สมควรต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะส่งผลถึง “กฎหมายลูก” หรือกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่ต้องที่การตราเพื่ออนุวรรตให้เป็นไปตาม “บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” (Provisions) ออกมา ทำให้กฎหมายที่ตราขึ้นนั้นไม่สมบูรณ์ หรืออาจถูกละเว้นไปเลย แต่ในอีกทัศนะหนึ่ง เห็นว่า ในรายละเอียดที่เป็นไปตามหลักการสากลที่นานาอารยประเทศยึดถือกันนั้น ไม่จำเป็นต้องบัญญัติในรายละเอียด เพราะมิเช่นนั้น บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะยืดยาว โดยไม่จำเป็น แต่พวกที่เห็นคัดค้านว่าไม่ได้ เพราะประเทศไทยใช้ “ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม” (Constitutionalism) [2] ที่ต้องมีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง การไม่บัญญัติไว้ในประเด็นสาระสำคัญ อาจถูกละเลยได้ในการตรากฎหมายที่จะบังคับใช้ในระดับพระราชบัญญัติ

เพราะในการร่างกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นในหลาย ๆ ฉบับ ไม่ว่า ร่างประมวลกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเรียกย่อว่า “ประมวล อปท.” ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือ ร่าง พรบ.ว่าด้วยการกำหนดแผนขั้นตอนในการกระจายอำนาจ แม้แต่ ร่าง พรบ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) ฯลฯ เป็นต้น

 

การเชื่อมโยงกฎหมายบริหารราชการส่วนกลางกับกฎหมายราชการส่วนท้องถิ่น

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นจริงตามที่คาดไว้ไม่มีผิด ในประเด็นคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมนั้น ได้มีบัญญัติไว้ในส่วนของข้าราชการพลเรือนแล้ว แต่ลืมไปว่า นี่คือ “ท้องถิ่น” เพราะสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึง “องค์กรกลางบริหารงานบุคคลท้องถิ่น” ไม่ได้กล่าวถึง หรือบัญญัติในสาระสำคัญของเรื่องดังกล่าวไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เหมือนดังเช่นข้าราชการพลเรือนที่ไม่มีปัญหา เพราะอยู่ในกำกับดูแลของการบริหารราชการส่วนกลางเท่านั้น เรื่องดังกล่าวจึงมิได้บัญญัติว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ แม้กระทั่งการสังกัดทั้งในฐานะ “การกำกับดูแลหรือการควบคุม” (Tutelle Administrative) [3] ก็ตาม ส่งผลให้การตรา “ร่างกฎหมายท้องถิ่น” ที่ตกอยู่ในท่ามกลางของ “หลากหลายกลุ่ม” “หลากหลายความเห็น” ที่จะพาไป การขาดไร้ซึ่งหลักการในการตรากฎหมายเป็นประเด็นสำคัญที่ “ท้องถิ่น” ถูกละเลยเพิกเฉยล่าช้ามาตลอด อย่างยาวนาน ฉะนั้น การตราร่างกฎหมายต่าง ๆ ของท้องถิ่น จึงมีปัญหามาตลอด นอกจากนั้น กฎหมายท้องถิ่นหลายฉบับต้องไปผูกติดเชื่อมโยงหรืออิงกับกฎหมายของราชการส่วนกลาง และ ราชการส่วนภูมิภาคในอีกหลาย ๆ ฉบับ ที่เท่ากับว่า การไปแตะต้องหรือไปเกี่ยวข้องกระทบกระเทือนในกฎหมายเหล่านั้น “ย่อมเป็นไปไม่ได้” เช่น การกระทบต่อสถานะของราชการส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอ หรือแม้แต่ตำบลหมู่บ้าน หรือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้ เป็นต้น ปัญหา “เชิงความขัดแย้ง” เหล่านี้ประดังประทุเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งหลายเรื่องเป็น “ความขัดแย้ง” หรือ “การขัดกันแห่งกฎหมาย” เช่น การมีท้องถิ่นเต็มพื้นที่ ราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนกลางต้องหดหาย หรือ ลดบทบาทลงไป เช่นประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ที่เห็นได้ว่า “สัดส่วนจำนวนของบุคลากรส่วนท้องถิ่นกับบุคลากรส่วนกลาง” ที่มีบุคคลกรส่วนท้องถิ่นมากมายถึงร้อยละ 80 เป็นต้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ผกผันกับข้อมูลของประเทศไทย [4] การพยายามปรับเปลี่ยนแก้ไข เป็นไปไม่ได้ และ ยากในทางปฏิบัติ ไม่ว่าการลดจำนวนหมู่บ้าน และ การลดจำนวนบุคลากร “ท้องที่” (ในที่นี้คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ) ที่แม้แต่กฤษฎีกาก็ได้เพียงแค่วินิจฉัยว่า กฎหมายจัดตั้ง อปท. (กฎหมายเทศบาล) กับกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ไม่ขัดแย้งกัน [5] นั่นหมายความว่า ในกฎหมายแต่ละฉบับก็ถือปฏิบัติในส่วนของตนไป ไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นต้น แม้จะเป็นวินิจฉัยแบบประนีประนอมตามหลักกฎหมาย แต่ในเนื้อแท้ก็คือ เมื่อมีการขยายขอบเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้นเมื่อใด ก็ต้องลดบทบาทหน้าที่ของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลงอย่างแน่นอนหรือ เมื่อใดก็ตามที่มี “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดขึ้น” ในพื้นที่จนกระทั่งครอบคลุมเต็มพื้นที่ แน่นอนว่า “ภารกิจหน้าที่ในพื้นที่ย่อมมีสองส่วนเท่านั้น” คือ (1) ภารกิจหน้าที่ของ อปท. และ (2) ภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลกลาง หรือ เรียกว่า หน้าที่ของราชการส่วนกลาง ยิ่งมีกระแสการร่าง “พรบ.จังหวัดจัดการตนเอง” ขึ้น ยิ่งทำให้ขอบข่ายหรือขอบเขตของ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” กว้างขวางมากขึ้น หรือแม้แต่ “การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ” (Economic Zone) ก็ตาม ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการของ “การกระจายอำนาจ” (Decentralization) นั่นเอง

 

กระแสฮอตการคัดค้านร่างกฎหมายบุคคลท้องถิ่น

การคัดค้านร่างกฎหมายบุคคลท้องถิ่นโดยพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย [6] ต่อร่างฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ฉบับล่าสุดที่กำลังประชาสัมพันธ์รับฟังความเห็น ตามหนังสือที่ มท 0809.2/ว 2325 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2561 ที่สรุปว่า “ร่าง พรบ.ฯ ดูเหมือนจะดี แต่กลับเลวร้ายว่าที่คิด” โดยยก 6 เหตุผล ค้านร่าง พรบ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ....ทั้งฉบับเนื่องจาก (1) รวมศูนย์อำนาจการบริหารงานบุคคลไว้ที่ส่วนกลาง สวนทางหลักการกระจายอำนาจ ขัดรัฐธรรมนูญ (2) ไม่มีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม ให้ความเป็นธรรมแบบเป็นกลาง เหมือนข้าราชการพลเรือน (3) การคิดสัดส่วนค่าใช้จ่ายร้อยละ 40 ไม่รวมเงินอุดหนุนใดๆ ทำให้การบริหารงานบุคคลท้องถิ่นสะดุดโกลาหล (4) โครงสร้าง ก.ถ.ไม่เอื้อต่อการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการร้อยละ 80 เป็นคนของประธาน ก.ถ.แทบทั้งสิ้น ทำให้คนท้องถิ่นไม่ได้ดูแลกันเอง เป็นแค่ลูกไล่ของข้าราชการส่วนกลางเท่านั้น (5) อนุ ก.ถ. จังหวัด ไม่มีอำนาจใดๆ หาก ก.ถ.ไม่มอบ เป็นแค่ Subset ของ ก.ถ.เท่านั้น มีสถานะด้อยกว่าในปัจจุบัน (6) ไม่คำนึงถึงการเจริญเติบโตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งควบคุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่าส่งเสริมให้เข้มแข็งฯลฯซึ่งพิพัฒน์เห็นว่า “สรุปคือ อยู่แบบเดิม ยังดีกว่า ใช้กฎหมายตามร่างที่เผยแพร่”

 

ประเด็นกรอบการรับฟังความคิดเห็นร่าง พรบ.บุคคลท้องถิ่น

              ในกรอบร่าง “พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ....” (ฉบับใหม่) รวม 138 มาตรา ที่ สถ.ขอรับฟังความเห็น 18 ข้อจากกรอบสาระสำคัญ 7 หัวข้อ(กรอบ)นั้น [7] เป็นมาจากสรุปสภาพปัญหาการบริหารงานบุคคลและการยึดถือตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 251 [8] ที่มีบัญญัติไว้เพียงมาตราเดียว บัญญัติไว้ว่า “การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งต้องใช้ระบบคุณธรรมและต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ การจัดให้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกันเพื่อให้สามารถพัฒนาร่วมกัน หรือการสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้” จากสาระสั้น ๆ ของบทบัญญัติดังกล่าวลองมาดูว่าสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่กำหนดโดย สถ. หรือสภาพบริบทหรือข้อเท็จจริงของ อปท. หรือ ไม่ อย่างไร

 

ร่าง พรบ.บุคคล สถ.ใหม่ ไม่มี กพค. ถอยหลังโดยจงใจ

           ตาม ร่าง พรบ. ฉบับใหม่ที่รับฟังความเห็นโดย สถ. จำนวน 138 มาตราที่ไม่มีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) แต่มีแทรกไว้ในความหมายตามบทนิยาม “การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” ในร่าง มาตรา 4 [9] เพียงมาตราเดียวเท่านั้น เห็นว่า การเลือกเอาร่าง พรบ. หลัก เพื่อเป็นธงในการรับฟังความเห็นนั้น ก็เป็นประเด็นสำคัญ เพราะ ร่าง พรบ. นั้นมีหลายฉบับดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น แต่ในหลายฉบับนั้น ฉบับของ มท. โดย ก.ถ. ที่กำลังรับฟังความเห็นอยู่เช่นกัน [10] น่าจะเป็น “ฉบับสำคัญ” เช่นกัน สถ. ได้แก้ไขชื่อ ร่าง พรบ. ของ สถ. ให้เป็นชื่อเดียวกับ ฉบับของ ก.ถ. คือเรียกชื่อว่า “ร่าง พรบ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น” สำหรับร่างอื่น ๆ ไม่ได้รับการพิจารณาจาก สถ. รวมทั้งฉบับ ก.ถ. และ ฉบับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้วย ในความเห็น ตัว สถ. และ มท. (ก.ถ.) นั้นก็คือ องค์กรตัวเดียวกัน ฉะนั้น ในส่วนของหน่วยงานที่แย่งกันกำกับดูแล อปท. ก็ได้แก่สองหน่วยงานนี้ โดยมี มท. เป็นหัวเรือใหญ่นั้นเอง

 

ข้อเสนอแนะ ร่าง พรบ.บุคคลท้องถิ่น เพิ่มเติม

           มีข้อเสนอมาแปลกใหม่มาจากข้าราชการส่วนท้องถิ่น [11] ลองพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้เพียงใด (1) ข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสำนักงาน สถ.ทั้งหมดให้โอนรวมเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นทั้งหมด จะได้เป็นเนื้อเดียวกัน สามารถโอนย้ายสับเปลี่ยนกันได้ เขาเหล่านั้นจะได้ทำเพื่อองค์กรของตนเองและเป็นเนื้อเดียวกันการออกกฎเกณฑ์คุณได้พวกเราได้ร่วมกัน (2) ย้ายสังกัดไปสำนักนายกรัฐมนตรีจะถ่วงดุลตรวจสอบกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ยังคงอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อกถ. (3) ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เป็นองค์กรสูงสุดเหมือน กพ.เทียบเท่าองค์กรอิสระอื่นเพราะหน่วยตรวจสอบชอบใช้คำว่าเห็นควร เชื่อได้ว่าถ้าไปทางศาลปกครองจะใช้ระยะเวลานานมาก ให้กำหนดการพิจารณาผลอุทธรณ์ร้องทุกข์ไม่เกิน 1 ปีตั้งแต่รับเรื่อง (4) กำหนดการสอบคัดเลือกลูกจ้างประจำพนักงานงานจ้างเป็นข้าราชการ (อายุงานขั้นต่ำ 8 ปี) โดย สถ.หรือองค์กรกลาง เพื่อได้คนที่มีทักษะและประสบการณ์การทำงานขวัญกำลังใจและได้คนในท้องถิ่นเช่นเดิม (5) ส่วนข้อกำหนดอื่นให้สามารถออกระเบียบรองรับได้

           นอกจากนี้ ในประเด็นอื่น ๆ ในรายละเอียดปลีกย่อย ขอแถมหน่อยมีผู้เสนอในบทบาทของ “ผู้แทน ก.กลาง” ว่า (1) กรณีการทำหรือไม่ทำหน้าที่ผู้แทนที่ผ่านมา มีการกระทำเพื่อส่วนรวมน้อยไปในภาพรวม การไม่ทำหน้าที่ อาทิ การคัดค้านสิ่งที่เป็นโทษต่อข้าราชการหรือพนักงานจ้าง รวมทั้งการปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ด้วย ฯลฯ เป็นต้น (2) ตัวอย่างเช่นกรณีการคัดเลือกที่ผ่านมา ตามประกาศได้ออกหลักเกณฑ์ใหม่ที่ทำให้สิทธิ์ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมเสียไป หรือมีสิทธิ์ลดน้อยลง น่าจะเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่ชอบ การคัดค้านโต้แย้งจึงจำเป็นต้องกระทำ อาทิเช่น หลักเกณฑ์เรื่องการคัดเลือก [12] เดิมคะแนนเต็ม 200 คะแนน ประกอบด้วย ประวัติการรับราชการ 100 คะแนนวิสัยทัศน์ และสัมภาษณ์ 100 คะแนนแต่หลักเกณฑ์ใหม่ คะแนนประวัติเหลือเพียง 20-30 คะแนน  ระบบอาวุโสถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง อีกทั้งมีการเพิ่มการสอบข้อเขียน เพิ่มข้อสอบอัตนัย เป็นการออกหลักเกณฑ์ที่เกินกว่าอำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 [13] หรือไม่ อย่างไร หากขัด จะเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบหรือไม่ อย่างไร เหล่านี้เป็นต้น ผู้แทนฯ ควรคัดค้านโต้แย้งไว้เป็นหลักฐาน (3) หรือเรื่องการเทียบตำแหน่ง ที่ กท.เทียบและรับโอนข้าราชการพลเรือน “อำนวยการ” มาเป็น “บริหารท้องถิ่น” ชอบเพียงใดหรือไม่ การใช้มติเทียบตำแหน่งโอนได้หรือไม่ ต้องออกเป็นประกาศหลักเกณฑ์หรือไม่ ฯลฯ เป็นต้น

           เหล่านี้เป็นประเด็นให้คิดถกเถียงโต้แย้งกันได้อีกยาว

[1]Phachern Thammasarangkoon & Preecha Jun-nhong, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 49 วันศุกร์ที่ 17-  วันพฤหัสบดีที่ 23  สิงหาคม 2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66   

[2]รัฐธรรมนูญนิยม มีหลายความหมาย โดยส่วนใหญ่แล้วมักหมายถึงกลุ่มของแนวความคิด ทัศนคติ และรูปแบบพฤติกรรมที่สาธยายเกี่ยวกับหลักการที่การใช้อำนาจของรัฐมาจากกฎหมายสูงสุดและถูกจำกัดอำนาจด้วยกฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญนิยม นิยาม รัฐธรรมนูญนิยม หรือ ระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutionalism) หมายถึง ความเชื่อทางปรัชญาความคิดที่นิยมหลักการปกครองรัฐด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เป็นแนวความคิดที่มุ่งหมายจะใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร (written constitution) เป็นหลักในการกำหนดรูปแบบ กลไก และสถาบันทางการเมืองการปกครองต่างๆ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของการบริหารงานภาครัฐในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุด (อมร จันทรสมบูรณ์, 2537: 9; Alexander, 1999: 16; Bellamy, 2007: 4-5; Sartori, 1962: 3) ... อ้างจาก รัฐธรรมนูญนิยม,  วิกิพีเดีย,

https://th.wikipedia.org/wiki/...

[3]การกำกับดูแล มิใช่การบังคับบัญชา หรือ การก้าวล่วงในเชิงการบริหารจัดการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบทบาทของกระทรวงมหาดไทย จังหวัด อำเภอ และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น    

[4]บุคลากรของท้องถิ่นไทยมีประมาณ 4 แสนคน ในขณะที่ข้าราชการฝ่ายพลเรือนมีทั้งหมดประมาณ 2 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนได้ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ผกผันกับสัดส่วนของอัตรากำลังพลภาครัฐของประเทศญี่ปุ่นที่มีจำนวนบุคคลากรส่วนท้องถิ่น 3 ล้านคน แต่มีอัตราข้าราชการเพียง 5 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 16

[5]ดู บันทึก เรื่อง การดำรงตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลจากที่ได้ยุบรวมเข้ากับเทศบาลตำบลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542,  คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 6/2545, มาตรา 13 พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542

http://app-thca.krisdika.go.th...

& ธรรมาภิบาลท้องถิ่น by โวหาร ยะสารวรรณ, 16 สิงหาคม 2558, 

https://www.facebook.com/kunse...
ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ เรื่อง การพ้นจากตำแหน่งของกำนัน ผูู้ใหญ่บ้าน ผูู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน เมื่อมีการยกฐานะท้องถิ่นเป็นเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร เรื่องเสร็จที่ 693/2558 (เมษายน 2558) ข้อหารือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ตามหนังสือ ที่ มท 0809.2/11450 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หารือกรณีจังหวัดกระบี่  

[6]ยก 6 เหตุผล ค้านร่าง พรบ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ....ทั้งฉบับ, สยามรัฐออนไลน์  15 สิงหาคม 2561, 08:35, https://siamrath.co.th/n/42692    

[7]ดู (ฉบับเต็ม-รับฟังความเห็น) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ...., 3 สิงหาคม 2561, http://www.thailocalmeet.com/i...

[8]ดูประกอบใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 14 ว่าด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 249-254,

http://click.senate.go.th/wp-c...
 

[9]ดู ร่างใหม่ ฉบับ สถ. มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการสรรหาบุคคลหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้ปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ อันเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีจริยธรรมและศักยภาพสำหรับปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ การสร้างระบบคุณธรรม การพิทักษ์ระบบคุณธรรม เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดี รวมตลอดถึงการมอบหมายภาระงานที่เหมาะสมอย่างมีมาตรฐานและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นและของรัฐ    

[10]ดู ภาพกิจกรรม : นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธาน ก.ถ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 3/2561 วันที่ 27 เมษายน 2561 โดยมีเรื่องพิจารณา 

- ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... 

- การเตรียมความพร้อมและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนอัตรากำลังของ ก.กลาง

- แผนการปฏิรูปประเทศตาม พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560

http://www.local.moi.go.th/200...

& พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ฉบับ สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.),

http://www.mediafire.com/file/...
 

[11]อ้างอิงจากเฟซบุ๊ค, สุเชษฐ์ คงดำ, 8 สิงหาคม 2561

[12]ดูประกาศคณะอนุกรรมการสรรหาพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร เรื่อง เกณฑ์การให้คะแนนประวัติการรับราชการ ลงวันที่ 26 มกราคม 2561 รวม 20 คะแนน ดังนี้ (1) วุฒิการศึกษา คะแนนเต็ม 5 คะแนน (2) ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในตำแหน่งสายงานและระดับปัจจุบัน ของแต่ละตำแหน่งสายงาน และระดับ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันเข้าสู่ตำแหน่งสายงานและระดับปัจจุบัน (นับรวมการดำรงตำแหน่งระบบซีและระบบแท่ง) จนถึงวันปิดรับสมัคร 15 ธันวาคม 2560 (หน่วยนับ : เดือน เศษวันให้ปัดทิ้ง) คะแนนเต็ม 5 คะแนน (3) ความผิดทางวินัยย้อนหลัง 5 ปี (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2560) คะแนนเต็ม 5 คะแนน (4) การพิจารณาความดีความชอบกรณีพิเศษย้อนหลัง 5 ปี (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2560) คะแนนเต็ม 5 คะแนน

หมายเหตุ เกณฑ์คะแนนดิบ ตามข้อ 2 อาวุโสหายหมด เช่น ขั้นเงินเดือน อายุการทำงานในสายงาน (ท้องถิ่น หรือเทียบฯ) ถูกตัดออก ความแตกต่างแบบนัยะสำคัญ ไม่มีตัวเกณฑ์(ดัชนี) ที่บ่งชี้ความอาวุโส ตามหลักคุณธรรม หากจะอ้างระบบ fast track ก็ต้องมีการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ที่ชัดเจน เพราะเท่ากับว่า ผู้ดำรงตำแหน่งรุ่นหลัง ๆที่เติบโตมาแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะแบบอุปถัมภ์ หรือ จากการสร้างเกณฑ์ใหม่ที่แปลก เช่น อบต. 8 พิเศษ หรือ การปรับขนาดเทศบาลขนาดเล็กเป็นเทศบาลขนาดกลาง  ที่มีคะแนนที่ไม่แตกต่างจากอาวุโสลูกหม้อ ที่มีอายุราชการ อายุงาน เงินเดือนสูง แต่อย่างใด ในประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ตำแหน่ง รองปลัด อปท. ระดับกลาง (เดิมซี 8) ที่ออกมาเป็นปลัด อปท. 8 ไม่ได้ จะถูกรุ่นหลังที่เคยเป็นลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา แต่โอนย้ายออกไปเอาตำแหน่งปลัด อปท. 8 ใน อปท.ขนาดเล็ก (ในที่นี้คือ ทต.ขนาดเล็ก) แล้วในการสอบสายบริหารครั้งนี้ได้ย้อนกลับมาสอบ รองปลัดเทศบาลระดับสูง (เดิมซี 9) หรือ ปลัดปลัดเทศบาลระดับสูง (เดิมซี 9) เท่ากับว่าเป็นการข้ามหัว รองปลัดเทศบาลเดิมซี 8 ที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาเก่า เพราะ รองปลัดเทศบาลระดับกลางสามารถสอบได้เพียงตำแหน่งรองปลัดฯระดับสูงเท่านั้น แต่สอบปลัดฯระดับสูงไม่ได้ เป็นต้น     

[13]ดูคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560, http://library2.parliament.go....

หมายเลขบันทึก: 649915เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2018 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2018 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท