๙ต่อ Before After : ประสานพลังเครือข่ายจัดบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติฯ


จวบจนวันนี้ ผมก็ยังยืนยันว่า กิจกรรมบริจาคโลหิต คือกิจกรรมอันง่ายงามในการช่วยบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา เพราะเป็นการเริ่มต้นทำความดีจากเรื่องใกล้ตัว เป็นการเริ่มต้นทำความดีจากต้นทุนที่มีในตัวเองเป็นการทำความดีในมิติของการ “ให้” หรือ “แบ่งปัน” – รวมถึงรวมแนวคิดที่ว่าด้วยการบริจาคโลหิต คือการทำความดีอันยิ่งใหญ่ เพราะเทียบได้กับการบริจาคชีวิตเพื่ออีกชีวิตดีๆ นั่นเอง


วันนี้ (พฤหัสบดีที่ ๑๖  สิงหาคม ๒๕๖๑)  เครือข่ายนิสิต ๙ ต่อ Before After มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดกิจกรรม “บริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙  ณ อาคารพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต –

กิจกรรมครั้งนี้  เป็นการผนึกกำลังหลอมรวมดวงใจเป็นหนึ่งเดียวกับองค์กรหลายเครือข่าย  ทั้งที่เป็นสภานิสิต  องค์การนิสิต  ชมรมรุ่นสัมพันธ์  รวมถึงพันธมิตรหลักอย่างชมรมอาสายุวกาชาด  ชมรมตามรอยเท้าพ่อ  เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม  โรงพยาบาลมหาสารคาม และเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม

กิจกรรมในวันนี้  ไม่ใช่มีแค่การบริจาคโลหิตเท่านั้น  ทว่ามีการเปิดรับบริจาคอวัยวะไปพร้อมๆ กัน  

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลในปีการศึกษา ๒๕๖๐  จะพบว่ามีการบริจาคดวงตา จำนวน ๑๘๘  คน ละการบริจาคอวัยวะ จำนวน ๑๖๑ คน  ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่าจำนวนที่ว่านั้น “มาก” หรือ “น้อย”  รู้แต่เพียงว่านั่นคือ “ความดีงาม”ของการทำงานเรื่องจิตอาสา หรือจิตสาธารณะของเหล่าบรรดานิสิตที่ผันตัวเองมาทำงานเป็น “อาสาสมัคร”

การบริจาคโลหิตในครั้งนี้  เปิดกว้างอย่างเต็มที่  ดังจะเห็นได้จากคนที่มาบริจาคโลหิตมีทั้งที่เป็นผู้บริหาร >เจ้าหน้าที่ > นิสิต และประชาชนในชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย  รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้คณะกรรมการประชุมเชียร์เข้ามาร่วมขับเคลื่อน  ด้วยการนำนิสิตใหม่  (น้องใหม่ : รุ่นเสือดาว ๑๒)  เข้ามาบริจาคโลหิตและช่วยงาน  เพื่อปักธงว่านี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมของการ "รับน้องใหม่" อย่างสร้างสรรค์

(ดร.มลฤดี  เชาวรัตน์ : รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต)

โดยส่วนตัวผมกล้าที่จะยืนยันว่ากิจกรรมดังกล่าวสอนสร้างบางอย่างอยู่ในที  เป็นต้นว่า “ความดีไม่มีชนชั้น”  เพราะครั้งนี้ผมให้นิสิตทำงานในรูป “เครือข่าย”  มุ่งเน้นให้ทุกคนเป็น “พระเอก-นางเอก” ของงานโดยตรง  พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ให้ใครฉายเดี่ยว  หรือทำงานด้วยทัศนคติที่ไม่สร้างสรรค์บนฐานของความหลากหลายขององค์กร  แบ่งแยกกลุ่มคน แบ่งแยกพรรคพวก ฯ



ในทำนองเดียวกัน  เรื่อง “การบริหารจัดการ”  ก็เป็นอีกประเด็นที่ผมต้องการให้นิสิตได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันผ่านเวทีนี้  นับตั้งแต่การออกแบบรูปแบบกิจกรรม  จัดหาอุปกรณ์  จัดเตรียมสถานที่  จัดหาเครื่องเสียง  จัดเตรียมอาหารว่าง  ออกแบบเพจประชาสัมพันธ์  แบ่งหน้าที่กันบนฐานคิดของพวกเขาเอง  

เพราะนิสิตจะรู้ดีว่า ใคร หรือองค์กรใด  เหมาะที่จะทำงานในหน้าที่อะไร  หรือจะหลอมรวมคละทีมทำงานก็ไม่ผิด ฯลฯ 

ทุกสิ่งอย่างอยู่ที่นิสิตจะออกแบบและตัดสินใจ  ผมและทีมงานคอยหนุนเสริมในบางเรื่องเท่านั้น  ขนาดการกล่าวรายงานต่อรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต (ดร.มลฤดี  เชาวรัตน์)  ผมและทีมงานก็ให้ประธานเครือข่าย ๙ ต่อ Before After (นายวรวุฒิ  สงวนหมู่)  เป็นผู้กล่าวรายงานด้วยตนเอง  


จวบจนวันนี้  ผมก็ยังยืนยันว่า  กิจกรรมบริจาคโลหิต คือกิจกรรมอันง่ายงามในการช่วยบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา  เพราะเป็นการเริ่มต้นทำความดีจากเรื่องใกล้ตัว  เป็นการเริ่มต้นทำความดีจากต้นทุนที่มีในตัวเองเป็นการทำความดีในมิติของการ “ให้” หรือ “แบ่งปัน” –

รวมถึงรวมแนวคิดที่ว่าด้วยการบริจาคโลหิต  คือการทำความดีอันยิ่งใหญ่  เพราะเทียบได้กับการบริจาคชีวิตเพื่ออีกชีวิตดีๆ นั่นเอง

และกิจกรรมอันง่ายงามและทรงพลังนี้นี่เองที่ทำให้เราบรรจุเป็นแผนหลักของการขับเคลื่อนกิจกรรมในแต่ละเดือน  เรียกได้ว่าในแต่ละเดือนจะมีการรับบริจาคโลหิตอย่างน้อย ๓-๔ ครั้ง  เป็นกิจกรรมเชิงระบบของการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ทำร่วมกับทุกคณะในมหาวิทยาลัยฯ  เพียงแต่ในปีการศึกษา ๒๕๖๑  เราปักธงชัดเจนว่าจะไม่ปล่อยให้ทางคณะต้องทำงานอย่างเดียวดาย 

เพราะจากนี้ไปเครือข่ายนิสิต ๙ ต่อฯ และผองเพื่อนหลากองค์กร  จะเข้าไปหนุนเสริมอย่างจริงจังและจริงใจ  เพื่อให้ “ความดีมีที่ยืน”  และเพื่อให้ “ความดีมีเส้นทางที่จะเดินต่ออย่างไม่หยุดยั้ง” 

ใช่ครับ – ตั้งใจจะทำกันไปเรื่อยๆ ทำให้ต่อเนื่อง  ทำเพื่อบ่มเพาะจิตอาสาจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวและผูกโยงเข้ากับกระแสหลักในทางสังคมไปในตัวแบบเนียนๆ  โดยไม่จำเป็นต้องบอกว่ากิจกรรมนี้เกี่ยวพันกับอัตลักษณ์นิสิต (นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน)  หรือค่านิยมการเป็นนิสิต “MSU FOR ALL (พึ่งได้)”  หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ สำหรับวันนี้  

  • มีอาสาสมัครมาช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น ๓๐ คน  
  • มีผู้เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์บริจาคโลหิต จำนวน  ๑๘๗ คน  แต่บริจาคได้เพียง ๑๗๓ คน 
  • ยอดสุทธิการบริจาคโลหิตคือ จำนวน ๖๙,๒๐๐ CC. 
  • บริจาคดวงตา จำนวน ๒๗ คน  
  • บริจาคอวัยวะจำนวน ๒๗ คน


นี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมอัน “ง่าย-งาม” หรือ “เรียบง่ายแต่งดงาม” ที่ชาวเครือข่าย ๙ ต่อ Before After ได้จัดขึ้นเพื่อบอกย้ำให้รู้ว่า การทำความดีไม่ใช่เรื่องยาก  หรือการทำความดีจากเรื่องใกล้ตัวอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นเรื่องอันแสนวิเศษ

สำหรับเดือนหน้า (กันยายน) กิจกรรมดังกล่าวก็จะยังคง “ก้าวต่อ” (๙ต่อฯ) สู่คณะ ๕ คณะ คือ วิศวกรรมศาสตร์ > การบัญชีและการจัดการ > เภสัชศาสตร์ > สาธารณสุขศาสตร์ > วิทยาศาสตร์



หมายเหตุ

เขียน : พฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2561

ภาพ : งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต

หมายเลขบันทึก: 649807เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2018 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2018 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท