เครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม และ ๙ ต่อ Before After : ใจนำพาศรัทธานำทางสู่พี่น้อง สปป.ลาว


ผมได้คุยกับแกนนำ 2-3 คนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ นิยามที่แท้ของวาทกรรมผมที่ว่า “ใจนำพาศรัทธานำทาง” ที่มีนัยสำคัญว่าแท้ที่จริงแล้ว มนุษย์ก็ใช่ว่าจะมีเสรีภาพไปเสียทุกเรื่อง เพราะเราต่างล้วนยังเป็นสัตว์สังคม หรือแม้แต่การชวนพวกเขาขบคิดเรื่องอำนาจการตัดสินใจของงานอาสาสมัครที่ผูกยึดโยงอยู่กับโครงสร้าง วิธีการทำงานกับเครือข่าย วิถีการบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กร–มหาวิทยาลัยฯ รวมไปถึงที่ผู้ที่คนบริจาคส่งมอบเข้ามา


กรณีเขื่อนเซเปียนแตก ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  กลายเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมอันชวนสลดใจ  กระนั้นก็ก่อให้เกิดภาพอันทรงพลังของจิตอาสา หรือจิตสาธารณะอย่างไร้พรมแดนด้วยเช่นกัน

ผมและทีมงาน ทั้งที่เป็นนิสิตและเจ้าหน้าที่  รวมถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ก็มิได้ดูดาย-เย็นชาต่อชะตากรรมที่ว่านั้น  โดยเฝ้ามองและครุ่นคิดในเวลาอันจำกัดเพื่อนำพาไปสู่สิ่งที่พึงช่วยเหลือได้  ทั้งโดย “เรา” เอง และการเชื่อมประสานไปยังสายธารจิตอาสา –


ใต้ฟ้าเดียวกัน
สะเทือนขวัญหม่นไหม้
ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้
จึงหลอมใจโอบกอดเป็นหนึ่งเดียว




ในมุมของผม – ผมและน้องๆ เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม และเครือข่ายนิสิต ๙ ต่อ Before After  เคลื่อนตัวเรื่องนี้ในวิถีที่เราถนัด  หรือพูดง่ายๆ ก็คือเคลื่อนตัวในวิถีที่เรามีพลังพอที่จะทำได้  เริ่มต้นจากการออกเพจสื่อสารแสดงความเสียใจและส่งกำลังใจ  รวมถึงการขอรับบริจาคทั้งที่เป็นเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ฯ

ก็ด้วยเพจที่ว่านั้น  ทำให้มีชาวบ้านจากอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม  ที่เพจประชาสัมพันธ์ของเครือข่ายฯ  จึงนำข้าวของต่างๆ มาบริจาคไว้ที่กองกิจการนิสิต เพื่อให้เราได้นำส่งไปยังจุดหมายปลายทาง

 

ถัดจากนั้นเราก็จับมือผนึกใจกับ คุณสตังค์ จรงค์ศักดิ์ รองเดช  เจ้าของรายการภัตตาคารบ้านทุ่งอันลือชื่อและเป็นหนึ่งในทีมงานผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มคนจิตอาสาในชื่อ ๙ ต่อ Before After”  ก็ตัดสินใจทำงานนี้ร่วมกัน  รวมถึง ดร.ประจวบ  จันทร์หมื่น  ศิษย์เก่า “มมส”  ก็มาช่วย  ด้วยการระดมทุนผ่านเวทีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ เมื่อวันที่ 31  กรกฎาคม และวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ณ อาคารพลศึกษา  

การระดมทุนที่ว่านี้  จะว่าไปแล้วก็คือกระบวนการปักหมุดชีวิตแก่นิสิตใหม่ (น้องใหม่)  ให้ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของการเป็นพลเมืองของสังคมไทย-สังคมโลก  ที่สัมพันธ์กับอัตลักษณ์นิสิตที่กล่าวว่า “ผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน” 

หรือแม้แต่ค่านิยมการเป็นนิสิต MSU FOR ALL (พึ่งได้)  อันหมายถึง พึ่งพาตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ –


เป็นธรรมดากระมังครับ  เรื่องจิตอาสา-จิตสาธารณะ  บ่อยครั้งเราก็ต้องเรียนรู้จากกระแสหลักของสังคม  โดยเฉพาะเรื่องภัยพิบัติ  เพราะนั่นคือกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครที่ไร้พรมแดนของความเป็นชาติ  หรือแม้แต่การถามทักถึงรากแห่งความคิดที่ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้ค่า-รู้ความหมาย  ครอบคลุมไปถึงต้นน้ำของการป้องกันภัยพิบัติ  มิใช่ให้ค่าความสำคัญแต่เฉพาะ “หน้างาน” (กลางน้ำ)  ที่กระโจนลงไปช่วยเหลือ  พอผ่านพ้นวิกฤตก็ปล่อยผ่านเลยไปทั้งกระบวนการปลายน้ำ (เยียวยา) และต้นน้ำอันหมายถึงการป้องกัน

 


จะว่าไปแล้ว  งานครั้งนี้ผมไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก  เต็มที่คือขานรับในสิ่งที่นิสิตอยากทำ  นอกจากนั้นก็นำระบบไปรองรับการทำงานของนิสิต ประสานวิทยากร  ประสานเจ้าของงาน/เวที  ขออนุญาตผู้บริหาร  เพื่อให้นิสิตได้ทำงานในแบบ “อิงระบบ”  มิใช่ตกหลุมดำไปติดกับดักของ “ระบบ”

แต่ทั้งปวงนั้น  ถึงแม้จะยังไม่ใช่ช่วงเปิดเทอม  ยังไงเสียก็ถือว่านิสิตสามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างน่าชื่นใจ  กล่าวคือ  พวกเขาระดมแกนนำมาช่วยกันได้ในจำนวนอันพอเหมาะ  ทั้งที่มาจากนิสิตทั่วไปและสังกัดองค์กร เช่น  ชมรมยุวกาชาด  ชมรมเดินตามรอยเท้าพ่อ 

และที่สำคัญ คือ ทำงานในแบบ ใจนำพาศรัทธานำทาง


ผมยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปทำงานฝังตัวในแบบกินนอนร่วมหัวจมท้ายกับนิสิต  ทว่าก็เฝ้ามองและกำกับดูแลในลักษณะของ “โค้ช”  หรือ “พี่เลี้ยง”  ที่ดำเนินไปในลักษณะ “พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน”  มีบางจังหวะต้องโบยตีแบบ  "แดกดิบ" ตรงไปตรงมาเมื่อเห็นว่าพวกเขาเหมือนจะทะลุกรอบจนเกินงาม  

ขณะที่  บางครั้งครา ก็ปลอบปลุกเมื่อเห็นว่าเหนื่อยล้า 

แต่ที่แน่ๆ  สิ่งที่ผมและทีมงานได้เกื้อหนุนบนหน้าตักของหน้าที่และพันธกิจทางใจก็คือบริหารจัดการเรื่องคำสั่งไปราชการ  จัดหายานพาหนะและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงหนุนเสริมพวกเขาอย่างเต็มที่  เพราะตระหนักอย่างหนักแน่นว่า “พวกเขาคือผู้แทนมหาวิทยาลัย  มิใช่คนนอกระบบที่ไร้ราก ไร้สังกัด”   

ซึ่งก็โชคดีมาก  ทั้งผู้บริหารและทีมงานอันเป็นเจ้าหน้าที่ต่างเข้าใจและเห็นใจในสถานการณ์ทั้งหมด  โดยต้องยอมรับว่าแท้จริงนั้น  ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราทั้งหมดกำลังกรำงานเรื่อง "ประชุมเชียร์รับน้อง"  อย่างหนักหน่วง

 

ใช่ครับ – เราใช้เวลาทำงานเรื่องนี้ไม่กี่วัน 

เราเริ่มงานวันที่ 31 กรกฎาคม 2561  จวบจนเวลา 03.00 น.ของวันที่ 3 สิงหาคม 2561 เครือข่ายนิสิตจิตอาสาทำดีเพื่อสังคมฯ และเครือข่ายฯ จำนวน 23 คน ก็ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยฯ  เพื่อช่วยเหลือพี่น้อง สปป.ลาว ที่ประสบอุทกภัย

การเดินทางครั้งนี้  เราทำงานภายใต้อีกแนวคิด คือ "๙ ต่อ ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน” อันหมายถึงการทำกิจกรรมจิตอาสาที่ต่อยอดมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9  “พ่อผู้เป็นต้นแบบของจิตอาสา”  ที่ทำให้ผมและน้องๆ ได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ 

ผมยืนยันว่า  กิจกรรมครั้งนี้ต่อยอดจากการปฐมนิเทศนิสิตใหม่สู่การรับใช้สังคม  เสมือนการ “รับน้องสร้างสรรค์”  ไปในตัว  เพียงแต่นิสิตชั้นปีที่ 1 ไม่ได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง  เพราะอยู่ระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรมหลักในมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมตัวสู่การเปิดภาคเรียน

 


ทีมงานฯ ทั้งหมดเดินทางถึงคณะศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ในราวๆ เกือบจะ 09.00 น. เพราะนั่นคือศูนย์ประสานงานในเรื่องนี้  ซึ่งก็ใช้เวลาจัดเตรียมข้าวของต่างๆ จนถึงเวลา 10.00 น. จึงออกเดินทางไปมอบข้าวของทั้งหมด ณ ด่านพรมแดนถาวรช่องเม็ก ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี  โดยมีมหาวิทยาลัยจำปาสัก  เป็นผู้แทนมารับมอบฯ

กระบวนการเหล่านี้ ให้เวลาไม่นานนัก  เพราะส่วนใหญ่นิสิตของเราจัดแยกหมวดหมู่ไว้อย่างเสร็จสรรพแล้ว  โดยเฉพาะเสื้อผ้านั้น  มีการคัดแยกแล้วว่าชุดไหนของเด็ก-ของผู้ใหญ่  แต่ที่ใช้เวลาก็เพราะว่าต้องระดมแรงขนย้ายถ่ายเทในภาพรวมช่วยกัน รวมถึงรอการยืนยันจากเครือข่ายจิตอาสาที่จะข้ามฝั่งมาจาก "จำปาสัก"

 
การจัดกิจกรรมครั้งนี้  ประกอบด้วยการส่งมอบเงินสดจำนวน 10,000 บาท  และเครื่องอุปโภคบริโภคมูลค่า 28,317 บาท  เป็นต้นว่า

  •  น้ำดื่ม 600 มม.จำนวน 50 แพ็ค
  • นมถั่วเหลืองกล่อง 300 มม. จำนวน 70 กล่อง
  • ผ้าห่มจำนวน 28 ผืน
  • เทียนไข จำนวน 12 กล่อง
  • ผ้าอนามัย จำนวน 7 แพ็ค
  • ผ้าอ้อมเด็ก จำนวน 3 แพ็ค 
  • แปลงสีฟัน สบู่ แชมพู ยาสีฟัน จำนวน 1 ลัง 
  • หมอนขิด และที่นอน จำนวน 5 ชุด 
  • ข้าวสาร จำนวน 100 กิโลกรัม

 

จวบจนบัดนี้  ผมยังไม่ได้จัดเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิตที่ทำเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม  ส่วนหนึ่งเพราะติดพันกับงานประจำในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ที่อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะรุงรังอยู่มากนั่นเอง  และลึกๆ อีกเรื่องก็คืออยากเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ทบทวน AAR การเรียนรู้ด้วยตนเองเสียก่อน

แต่ที่แน่ๆ  ผมได้คุยกับแกนนำ 2-3 คนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง  อาทิ  นิยามที่แท้ของวาทกรรมผมที่ว่า “ใจนำพาศรัทธานำทาง”  ที่มีนัยสำคัญว่าแท้ที่จริงแล้ว  มนุษย์ก็ใช่ว่าจะมีเสรีภาพไปเสียทุกเรื่อง  เพราะเราต่างล้วนยังเป็นสัตว์สังคม  

หรือแม้แต่การชวนพวกเขาขบคิดเรื่องอำนาจการตัดสินใจของงานอาสาสมัครที่ผูกยึดโยงอยู่กับโครงสร้าง วิธีการทำงานกับเครือข่าย  วิถีการบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กร–มหาวิทยาลัยฯ  รวมไปถึงทรัพยากรที่ผู้คนได้บริจาคส่งมอบเข้ามา ฯลฯ

และที่แน่ๆ  งานครั้งนั้น  ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามในราวตี 3  กลับถึงมหาวิทยาลัยฯ หลังเที่ยงคืนในวันถัดมา

เรียกได้ว่าหนักหน่วงอยู่ค่อนข้างมาก


นี่ไม่ใช่แค่รับบริจาคเงินทองและข้าวของเครื่องใช้แล้วเอาไปส่งมอบผ่านเครือข่าย  หากแต่หมายถึงการเรียนรู้ที่จะคัดแยกสิ่งของ  เรียนรู้ที่จะประสานงานเครือข่าย  เรียนรู้ที่จะคัดกรองคนเข้าร่วม  เรียนรู้ที่จะอดตาหลับขับตานอน  และอื่นๆ อีกจิปาถะ   ที่ไม่ใช่รับของมาแล้วเอาไปบริจาคให้เสร็จๆ  แต่นี่ยังมีกระบวนการเรียนรู้อะไรเยอะแยะเต็มไปหมด  

รวมถึงการนั่งพบปะเสวนากับผู้หลักผู้ใหญ่  หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รู้ถึงบริบทและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น  กิจกรรมทั้งปวงนี้ คืออีกหนึ่งกระบวนการบ่มเพาะคนดีผ่านงานอาสาสมัครบนฐานกระแสหลัก หรือวิกฤตของสังคมที่ท้าทายต่อการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง  และเชื่อว่าหากตกผลึก หรือหยั่งรากในจิตใจได้แล้ว  แม้จะไม่มีภัยพิบัติใด  นิสิตก็พร้อมเสมอในการที่จะขับเคลื่อนสังคมในเรื่องอื่นๆ  หรืออย่างน้อยก็บริหารจัดการตัวเองเพื่อลดทอนการเป็นภาระของคนอื่นและสังคม


ผมรู้ว่าพวกเขาเหนื่อย  แต่ก็มั่นใจว่าพวกเขาจะมีความสุขกับการงานที่ว่านั้น  และสัมผัสได้ว่า  ที่สุดแล้ววิกฤตในบางเรื่องเกิดขึ้นมาก็เพราะโลกต้องการสอนให้คนเรารักกัน  เป็นรักที่ไร้พรมแดนในทางเชื้อชาติ  และรักที่จะทำงานในแบบ “ใจนำพาศรัทธานำทาง”  บนฐานของความเป็น “ทีม”

ผมรู้ว่าพวกเขาเหนื่อย  เพราะทำงาน หรือแม้แต่ต้องเดินทางข้ามวันข้ามคืนไปกลับก็ร่วมๆ พันกิโลเมตร   ไหนต้องลุยงานร่วมกับเครือข่ายที่เพิ่งพบหน้ากันเป็นครั้งแรก  ไหนต้องกินนอนบนรถ  พักชำระร่างกายในวัด  แวะทานข้าวข้างถนน หรือแม้ตลาดสดในตัวเมืองระหว่างเส้นทาง

เช่นเดียวกับการเชื่อว่าพวกเขา (โดยเฉพาะแกนนำ) จะเรียนรู้ “ระบบ”  การทำงานในแบบ “อิงระบบ”  เพราะยังไงเสียเมื่อจบออกไปแล้ว  พวกเขาก็ยังต้องอยู่ในโครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่งที่มีระบบ-วัฒนธรรมองค์กรให้เรียนรู้และยึดปฏิบัติ 

กระนั้นก็ยังอยากจะสรุปว่า  ขอบคุณทุกๆ คนที่เป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องอันดีงามในครั้งนี้

ขอบคุณครับ

 


หมายเหตุ 

เขียน : พุธที่ 15 สิงหาคม 2561
ภาพ : เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม



ความเห็น (6)

ขอชื่นชมค่ะ ทั้งทำด้วยตนเอง-ทำเป็นเยี่ยงอย่าง-พาทำ-ขยายวง สร้างคนดีมีใจสาธารณะ

“ซอมเบิ่งอยู่เด้อ”อิ่มใจ เมื่อได้อ่านเรื่องราวจิตอาสาของ มมส. งดงาม ส่งต่อ

สุดยอดค่ะ ทุกเรื่องราวเรียนรู้ได้เสมอ

ผู้นำนักกิจกรรมทำโน่น นั่น นี่ … จบไปเป็นผู้นำสังคมในระบบย่อยใดหนึ่ง ๆ แววผู้นำฉายฉานเสมอละค่ะ ดีใจกับน้อง ๆ ที่มาจากสถาบันที่หล่อหลอมให้ใส่ใจสังคมและไม่ทิ้งรากเหง้าที่มานะคะ

สวัสดีครับ อ.ดารนี ชัยอิทธิพร

ผมเองก็ภูมิใจในตัวนิสิตมากอยู่เหมือนกัน ขณะทำงานก็มีอุปสรรคเยอะแยะมาก ต้อง “โค้ช” พวกเขาแบบ “โหด-ฮา” ผสมปนเปไป

เพราะบางจังหวะ ต้องเน้นหนักหน่อย กลัวเดินเร็ว และวิ่งเร็วเกินงาน ครับ 555

สวัสดีครับ คุณครูยอด

เมื่อไหร่จะมีวงนำนิสิต-นักศึกษามาคุยงาน “จิตอาสา” กันบ้าง นี่คืออีกหนึ่งความท้าทาย นะครับรอๆ

สวัสดีครับ พี่หมอ ธิ

ทุกสิ่งอย่างต้องยกให้นิสิตและเครือข่ายเลยครับ ผมแค่กระตุ้นวิธีคิดและกระบวนการระหว่างทางเท่านั้น แต่ยืนยันได้ว่า ที่ทำทุกวันนี้ มันมากกว่าหน้าที่ ถึงแม้จะอิงอยู่กับหน้าที่ก็รู้สึกตัวดีว่ามันเป็นเรื่องจิตใจของเราเองด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท