(167) Journal Club 61: ชุมชนคน Yoga


ได้ความรู้และสร้างประสบการณ์ตรง..จากผู้รู้ ในบรรยากาศผ่อนคลาย..โดยยังไม่ได้นำศักยภาพส่วนนี้ออกมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช

บันทึกนี้เป็นรายงานตอนที่ 3 ของ Journal Club เรื่อง “Yoga Plus Talk Therapy for Depression: A Case Study of a Six Week Group, Depressive & Special Case Department Prasrimahabhodhi Psychiatric Hospital”

นำเสนอโดย นางศิรินุช สมตัว (พว.ชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชซึมเศร้าและพิเศษ) และทีมงาน ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องประชุมร่มโพธิ์ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

ดิฉันขอรายงานบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของพี่น้องพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ในรูปแบบการถอดบทเรียน ส่วนเนื้อหาที่นำเสนอทั้งหมดจะรวบรวมในคลังความรู้ของกลุ่มภารกิจต่อไป

“Yoga” .. จากประสบการณ์ตรงจากผู้ร่วมประชุม

  • ประสบการณ์.. โยคะหัวเราะในผู้ป่วยจิตเวช คุณอัมพร สีลากุล (พว.ชำนาญการพิเศษ รองหัวหน้ากลุ่มภารกิจฯ) เสนอให้คุณสำรวย ส่งศรี (พว.ชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชชายเรื้อรังสูงอายุ) นำประสบการณ์ที่กำลังศึกษาการประยุกต์โยคะหัวเราะไปใช้ในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวช มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน คุณสำรวย ส่งศรีได้ถ่ายทอดแนวคิดหลักการของโยคะหัวเราะ และช่วยให้ผู้ร่วมประชุมสร้างประสบการณ์ด้วยตนเอง ช่วยสร้างบรรยากาศสนุกสนานเป็นอย่างมาก
  • ประสบการณ์..ครูโยคะ’ VS ‘ศิษย์ซึมเศร้าคุณทุลภา จันทร์ทรง (พว.ชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชหญิง) แลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนโยคะในบุคคลทั่วไป รู้จักในนาม ‘ครูแว๋ว’ ผู้เรียนบางคน (จิตแพทย์แนะนำให้มาเรียน) มีอาการซึมเศร้า แต่ครูไม่ทราบ จึงได้รับการสอนเหมือนบุคคลทั่วไป มาทราบภายหลังว่าผู้เรียนมีอาการซึมเศร้าเมื่อผู้เรียนประเมินตนเองให้ฟังว่า หลังจากเรียนโยคะกับ ‘ครูแว๋ว’ ระยะหนึ่ง “รู้สึกมีความสุข” “ไม่ต้องรับประทานยาก่อนนอนแล้วนะ” ‘ครูแว๋ว’ ช่วยให้ผู้ร่วมประชุมสร้างประสบการณ์ด้วยตนเอง ช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย
  • ประสบการณ์.. บำบัดความเครียดในผู้ป่วยจิตเวชด้วยโยคะ คุณวราห์ ขำคม (พว.ชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชชายเร่งรัดบำบัด 2) แลกเปลี่ยนประสบการณ์การบำบัดความเครียดในผู้ป่วยจิตเวชด้วยโยคะ ในช่วงที่ไปอบรมเฉพาะทางการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต (PG) ครั้งนั้นตนเองไม่มีความรู้พื้นฐานด้านโยคะ แต่อ่านจากหนังสือ แล้วประเมินว่าพอทำได้ จึงเลือกท่าโยคะง่ายๆ มา 10 ท่ามาประยุกต์เป็นโปรแกรมบำบัดของตนเอง ใช้แบบประเมินความเครียด 20 ข้อในการทำ pre-post test ผู้ป่วยเข้ากลุ่มบำบัดนาน 2 สัปดาห์ ผลการประเมินพบว่าผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 80 มีความเครียดลดลง แต่ไม่ได้ทำต่อเนื่อง วันนี้รู้สึกยินดีที่มีพยาบาลเป็นครูโยคะเก่งๆ หลายคน
  • ประสบการณ์.. ส่งเสริมสุขภาพตนเองด้วยโยคะ คุณอรสา ศรีเสริม (พว.ชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชชายเร่งรัดบำบัด 1) แลกเปลี่ยนประสบการณ์การฝึกโยคะกับ ‘ครูติ๊ก’ หรือคุณศิรินุช สมตัว (ผู้นำเสนอ) นาน 6 เดือน ตัวอ่อนลงมาก ก้มเงยสะดวก และสุขภาพดี ไม่ป่วยหรือแม้แต่เป็นหวัดในช่วงนั้น แต่เมื่อครูติ๊กยกเลิกคลาสสอน ตนก็เป็นหวัดทันที ปัจจุบันตัวแข็งหลังแข็งขึ้นไม่เหมือนเดิม คุณลัดดาวัลย์ คุณวุฒิ (พว.ชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชชุมชน) เล่าว่าตนเป็นลูกศิษย์ครูติ๊กเช่นกัน จึงเห็นประโยชน์ของการฝึกโยคะ

สนับสนุนใช้ ‘Yoga’ ในการสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร

  • สร้างเสริมสุขภาพบุคลากรด้วยโยคะ คุณชมัยพร พรรณนาภพ (พว.ชำนาญการพิเศษ รองหัวหน้ากลุ่มภารกิจฯ) เสนอให้กรรมการสร้างเสริมสุขภาพของโรงพยาบาล โดยเฉพาะกรรมการที่สังกัดในกลุ่มภารกิจฯ จัดกิจกรรมฝึกโยคะเพื่อสร้างสุขภาพของบุคลากรพยาบาล หากบุคลากรมีสุขภาพกาย สุขภาพใจดี จะช่วยเพิ่มคุณภาพบริการทางการพยาบาลให้ดีขึ้นด้วย .. homeostasis ช่วยให้ร่างกายเกิดสมดุล ผ่อนคลาย
  • คุณไพรัตน์ ชุมภูบุตร (พว.ชำนาญการพิเศษ รักษาการ หัวหน้ากลุ่มภารกิจฯ) แสดงความเห็นสนับสนุนความคิดสร้างเสริมสุขภาพบุคลากรด้วยโยคะเช่นกัน และเห็นควรกำหนดเวลา จัดตารางสอนกันเอง คุณอัมพร สีลากุล ก็เห็นด้วยเช่นกัน และเสนอให้ขออนุมัติใช้ห้องประชุมชั้น 5 อาคารพรหมวชิรญาณเป็นสถานที่จัดกิจกรรม

บรรยากาศดี๊ดี พี่น้องคุยกันผู้ร่วมประชุมรู้สึกผ่อนคลาย สนุกสนาน

  • คุณดารนี ชัยอิทธิพร (พว.ชำนาญการ สำนักบริหารการพยาบาล) สะท้อนความรู้สึกว่ามีความสุขที่เห็นบรรยากาศการประชุมวิชาการพยาบาลในลักษณะ ‘พี่น้องคุยกัน’ ได้พูด ได้หัวเราะ อยากเห็นบรรยากาศอย่างนี้นานแล้ว ครั้งนี้ ผู้บริหารในกลุ่มภารกิจฯ วางแผนปรับรูปแบบการประชุมใหม่นานล่วงหน้าหลายเดือน เป้าหมายเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจริงๆ แบบ KM ทุกคนกล้าพูด กล้าวิพากย์ ไม่มีถูกผิด เสนอให้ใช้รูปแบบนี้ต่อไป
  • การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแบบนี้ เมื่อทำซ้ำหลายๆ ครั้ง แม้จะมีเรื่องนำเสนอต่างกันก็จะเกิดพัฒนาการ มีสิ่งดีๆ ประเด็นดีๆ งอกเงยขึ้นมา เมื่อถึงวันนั้นทุกคนจะรับรู้ได้ด้วยตนเอง ในการประชุมครั้งต่อไปถ้าถือขนมและเครื่องดื่มมารับประทานร่วมกันด้วย จะช่วยให้บรรยากาศดีขึ้นอีก คุณชมัยพร พรรณาภพ เห็นด้วยว่าการประชุมครั้งต่อไปควรมีอาหารเบรคด้วย
  • คุณอัมพร สีลากุล เห็นว่าถ้าบรรยากาศมีการแลกเปลี่ยนกันโดยอิสระ สบายๆ มีความสุขในการประชุม ถึงแม้น้องๆ จะไม่ใช่เวรเช้าก็จะยินดีมาประชุมด้วยใจ (คุณอรสา ศรีเสริม แสดงความเห็นสนับสนุน)
  • การประชุมครั้งนี้ นอกจากการบันทึกของทีมผู้นำเสนอแล้ว จะมีบันทึกในภาพรวม(เชิงบริหาร) ของกลุ่มภารกิจฯ โดยคุณอัมพร สีลากุล มีแผนจะนำรายงานเสนอใน NSMO ต่อไป

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  • ได้ความรู้และสร้างประสบการณ์ตรง ในบรรยากาศผ่อนคลาย ในเรื่อง (1) แนวคิด/หลักการโยคะ คือ Integration (การรวมเป็นหนึ่งเดียว) Balance (สมดุลกับตนเอง กับคนรอบข้าง) Development (พัฒนากายและยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น เป้าหมายเพื่อหลุดพ้น) (2) เทคนิคของโยคะ
  • ได้เรียนรู้ว่า โยคะ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชได้ หากพัฒนาเป็นโปรแกรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ผู้บำบัด ภายใต้การจัดการที่เหมาะสม
  • ได้เรียนรู้ว่า “การสร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน” ต้องอาศัยความเข้าใจ และใจที่เปิดกว้าง ให้โอกาสทดลอง ปฏิบัติ และรับผลที่ได้ร่วมกัน
  • ได้เรียนรู้ว่าพยาบาลจิตเวชในโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จำนวนหนึ่ง มีความสามารถหลายด้าน อาทิเช่น โยคะ ซึ่งยังไม่ได้นำศักยภาพส่วนนี้ออกมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช

ข้อเสนอแนะ

  • ควรมีการทดลองนำแนวคิด/หลักการโยคะไปประยุกต์ใช้ในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวช เริ่มจากกิจกรรมง่ายๆ เพื่อสะสมประสบการณ์และความเชื่อมั่น นำกลับมามาเสนอผลการทดลอง เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ แล้วพัฒนาเป็นโปรแกรมที่มีรูปแบบชัดเจนต่อไป
  • ควรเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้มีศักยภาพด้านโยคะ โดยการฝึกโยคะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แล้วพัฒนาเป็นเครือข่ายครูโยคะต่อไป
  • ควรจัดประชุมวิชาการพยาบาล (Journal Club) ในรูปแบบปัจจุบัน เพื่อเปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็นโดยอิสระ มีการบันทึกการประชุมในรูปแบบ KM และเผยแพร่ในวงกว้าง
  • กรณีที่ยังไม่มีการนำแนวคิด/หลักการโยคะไปประยุกต์ใช้ในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวช ควรจัดหารายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโยคะบำบัดมานำเสนอทุก 6 เดือน เพื่อกระตุ้นและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นที่ก้าวหน้าให้รับทราบโดยทั่วกันในวงกว้าง
  • ควรสำรวจและจัดทำทะเบียนความรู้ความสามารถของพยาบาลจิตเวชโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และบุคลากรวิชาชีพอื่น ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรง (competency-based) เฉพาะเรื่อง (module) แม้ไม่มีใบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช

ขอบคุณค่ะ 

ดารนี ชัยอิทธิพร

หมายเลขบันทึก: 649568เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2018 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2018 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ว้าว !!! คุณพี่มาอย่างมืออาชีพ KM เลยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท