ชีวิตที่พอเพียง 3236. ความจริง



หนังสือ Factfulness : Ten Reasons We’re WrongAbout the World and Why Things Are Better Than You Think  เขียนโดย Hans Rosling,Anna Rosling Ronnlund, และ Ola Roslingบอกว่าสถานการณ์ในโลกดีกว่าที่เราคิด และแนวโน้มในช่วงร้อยสองร้อยปีดีขึ้นมากมาย    แต่เราโดนสื่อมวลชนทำให้โลกทัศน์ของเราบิดเบี้ยว   

คนจำนวนมากคิดว่าโลกของเราเลวลงเพราะสื่อมวลชนประโคมและแต้มสีข่าวร้าย   คำแนะนำคือ อย่าเชื่อข่าวง่ายๆ ให้ตรวจสอบความแม่นยำ     และให้ฝึกมีมุมมองต่อเรื่องต่างๆแบบมองหลายมุม หรือมองจากต่างมุม   หรือฝึกตีความหลายแบบ   เขาใช้คำว่าให้ takemultiple perspectives    ซึ่งก็คือมีmedia literacy หรือรู้เท่าทันสื่อนั่นเอง   

ผมตาสว่างเรื่องสื่อเมื่อตอนเป็นผู้อำนวยการ สกว. โดนไทยรัฐลงข่าวหน้าหนึ่งเล่นงาน โดยเขียนข่าวเท็จขึ้นมาเล่นงาน    มารู้ภายหลังว่ามีหมอผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อไทยรัฐเอาข้อเขียนของหมอรุ่นลูกศิษย์เอาไปให้ไทยรัฐลง     และเมื่อหลายปีมาแล้วมติชนลงความเห็นของ อ. หมอประเวศเรื่องหนึ่ง ที่อ่านแล้วไม่น่าเชื่อว่า อ.หมอประเวศ จะพูดอย่างนั้น   ผมถามอาจารย์หมอประเวศว่า ท่านให้ข่าวนั้นหรือ  ท่านตอบว่าเปล่า  

มายาเรื่องข่าว นอกจากข่าวเท็จ  ยังมีข่าวลวง  ข่าวตีไข่ใส่สี   และปิดข่าว    หรือข่าวไม่ครบ        

ในหนังสือยังเอ่ยถึงการที่โลกประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีพยายามสร้างความเชื่อว่า   การปกครองแบบเผด็จการหรือไม่ใช่เสรีประชาธิปไตยไม่มีทางเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ   และเราก็ค่อนข้างเชื่อเมื่อโซเวียตรัสเซียล่มในปี ค.ศ. 1991    แต่ตอนนี้ เราเห็นชัดเจนว่าสังคมและเศรษฐกิจของจีนพัฒนาเร็วกว่าของอเมริกาอย่างเทียบกันไม่ติด

สิ่งที่ครอบงำเราคือ ความคิดผิดๆในภาพใหญ่ ที่เรียกว่า megamisconception   ซึ่งสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ การเหมารวม เช่น East – West,developed world – developing world 

อีกสาเหตุหนึ่งของ megamisconception คือสัญชาตญาณเชิงลบ (negativity instinct) ของมนุษย์    คือเรามีแนวโน้มจะรับรู้ข่าวร้ายได้มากกว่าข่าวดี   ซึ่งตรงกับสภาพในสังคมสื่อมวลชนว่า “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน”        

สัญชาตญาณอื่นๆที่ทำให้การรับรู้ของมนุษย์บิดเบี้ยว ได้แก่ ความกลัว (fear instinct),   ขนาด (size instinct),  และการมองโลกเป็นเส้นตรง (linearinstinct)  

ความกลัวเป็นสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์สมัยยังอยู่ในถ้ำหรือในป่า    รวมตัวกันเป็นเผ่าเล็กๆรบราฆ่าฟันกันเอง   และต้องระแวงภัยจากสัตว์ร้าย   เวลานี้สังคมมนุษย์ได้ผ่านพ้นสภาพนั้นมาแล้ว  

เรื่องขนาด   มีตัวอย่างตัวเลขโดดๆ จำนวนมาก เช่น “ปีที่แล้วมีทารกตาย๔ ล้านคน”     ที่เมื่อคนได้ยินแล้วก็จะตกใจ    แต่หากมีอีกตัวเลขหนึ่งมาเทียบว่า ในปี ค.ศ. 1950มีทารกตาย ๑๔.๔ ล้านคน   ความรู้สึกต่อตัวเลข ๔ ล้านคนจะแตกต่างออกไป   

นอกจากนั้น เรายังมีความคิดผิดๆ ว่าภาพความเลวร้ายเป็นสิ่งที่ยืนยงคงกระพัน    เพราะเรามองโลกเป็นเส้นตรง    ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมนุษย์เรามีศักยภาพที่จะเอาชนะความเลวร้ายนั้นได้

ผมตีความว่า สิ่งที่คนเราต้องระวังคืออย่าให้โดนหลอกโดยภาพลวงตา (illusion)   

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 649443เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2018 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2018 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท