ชีวิตที่พอเพียง 3232. ระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า



นสพ. บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ ๕ กรกฎาคม๒๕๖๑ ลงเรื่อง Nouniversal health care is America’s loss เขียนโดย GwynneDyer  ในหน้า ๙ ()   ให้ข้อเท็จจริงที่ตบหน้า ปธน. ทรัมป์

เหตุเกิดเมื่อคนอังกฤษเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลให้ตั้งงบประมาณเพิ่มแก่ระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศ     ปธน.ทรัมป์ จึงใช้โอกาสนี้ “เบิ้ล” พรรคเดโมแครต    ว่าระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าของอังกฤษกำลังล้มละลาย   

ผู้เขียนบอกว่าระบบสุขภาพอเมริกันใช้เงินร้อยละ ๑๖ ของ จีดีพี   ในขณะที่ตัวเลขของอังกฤษคือ ๘.๔ ต่างกันเกือบเท่าตัว    แต่สุขภาพโดยเฉลี่ยของคนอังกฤษดีกว่าของคนอเมริกันอย่างเทียบกันไม่ติด    เท่ากับ ทรัมป์พยายามปกป้องระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของธุรกิจ     

วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๐๑๘ เป็นวันครบรอบ ๗๐ปีของระบบ NHSหรือระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าของอังกฤษ    ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม๑๙๔๘   โดยมีการปรับปรุงพัฒนาเรื่อยมา     แต่ตอนนี้ผู้คนรู้จากหลายข้อมูลหลักฐานว่างบประมาณที่รัฐจัดสรรให้แก่ระบบนี้น้อยเกินไป   จึงมีขบวนการเรียกร้องให้เพิ่มงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลก็สัญญาว่าจะเพิ่มให้ปีละ๓.๔% ใน ๔ ปีข้างหน้า

ผู้เขียนชี้ว่า ในปี ค.ศ. ๑๙๔๘ ปีเดียวกันนั้นเอง  ในกระแสอุดมการณ์หลังสงคราม (โลกครั้งที่ ๒)ได้เกิด ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขึ้น   เป็นอุดมการณ์ของการเคารพสิทธิมนุษยชน   และระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์นี้ ...อุดมการณ์การจัดระบบสังคมเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์   

แต่พรรครีพับลิกันของสหรัฐอเมริกาสมาทานอุดมการณ์ตลาดเสรี   ต้องการให้ระบบสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาดเสรี    บริการสุขภาพอยู่ใต้อุดมการณ์ตลาดเสรีเพื่อกำไรสูงสุด    รัฐบาลสหรัฐฯจึงต้องจ่ายงบประมาณถึงร้อยละ ๑๖ (บางแหล่งข้อมูลบอกว่ากว่าร้อยละ ๑๗) ของจีดีพี  ให้แก่ระบบตลาดและประชาชนอเมริกันได้รับบริการสุขภาพที่ด้อยกว่าประเทศที่รายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

ประเทศไทยเราเริ่มระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าในปีพ.ศ. ๒๕๔๕   โดยพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๕  ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน๒๕๔๕   ระบบนี้หากบริหารไม่ดีเสี่ยงต่อการใช้จ่ายเงินมาก  เป็นภาระด้านการเงินการคลัง  ต้องมีระบบข้อมูลและระบบวิจัยเพื่อตรวจสอบความคุ้มค่า และพัฒนาระบบ    โชคดีที่เรามี สปสช., สวรส., IHPP, HITAP, สสส., องค์กรตระกูล ส และวงการวิจัยสุขภาพ  คอยทำหน้าที่ดังกล่าว    และแน่นอนกระทรวงสาธารณสุขก็มีบทบาทสำคัญด้วย

ประเทศไทยใช้เงินเพียงประมาณร้อยละ ๖ของ จีดีพี ด้านสุขภาพ   ที่น่าห่วงคือค่าใช้จ่ายที่ประชาชนจ่ายเองในการซื้ออาหารและผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพเพิ่มขึ้นมาก    ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เกือบทั้งหมดสูญเปล่า    ไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพแต่อย่างใดเลย    และในบางกรณีเป็นโทษ มีกรณีเสียชีวิตดังที่เป็นข่าว

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 649368เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2018 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2018 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท