อ่านจุลสาร “เสรีปริทัศน์”


สุดท้ายของข้อเขียนผมขอให้กำลังใจ กับผู้จัดทำจุลสารทุกท่าน ผมเชื่อว่าจุลสารฉบับนี้ จะเป็น “อีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดทำขึ้น เพื่อสนองความเป็นวิชาการ” ขอให้กำลังใจในฉบับที่ 2 ครับผม

       ผมได้รับจุลสาร “เสรีปริทัศน์”  จากพี่ไนท์ พี่ชายอดีตรองประธานชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง มาประมาณเดือนกว่าแล้ว แต่เพิ่งจะได้เปิดอ่าน เมื่อตอนที่นั่งรถบัสจากอุบล มามหาสารคามนี่แหละ  พออ่านแล้วผมคิดว่าผมได้ความคิดอะไรหลายอย่างนะ

            ตัวผมเองคิดว่า บทความและเรื่องสั้นที่ปรากฏในจุลสารเล่มนี้ เป็นเหมือนจุดเริ่มต้น ของ “กิจกรรมหนึ่งที่จัดทำขึ้น เพื่อสนองความเป็นวิชาการ” อันที่ได้กล่าวไว้ในตอนท้ายของจุลสาร พออ่านแล้วก็อยากเขียนถึงตามปกติของผม

            จุลสาร “เสรีปริทัศน์”  เป็นฉบับที่ 1 ปีที่ 1 เดือนมิถุนายน 2561 โดยอาจารย์ธวัชชัย ป้องศรี เป็นที่ปรึกษา และคุณณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์ เป็นบรรณาธิการ เจ้าของคือกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม เนื้อหามีทั้งหมด 9 หัวข้อใหญ่ ๆ  สิ่งที่ผมเจอในจุลสารเล่มนี้ มันมีประเด็นให้ได้คิดอยู่ 3 ประเด็น ตามที่จะกล่าวต่อไปตามนี้

1. อีสานไม่ได้ล้าหลัง แต่วาทกรรมที่เหลือค้างทำให้ล้าหลัง

                        ในปัจจุบันผมคิดว่าอีสานไม่ได้ล้าหลังหรือเดินตามหลังภูมิภาคอื่นในประเทศไทยหรอกนะ  เพราะว่าทุนนิยม และพวกนายทุนเริ่มเข้ามาสู่จังหวัดใหญ่ ๆ แล้ว เห็นชัดคือ โคราช อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี ทุนนิยมเหล่านี้เริ่มมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับกลุ่มผู้ค้าท้องถิ่น หรือนายทุนท้องถิ่น แต่อะไรก็ตามที คนกรุงเทพได้ใช้ คนในพื้นที่อีสานก็ได้ใช้เหมือนกัน

                        ทั้งนี้วิถีชีวิตและรากเก่าก็เริ่มหายไป (เป็นปกติอยู่แล้ว) อาจเพราะสื่อออนไลน์มีอิทธิพลทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จึงไม่จำเป็นต้องผูกติดกับอำนาจศูนย์กลาง หรือกรุงเทพเหมือนแต่ก่อน  ตลอดจนนโยบายรัฐหลายครั้ง (โดยเฉพาะทักษิณ) ส่งเสริมยกระดับชาวนาให้มีฐานะและเงินในกระเป๋ามากขึ้น  การได้รับประโยชน์ดังกล่าวทำให้คนอีสานมีต้นทุนในการลงทุน และดำเนินกิจการ ตลอดจนหมุนเวียนใช้จ่ายมาจนถึงปัจจุบัน

                        ตามที่กล่าวข้างต้นไปแล้ว จะเห็นว่าเป็นการยกระดับเพียงน้อยนิด แต่จริง ๆ ก็ถือว่ายกระดับให้เป็นคนที่มีฐานะปานกลางได้ ในฐานะเกษตรกร

                        อีกประเด็นที่สำคัญคืออีสานไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม ดังนั้นความเจริญในเรื่องของอุตสาหกรรมจึงยังไม่เทียบเท่ากับภาคกลาง หรือภาคตะวันออก แต่อีสานก็มีกำลังในการใช้จ่าย และผลิตได้มากมายทีเดียว เห็นได้จากการส่งออกข้าว ยางพารา ซึ่งไม่ขออธิบายรายละเอียด แต่อยากเขียนออกมาจากการอ่านจุลสารข้างต้น

                        วาทกรรมอีสานจน เจ็บ โง่ ยังสืบทอดจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ที่มีเอกสารราชการ “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” เป็นชุดความคิดที่สืบทอดกันมาอย่างไม่ต้องสงสัย จะว่าดีก็คงตรงที่ รัฐบาลไหนก็มาจ่ายเงิน แจกเงิน ! มั้ง จนลืมไปว่าสิ่งที่จะพัฒนาควรเป็นไปในเรื่องใด

2. ความเหลื่อมล้ำในชุมชนอีสานไม่มีจริง แต่ความเหลื่อมล้ำกับนายทุนมีจริง

            ในบทความ ความเหลื่อมล้ำในหมู่บ้านอีสานยุคใหม่  ทำให้เราเห็นว่า คนมั่งมีของชุมชนอีสานนั้น ผูกติดอยู่กับคนที่มีที่ดินมาก แต่ใช่ว่าคนที่มีที่ดินมากจะรวยที่สุด เพราะมีกิจกรรมการผลิตเหมือนกัน และที่ดินเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการผลิตมากนั่นเอง ดังนั้นในแง่ของการเอารัดเอาเปรียบจึงไม่มี เพราะอยู่ที่ที่ดินขอแต่ละคน อาจจะซื้อใหม่ หรือเป็นมรดกตกทอด หากแต่ที่ดินไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่รวย เพราะคนขยันก็รวยได้ ในเมื่อไม่มีคนเอาเปรียบ

            ความเหลื่อมล้ำจริง ๆ มาจากนายทุนต่างหาก เพราะนายทุนเป็นคนที่เข้ามาใช้ทรัพยากรในชุมชน โดยที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในผลประโยชน์อันใดเลย  ตัวอย่างก็แถว ๆ เขื่อนอุบลรัตน์ขอนแก่น ป่าชุมชน ที่คนเคยเก็บเห็ด หรือใช้ประโยชน์ร่วมกัน วันหนึ่งมีกลุ่มทุนที่ไม่รู้มากไหนมาแย่งทรัพยากรดังกล่าวไป จึงทำให้แหล่งอาหารของคนในชุมชนต้องขาด และเข้าเมืองหรือเข้าโรงงานมากขึ้น เมื่อเข้าโรงงานมากขึ้น การตัดขาดจากระบบพึงพาตนเองและธรรมชาติต้องน้อยลง และอาศัยนายทุน รอกินผลจากการทำงานนั้น โดยไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปต่อรอง ถ้านายรวย ๆ แต่ลูกน้องจน ๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการลงทุนในพื้นที่อีสานนี้ ต้องพัฒนาโดยมีชุมชนเป็นฐานนั้นแหละเหมาะสมที่สุด เพราะชุมชนไม่ได้คอยเอาเปรียบและกินกำไรจากใคร

3. ยูโทเปีย (อีสาน) เสียงขานคนอยากเลือกตั้ง

            ก่อนอื่นต้องบอกว่าเรื่องนี้สั้นจริง ๆ แค่ 33 บรรทัด ซึ่งเป็นเรื่องสั้นจริง ๆ นั้นเพราะปัจจุบันนักเขียนเรื่องสั้นมักเขียนกันเสียยืดยาว จนน่ารำคาญเพราะไม่เข้าประเด็นหลักสักที เรื่องสั้นเรื่องนี้ เขียนโดยนายผี (เผด) ผมคิดว่าเขาคงตั้งชื่อนามปากกา เพื่อล้อนิยามของคนที่มาก่อนมั้ง เพราะเมื่อกล่าวถึงนายผี ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่เจ้าของนามปากกาเติมเผด คงเพื่อไม่ให้ซ้ำนายผี และบ่งบอกความเป็นอีสานผ่านคำว่าเผด เพราะ เผด แปลว่า ผีเปรต ในภาษาอีสาน

            ในเรื่องเขาเล่าถึงแก้ว เด็กชายอายุ 18 ปี ผู้ที่กำลังตื่นเต้นอยากเลือกตั้ง เขากระตือรือร้นมากต่อการเลือกตั้ง  ในสถานการณ์นั้นนายกที่กำลังมากแรงในการเลือกตั้งเป็นคนอีสาน  และมีแนวนโยบายเพื่อพัฒนาอีสานอย่างจริงจัง จวบจนแก้วได้ไปเลือกตั้ง ในตอนสุดท้ายของเรื่องนายผี(เผด) ปิดท้ายแบบหักมุมว่าก็แค่ความฝันของแก้ว เพราะนายยกยังไม่ลาออก ผมคิดว่าประเด็นนี้มันดูตลกดีนะ แต่ก็สะท้อนมุมมองของคนที่อยากเลือกตั้งเอาไว้

            ประเด็นแรกของเรื่องสั้นเรื่องนี้ที่นำเสนอคือนายก เป็นคนอีสาน เหมือนเขาจะพยายามขายประเด็น และสร้างความต่างในลักษณะของการเห็นแย้ง ในคำกล่าว ที่ว่า “อีสานไม่ใช่ลาว” ผู้เขียนเรื่องสั้นกำลังจะบอกว่าอีสานเป็นลาวหรือหรือถึงใส่ (หา !!!) อันนี้น่าสนใจ ในความคิดของผม ผมคิดว่าอีสานในปัจจุบันพ้นผ่านความเป็นลาวแล้ว เพราะว่าภาคอีสานประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น ส่วย เขมร หรืออื่น ๆ แต่คนส่วนใหญ่ มีชาติพันธุ์ลาว ดังนั้นเราจึงเอาชาติพันธุ์เดียวมาตีตราอีสานไม่ได้

            ถูกแล้วที่ นายกในความฝันของแก้วที่เขากล่าวว่า “อีสานไม่ใช่ลาว…” หากมองในฐานะของรัฐหรืออาณาจักร เพราะลาวก็คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่มองในฐานะชาติพันธุ์ก็ใช่ส่วนหนึ่ง เพราะประชากรส่วนใหญ่ของอีสานเป็นชาติพันธุ์ลาว (ขอไม่อธิบายต่อ สามารถหาอ่านได้) แสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับชาติพันธุ์อื่นในอีสานด้วย ดังนั้นผมจึงคิดว่านายกในฝันจึงได้ใจคน เพราะเขามองภาพรวมของอีสานว่ามีชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วย ไม่ได้มองแค่ว่าอีสานมีแต่ลาว

            ประเด็นที่สองที่น่าสนใจคือการอยากเลือกตั้งของแก้ว  ผมคิดว่าไม่ใช่แค่เด็กชายแรกรุ่นอายยุ 18 ที่อยากเลือกตั้ง คนแก่กว่าก็คงอยากเลือกเหมือนกัน แต่คงเป็นได้ฝัน เพราะไม่รู้ว่าวันไหนจะได้เลือกตั้งสักที ตามนั้นแหละผมเชื่อว่าผู้เขียนก็คงอยากเลือก ในเมื่อเราไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบรัฐ จึงทำให้คนค่อย ๆ คิดตีตนออกห่างจากอำนาจดังกล่าว ที่ผู้เขียนเรื่องแฝงความฝันของแก้วเอาไว้ เขาชี้ให้เห็นว่าคนได้คิดกับประเทศชาติมากแค่ไหน ถึงขนาดเก็บไปฝันหากรัฐไม่ยอมปล่อย สักวันคงมีเรื่องมากกว่าคาดฝันอย่างแน่นอน

            สุดท้ายของข้อเขียนผมขอให้กำลังใจ กับผู้จัดทำจุลสารทุกท่าน ผมเชื่อว่าจุลสารฉบับนี้ จะเป็น “อีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดทำขึ้น เพื่อสนองความเป็นวิชาการ”  ขอให้กำลังใจในฉบับที่ 2 ครับผม

หมายเลขบันทึก: 649210เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2018 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2018 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมอ่านแล้ว เห็นจิตคิดดังนี้
๑) รู้สึกน้อยใจที่คนไทยดูถูกคนอีสาน คนอีสานดูถูกคนลาว คนอีสานไม่อยากเป็นลาว๒) รู้สึกต่อต้าน ตอนที่บอกว่าทักษิณทำให้ชาวบ้านดีขึ้น เพราะสิ่งที่เหลืออยู่ขณะนี้คือหนี้สินและความฟุ้มเฟ้อ ๓) รู้สึกหดหู่ ดูเหมือนว่า ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่ในจิตใจของเรา และเข้าใจว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งคือคำตอบ ….

คำตอบคือการศึกษา พัฒนา ไปสู่ธรรมาธิปไตย…..

ขอบคุณอาจารย์มากครับผม

เรา..ๆ..ยัง ขาด การศึกษาการเรียนรู้..ที่เป็น ทักษะ….ที่..เรียกว่า..การเมือง และสังคม….กฏหมาย..!..ซึ่ง น่าจะมีฐานการเรียนรู้..และความเข้าใจ.เพื่อ.เป็นพื้นฐาน..ของระบบสังคมและวัฒนธรรม….โดยองค์ รวม..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท