845. ทำไมประเทศไทยต้องการ "Appreciative Inquiry"


สวัสดีครับทุกท่าน นานๆทีผมจะมีโอกาสเขียนบทความ...  วันนี้เป็นวันพิเศษเนื่องจากว่างจากภารกิจ เลยมาจิบการแฟไป และเลยอยากชวนคุยเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์นั่นคือการพูดคุยครับ

มนุษย์เราพูดคุยกันเพื่อระบายอารมณ์มั่ง ผูกมิตรกันบ้าง ... แต่หลายการพูดคุย ก็เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา

แล้วคุณเคยสังเกตวิธีการพูดคุยของคนรอบตัวคุณไหมครับ  ผมสังเกตมานาน เราจะเห็นโครงสร้างชัดเจนว่าอยู่สองแบบ แบบเแรกคือแบบที่ผมสังเกตว่าเป็นโครงสร้างการคุยในกระแสหลัก ไม่ว่า MBA หรือองค์กรไหน ก็คุยกันด้วยโครงสร้างหลักคือ...ถ้าเกิดปัญหา เราจะพยายามหาสาเหตุของปัญหา ดูว่า GAP คืออะไร เราเรื่องว่าถ้าเราเจอ GAP หรือรากเหง้าของปัญหา เราจะหาทางแก้ได้  ก็ถูกครับ ...

เช่นเมื่อเราอยากให้พนักงานของเรามีความสุขในการทำงานมากขึ้น  เราเชื่อว่าถ้ามีความสุขในการทำงานเขาจะสร้างผลงานที่ดีให้เรา ...เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้พนักงานมีความสุข 

  1. เราต้องเริ่มจากการหาก่อนว่าพนักงานไม่มีความสุขตรงไหน  
  2. หาสาเหตุว่าที่เขาไม่มีความสุขเพราะอะไร
  3. หาทางแก้ไข
  4. เอาทางแก้ไปทำจริงก็จะทำให้พนักงานมีความสุขขึ้น

ผมได้คำตอบว่า ...

KPI สูง เงินเดือนน้อย  งานเยอะ บ้านไกล หัวหน้าเอาแต่ใจ คุยไม่รู้เรื่อง ไม่ยุติธรรม เทคโนโลยีสู้คู่แข่งไม่ได้ Margin ลดลง การแข่งขันสูงมาก พนักงานไม่มีใจทำงาน 

แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร  ต้องกระจายงานให้เท่าเทียม” “ต้องปรับทัศนคติในการทำงานของพนักงาน” “เพิ่มเงินเดือน  ต้องตามคู่แข่งให้ทัน” “ปรับทัศนคติหัวหน้า

ผมถามอีก เรามาพัฒนากลุยทธ์กันเพื่อแก้ปัญหา ... “คงทำไม่ได้ มันขึ้นกับหลายปัจจัย สำคัญที่สุดคือผู้บริหารต้องปรับทัศนคติก่อน 

ที่เจอโหดสุดก็คือ... “มันต้องปลงอาจารย์...ปลงมานานแล้ว ..ไปโน่น..”

ตกลงที่สุดก็เหมือนจะได้อะไร แต่ที่สุดก็จบลงด้วยการทำอะไรไม่ได้ ..  เพราะมีเงื่อนไขเต็มไปหมด..ไม่มีงบประมาณ  ถึง Peak สุดก็คือต้องเปลี่ยน CEO..  

แต่ขอแอบแซวหน่อย ...แทบไม่มีใครเสนอเรื่องการเปลี่ยนนิสัยตัวเองเลย.. 


โครงสร้างการคุยแบบนี้เป็นอะไรที่นิยมมากๆ ในบ้านเรา... 

แต่ก็มีโครงสร้างการพูดคุยอีกแบบที่ผมพอเห็นอยู่บ้าง แต่นานๆ ที คือ

สมมติว่ามีปัญหา แทนที่จะไปหาสาเหตุที่ทำให้มีปัญหา และหาทางออก เราจะมาหาสาเหตุความสำเร็จกันแทน โครงสร้างการคุยจะออกมาอีกแนวคือ

  1. ระบุปัญหาที่อยากแก้
  2. จากนั้นไปค้นหาข้อมูลก่อน ว่าตอนที่เราแก้ปัญหานั้นได้ทำอย่างไร ..หรือเราเคยเห็นใครทำ แล้วเขาใช้วิธีการอะไรในการแก้ปัญหาเดียวกัน จะในจะนอกองค์กรก็ได้ หาข้อมูลก่อน พูดง่ายๆ หาสาเหตุความสำเร็จก่อน 
  3. เอาข้อมูลที่มีคนเคยทำได้มาเป็นพื้นฐานในการคิดหาวิธีแก้ปัญหา เอาเรื่องสำเร็จมาต่อยอดแก้ปัญหากัน
  4. ทดลองทำจริง วัดผล
  5. คนคุยแบบนี้เชื่อว่า เมื่อเราเจอสาเหตุความสำเร็จ แล้วเอาสาเหตุความสำเร็จไปขยายผล เราจะแก้ปัญหานั้นได้เอง เรามาลองคุยกันด้วยวิธีการแบบที่สองดู ด้วยโจทย์เดียวกันคือ

ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาเรื่องคนไม่มีความสุขในการทำงาน

ตามโครงสร้างการคุยแบบที่สองนี้ เราเชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีความสุขในการทำงานมาก่อนบ้าง ไม่มากก็น้อย เราเอาประสบการณ์การมาแชร์กัน เป็นข้อมูลพื้นฐานก่อน

เริ่มเลยครับ เรามาค้นหากันว่า แล้วตอนที่เรามีความสุขในการทำงาน .. แต่ละคนทำอย่างไร หรือถ้าเห็นใครมีความสุขในการทำงานเขาทำอย่างไร 

เช่นโรงงานหนึ่งเล่าว่าเขาเห็นพนักงานคนหนึ่งมาทำงานทุกวัน มีความสุขในการทำงานทุกคนรัก... ผมเลยเชิญมาสัมภาษณ์..  เธอเป็นคนเขมร เธอบอกว่าที่มาทำงานทุกวันเพราะเธอมีเป้าหมายว่าจะมาทำงานเมืองไทยเพียง 10 ปี ตอนนี้เก็บหอมรอมริบเงินเพื่อไปซื้อนาที่บ้านเกิด ..สรุปเธอมีเป้าหมายชีวิตครับ .. อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ...ชอบที่ทำงานเพราะเวลามีปัญหาหัวหน้าสอนงานให้ ..แถมที่แผนกมีเล่นกีฬาตอนเย็น...

แค่คนเดียวครับ..ได้โครงการแล้ว ..ถ้าจะแก้ปัญหาพนักงานไม่อยากมาทำงาน ขาดงานทำอย่างไรครับ ..พาเขาค้นหาเป้าหมายชีวิต สอนงานเขา เล่นกีฬากัน

ผมไม่ได้เจอแค่ที่นี่ที่เดียว เจอที่อื่นด้วย...ทุกระดับเลย คนไปที่ไปไกลทุกระดับคือคนที่มีเป้าหมาย  ... 

สาเหตุอีกอันคือ KPI สูงกดดันมาก ขายไม่ได้ ...มาคุยกันครับ โครงสร้างแบบสอง หาข้อมูลตอนที่ทำได้ก่อน 

แล้วตอนที่ขายได้ทำอย่างไร หรือใครเป็น Idol เรื่องการขาย 

ผมขายได้มาก เพราะเวลาคนมาซื้อปุ๋ยผม ผมไม่รีบขายเหมือนคนอื่นผมจะใช้เวลาสัก 10 นาทีถามข้อมูล และให้คำปรึกษาอย่างละเอียด..ผมจะถามก่อนว่าเอาไปทำอะไร ..เขาบอกเอาไปใส่ไร่พริก 2 งาน ..ซื้อห้ากระสอบ..ผมดูแล้วเขาซื้อมากไป..เลยบอกตามประสบการณ์ว่าพี่ซื้อมากไปสามกระสอบพอ.. ผมขายตอนนั้นได้น้อยก็จริง แต่ต่อมาลูกค้าบอกต่อกันทั้งบาง ..  

นี่ไงครับ สาเหตุที่ทำให้คนๆนี้ได้ KPI เยอะนั้นคือการให้คำปรึกษาอย่างมืออาชีพ ..ไม่ยัดเยียดได้วิธีไปแก้ปัญหาไหมครับ 

นี่คือโครงสร้างการคุยแบบที่สอง...

คุณชอบแบบไหน แบบแรกหรือแบบที่สอง..”

แล้วแต่ เอาเป็นว่าตั้งแต่ผมทำมา ถ้าเราคุยด้วยโครงสร้างแบบที่สอง ผมไม่เจอคนพูดว่าเกิดมาใช้กรรม หรือปลงเลย.. แม้กระทั่งคนที่พูดว่าทำอะไรไม่ได้ หรือปลง พอเปลี่ยนมาคุยด้วยโครงสร้างแบบสองกลับมีคำตอบ มีแผนออกมา และทุกแผนเน้นที่ตัวเอง ไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลงใคร ไม่ใครโทษเศรษฐกิจหรือคู่แข่งอีก ..  คำตอบชัดเจน และที่ผมทอลงมาสิบปีสามารถเอาไปแก้ปัญหาได้จริง

แล้วแต่ครับ คุณจะชอบแบบไหน ..การคุยแบบแรก เราเรียกว่า Problem Solving ... วิธีการแก้ปัญหาที่เราเห็นอยู่ทุกวัน ถ้าชอบก็ใช้ต่อ .. แต่แบบสองคือ Appreciative Inquiry (AI) ซึ่งต่อยอดมาจาก Problem Solving นั่นเอง เพียงแต่ชวนกันไปหาข้อมูลดีๆมาก่อน หรือประสบการณ์ที่เคยทำมาก่อน.. 

สำหรับผมอยากให้สังคมไทยคุยกันด้วยโครงสร้างการคุยแบบ Appreciative Inquiry มากๆ ผมรู้สึกแบบแรกไม่ค่อยได้ผล และบั่นทอนมาก มักจบลงด้วยความหดหู่ หมดพลัง ในขณะที่ทำแบบสองจะเห็นโอกาสมากว่า มีความสุขกว่า มีคำตอบชัดกว่า 

Appreciative Inquiry เป็นวิชาด้านการพัฒนาองค์กรสาขาใหม่ เน้นการเชิญชวนคนให้ร่วมค้นหาสิ่งดีๆ ในองค์กรและสิ่งแวดล้อมมาขยายผลแก้ปัญหา ด้วยโครงสร้างการคุยแบบที่เน้นตั้งคำถามเชิงบวก หาสาเหตุความสำเร็จกัน

ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบทั้งการแก้ปัญหาทั่วไป ไปจนถึงการทำกลยุทธ์องค์กร กลยุทธ์การตลาด Lean การพัฒนาคน Coaching และอีกหลากหลาย 

ผมสอน Appreciative Inquiry มาสิบปี ผมได้ชมรมผู้สนใจ Appreciative Inquiry เป็นชมรมแรกในไทย เปิดเว็บไซต์ชื่อ www.aithailand.org      และนี่เป็นส่ิงที่ผมภูมิใจครับ 

ผมมีปณิธานว่าชีวิตนี้ ผมจะส่งเสริมให้ Appreciative Inquiry เป็นภาษาที่สองของคนไทยให้ได้ ผมว่าระบบไวยกรณ์ โครงสร้างภาษาของเราจะไม่สมบูรณ์เลย ถ้าไม่มีการคุยแบบนี้  เพราะว่าเราคุยกันที่ไร มีแต่จะตีบตันขมขื่น หดหู่ หาทางออกไม่ได้ มีแต่โทษกันไปกันมา เห็นแต่ความเป็นไปไม่ได้  ยิ่งคุยยิ่งประสาท ยิ่งแตกแยก...ผมว่าระบบการคุยของคนไทยมีปัญหาจริงๆครับ  

ผมเชื่อว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีการคุยของคนไทย คงยากที่จะยกระดับประเทศเราให้ไปไกลมากขึ้น

เป็นไปได้ไหมปัญหาของประเทศไทยอาจมาจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดที่เราไม่ค่อยได้ศึกษาใส่ใจ นั่นคือวิธีการพูดคุยกัน 

ถ้าเราทำตรงนี้ให้ดี ให้เป็นปรกติเหมือนวิธีการแบบแรกที่ครอบครองพื้นที่มานาน ..  เราจะเปลี่ยนอะไรได้หลายอย่าง จนถึงชะตากรรมของประเทศเราทีเดียว 

น่าคิดนะครับ

ด้วยรักและปรารถนาดี

ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ 

www.aithailand.org

Note: ถ้าสนใจลองมาศึกษาที่ website พวกเราได้ มีกรณีศึกษาเพียบ เรามีบทความกว่า 800 บทความ สื่อ Video กว่า 100 Clips 

หมายเลขบันทึก: 649182เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2018 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2019 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านบทความจบแล้ว รู้สึกอยากใช้ AI ในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเลยค่ะ น่าจะทำให้บรรยากาศในการแก้ปัญหาสนุกสนานมากขึ้น ^^ ขอบคุณท่านอาจารย์สำหรับความรู้นี้ด้วยค่ะ 🙏🏻😃

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท