ชีวิตที่พอเพียง 3208. สวิส ๒๕๖๑ : ๒. การประชุมเตรียมจัด PMAC Day 1 เตรียมคิดสำหรับ ๖ ปีข้างหน้า



ก่อนออกเดินทาง ผมอ่านเอกสาร Concept Note ของการประชุม PMAC 2019  “The Political Economy of NCDs: A Whole Society Approach”  ซึ่งปรับปรุงเรื่อยมาในเวลากว่า ๑ ปี    ตอนนี้ถ้อยคำและสาระครบถ้วนงดงาม    ระบุความสำคัญของปัญหาโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรังชัดเจนมาก   

แต่การประชุมวันนี้ ยังไม่จับเรื่อง NCD    ตอนเข้าคุยกันเรื่อง PMAC 2020     ตอนบ่ายคุยกันเรื่อง PMAC 2021 – 2025



๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑

ช่วงเช้า นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นประธาน   ประชุมเรื่อง PMAC 2020 : “Accellerating progress towards Universal Health Coverage – Life course approach and innovations”   ร่วมกันเสนอโดย องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลก    โดยชื่อยังไม่เป็นที่ยุติ   ที่ยุติแล้วคือจับประเด็นสำคัญในทางปฏิบัติเพื่อทำให้บรรลุ UHC

เรื่อง คุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า (UHC – Universal Health Coverage) เป็นจิตวิญญาณ หรือกระบวนทัศน์ ด้านการจัดการระบบสุขภาพที่ยึดถือกันทั่วโลก    แต่ในทางปฏิบัติยังมีประเด็นท้าทายมาก    ที่จริง PMAC ได้ประชุมเรื่อง UHC โดยตรงไปแล้วถึง ๒ ครั้ง    คือ PMAC 2012 : Moving Towards Universal Health Coverage – Health Financing Matters (1)    และ PMAC 2016 : Priority Setting for Universal Coverage (2)   ที่จริง PMAC ทุกปีมีเป้าหมายเพื่อการบรรลุ UHC

 เขาเสนอประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็น

  • ยุทธศาสตร์สำหรับ ๑๐ ปีข้างหน้า
  • การดำเนินการตลอดชีวิต (Life course approach)
  • นวัตกรรมเพื่อการบรรลุ UHC

ในด้านนวัตกรรม เขาเตรียมเอกสารมาเสนออย่างดี ว่าประกอบด้วยนวัตกรรมด้าน

  •  Digital innovation
  • Medical technology innovation and breakthrough drugs
  • Health systems innovations
  • Innovative use of information
  • Health financing innovation
  • Social and Behavioral innovations 

เขาเสนอให้การประชุมนี้เป็นทั้ง PMAC 2020 และ 2nd UHC Forum   โดยที่ UHC Forum ครั้งที่ ๑ จัดที่โตเกียวในปี 2017 (3)   ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุม  

ข้อเสนอแนะในเรื่อง innovation และเทคโนโลยี คือ ต้องพุ่งเป้าไปที่ผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือ    เพราะโดยธรรมชาติของนวัตกรรม และเทคโนโลยี คือมันจะเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนรวยและมีโอกาสสูงในสังคม    ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนยิ่งถ่างกว้างขึ้น   

เรื่องที่พูดกันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และเชื่อมโยงกันไปมา    การอภิปรายจึงขึ้นกับว่าผู้พูดมองเรื่องอะไรเป็นประเด็นใหญ่ อะไรเป็นประเด็นรอง (สวมแว่นอะไร)    และยิ่งตกลงยากขึ้นไปอีกเมื่อมีคนบอกว่าบางประเด็นที่สำคัญมันต้องเข้าไปอยู่ในทุก subtheme (เขาใช้คำว่า cross-cutting)   การได้เงี่ยหู (ที่ไม่ค่อยกระดิก) ฟังการอภิปรายของผู้รู้จึงประเทืองปัญญาผมอย่างยิ่ง    

ผมชอบข้อคิดเห็นของหมอเมฆ (ทักษพล ธรรมรังสี) แห่ง WHO SEARO ที่ย้ำการใช้การประชุมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติ  ไม่ใช่ขับเคลื่อนทฤษฎี  

จุดที่เขาเตือนคือ ให้ระวังอย่าหลงจัดการประชุมแบบ supply-push   ให้เน้น demand  จึงต้องทำความเข้าใจ consumer และให้โอกาส consumer ได้เสนอความต้องการด้วย   

แม้ประธานจะเป็นมือระดับโลก แต่การประชุมก็ตกลงกันไม่ง่าย    เดิมกำหนดเวลาประชุม ๙.๐๐ ๑๒.๐๐   กลายเป็นจบเกือบ ๑๓ น.

สรุปว่า ๓ subtheme ของ PMAC 2020 : Life Course, Future Decade of UHC Strategy  คือ

  • Primary Health Care (front line services) : Services coverage to ensure no one is left behind, accessibility, comprehensiveness, quality of care, demand creation, community participation
  • Political economy of financing (resource allocation) … embedded life course equity issues, innovation
  • Future decade of UHC strategy : throughout the life course (political commitment, equity-based, capacity and strengthening of health systems, governance reform, accountability, voice of consumers) 

Commissioned work : Root cause of stagnation to achieve UHC



บ่าย

เดิมกำหนดว่า หารือแผน ๕ ปี   กลายเป็นแผน ๑๐ ปี   และใช้ SDG (Agenda 2030) เป็นกรอบคิด   แต่ผู้แทนจาก UNDP บอกว่าการมองตัวชี้วัดแยกๆ กัน น่าจะไม่เหมาะสม   น่าจะหาวิธีทำงานที่ทำแล้วได้ผลหลายตัวชี้วัดของ SDG   และการใช้ SDG ย่างเดียวเป็นกรอบคิดน่าจะไม่เพียงพอ   


ผมได้เรียนรู้วิธีคิดขององค์กรโลกอย่าง UN    ว่าเขามองมาตรการที่จะให้ประเทศสมาชิกดำเนินการ  

มีคนเสนอว่า ไม่ควรมอง PMAC แยกออกจากมาตรการหรือกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างสุขภาพ   และเสนอให้เน้นติดตามผลการนำมติจาก PMAC ไปดำเนินการ   แล้วกลับมาประชุมหาทางทำให้บรรลุผลจริงจัง     

มีคนเสนอให้ PMAC ดำเนินการเพื่อสร้างความรับผิดรับชอบ (accountability) ขององค์กรที่ทำหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ    เพื่อให้มาตรการที่ตกลงกันก่อผลกระทบอย่างจริงจัง     (ไม่ใช่ NATO – No Action, Talk Only)    แต่ลงท้ายคุณหมอสุวิทย์สรุปว่า PMAC เป็นกระบวนการเรียนรู้    เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของ co-host    ที่ค่อยๆ พัฒนามาเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดปี    PMAC ไม่มีหน้าที่ไปไล่จับหรือตรวจสอบองค์กรระหว่างประเทศ   

จากการอภิปราย ได้เกณฑ์เลือกประเด็นสู่การประชุม PMAC ในเบื้องต้นว่า

  • เป็นปัญหา multisectoral
  • ต้องการแรงผลักดันจากนานาชาติให้มีนโยบายและลำดับความสำคัญระดับชาติ
  • มีอัตราความเจ็บป่วย และอัตราตายสูง
  • เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจกว้างขวาง
  • มีการยกร่างเอกสารนโยบายของ PMAC
  • ใช้ SDG เป็นกรอบคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 3    แต่ใช้แนวทางอื่นประกอบด้วย 



ผมสรุปกับตัวเองว่า เป็นครั้งแรกที่ PMAC สวมวิญญาณ Forward-looking ไปข้างหน้าถึง ๑๐ ปี    เป็นการเรียนรู้ฝึกฝนการทำงานเรื่องใหญ่ๆ เชิงระบบ   เพื่อสร้างคุณค่าแก่โลกในฐานะ กลไกที่ไม่เป็นทางการ  ตามปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกของรัชกาลที่ ๙   โดยไม่หวังผลตอบแทน 

วันนี้พอสายหน่อยฝนตก และตกพรำๆ ทั้งวัน   ฟ้าปิดสนิท   โชคดีที่ตอนเช้าฝนไม่ตกและยังพอมีแสงสว่างบ้าง    ผมจึงได้ออกไปเดินออกกำลัง และซึมซับความสงบและธรรมชาติอันสัปปายะ   และตอนเย็นฝนหายและฟ้าเปิดเล็กน้อย    ตอนเช้าอุณหภูมิ ๑๐ องศา   บ่าย ๑๔ องศา  

วิจารณ์ พานิช

๑๖ พ.ค. ๖๑  

ห้อง ๔๓๐  โรงแรม Royal Plaza, Montreux, Switzerland  


 

หมายเลขบันทึก: 648639เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2018 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2018 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท