การเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดเต้านม


เตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดเต้านม


พยาบาล มีบทบาทที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยโรค  จนสิ้นสุดการรักษาโดยการทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค การรักษา การจัดการกับอาการข้างเคียงในระหว่างการรักษา และการดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงของการรักษา โดยเน้นให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญกับสถานการณ์การผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

บทบาทของพยาบาลในการให้การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาด้วยการผ่าตัด แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะก่อนผ่าตัด ระยะระหว่างผ่าตัด ระยะหลังผ่าตัด และระยะเตรียมพร้อมการจำหน่าย ดังนี้

1.   ระยะก่อนผ่าตัด (pre-operative phase)  เป็นระยะแรกตั้งแต่รับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การพยาบาลผู้ป่วยในระยะนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมให้ผู้ป่วยมีความพร้อมสำหรับการผ่าตัด และลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ป่วยจะมานอนรักษาในโรงพยาบาลก่อนผ่าตัด 1 วัน บทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยมีดังนี้

      1.1  การเตรียมด้านร่างกาย  เพื่อเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการผ่าตัด ดังนี้

             1.1.1  การประเมินสภาพผู้ป่วย  โดยรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยเกี่ยวกับ

                       -   การตรวจร่างกาย โดยการประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย การทรงตัว การเคลื่อนไหวของไหล่ ความแข็งแรงของแขน และมือ การประเมินรูปร่างของเต้านมที่ผิดปกติและแผลที่เต้านม เป็นต้น

                       -  การประเมินผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ BUN, Cr, Liver function test, CBC, UA

                       -  การประเมินผลการตรวจพิเศษต่าง ๆ เช่น ภาพถ่ายรังสี   ทรวงอก  การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัลตราซาวด์ และผลการตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นต้น

                       -  การตรวจสอบใบอนุญาตผ่าตัดในเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน มีลายมือชื่อผู้ป่วยหรือผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายรับรอง เพื่อแสดงว่าผู้ป่วยเข้าใจมีการรับรู้ในข้อมูลการรักษาด้วยการผ่าตัดและยอมรับแผนการรักษา

                        -  ตรวจสอบความสะอาดของผิวหนังบริเวณที่จะทำผ่าตัด    เล็บมือ เล็บเท้า การทาเล็บและการทาลิปสติกสี ควรล้างเล็บและเช็ดลิปติกก่อนเข้าห้องผ่าตัด เพื่อให้สามารถสังเกตภาวะขาดออกซิเจนบริเวณปลายมือปลายเท้าและที่ปากได้ง่ายชัดเจน

                       -  การตรวจสอบการงดน้ำและอาหารก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง และตรวจสอบการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำให้ถูกต้องครบถ้วนตามแผนการรักษา

                       -  การเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ

                       -  ประวัติการเจ็บป่วยอื่นๆทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคเบาหวาน

                       -  ประวัติการผ่าตัดในอดีตและยาระงับความรู้สึกที่เคยได้รับ

                       -  ประวัติการรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน ยาสมุนไพร รวมทั้งประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร

                       -  ประวัติการใช้สารเสพติดและการแพ้สารเคมี เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ เป็นต้น

            1.1.2 การเตรียมด้านจิตใจ  นอกจากการเตรียมความพร้อมด้านร่างกายแล้วผู้ป่วยควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการผ่าตัด ผลดีของการผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในห้องผ่าตัด และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในทุกระยะของการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้คิดทบทวนและตัดสินใจยอมรับการรักษา ซึ่งความกลัวและวิตกกังวลในผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการผ่าตัดสามารถบรรเทาลงได้โดยการให้ข้อมูลเตรียมความพร้อมที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ การแสวงหาข้อมูล (information seeking) เป็นการเผชิญปัญหาวิธีหนึ่งที่บุคคลนำมาใช้ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถคาดหวังเหตุการณ์ได้ตรงตามความเป็นจริงและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้ในที่สุด (อุบล จ๋วงพานิช, 2536)

           โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมความพร้อมด้านร่างกายอย่างครอบคลุม ภายใต้การดูแลของทีมสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง แต่การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจเป็นบทบาทหลักของพยาบาลซึ่งมีเวลาอยู่กับผู้ป่วยมากที่สุด ผู้ศึกษาจึงมุ่งพัฒนาการเตรียมความพร้อม ซึ่งรายละเอียดของข้อมูลจะเสนอในหัวข้อการให้ข้อมูลเตรียมความพร้อมแก่ผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งเต้านม

หมายเลขบันทึก: 648426เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณน้องอิ๊ดสำหรับการแบ่งปันเรื่องราวดีดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท