วัดอรุณราชวราราม วัดประจำรัชกาลที่ ๒


วัดอรุณราชวราราม  

  วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหารวัดประจำรัชกาลที่ ๒

   วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น"วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกันแต่ อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้งณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัด นี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง

      เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรีและได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขต        พระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลาง พระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็น ราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้าน คู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จ พระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้ อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์นี้มาจากลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทร์ ได้ในปี พ.ศ. ๒๓๒๒โดยโปรดให้อัญเชิญ พระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐาน

       เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มี พระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ร. ๒) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง ไว้ในมณฑป และมีการสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วัน(ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัด พระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรด พระราชทานคืนไปนครเวียงจันทร์) แต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เสียก่อน

      ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ แล้วโปรดพระราชทาน พระนามวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม"

      ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๑ นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๓๗ วา ซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔

        เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์ สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทั้งยังได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของ พระประธานในพระอุโบสถที่พระองค์ ทรงพระราชทานนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานนาม วัดเสียใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

        ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหมด โดยได้โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองในการบูรณะ และโปรดเกล้าฯให้นำเงิน ที่เหลือจากการบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ไปสร้างโรงเรียนตรงบริเวณกุฎีเก่า ด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่เป็นตึกใหญ่แล้วพระราชทานนามว่า "โรงเรียนทวีธาภิเศก" นอกจากนั้นยังได้โปรดให้พระยาราชสงครามเป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์ องค์ใหญ่ และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองใหญ่รวม ๓ งานพร้อมกันเป็นเวลา ๙ วัน คือ งานฉลองพระไชยนวรัฐ งานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล คือ มีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ งานฉลองพระปรางค์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์ เป็นการใหญ่มีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ใน วันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๐ และการบูรณะก็สำเร็จด้วยดีดังเห็นเป็นสง่างามอยู่จนทุกวันนี้

          พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ “พระวิหาร” วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ อันเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ตั้งอยู่ระหว่างมณฑปพระพุทธบาทจำลองกับหมู่กุฏิคณะ ๑ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เช่นกันเป็นพระวิหารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันสลักด้วยไม้มีรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่บนแท่น ประดับด้วยลายกระหนก ลงรักปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีประตูเข้า ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู

          ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งกระบวนไทย เป็นกระเบื้องที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสั่งมาจากเมืองจีนเพื่อใช้ประดับผนังด้านนอกพระอุโบสถ แต่ไม่งามพระราชหฤทัย จึงทรงโปรดให้เอามาประดับผนังด้านนอกพระวิหารนี้ ด้านนอกของประตูและหน้าต่างทั้ง ๑๔ ช่อง ทำขึ้นใหม่ เป็นลายรดน้ำรูปดอกไม้ ผนังด้านใน เดิมคงมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพราะเสาสี่เหลี่ยมข้างใน และเรือนแก้วหลังพระประธานและบนบานประตูและหน้าต่างด้านใน ยังมีภาพสีปรากฏอยู่ แต่ปัจจุบันผนังได้ฉาบด้วยน้ำปูนสีเหลืองเสียหมดแล้ว ยังเห็นเป็นรอยเลือนลางได้บางแห่ง แต่น้อยเต็มที ปัจจุบันได้ใช้พระวิหารหลังนี้เป็น ศาลาการเปรียญ ของวัดด้วย พระประธานในพระวิหาร มีนามว่า “พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นในคราวเดียวกันกับ “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศเทพวราราม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์บรรจุอยู่ในโกศ ๓ ชั้น อยู่ในพระเศียรที่ฐานชุกชีด้านหน้า พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร ได้ประดิษฐาน “พระอรุณ” หรือ “พระแจ้ง” พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริด ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ซึ่งองค์พระพุทธรูปและผ้าทรงครองได้หล่อด้วยทองต่างสีกัน ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๑ ในสมัย รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอรุณหรือพระแจ้งมาจากเมืองเวียงจันทน์ โดยมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญมาประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง แต่ภายหลังพระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะย้ายพระอรุณหรือพระแจ้งมาประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม แทน ด้วยเหตุที่นามพระพุทธรูปพ้องกับชื่อวัด

          ดังปรากฏหลักฐานจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๒๐ (พุทธศักราช ๒๔๐๑) ความตอนหนึ่งว่า“...ยังมีพระที่มีชื่อเอามาแต่เมืองเวียงจันทน์อีกสองพระองค์ พระอินแปลงน่าตัก ๒ ศอกเศษ พระอรุณน่าตักศอกเศษ...พระอรุณนั้น ฉันคิดว่าจะเชิญลงมาไว้ในพระวิหารวัดอรุณ เพราะชื่อวัดกับชื่อพระต้องกัน สมควรแต่จะให้จัดแจงที่ฐานเสียให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะเชิญลงมาต่อน่าน้ำ...” จากพระราชดำริดังกล่าว ในเวลาต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระอรุณหรือพระแจ้งมาประดิษฐานในพระวิหารวัดอรุณราชวราราม โดยโปรดให้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระพุทธชัมภูนุทฯ ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหาร นับแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี ในวันที่ ๑๒ เมษายน วัดอรุณราชวรารามจะอัญเชิญพระอรุณองค์จำลองแห่เวียน ตั้งแต่ถนนอรุณอมรินทร์ไปจนถึงถนนอิสรภาพ และในวันที่ ๑๓ เมษายน จะอัญเชิญพระอรุณองค์จำลองออกมาให้ประชาชนสรงน้ำพระเป็นประจำทุกปี

หมายเลขบันทึก: 648278เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2018 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2018 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท