พานไหว้ครู ทำแล้วได้อะไร ?


กระบวนการของการทำพานมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ รู้จักการวางแผน มีความกล้าแสดงออก ซึ่งแฝงและมีอยู่แล้วในนั้นหากแต่ไม่ชัดเจน หากจะชัดเจนสักนิดผู้เขียนคิดว่าผู้สอนต้องพานักเรียนได้ถอดบทเรียน พร้อมเน้นย้ำกระบวนการพัฒนาทักษะในตนเอง

พานไหว้ครู ทำแล้วได้อะไร ?

                 วันไหว้ครูหรือพานไหว้ครูหลายคนอาจมองว่าเป็นประเพณีที่มีมาดั้งเดิมของประเทศไทย  ผู้เขียนขอโต้แย้งแนวคิดนี้  และขอทำความเข้าใจกับทุกท่านด้วยว่า  การไหว้ครูในโรงเรียนต่าง ๆ ของไทยในปัจจุบันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาแต่โบราณกาล  และถือว่าเป็นคนละแนวคิดกับโบราณด้วย ถ้าจะมีผสมโบราณหน่อยก็คงจะเป็นการไหว้ครูดนตรีนาฏศิลป์ ละคร ที่มีปรากฏในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของไทย

ไหว้ครูของไทย  ประเพณีสร้างใหม่จากรัฐบาลเผด็จการ  

            ประเพณีการไหว้ครูดั้งเดิมของคนไทย เป็นการไหว้ครูแบบบูชาผี ใช้เหล้าเป็นเครื่องสื่อถึงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์  มีดอกไม้ขาวและธูปเทียน  เป็นสัญลักษณ์ของความเคารพ ซึ่งแต่ละถิ่นก็ย่อมมีแตกต่างกันไป  ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการไหว้ครูหมอลำหมอลำ ที่เรียกกันว่า “คายอ้อ” ศิลปะการแสดงของชาวอีสานหมอลำต้องมี  ขัน ครูธรรม ในพานประกอบด้วย ผ้าขาว 1 ผืน เหล้า 1 ขวด (เหล้าขาว) ไข่ไก่สุก 1 ฟอง กรวยที่เรียกว่าขันห้า เทียนเล่มปาก 1 คู่ เทียนจุด 1 คู่ เทียนเล็ก 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ซึ่ง 1 คู่นั้นไหว้ข้างนอกเพื่อเป็นการคาราวะ และเงินหรือเงินกัณฑ์บุญใส่ขันครู แต่ก่อนนั้นใส่ 6 สลึง ปัจจุบัน 6 บาท มีบทสวดยกอ้อ “นะโมพุทธายะ องค์พระพุทธเจ้า พระเจ้าให้แก่กู ครูกูดี ชื่อพระเมตตา คั่นกูว่าควมได๋ ขอให้เสียงกูใสส่องแจ้ง หนแห่งห้องตาตน มนต์กูนี้ชื่อว่า อั่งทรงหน้า อั่งทรงหลัง อั่งทรงตัว นะทรงหัว ขอให้เทวดามาจำซอยจื่อ อมน้ำมันงา มาให้เกล้าผม มารมคำหมาก ขอให้ปากกูดี สีกูขาวๆ ผู้สาวมักกู เมียเพิ่นมักกู ชู้เพิ่น มักกู อย่าลืมกูเด๊อ ตนกูนี่ชื่อพระยากาเผือก ให้ร้องเรียกหากู อมศรีสัวหม”คาถาสวดนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทคายอ้อ ของหมอลำสมร วารียันต์ บ้านดอนสวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

 

          จะเห็นว่าลักษณะการไหว้ครู  จะแตกต่างออกไปจากการไหว้ครูในโรงเรียนที่ต้องการสร้างความศักดิ์และความน่าเกรงขามให้กับครูในโรงเรียน  พิธีกรรมเน้นไปที่ความกตัญญูกตเวทีต่อครูผู้มีพระคุณ  และในปัจจุบันก็ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งถึงพิธีกรรมนี้กันมากมาย  อาจเพราะการเคลื่อนไปของระบบทุนนิยม ผลตอบแทนและการประพฤติปฏิบัติตนของครู ในปัจจุบันทำให้สังคมต้องตั้งคำถามกับพิธีกรรมดังกล่าว

            การไหว้ครูในโรงเรียนเริ่มต้นครั้งแรก ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยกระทรวงศึกษาธิการ  ในสมัยที่ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้กำหนดระเบียบพิธีไหว้ครูให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติเป็นแบบเดียวกัน ได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ภาคต้นปีการศึกษา 2486  (วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2486 ในตอนเช้า)  และในโอกาสนั้นได้เปลี่ยนบทไหว้ครูใหม่ โดยใช้บทไหว้ครูที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล เป็นผู้ประพันธ์ หลายปีต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงกำหนดวันไหว้ครูที่ให้ทำในเดือนพฤษภาคมนั้นใหม่ โดยได้ กำหนดวันพฤหัสบดีแรกของเดือนมิถุนายนเป็นวันไหว้ครูของโรงเรียนทุกประเภท และให้ถือเป็นวันครู ทั้งนี้ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นไป

          ต่อมา ในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2504  นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือแก้ไขแบบพิธีไหว้ครูบางตอน โดยเพิ่มคำปฏิญาณตนต่อท้ายคำไหว้ครูดังนี้ “เราคนไทย ใจกตัญญู รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เรานักเรียน จักต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น เรานักเรียน จะต้องไม่ทำตนให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ตนเองและคนอื่น”

            ถ้าจะบอกว่าพิธีกรรมนี้ เกิดขึ้นมาใหม่ในระยะ 80 ปีที่ผ่านมานี้ ก็คงจะใช่ สร้างขึ้นมาพร้อมกับระบบเผด็จการทหารและการหล่อหลอมให้คนมีความคิดแบบชาตินิยมก็คงไม่ผิดนัก หากเราพิจารณาตามรูปแบบการปกครองที่มีข้างต้น ผู้อ่านหลายท่านคงกำลังหมั่นเขี้ยวผม และโต้แย้งว่าไม่ดีหรอกหรือหากจะมีพิธีกรรมของคนที่จะระลึกคุณคน เรื่องนี้ผมไม่ได้เถียง หากแต่ผมอยากโยนคำถามลงไป แล้วมันจำเป็นมากหรอกหรือ ที่การระลึกถึงคุณคนจึงต้องบังคับ  และถ้าครูไม่มีเงินเดือนคนเป็นครูยังจะเป็นครูอยู่หรือไม่ คำถามเหล่านี้ยังเถียงกันได้อีกนาน  เพราะการตั้งคำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในสังคมไทยอย่างยาวนาน

กระบวนการจากพานไหว้ครู

            หากแต่สำหรับผู้เขียน  เห็นด้วยกับการเคารพผู้มีพระคุณ  แต่ไม่จำเป็นต้องมีการบังคับ  จากที่บรรยายมายืดยาว ขอเข้าเรื่องเลยละกัน คำถามและคำเถียงอยากยกไว้ก่อน ผู้เขียนเห็นว่าข้อดีอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในรูปแบบการจัดงานไหว้ครูในโรงเรียน คือกระบวนการจากพานไหว้ครู 

            กระบวนการเรียนรู้ที่นักเรียนทำในงานไหว้ครู  หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่าคุณสมบัติเหล่านี้  ได้ติดตัวเขาไปด้วย  ใช่ว่าผู้เขียนจะไม่เคยทำพานในงานไหว้ครู  หากแต่ตอนนั้นยังไม่รู้จักการถอดบทเรียนว่าเราได้อะไรกลับไปบ้าง จนเมื่อเห็นน้องสาวได้ชวนเพื่อนมาทำพานไหว้ครูที่บ้านจึงได้จ้องมองและถอดบทเรียนจากเด็ก ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ว่าเขาได้รับการเรียนรู้อะไรกลับไปบ้างหลังจากการทำพานไหว้ครู ผ่านการสอบถามแบบไม่เป็นทางการ แต่แฝงวิชาการและการเรียนรู้

ภาวะผู้นำ (Leadership) 

เด็กน้อยเหล่านี้ ได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของสมาชิกในกลุ่ม โดยมีผู้นำเป็นตัวแทนในการเปลี่ยนแปลง เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอื่นๆในกลุ่ม มีภาวะเกี่ยวข้องกับการใช้อิทธิพลและปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นตัวแทนของเพื่อน ๆ  ต่อพฤติกรรมและการปฏิบัติงานของสมาชิกคนอื่นในกลุ่ม เขาต้องกล้าที่จะว่ากล่าวเพื่อนและเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่ม ผมรู้สึกว่าแม้เด็ก ๆ จะไม่อยากเป็นแต่เมื่อสถานการณ์มันบีบบังคับ  เขาจึงจำเป็นต้องแสดงภาวะผู้นำนี้ออกมาเพื่อให้งานลุล่วงไปด้วยดี

การวางแผน (Planning)

สิ่งสำคัญที่น้อง ๆ เขาต้องทำเป็นอันดับแรก  คือการวางแผน จากที่ผมได้สังเกต พวกเขาวางแผนกันง่าย ๆ คือพูดคุยแค่ว่าจะทำแบบไหน  และจะไปเอาอะไรหลังจากนั้นก็จะระดมกันไปทำงานทั้งหมด  โดยไม่ได้แบ่งหน้าที่ ปัญหาจึงเกิดขึ้นคืองานไม่เดิน แต่การแก้ปัญหาที่ทันท่วงทีคือ  ความถนัดของแต่ละคน หากคนไหนไม่มีฝีมือทางศิลปะก็จะไปเก็บดอกไม้ให้เพื่อน ทำให้งานเดินเร็วขึ้น  ผมคิดว่าหากเรานำเด็กมาพูดคุยและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังการทำพานจะทำให้เขาได้มีกระบวนในการทำงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม จากที่เขียนมาผมคิดว่าสิ่งนี้แหละคือกระบวนการที่นำมาสู่การสร้าคนที่มีคุณภาพมากกว่าการยกพานไหว้  เพราะการวางแผนเป็นกิจกรรมที่คาดหวังว่าจะต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นผลจากการค้นหาและกำหนดวิธีทำงานในอนาคตเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

กล้าแสดงออก

สิ่งนี้จะเกิดยากมากหากเด็กไม่ได้รับโอกาส การกล้าแสดงออกของเด็กจะเกิดขึ้นเมื่อเขาได้ลองลงมือทำ สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานขั้นต้นทำให้นักเรียนกล้าพูด  กล้าคิด  กล้าทำมากขึ้น  เช่น  การเป็นพิธีกร  การถือพาน และเป็นผู้นำสวดมนต์  หากแต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นในปัจจุบันคือผู้สอนไม่ได้แบ่งหน้าที่ในการทำงานให้เกิดกระบวนการชัดเจนและเท่าเทียม  ที่ผู้เขียนอยากเสนอ คือนักเรียนทุกคนควรมีหน้าที่ในการจัดงานทุกคน  เช่น จัดสถานที่ เชิญแขก แม้อาจจะพลาดหรือทำไม่ดีเท่าที่ควร  แต่นี่คือกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และเป็นบทเรียนแก่นักเรียนได้แน่นอน

การที่นักเรียนจะกล้าแสดงออกนั้น ต้องพัฒนาจากการได้ฝึก ฝึกบ่อย ๆ ฝึกช้า ๆ จึงจะ เคยชินและจะกลายปกติธรรมดาของการกระทำต่าง ๆ หรือการพูด โดยอาศัยช่องทางหรือวิธีต่าง ๆ ในการ ฝึกกระทำหรือพูด และเสริมด้วยปัจจัยภายในที่มีอยู่ในตัวของตนเอง คือความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ และปัจจัยภายนอกที่ได้จากบุคคลรอบข้าง ที่ให้เป็นกำลังใจอาจจะเป็นคำชม การยกย่อง ยอมรับหรือ สนับสนุนในการกระทำแก่นักเรียนเหล่านั้น ก็จะทำให้ได้นักเรียนที่มีความกล้าแสดงออกได้อย่างเหมาะสม

การคิดอย่างสร้างสรรค์และคิดเชิงนวัตกรรม (Creativity and innovation)

การออกแบบพาน นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของความคิดเชิงสร้างสรรค์ เพราะผู้เรียนได้ออกแบบเอง ผู้ใหญ่หรือผู้สอนไม่ควรจะไปยุ่งมากเกินไป ควรปล่อยให้เขาได้ลองออกแบบพานของเขาเอง หากจะแนะนำก็ควรแนะนำอยู่ห่าง ๆ แน่นอนว่าเขาต้องได้ลองคิดและแก้ปัญหาด้วยตนเอง

จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนมองว่ากระบวนการของการทำพานมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ รู้จักการวางแผน มีความกล้าแสดงออก ซึ่งแฝงและมีอยู่แล้วในนั้นหากแต่ไม่ชัดเจน  หากจะชัดเจนสักนิดผู้เขียนคิดว่าผู้สอนต้องพานักเรียนได้ถอดบทเรียน พร้อมเน้นย้ำกระบวนการพัฒนาทักษะในตนเอง ให้เป็นแนวทางแก่นักเรียน สิ่งที่ได้อย่างแท้จริงของการทำพานไหว้ครู ก็คือทักษะการเรียนรู้นำมาสู่กระบวนการทำงาน สู่การเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต 

หมายเลขบันทึก: 648156เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2018 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2018 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท