องค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน สู่การนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตนักเรียนนักศึกษา


นางสาวโสภิตญดา จันโทศรี

ครู วิชาสังคมศึกษา แผนกสามัญสัมพันธ์

                 ที่ผ่านมา การศึกษาไทย มีปัญหาในหลายๆด้าน ทั้งการจัดการเรียนการสอน บรรยากาศการเรียนรู้หรือ

แม้กระทั่งปัญหาในการเรียนรู้ที่ตัวของเด็กเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใด อุปสรรคใดก็ตาม การ เข้าไปเขย่าหรือกระตุ้นหลายต่อหลายครั้ง สุดท้ายการศึกษาไทยยังคงวนเวียนอยู่กับคำถามเดิมๆ คือ เรื่อง “คุณภาพ” และ “ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน”

การศึกษาไทย อยู่ตรงไหนของอาเซียนในวันนี้ อย่าพึ่งถามถึงระดับสากลหรือระดับโลกเลย แม้แต่การเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง  เรายังต้องหันกลับมามองว่า เด็กไทยมีกระยวนการสร้างองค์ความรู้ที่ดีมีคุณภาพในตัวเองได้ดีมากน้อยเพียงใด ความใส่ใจในการใฝ่หาความรู้นั้นสำคัญ หากผู้เรียนเข้าใจและให้ความสำคัญ ก็คงเป็นเรื่องที่จดจำขึ้นใจได้อย่างหลัก 3H – Head Hands Heart และปัญหาที่สั่งสมมายาวนานนั้น ในฐานะครู ยังหวังว่ามีทางออกไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง ที่ต้องสร้างขึ้นมา

ความเป็นครู มีความเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถมีการพัฒนาได้ และพัฒนาตนเองตามศักยภาพ ความเชื่อ ความเข้าใจ 

ประสบการณ์ใกล้ตัว รวมถึงชีวิตที่พวกเขาเรียนรู้ได้จริงสัมผัสได้ด้วยใจและการกระทำ ด้วยเหตุนี้ จึงคิดค้นโครงการนำการสอนทางสังคมศาสตร์มาใช้พัฒนาผลการเรียน พัฒนาผู้เรียนจาก”ความรักที่จะทำ” จึงกลายมาเป็น โครงการองค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงานสู่การนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต

โครงการเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ ด้วยเหตุผลที่ว่า ประการที่หนึ่ง การศึกษาไทยจะดีขึ้นได้ต้องสร้างระบบความรับผิดชอบ (Accountability) ที่ผ่านมาระบบการศึกษาของไทยแยกกันทำงานอย่างเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อกัน การไม่บูรณาการด้านการทำงานเช่นนี้  คนที่จะไม่ได้รับประโยชน์ก็คือนักเรียนนักศึกษา การทำงานแบ่งเป็นแท่งๆเป็นหน่วยงานไม่ขึ้นตรงต่อกัน บางครั้งบางเรื่องแม้แต่รัฐมนตรีก็ไม่สามารถเข้าไปดูแลจัดการได้  ประการที่สอง ปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของโรงเรียนทั้งในเรื่องการไม่สามารถคัดเลือกครูได้เอง การลงโทษ ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลทางด้านการบริหารจัดการ

ประการที่สาม การจัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการจัดสรรงบประมาณและการเรียนรู้ที่มีเงื่อนไขจำกัดเพราะขาดต้นทุน   เห็นได้ชัดเจนระหว่างสถาบันการศึกษารัฐและเอกชน หรือแม้แต่หน่วยงานการศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาและการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ดูจะแตกต่างกัน 

 ครูผู้ทำโครงการนี้ขอใช้ “ต้นทุนชีวิต” ที่พวกเขามีอยู่

ประการที่สี่ การปรับหลักสูตร สื่อการสอนและการพัฒนาครู ให้สอดรับกับบริบทของศตวรรษที่ 21 ส่วนใหญ่พูดกันสวยหรูเกี่ยวกับการปรับหลักสูตรที่ล้าสมัยเน้นการท่องจำมาเป็นสอนเด็กให้คิดเป็น วิเคราะห์ได้ และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากแก้ทั้ง 4 เรื่องนี้ได้จะช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้น แทนที่จะเป็นเรียนมากแต่ได้ผลลัพธ์น้อย สวนทางกับประเทศสิงคโปร์ที่เน้นให้เด็กเรียนน้อยแต่เรียนรู้ให้มาก หลักสูตรในไทยต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับตลาดแรงงานทักษะวิชาชีพ อิสระทางการที่อยากจะเรียนรู้ให้มากขึ้น   ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ความสามารถในการปรับตัวของนักเรียนนักศึกษาให้เข้ากับสังคมแวดล้อมที่เป็นอยู่ และตลาดแรงงานที่จะตอบโจทย์ชีวิตพวกเขา  การพัฒนามองถึง “คุณภาพ” ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ องค์ความรู้ที่เรียน การนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานที่เป็นสังคมพหุลักษณ์ เต็มไปด้วยความหลากหลายของคน ทักษะด้านภาษา และสุดท้าย ภาวะผู้นำ เราอยู่ตรงไหน อย่างไรก็ดี การมองถึงอันดับท็อปคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้าอยู่ติดอยู่ 1 ใน 100 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

ก้าวต่อไปก็คือ การทำในเชิงความเข้าใจ เข้าถึง จึงพัฒนา และการจัดสรรเพื่อให้เด็กๆ ได้รับโอกาสทางการศึกษา รวมถึงการวางแผนพัฒนาคน สร้างสรรค์สิ่งที่พวกเขาเป็น เมื่อสร้างเด็กเก่งมาแล้ว จะนำมาใช้อย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ “การศึกษาของไทยจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่นั้นอย่างไรก็ต้องทำ” เพราะการศึกษา คือ รากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ จะเห็นได้ว่า “ครูเก่ง”หนึ่งคนสามารถยกระดับความรู้ให้กับนักเรียนได้ทั้งห้อง ในขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเก่งๆ หนึ่งคนก็สามารถยกระดับคุณภาพของทั้งโรงเรียนได้ การจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา สิ่งหนึ่งที่ควรนำมาปรับใช้คือ เรื่องของหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องด้วย ธ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ที่นอกจากจะทรงด้วยทศพิธราชธรรมแล้ว ทรงยังเป็นพระราชาที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตจริง และทุ่มเททำงานแก่พสกนิกรของพระองค์และนานาประเทศอีกด้วย

ผู้คนต่างประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ปรัชญาและแนวคิดหรือหลักการทรงงานของท่าน มีความน่าสนใจที่สมควรนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตการเรียน การทำงานเป็นอย่างยิ่ง สามารถนำหลักการทรงงานของพระองค์ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ดังนั้น การติดอาวุธให้กับครูให้ได้มากที่สุด ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาของไทย โดยเครื่องมือที่  นำมาใช้คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแลพหลักการทรงงานของในหลวง จะถ่ายทอดอย่างไรจึงจะตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จึงขอใช้ผลลัพธ์จากโครงการนี้ผลักดัน และค้ำยันต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการมุ่งไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนต่อไป”

 

หมายเลขบันทึก: 648124เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2018 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2018 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท