โปรแกรมพลเมืองดีมีใจให้เด็กประถม


กราบนมัสการขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่ตั้งคำถามว่า "การสอนธรรมะสำหรับเด็ก ช่วงชั้น ป.1-3 จำนวนประมาณร้อยกว่าคน ในเวลาหนึ่งชั่วโมงควรเน้นกิจกรรมไหม" และ "แล้วมีเวลาสอนหนึ่งชั่วโมง 14:30-15:30 น. หนึ่งวันต่อสัปดาห์ จะหวังผลได้ไหมถ้าต้องการให้เด็กมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ มารยาทไทย การเรียนรู้ตามช่วงวัย มีสมาธิเป็นต้น ควรดำเนินการสอนรูปแบบไหนเหรอ"

คำตอบที่ผมคิดปิ๊งแว๊ปได้คือ "ในหนึ่งชม. ใช้กิจกรรมได้ครับ แต่ควรออกแบบกิจกรรมที่ร้อยเรียงกันไม่เกิน 3 อย่าง...ในหนึ่งชม.ต่อสัปดาห์ ก็วัดผลได้ใจเย็นๆ ใช้เวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์...ยกตัวอย่าง กิจกรรมที่จัดให้นักเรียนครั้งก่อน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ประกอบด้วย การฝึกตั้งใจทำตามกติกาแยกแยะเสียง การฝึกท่าทางเป็นกลุ่ม การเดินหากระดาษสามัคคี จบด้วยสะท้อนบทเรียน...ในหนึ่งชม.ของกิจกรรมเมตตากรุณา กิจกรรมมุฑิตา และกิจกรรมอุเบกขา น่าจะใช้เล่าเรื่องการช่วยเหลือพ่อแม่เป็นวงไม่เกิน 10 คน เลือกหนึ่งเรื่องที่กลุ่มชอบที่สุดมาเขียนละครสามฉาก ฉากเริ่มต้น ฉากกระทบใจ ฉากจบ เขียนใส่กระดาษ จากนั้นนำมาติดให้ทุกกลุ่มเวียนให้คะแนนกลุ่มอื่นๆ ยกเว้นกลุ่มตนเอง คนละ 4 คะแนน ให้กลุ่มเพื่อนละ 1 คะแนน ได้โหวตกลุ่มคะแนนสูงสุด ก็ให้แสดงให้เพื่อนๆชม ต่อด้วยสะท้อนว่าเรียนรู้อะไร"

ผมกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ช่วงวัย 3-6 ปี เด็กๆมีต้นทุนอารมณ์จากพ่อแม่ ช่วง 6-9 ปี เด็กๆกำลังหล่อหลอมแยกแยะอะไรดีไม่ดี...ละครสามฉากใช้ได้ทุกวัยที่ขยับร่างกายแสดงความรู้สึกได้...แต่จริงๆ ถ้าธรรมะมีหัวข้อมาก ก็ให้เชื่อมว่าอะไรคือแก่นแท้ที่อยากสอนและเด็กๆจะเข้าใจธรรมะได้เมื่อลงมือปฏิบัติจริง"

ผมกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่ช่วยยกหัวข้อธรรมะที่เหมาะสำหรับโปรแกรมพลเมืองดีนี้ ได้แก่ พรหมวิหาร ๔ สังคหวัตถุ ๔ ปาริสุทธิศีล ๔หมวด ทาน ศีล ภาวนา บุญกิริยาวัตุ ๓ ไตรสิขา และ ภาวนา ๔

ผมจึงขออนุญาตอ้างอิงจาก เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา 2. คู่มือกิจกรรมและบันทึกประสบการณ์โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (กลุ่มละครมะขามป้อม); 2553. และทบทวนความรู้พอสังเขปเพื่อการพัฒนาเด็กด้านคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม ดังนี้

  • ทฤษฎีของ Jean Piaget แสดงการพัฒนาเด็กวัย 4-12 ปี เพื่อเรียนรู้การรับรู้สึกนึกคิดผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและการกระทำตามระเบียบสังคม ต่อเนื่องมาทฤษฎีของ Lawrence Kohlberg แสดงการรับรู้ผิดชอบชั่วดีโดยการเรียนรู้ผ่านต้นแบบการกระทำของผู้ใหญ่และเพื่อนวัยใกล้กัน ซึ่งผู้สอนควรให้โอกาสและเวลาการตัดสินใจและการแสดงเหตุผลเลือกทำถูกหรือทำผิดอย่างอิสระ เน้นการแสดงบทบาทสมมติ (ส่วนหนึ่งของกระบวนการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงมนุษย์) การเล่าเรื่องเร้าพลัง การฝึกสมองส่วนหน้าที่บริหารจัดการอารมณ์บวก-คิดยืดหยุ่น-ยับยั้งชั่วใจพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ ผ่านกิจกรรมเกมส์แก้ปัญหาขัดแย้งกับกลุ่มเพื่อน และการทำกิจกรรมทำความดีมีสุขในชีวิตจริง เช่น การดูแลสัตว์เลี้ยง การดูแลเพาะปลูกพืช การดูแลผู้สูงวัย-คนพิการในสถานสงเคราะห์ การถามความต้องการของผู้อื่นพร้อมลงมือช่วยเหลือทันที การเยี่ยมเพื่อนพี่น้องที่เจ็บป่วย และการทำบุญกับผู้ใหญ่พร้อมสวดมนต์ภาวนาฝึกสมาธิ ที่สำคัญ "ควรสะท้อนความรู้สึกนึกคิดในการบ่มเพาะนิสัยและการกระทำความดีอย่างไรและเพราะอะไร หลังทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในทุกๆครั้ง" 
  • ในส่วนของผู้สอนหรือกระบวนกรบ่มเพาะทักษะการเป็นพลเมืองดีให้กับเด็กๆ ช่วงวัย 6-9 ปี หรือ ชั้นป.1-4 นั้น ย้ำให้ผู้ใหญ่คิดวางแผนว่า จะสาธิตตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร เพื่อให้เด็กนักเรียนสังเกตต้นแบบดีงาม ที่สำคัญผู้ใหญ่ไม่คิดเอง ควรเปิดใจรับฟังด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ฟังอย่างลึกซึ้งไม่โต้ตอบ ฟังว่าเด็กกำลังสะท้อนความเข้าใจอะไร และเด็กกำลังตัดสินใจให้เหตุผลแยกแยะได้ว่า อะไรถูกหรืออะไรผิดหรือไม่มีอะไรถูกไม่มีอะไรผิด...เด็กๆอยากจะทำตัวอย่างไรให้เป็นพลเมืองดี มีความเป็นอยู่ดีมีสุข รู้สึกสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Sympathy) ต่อยอดไปสู่การเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy)...พร้อมเขียนบนกระดานหรือสมุดบันทึกความดีในตารางแนวตั้งประกอบด้วยสองช่อง คือ ช่องบันทึกการกระทำดี เป็น เครื่องหมายสีเขียว กับ ช่องบันทึกการกระทำไม่ดี เป็น เครื่องหมายสีแดง
  • การออกแบบเกมส์และกิจกรรมที่เรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป (Slow knowledge) ควรวิเคราะห์การเรียนรู้ลึกซึ้งแบบลงมือปฎิบัติตามธรรมชาติ ความชอบ ความสนใจ และความตั้งใจในเด็กแต่ละรายบุคคลหรือแต่ละกลุ่มที่มีบุคลิกภาพ/จริตใกล้เคียงกัน รวมทั้งวิเคราะห์สังเคราะห์การเรียนรู้ผ่านภาพ เสียง การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือผสมผสานจนเกิดการตกผลึกความรู้ใหม่มาเชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่ให้เหตุผลด้วยตนเองว่า ความรู้เดิมควรปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นศรัทธาในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมายสู่การเติบโตต่อเนื่องในวัยที่สูงขึ้น 
  • กิจกรรมกระดาษชีวิต เพื่อรับฟังความดี ความเศร้า ความสำเร็จ ความสนุก และอารมณ์ต่างๆ จากเรื่องเล่าของเพื่อน (สะท้อนการรับรู้อารมณ์ด้านกริยาที่ควรประพฤติหรือจริยธรรม) ต่อด้วยการนำกระดาษ A4 หนึ่งแผ่นมาขย่ำ ฉีก หรือตกแต่ง ให้แสดงความเป็นตัวเราให้มากที่สุด (สะท้อนการรับรู้ความประพฤติกับนิสัยดีไม่ดีของตนเองว่ามีคุณธรรมอย่างไร) แล้วสำรวจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเป็นตัวเพื่อน (สะท้อนการรับรู้การปฏิบัติสิ่งดีงามตามการยอมรับของสังคมหรือตามหลักศาสนา เรียกศีลธรรม) 
  • กิจกรรมต่อตัวกลไก เพื่อสอบถามความต้องการของตัวเองและเพื่อนๆ แล้วแบ่งกลุ่มต่อตัวกันเป็นสิ่งต่างๆ ที่อยากได้และอยากแบ่งปันให้เพื่อนๆ (สะท้อนการเห็นอกเห็นใจกัน - กรุณา) 
  • กิจกรรมสามภาพ เพื่อใช้ร่างกายของทุกคนสร้างภาพนิ่งในหัวข้อหนึ่ง ใช้เวลาสั้นๆ กำหนดให้ทุกคนแต่ละกลุ่มจดจำตำแหน่งท่าทางของตัวเอง แล้วนำเสนอภาพแต่ละกลุ่ม (สะท้อนความสามัคคีด้วยศีล สมาธิ ปัญญา) ต่อด้วยร้อยเรียงเป็นภาพสองเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝัน (สะท้อนการแก้ปัญหาขัดแย้งด้วยดีหรือไม่ดี - มุฑิตาและอุเบกขา) ต่อไปถึงภาพสามเป็นฉากจบ ลองเปลี่ยนตำแหน่งและท่าทางสลับกับเพื่อนๆในกลุ่ม (สะท้อนการเอาใจเขามาใส่ใจเรา - เมตตา) แล้วค่อยๆนำภาพนิ่งสามภาพมาต่อบทสนทนาให้คิดสร้างสรรค์สมวัยเป็นละครที่สอดแทรกธรรมะเป็นธรรมชาติ 

คำถามต่อไปคือ "งั้นเอาแบบดูสื่อแล้ว แยกกลุ่มสนทนาไหมครับ" 

คำตอบคือ เด็กๆ ในวัย 6-9 ปี เรียนรู้ผ่านการลงมือทำและการสังเกตการกระทำที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม หากพระอาจารย์สามารถหาหนังสั้นง่ายๆ ที่ทำให้เด็กดูและฟังจนใคร่ครวญเข้าใจความดีความชั่ว ก็สามารถตั้งคำถามถามเด็กๆ ได้ครับ แต่ความเป็นจริงจะหาไม่ง่าย เพราะความเร็วกับความยาวของหนัง  ตัวบทเนื้อหาที่เป็นนามธรรมชวนให้คิดอย่างช้าๆ พระอาจารย์สามารถหยุดฉากไว้เป็นช่วงๆ แล้วเปิดช่วงเวลาสนทนาการให้เหตุผลอย่างอิสระกับเด็กๆ ได้ครับ

หมายเลขบันทึก: 648084เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2018 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2018 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท