รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓-๒๕๖๐ (๔) กิจกรรมที่ ๒ ชุดคำถามช่วยบันทึกความคิด โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา


ครั้งที่ ๔ ของกิจกรรมการเรียนรู้ ยังอยู่ที่บทเรียนที่ ๒ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" กิจกรรมการเรียนรู้เป็นการจับคู่ทำใบกิจกรรมที่ ๒ "ชุดคำถามช่วยบันทึกความคิด" ๘ ข้อ โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ดาวน์โหลดได้ที่ (.docx  .pdf)  โดยให้สลับใบงานกันแล้วผลัดกันถามและตอบไปทีละคำถาม ตั้งแต่คำถามที่ ๑ - ๗  ก่อนจะสลับกลับและเขียนคำตอบของตนเองในข้อที่ ๘ ก่อนจะจบด้วยการบรรยายสรุปเนื้อหา


มีนิสิตเข้าเรียนวันนี้ ๙๒ คน นิสิต ๖๑ คน ปฏิบัติตามข้อตกลงในการทำกิจกรรมอย่างเคร่งครัด คือถามคำถามกันและเขียนคำตอบที่ได้ฟังลงในใบงานของเพื่อน จากข้อ ๑ - ๗ แล้วเขียนคำตอบข้อ ๘. ด้วยตนเอง แต่นิสิต ๓๑ คน ทำผิดเงื่อนไขคุณธรรม ไม่ซื่อสัตย์ อาจจะด้วยความไม่ตั้งใจหรือคิดว่าจะไม่มีใครตรวจอ่านการเขียนของพวกเขา  พวกเขาเขียนคำตอบจากข้อ ๑-๘ ด้วยลายมือเดียวกัน ...  หากตรวจพบหลักฐานการไม่สุจริตในงานตอนปลายภาคเรียน พวกเขาไม่ควรจะได้ผลการเรียน A ในรายวิชานี้เด็ดขาด 

ในจำนวน ๖๑  คนของนิสิตผู้ซื่อสัตย์ หากลองจัดหมวดหมู่กิจกรรมที่นิสิตรู้สึกภูมิใจหรือดีใจที่ได้ทำกิจกรรมนั้น ออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ ๑) กิจกรรมเพื่อความสุขของผู้อื่น  ๒) ทำแล้วไม่ได้มีความสุขขณะนี้แต่จะทำให้มีชีวิตที่ดีในภายหน้า (กิจกรรมมีสาระมาก) และ ๓) ทำแล้วตนเองมีความสุข  พบสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้ว่า 

มีนิสิตถึง ๓๔ คน (จาก ๙๒ คน) เขียนถึงกิจกรรมที่ทำแล้วทำให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ กิจกรรมเพื่อความสุขของผู้อื่น เช่น ออกค่ายอาสา ฝึกน้องสต๊าฟ ไปทำบุญที่วัด ปลูกต้นไม้ถวายพระเกียรติในหลวง ร.๙ สอนน้อง แบ่งปันบริจาคสิ่งของ เป็นต้น นิสิต ๑๘ คน เลือกกิจกรรมที่ต่อไปจะนำความสุขมาให้ตนเอง เช่น เก็บออมเงิน อ่านหนังสือ ทำการบ้าน มาเรียนทุกวัน ไปทำงานร้านหมูกระทะ ทำงานเสริมเพื่อหารายได้ ฯลฯ ส่วนนิิสิตที่เหลืออีกประมาณ ๓๗ คน เลือกกิจกรรมที่ตนเองทำแล้วผ่อนคลาย สบายๆ เช่น เล่นกีฬา ฟังดนตรี ร้องเพลง อ่านหนังสือการ์ตูน เล่นเกมส์ ทำกับข้าว เป็นต้น 

กิจกรรมทั้งหมดที่นิสิตเขียนตอบ ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่จัดได้ว่า "พอเพียง" ทั้งสิ้น เพราะทำแล้วดี มีความสุข มีความภาคภูมิใจ ทำแล้วดีต่อตนเอง ไม่ได้เบียดเบียนให้ผู้อื่นเดือดร้อน และไม่ส่งผลเสียต่อสังคม สิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรมใดๆ 

ไฮไลน์ของใบกิจกรรมที่ ๒ นี้ คือคำถามข้อสุดท้ายที่ถามว่า คำถามทั้ง ๗ ข้อนั้น เกี่ยวข้องอย่างไรกับ หลัก ปศพพ. หรือไม่อย่างไร ... ดูเหมือนนิสิตส่วนใหญ่จะตอบได้ถูกต้อง กล่าวคือ 

๑)ยกตัวอย่างกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือในการทำงานของท่าน ที่ท่านปฏิบัติ ๑ตัวอย่าง ว่าเป็นกิจกรรมอะไร และทำอย่างไรที่ทำให้ท่านรู้สึกภูมิใจหรือดีใจในการทำกิจกรรมนี้...  เท่ากับถามถึง กิจกรรมที่ "พอเพียง" 

๒)ทำไมท่านจึงทำกิจกรรมข้างต้น ท่านมุ่งหวังที่จะให้เกิดผลอะไร-กับใคร-อย่างไร /หลังจากจัดกิจกรรมนั้นแล้ว ได้เกิดผลตามที่ท่านคาดหวังไว้หรือไม่ /ท่านคิดว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดผลเช่นนั้น ... ก็คือ ห่วงเหตุผล นั่นเอง 

๓)ในการจัดกิจกรรมข้างต้น ท่านคำนึงถึงความเหมาะสม/ ความสอดคล้อง/ความพอดีกับอะไรบ้าง เช่น ศักยภาพและความพร้อมของตนเอง กาลเวลา สถานที่ ชุมชนบริบท ทรัพยากรที่ใช้ ความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ...  ก็คือ ห่วงพอประมาณ

๔)ในการจัดกิจกรรมข้างต้น ท่านได้วางแผนด้วยความรอบคอบอย่างไรบ้าง /ท่านคำนึงถึงความเสี่ยง/อันตรายใดที่จะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานหรือไม่และท่านเตรียมการป้องกันปัญหาอย่างไรบ้าง / ท่านมีแผนสำรองสำหรับ การดำเนินงานอย่างไรบ้าง.... ข้อนี้ก็คือ ห่วงภูมิคุ้มกันที่ดี นั่นเอง 

๕)ในการทำกิจกรรมข้างต้น ท่านต้องใช้ความรู้ในการเตรียมงานอะไรบ้าง  /ท่านหาความรู้เพิ่มเติมที่จำเป็นเพื่อการจัดกิจกรรมนี้ด้วยวิธีการอย่างไร /หลังจากจัดกิจกรรมเสร็จแล้ว ท่านคิดว่าต้องหาความรู้เพิ่มเติมอีกหรือไม่/อะไรบ้างเพื่อให้การทำงานครั้งต่อไปประสบผลสำเร็จดียิ่งขึ้น ....  เท่ากับถามถึงเงื่อนไขความรู้ 

๖)ในการทำกิจกรรมข้างต้น ท่านคิดว่าคุณธรรมข้อใด (ตอบได้หลายข้อ)ที่ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ อธิบายเหตุผลประกอบ ... เงื่อนไขคุณธรรม

๗) เมื่อทำกิจกรรมข้างต้นแล้วส่งผลให้เกิดความสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใน ๔ มิติ ด้านใดบ้างและอย่างไร ....  ถามถึงการเชื่อมโยงกับ ๔ มิติแบบตรงๆ 

๘)ท่านเข้าใจว่าคำถาม ข้อ ๑ – ๗ ข้างต้นเกี่ยวข้องกับหลัก ปศพพ. หรือไม่/อย่างไรบ้าง ท่านคิดว่าชุดคำถามข้างต้นเป็นประโยชน์หรือไม่ในการทำงานและท่านจะสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้จากการตอบ คำถามข้างต้นไปปรับใช้ในการทำงานครั้งต่อไปได้อย่างไรบ้าง 


นิสิตเกือบทั้งหมด สามารถเชื่อมโยงคำถามเหล่านี้กับ ๒ เงื่อนไข ๓ ห่วง ๔ มิติ และถึงตอนนี้ ค่อนข้างแน่ใจได้แล้วว่า นิสิตทุกคนเข้าใจแล้วว่า ปศพพ. นั้นสามารถนำมาใช้กับทุกกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันได้ 


เจอกันใหม่บันทึกหน้าครับ  

หมายเลขบันทึก: 647917เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2018 03:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2018 06:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท