มาทำอะไรก็ไม่รู้...


ผู้จัดประชุมต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตลอดกระบวนการ


หลายครั้ง ผู้เข้าร่วมประชุมหรือเข้าอบรม ไม่รู้ว่าตนเองมาทำอะไร มาเพื่ออะไร แต่ที่มาเพราะมีคนชวนมา หัวหน้าบอกให้มา เจ้านายสั่งให้มาก็มี 


แต่ละคนที่มาเข้าร่วมจึงมีพื้นฐานทางใจที่แตกต่างกัน (Passion) บางคนมาอย่างตั้งใจ อยากได้ความรู้ ประสบการณ์ เครือข่าย เพื่อนใหม่ๆ ขณะที่บางคนมาเพื่อกินข้าวฟรี มีเบี้ยเลี้ยง เบิกค่ารถ หรือมาฆ่าให้เวลาผ่านพ้นไปก็มี 


ด้วยเหตุนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการละลายพฤติกรรม ซึ่งผู้คนเริ่มรู้จักกันมากขึ้น ผมจะชักชวนให้แบ่งกลุ่มย่อย 4-5 คน สนทนากันว่า แต่ละคนมีความคาดหวังอย่างไร อยากรู้อะไร มาแล้วอยากได้อะไรกลับบ้าน โดยไม่จดอะไรใส่กระดาษฟลิปชาร์ต ไม่ต้องเตรียมนำเสนอ


การแบ่งกลุ่มขนาดเล็กจะช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ทุกคนได้มีโอกาสแสดงออก สามารถพูดคุยอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงเนื้อหา จับประเด็นได้ภายในเวลาจำกัดเพียง 4-5 นาที ก่อนจะให้แลกเปลี่ยนให้วงใหญ่ฟัง


วิธีการพูดคุยในลักษณะนี้เกิดประสิทธิผลที่ดีกว่าการสนทนาวงใหญ่ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีผู้แสดงความคิดเห็นเพียงไม่กี่คน และมักจะ “โชว์พาว” คือ ครองไมโครโฟน เล่าเรื่องราวชีวิต หน้าที่การงานของตนเอง อย่างยึดยาว น่าเบื่อ และที่สำคัญคือ สิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระอาจมีเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของเนื้อความทั้งหมด


ด้วยกระบวนการพูดคุยแบบกลุ่มย่อย ผู้คนในกลุ่มจะรู้จัก ใกล้ชิด และสนิทกันเร็วขึ้น ในส่วนเนื้อหาพบว่ามีทั้งที่เกี่ยวข้องกับการอบรม บรรยากาศในการอบรม เพื่อน อาหารการกิน ที่พัก ไปจนถึงเรื่องนามธรรม เช่น ความสุข และมิตรภาพ


สิ่งที่ละเลยไม่ได้ คือ การหา “จุดดุลยภาพ” คือ จุดที่ความคาดหวังทั้งของผู้จัดและผู้เข้าร่วมเท่ากัน อะไรที่ผู้เข้าร่วมคาดหวังและผู้จัดเตรียมไว้ ก็รับปากได้เลยทันที อะไรที่เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องปฏิเสธอย่างมีศิลปะ ในส่วนสิ่งที่ไม่ได้เตรียมไว้ แต่พอจะเป็นไปได้ ทั้งผู้จัดและผู้เข้าร่วมก็ต้องหาแนวทางร่วมกันเพื่อทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น อาจจะออกมาให้รูปแบบกิจกรรมเสริม มาตรการ กฎกติกา ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นและดำเนินงานด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย


ใช่ว่ากระบวนการนี้เหมาะสำหรับทุกการประชุม ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้จัดและกาลเทศะ


แต่หากจะใช้กระบวนการนี้ สำคัญที่สุดคือผู้จัดประชุมต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตลอดกระบวนการ ถ้าเชื่อว่าทุกอย่างที่ผู้จัดออกแบบไว้ล่วงหน้า คือสิ่งที่สมบูรณ์แบบแล้ว ทุกอย่างต้อง “เป๊ะ” ก็ไม่สามารถที่จะใช้กระบวนการนี้ให้เกิดประสิทธิผลได้ครับ

__________ 

วิทยากรเวทีพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงธรรมนูญสุขภาพ 

พีธากร ศรีบุตรวงษ์ วิทยากรกระบวนทัศน์

หมายเลขบันทึก: 647908เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2018 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2018 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท