รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓-๒๕๖๐ (๓) กิจกรรมที่พิเศษ ๑ ฟังพระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑


กิจกรรมการเรียนรู้ครั้งที่ ๓ (๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑) เกี่ยวกับเนื้อหาของบทเรียนที่ ๒ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"  เป้าหมายการเรียนรู้คือ นิสิตเข้าใจความหมายของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง กิจกรรมการเรียนรู้มี ๓ ขั้นตอน ได้แก่ ๑) เปิดคลิปให้นิสิตฟังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ (หนึ่งปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง) ๒) ให้เขียนสะท้อนการเรียนรู้ด้วยคำถามว่า "ได้เรียนรู้อะไรใหม่/หรือประทับใจอะไรที่สุด" เพียงประเด็นเดียวจากการดูคลิป และ ๓) บรรยายสรุปโดยอาจารย์ผู้สอน เพื่อเน้นย้ำให้เข้าใจในพระราชดำรัสฯ 

ขั้นตอนที่ ๑) สามารถศึกษาได้จากคลิปนี้   นิสิตสามารถเลือกดูเฉพาะพระราชดำรัสช่วงต้นๆ ที่ทรงพูดถึง "เศรษฐกิจพอเพียง" ... ซึ่งในชั้นเรียนอาจารย์ผู้สอนก็ให้ดูเฉพาะช่วงนั้นเพื่อประหยัดเวลาและมุ่งศึกษาประเด็นนี้



ผลสรุปขั้นตอนที่ ๓) สามารถศึกษาได้จากบันทึกที่เคยเผยแพร่ไว้แล้ว ที่นี่  ส่วนผลสะท้อนในขั้นตอนที่ ๒) นิสิตที่เข้าเรียนวันนี้ทั้งหมด ๗๖ คน สามารถแบ่งประเด็นคำตอบ ออกได้เป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่

๑)  นิสิตจำนวน ๓๐ คน  ประทับใจหลักของความพอประมาณ ไม่โลภ พอเพียง พออยู่ พอกิน ไม่เบียนเบียนคนอื่น เป็นต้น เช่น "..คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย.."  "...คำว่าพอเพียง คือ การมีกินอยู่ พอมีพอใช้ ปฏิบัติให้พอมีพอกิน ไม่ฟุ่มเฟือย รู้จักพอในความต้องการ สามารถยืนบนขาตนเองได้ และมีความคิดไม่โลภ ไม่ทำอะไรสุดโต่ง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและมีเหตุผล  ฯลฯ

๒) นิสิต ๑๕ คน ประทับใจที่ได้เรียนรู้ใหม่ว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ไม่ต้องทำทั้งหมด ให้ทำเพียงครึ่งเดียวหรือทำเพียง ๑/๔ ก็พอ "...ไม่ต้องปฏิบัติตนตามหลักเศรษฐกิิจพอเพียงให้ได้ทั้งหมด แค่ทำให้ได้ ๑/๔ ก็พอ"  เศรษฐพอเพียงแบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือการดำเนินชีวิตของมนุษย์ถ้ำ ในยุคหิน ไม่ต้องพึ่งคนอื่นเลย ทุกสิ่งอย่างพึ่งตนเองทั้งหมด เสื้อผ้าก็ตัดเอง อาหารก็หาเอง แต่ในยุคนี้ เราพึ่งตนเองสัก ๑ ส่วน แลกเปลี่ยนกับผู้อื่นหรือชุมชนอื่นสัก ๓ ส่วน

๓) นิสิต ๑๓ คน ประทับใจคำว่า "ยืนบนขาของตนเอง" ความพอเพียงคือการพึ่งตนเอง ยืนด้วยขาของตนเองทั้งสองข้าง ไม่เบียดเบียนคนอื่น

๔) นิสิต ๑๑ คน ประทับใจพระราชดำรัสเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "พอเพียง" ที่หมายถึงหลักคิด ซึ่งรวมไปถึงการพอเพียงทั้งความคิดและคำพูด นิสิตคนหนึ่งสรุปสั้นๆ ว่า "ความพอเพียงไม่ได้อยู่ในรูปแบบ แต่อยู่ในความคิด"  อีกคนหนึ่งสรุปได้อย่างน่าสนใจว่า "ความพอเพียงไม่จำเป็นต้องเป็นการแสดงออกทางการกระทำ สามารถแสดงออกทางความคิดได้ แสดงความคิดเห็นส่วนตัวและรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายด้วย นี่ก็เป็นการแสดงความพอเพียงของความคิด" ....ฯลฯ

๕) มีนิสิตถึง ๗ คน ที่ประทับใจในประโยคในตอนท้ายของพระราชดำรัสว่า  "..เข้าใจนิดหน่อย ดีกว่าไม่เข้าใจเลย..."  เพราะเมื่อนำไปศึกษาปฏิบัติ จะเข้าใจมากขึ้นเองในภายหลัง

ผมตีความว่า กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้นิสิตสะท้อนคิดว่า ตนเองได้เรียนรู้อะไร ประทับใจอะไรที่สุด จะนำไปสู่ความเข้าใจได้ระดับหนึ่ง การลงมือปฏบัติและศึกษาด้วยตนเองเท่านั้นที่จะนำไปสู่การเข้าใจและเข้าถึงอย่างแท้จริง

เจอกันใหม่บันทึกหน้าครับ

หมายเลขบันทึก: 647902เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2018 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2018 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท