สงครามจิตวิทยาบนสื่ออินเทอร์เน็ตจนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Psychological on Cyber warfare go to Genocide)


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

Ph.D. (อาชญาวิทยาและงานยุติธรรม) จุฬาฯ

น.บ. จุฬาฯ

 

      “รัฐ” ได้เห็นอนาคตใดบ้าง? ขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้นำ การไม่เห็นโอกาสยังไม่เท่าใด แต่การไม่ทันเตรียมการต่อภัยคุกคาม อาจถึงคราวสิ้นชาติได้

          วรรคแรกก็พาดหัวน่ากลัวเกิ๊น แต่ผมเชื่อว่า คสช. ทราบดีว่าเมืองไทยก็หวิดไปเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นท่านทั้งหลายคงไม่สละความสุขส่วนตัวมาปฏิบัติหน้าที่รักษาบ้านเมืองไว้เป็นแน่แท้

          แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็คงต้องกลับไปเลือกตั้งอยู่ดี แล้วบริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารกลายเป็น สนามรบแห่งการปะทะสังสรรค์ดิจิทัล (Battle of Digitalization) เข้ายึดฐานที่ตั้งข้อมูลข่าวสาร (Info sphere) สื่อหลักของประชาชนเพื่อผลิตข้อมูลข่าวสารหมายจะเข้าควบคุมความคิด ทิศทางทัศนคติของคนในประเทศ

         แต่มิใช่ความเข้าใจเดิมในการปฏิบัติการจิตวิทยาทางทหารที่ว่า “ผู้ใดครองสื่อ ผู้นั้นครองชัยชนะ” ยังจะเหมือนเดิมอีกต่อไป ดังปรากฏการณ์ผู้นำครองสื่อช่วงเวลา Prime time ตอนค่ำทุกช่อง แต่หาคนรับชมยากเหลือเกิน กลับเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่กลับไปสอดคล้องสนับสนุนคำพูดของ บิล แกตต์ ที่ว่า “Content is King”

          เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Expression) ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่โตบน Digital Media แต่เมื่อชั่งน้ำหนักบนตราชูเทียบกับอีกข้างหนึ่งซึ่งเป็นความมั่นคงของชาติแล้ว น้ำหนักต้องตกเป็นของความมั่นคงของชาติ

          ประชาชนจะเข้าถึงความรู้ความจริงในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ย่อมขึ้นกับการตีความจากบรรดาข่าวสารหรือวาทกรรมที่ห่อหุ้มความจริงนั้นๆ ไว้ แต่บทความนี้ไม่แน่ใจว่าจะพรรณนาเกินจริงหรือไม่ เพราะผมคิดว่าหากรัฐมิได้เตรียมมาตรการรับมือความซับซ้อนของโลกข้อมูลข่าวสารแห่งศตวรรษที่ 21 แล้วล่ะก็ ความวิบัติอาจถึงขั้นสิ้นชาติเลยทีเดียว

 

            จากการทำวิจัยและจัดหมวดหมู่สร้างองค์ความรู้ด้านอาชญากรรมไซเบอร์ ที่ผมได้จัดระเบียบแบ่งไว้เป็นการก่ออาชญากรรมไซเบอร์กับวัตถุ และการก่ออาชญากรรมไซเบอร์กับจิตใจนั้น ผมเห็นว่าอาชญากรรมไซเบอร์ที่รุนแรงที่สุดคือ การทำสงครามจิตวิทยาบนสื่ออินเทอร์เน็ต หรือ Psychological on Cyber warfare

 

          เหตุใดผมจึงคิดเช่นนั้น ก็เพราะว่าหากเรานึกถึงอาชญากรรมไซเบอร์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะทำลายระบบ  ขโมยข้อมูล ควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ฝ่ายตรงข้ามจุดระเบิดเกิดความรุนแรงของนิวเคลียร์อย่างไร ประชาชนในชาตินั้นๆ ก็อาจจะอยู่รอดได้ด้วยการหลบในหลุม และออกมาร่วมใจฟื้นฟูบ้านเมืองกลับมาได้ แต่การทำสงครามจิตวิทยาบนสื่ออินเทอร์เน็ตนั้นรุนแรงกว่ามาก หากแบ่งคนในชาติใดออกเป็นสองฝ่าย แล้วสร้างความเกลียดชังให้เกิดระหว่างกันให้มากที่สุด พวกเขาจะลุกขึ้นมาฆ่ากันจนล้างเผ่าพันธุ์ไปในที่สุด

 

         อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง (Hate Crime) หากพูดเป็นภาษาชาวบ้านคือ การสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นกับผู้ใด จนเป็นเหตุให้เกิดการก่ออาชญากรรมขึ้น โดยส่วนมากเป็นกลุ่มคน เช่น เด็กอาชีวะต่างสถาบัน แม้ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ต้องห้ำหั่นกันเพราะถูกรุ่นพี่ปลูกฝังความเกลียดชังกันมาแต่อดีต เกิดการก่ออาชญากรรมขึ้น

          แต่ความเกลียดชังกลุ่มคนที่ถูกเหมารวมให้มองในแง่ร้ายเหมือนกัน (Stereotype) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทั้ง เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม  อาทิเช่น คนยิว ชาวโรฮิงญา เผ่าตุ๊ดชี่ (Tutsi) ในรวันดา เป็นต้น อาชญากรรมแห่งความเกลียดชังเหล่านั้นจักนำไปสู่การมีเจตนาที่อยากกำจัดกลุ่มคนนั้นๆ ทั้งกลุ่ม จนกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ในที่สุด

 

      การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้ถูกนิยามไว้เมื่อ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ระบุไว้ใน  Article 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide) โดยมีเจตนาฆ่าเพราะ สัญชาติ (National) เชื้อชาติ (Racial) ชนกลุ่มน้อย (Ethnic) หรือกลุ่มศาสนา (ศัพท์ดูตามอ้างอิงของ UN ท้ายบทความ) โดยกระทำการดังนี้

        1. การสังหารสมาชิกของกลุ่มคนนั้นๆ

       2. การสร้างความเสียหายต่อร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง

       3. มีการกระทำการแบบคำนวณให้สภาพชีวิตของกลุ่มคนถูกทำลายทางกายโดยบางส่วนหรือโดยทั้งหมด ซึ่งมีการไตร่ตรองไว้ก่อน

       4. ออกมาตรการห้ามไม่ให้กลุ่มคนให้กำเนิด

       5. บีบบังคับให้มีการย้ายเด็กจากกลุ่มนั้นๆ

 

 

Source: http://www.transconflict.com/2016/04/sexual-violence-and-genocide-in-conflict-054/

 

      ในปี 1913 Sigmund Livingston อัยการแห่ง ชิคาโก ได้ก่อตั้งองค์กร Anti-Defamation League  (ADL) หรือองค์กรต่อต้านการหมิ่นประมาท ซึ่งในครั้งเริ่มต้นนั้น ADL ต่อสู้กับกลุ่มคนต่อต้านยิวที่เรียกว่า Anti-Semitism

     การหมิ่นประมาท (Defamation) ในความเห็นของผม เป็นจุดกำเนิดของอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังจนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นกลยุทธ์ในการสร้างอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง

    คนไทยในปัจจุบันเข้าใจคำว่าหมิ่นประมาทผิดไปไกลมากแล้ว ไม่เชื่อก่อนอ่านต่อลองหลับตานึกดูสิว่า “หมิ่นประมาท” หมายความว่าอย่างไร?

 

     หมิ่นประมาทตามกฎหมายไทย และในสากลโลกก็วางหลักไว้เหมือนๆ กัน ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านหมายถึง การใส่ความเท็จให้ผู้อื่น (หมิ่นทางแพ่ง) หรือการพูดให้ผู้อื่นถูกเกลียดชังแม้จะเป็นเรื่องจริงก็ตาม (หมิ่นทางอาญา) เดี๋ยวมาคุยต่อข้ามไปเรื่อง อาชญากรรมแห่งความเกลียดชังก่อน

 

   ADL ได้สร้าง ปิรามิด แห่งความเกลียดชัง (Pyramid of Hate) เป็นการอธิบายขั้นตอนปรากฏการณ์ที่เมื่อเริ่มเกิดความเกลียดชังกลุ่มคนเกิดขึ้นจนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้อย่างไร ผมอธิบายรวมๆ ให้ต่อเนื่องตามความเข้าใจของตัวเอง อธิบายได้ดังนี้

 

 

 

 

ขั้นที่ 1 อคติ (Bias)

          เป็นการเริ่มต้นบอกกล่าวเรื่องราวไม่ดีของกลุ่มคนที่ไม่ชอบ (Stereotype) ให้ได้ยินบ่อยขึ้นในทุกๆ วัน แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ตาม แต่เรื่องไม่ดีของคนกลุ่มนั้นอาจจะเป็นกำเริบกลายเป็นเรื่องใหญ่เลวร้ายขึ้นในสักวัน หรือเล่าเป็นเรื่องตลกดูถูกดูแคลน (Belittling Joke) และพึงพอใจที่ได้ยินเรื่องไม่ดีของพวกเขา

 

ขั้นที่ 2 ความรู้สึกส่วนตัวให้ไม่ชอบโดยไม่มีเหตุผล (Prejudice)

          เมื่อเกิดอคติแล้ว มนุษย์จะมีความรู้สึกส่วนตัวไม่ชอบคนๆ นั้น หรือกลุ่มคนแบบนั้นโดยไม่มีเหตุผล นอกจากการเริ่มพูดถึงไม่ดี จะใช้คำไม่สุภาพเรียกพวกเขา ถากถาง อยากข่มเหง ไม่อยากให้อยู่ร่วมในสังคม และมองไม่เป็นมนุษย์เหมือนกัน

 

ขั้นที่ 3 เลือกปฏิบัติ (Discrimination)

          เมื่อสังคมเกิดความไม่เท่าเทียมเลือกปฏิบัติ แบ่งแยกพวก จนเกิดความแตกต่างทางชนชั้นทาง เศรษฐกิจ การศึกษา การทำงาน การเมือง การสร้างความรู้สึกให้ถูกแบ่งแยกและถูกเลือกปฏิบัติจะเป็นจุดเริ่มต้นความบีบคั้นจนบานปลายไปสู่ความแตกแยกรุนแรงยิ่งขึ้น

 

ขั้นที่ 4 อคติจูงใจให้ใช้ความรุนแรง (Bias-Motivated Violence)

          การสร้างอคติให้เกิดแรงจูงใจจนทนไม่ได้ต้องใช้ความรุนแรงทำร้ายกันนั้นเกิดจาก การดูหมิ่นสิ่งที่พวกเขาเคารพสักการะ (Desecrate) เช่น ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อของอีกฝ่าย อันเป็นสิ่งทำให้อดรนทนไม่ได้ต่อการถูกเหยียดหยาม และเมื่อลุกลามไปจนทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัด มัสยิด วัง เกิดการวางเพลิง การก่อการร้าย จึงเกิดการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ในสังคม ส่วนการก่ออาชญากรรมส่วนบุคคลจะเกิด การลอบทำร้าย การข่มขืน การฆาตกรรม

 

ขั้นที่ 5 การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide)

          เมื่อผ่านความรู้สึกเกลียดชังกันมาถึงขั้นที่ 5 นี้แล้ว จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันในที่สุด ทั้งผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มผู้ที่ถูกเกลียดชังกลุ่มน้อยที่อ่อนแอกว่า หรือแม้แต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเองหากคนในชาติถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย และถูกสร้างความเกลียดชังขึ้นมาถึงจุดนี้

 

 

Source: http://www.transconflict.com/2016/04/sexual-violence-and-genocide-in-conflict-054/

 

     ในอดีตการเผยแพร่ข้อความหรือวาทกรรม (Discourse) ที่สร้างความเกลียดชัง ก็เริ่มจากปากต่อปาก ไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งแน่นอนหากเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันด้วยสื่ออินเทอร์เน็ต จะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วภายในข้ามคืน

      สังคมเป็นโครงสร้าง อยู่ด้วยวาทกรรมของผู้ปกครอง และการต่อต้านอำนาจผู้ปกครองนั้น ผู้ต่อต้านจะสร้างวาทกรรมออกมาย้อนแย้งเพื่อแย่งชิงอำนาจ ด้วยการให้เหตุผลที่ประชาชนรู้สึกว่าชอบธรรม จนพังทลายโครงสร้างสังคมเดิมนั้นๆ และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้ปกครองสังคมใหม่

 

        อาภา ภมรบุตร (2524) ได้ให้เหตุผลการทำสงครามจิตวิทยาเพื่อหวังผลให้ประชาชนเกิดความแตกแยกกับรัฐบาลนั้น ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะใช้วิธีการโฆษณาโน้มน้าวจิตใจโดยให้เหตุผล (Reasoning) แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเกลียดชังรัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศ โดยให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้หวังดีต่อประชาชน กอบโกยหาเงิน ประชาชนทุกข์ยากก็ไม่สนใจ แต่มิใช่การโฆษณาต่อว่าเฉยๆ ต้องให้เหตุผลประกอบ อาทิเช่น

  ความทุกข์ยากและความคับแค้นทางจิตใจ (Frustration) ด้วยการแต่งเรื่องหรือเป็นเรื่องจริงที่มาโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เพิ่มเติมเช่น ถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มเหงรังแก ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเป็นธรรม

      ความยากจนหรือความยากไร้ในวัตถุ (Poverty) ซึ่งประเทศประชาธิปไตยนั้นให้โอกาสทุกคนเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน แต่แบ่งแย่งชนชั้นคนด้วยฐานะ อันเกิดจากความรู้ความสามารถของแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ความจนจะหมดไป แต่ถูกนำมาสร้างการรับรู้ให้เกลียดชังรับบาล และรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้นำมาหาเสียง ความจริงยังคงบิดเบือนต่อไป

        การฉ้อราษฎร์บังหลวง อยู่บนพื้นฐานความจริงที่มีผู้นำรัฐบาลกระทำผิดจริง และถูกนำมาขยายผลสร้างความเกลียดชัง

 

          ในหลายๆ ประเด็นนำมากำหนดกลยุทธ์การผลิตวาทกรรมสร้างความเกลียดชังช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกัน ในโลกอินเทอร์เน็ตเราเห็นปรากฏการณ์ในโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเหตุการณ์อาหรับสปริงมาแล้ว

         แต่นั่นเป็นการโค่นล้มรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง หาได้ไม่เป็นไปเพื่อจุดชนวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตราบใดที่ไม่ได้แตะต้องสิ่งที่คนแตกต่างกันในเรื่อง เชื้อชาติ ศาสนา หรือสิ่งที่เคารพสักการะบูชา

 

ลองมองไทย

      ที่นี้กลับมาดูประเทศไทย ประเด็นใดที่วาทกรรมถูกผลิตออกมาเพื่อแย่งชิงมวลชนโดยหวังอำนาจทางการเมืองก็ดูเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ภาพที่ชัดเจนที่สุดที่ผมเริ่มมองเห็นว่าวาทกรรมใดเป็นไปเพื่อหวังทำลายชาติ ด้วยการหมายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดัง ปิรามิด แห่งความเกลียดชังของ ADL ซึ่งจุดที่แตกต่างนอกจากเชื้อชาติแล้วก็คือ ดูหมิ่นสิ่งที่เคารพสักการะ (Desecrate) เช่น ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ เท่าที่นึกออก ทำให้ผมคงนึกถึงประเด็นเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112

        กฎหมายอาญามาตรา 112 วางหลักไว้ว่าเป็นเรื่อง “หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”

         หมิ่นประมาท ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ การใส่ความเท็จ ความเท็จหมายถึงไม่ใช่เรื่องจริงพิสูจน์ไม่ได้ หรือการพูดให้คนอื่นเกลียดชัง ฝรั่งเรียกว่า Defamation

       แต่หมิ่นประมาทถูกบิดเบือนความจริงจนคนไทยจำนวนมากเข้าใจผิดไปว่า หมายถึงการลิดลอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์ วิจารณ์ ไม่ได้ และถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองได้ง่าย เป็นการพยายามขับเคลื่อนการรับรู้ของประชาชนหนีไปจากความจริง

       วิพากษ์ วิจารณ์ มักใช้คู่กัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Criticize กับ Comment พจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่า

          วิพากษ์ หมายถึง พิจารณาตัดสิน

          วิจารณ์ หมายถึง ให้คำตัดสินสิ่งที่เป็นศิลปกรรมหรือวรรณกรรมเป็นต้น โดยผู้มีความรู้ควรเชื่อถือได้ ว่ามีค่าความงามความไพเราะดีอย่างไร หรือมีข้อขาดตกบกพร่องอย่างไรบ้าง เช่น เขาวิจารณ์ว่า หนังสือเล่มนี้แสดงปัญหาสังคมในปัจจุบันได้ดีมากสมควรได้รับรางวัล ติชม มักใช้เต็มคำว่า วิพากษ์วิจารณ์ เช่น คนดูหนังวิพากษ์วิจารณ์ว่า หนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องช้าทำให้คนดูเบื่อ

         หมิ่นประมาท หมายถึง

                1. แสดงกิริยาวาจาดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น

            2. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

         

          จะเห็นได้ชัดเจนว่า “หมิ่นประมาท” กับ วิพากษ์ วิจารณ์ นั้นคนละความหมายทั้งในการบัญญัติศัพท์และในทางกฎหมาย ดังนั้น “สถาบันพระมหากษัตริย์ คนไทยมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้” แต่หมิ่นประมาททำไม่ได้!! ชัดนะครับ สื่อที่พยายามสร้างความขัดแย้งคนในชาติ เขาได้ให้ความจริงกับท่านในข้อนี้หรือไม่

          เราจะสังเกตเห็นในอินเทอร์เน็ต การบิดเบือนความจริงในหลักกฎหมายข้อนี้กับต่างชาติ เขาจะไม่ใช้คำว่า Defamation แต่จะไปใช้คำว่า Criticize กับ Comment ซึ่งถ้าฝรั่งได้ยินคำว่า Defamation เขาจะรู้ทันทีว่าทำไม่ได้นะ เป็นสิ่งชั่วร้ายเขามี Defamation Law และหากถูกนำมาใส่ร้ายเล่นงานทางการเมืองนั่นคือต้องยกคดีตัวอย่างขึ้นมาว่า เรื่องที่กล่าวหามานั้นเป็นเรื่องจริงพิสูจน์ได้ เพราะหากพิสูจน์ไม่ได้นั่นคือหมิ่นประมาท

          ส่วนในประเด็นที่ว่า ใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เพราะนำมาใช้ให้ร้ายง่าย ผมคิดในใจว่าจริงเหรอ? คดีมีการพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้มีเจตนาใส่ความเท็จ หรือพูดให้คนเกลียดชัง?

          ถ้าจะเอาไปโยงเรื่องการเมืองนะ การทำลายฝ่ายตรงข้ามที่ง่ายที่สุดคือ อาญา มาตรา 116 เชาบัญญัติไว้งี้ครับ

“มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

          (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

          (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

          (๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

 

          ถ้าอยากกำจัดศัตรูทางการเมืองเลือกใช้ได้ตามสบายเลย หากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมีความกระด้างกระเดื่อง แค่พูด เขียน หรือวิธีอื่นใดที่ตรงข้ามกับรัฐบาล ง่ายกว่า ม.112 หรือไม่? เท่าที่อ่านมา

 

         

 

 

         โลกต้องการ Content Regulation โดยเฉพาะเครื่องมือในการตรวจวัด ข้อความใดเป็นภัยต่อรัฐบาลหรือคุกคามคนในชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความหรือวาทกรรมใด “ที่เป็นจุดเริ่มต้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เรื่องนี้ถ้าขยายผลต่อ ย่อมอยู่ในหมวดความมั่นคงในประมวลกฎหมายอาญาแน่นอน และควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน

      ผมได้ร่าง Model การวิเคราะห์การบิดเบือนการรับรู้ของประชาชนจากการบริโภคสื่อหรือวาทกรรมในอินเทอร์เน็ต หากกฎหมายทุกอย่างหรือการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลหากมีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว จะอยู่ในตำแหน่งที่ 1 คือมีคุณค่าตามหน้าที่ได้ดี และมีคุณค่าทางอารมณ์ที่ประชาชนพึงพอใจอยู่แล้ว

       แต่ถ้าหากมีการดำเนินกลยุทธ์ในการผลิตข้อมูลข่าวสารให้บิดเบียนการรับรู้ของประชาชน (Shift Perception Positioning) ให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือกฎหมายเปลี่ยนไปในทางเลวร้ายลง เพื่อหมายให้เกิดการขัดแย้งแตกแยก ซึ่งอาจจะสร้างเครื่องมือตรวจวัดด้วยผลการทำวิจัยเชิงสำรวจหรือการวิจัยแบบวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) นั่นหมายถึง หากตีความออกมากเป็นการพยายามทำลายความมั่นคง และหากการบิดเบือนความจริงให้เกิดความเกลียดชังสิ่งที่คนอื่นสักการะ เคารพ บูชา ตาม ปิรามิด แห่งความเกลียดชังของ Anti-Defamation League (ADL) นั่นคือการสร้างอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังเพื่อนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามที่องค์การสหประชาชาตินิยามไว้ต้องได้รับโทษอาญาขั้นสูงสุด 

          บทความนี้เป็นเพียงปฐมบทเรื่อง Psychological Cyber Warfare สงครามจิตวิทยาในโลกออนไลน์ที่มนุษย์ย้ายชีวิตประจำวันในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปอยู่ในนั้นมากกว่าโลกปกติ การพัฒนาสังคมให้ดีงามขึ้นและการทำร้ายสังคมให้แย่ลง อยู่ที่การรับรู้ความจริงของมนุษย์ที่ถูกครอบไว้ด้วยวาทกรรมและบริบทของมายา ในอดีตนั้นวิศวกรรมสารสนเทศ (Information Engineering) ถูกมองว่าเป็นวิศวกรสร้างสรรค์ผลงานบันเทิงในโลกออนไลน์ แต่ปัจจุบันและอนาคตนั้น วิศวกรสารสนเทศ คือ ผู้ที่จะมีบทบาทมากที่สุดในสังคม รวมถึงการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง เนื้อหา และสถิติ วาทกรรมต่างๆ พวกเขาต้องสร้างเครื่องมือขึ้นมา วิเคราะห์ และควบคุม ที่เหลือก็อยู่ที่ผู้นำประเทศที่จะหาวิธีบริหารจัดการ

 

อ้างอิง

อาภา ภมรบุตร (2524) สงครามจิตวิทยา. สำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิช จำกัด.

 

อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide)

https://www.oas.org/dil/1948_Convention_on_the_Prevention_and_Punishment_of_the_Crime_of_Genocide.pdf

https://www.adl.org/education-...

หมายเลขบันทึก: 647679เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2018 02:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2021 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท