แบ่งปันน้ำใจ ต้านภัยแล้ง : 3 วัน 2 คืนกับการเรียนรู้วิถีจิตอาสาแบบมีส่วนร่วม


การให้เสรีต่อนิสิตในการเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน สู่การเรียนรู้ชุมชนร่วมกับเด็กและเยาวชน โดยเด็กเหล่านั้นทำหน้าที่ประหนึ่ง “มัคคุเทศก์ชุมชน” ไปในตัวอย่างน่ารักน่าชัง สื่อให้เห็นต้นทุนทางสังคมของเด็กและเยาวชนในมิติของจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดไปในตัว ช่วยให้นิสิตได้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากกว่าคราวที่แล้ว

โครงการ “แบ่งปันน้ำใจ ต้านภัยแล้ง”  จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-31 มีนาคม 2561  ณ วัดป่าโคกกลาง และอุทยานแห่งชาติภูผายล ตำบลจันทร์เพ็ญ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร  เป็นอีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ในวิถีการบ่มเพาะจิตอาสาของ “เครือข่ายนิสิตจิตอาสาทำดีเพื่อสังคม” (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน)

ค่ายเล็กๆ 3 วัน 2 คืน  มีประเด็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจอย่าหลายประเด็น  อย่างน้อยที่สุดก็เรื่องจำนวนคนที่มีเพียง 2ุ6-27 คน  ถือว่า “คนกำลังดีกับงานที่กำลังทำ”  เพราะงานหลักๆ คือการเดินท่อน้ำประปาจากภูเขาลงสู่หมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง  ซึ่งระยะทางการวางท่อน้ำอยู่ในราวๆ 400 เมตร



ต่อยอด : แนวป้องกันไฟป่า สู่การกักเก็บน้ำจากภูเขาสู่หมู่บ้าน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเดินทางไปจัดกิจกรรมค่ายกันที่นี่ 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29-21 พฤษภาคม 2560  กลุ่มนิสิตชาวดิน (พรรคชาวดิน)  เคยได้ไปออกค่ายที่นี่มาแล้วในชื่อโครงการ “คืนธรรมชาติสู่ผืนป่า คืนปัญญาสู่สังคม”  ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือการทำแนวป้องกันไฟป่าระยะทาง 2 กิโลเมตร  การเสนาเรื่องประเด็น “ป่าไม้บนวิถีชีวิตคนอีสาน”


นอกจากนั้น  การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนและส่วนราชการที่อยู่ในพื้นที่  รวมถึงกิจกรรมหนุนเสริมบรรยากาศของการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น  สันทนาการ  กิจกรรมรอบกองไฟ  การตักบาตร บัดดี้บัดเดอร์ จดหมายน้อย (จดหมายข่าย)  ออกกำลังกายในรุ่งเช้า  

จากการสอบถามนิสิตเมื่อครั้งก่อนโน้น  ทำให้ทราบว่า ประเด็นเรื่องการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหมู่บ้าน เป็น “โจทย์” ที่น่าสนใจที่จะมีการขยับต่อยอดอีกครั้ง  จวบจนวันเวลาเคลื่อนคล้อยไปครบขวบปี  กิจกรรมที่ว่านั้นก็ก่อเกิดขึ้นอีกครั้งในชื่อโครงการ ““แบ่งปันน้ำใจ ต้านภัยแล้ง”  เพียงแต่เปลี่ยนองค์กรจากพรรคชาวดินมาเป็นเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคมฯ


อันที่จริงมันก็ไม่แปลกในแง่ของการเปลี่ยนผ่านกิจกรรมจากองค์กรหนึ่งสู่อีกองค์กร  เพราะประธานเครือข่ายฯ คนปัจจุบัน (ณัฐพล  ศรีโสภณ)  ก็คืออดีตประธานพรรคชาวดิน เมื่อปีการศึกษา 2559 ที่เคยนำนิสิตไปจัดกิจกรรมทำแนวป้องกันไฟป่านั่นเอง

โดยส่วนตัวแล้ว  ผมไม่ได้มองเรื่องอื่นใดนอกเหนือพลังความคิดในแบบจิตอาสา  หรือวาทกรรมที่ผมพร่ำพูดมาเสมอว่า “ใจนำพาศรัทธานำทาง”  เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของพื้นที่นั้นๆ การหยิบจับประเด็นมาขับเคลื่อนต่อเนื่องสำคัญกว่าการนิ่งเฉย หรือการส่งต่อประเด็นสู่เครือข่ายให้ได้ช่วยเติมเต็มชุมชน  ถือเป็นกระบวนทัศน์อันดีงาม  ประหนึ่งการบอกย้ำว่า “จิตอาสาไร้พรมแดน”  -



ต่อยอด :  สานต่อกิจกรรมเดิม เพิ่มเติมความข้นเข้มการเรียนรู้

ค่ายครั้งนี้ยังคงสืบเค้ากิจกรรมเดิมไว้อย่างหนักแน่น  ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้วิถีชุมชน  การเดินป่า  การเล่นรอบกองไฟ การเสวนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นทางวิชาการ  การสรุปบทเรียนรายวัน  การทำบุญตักบาตร ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ยังครบรันเหมือนครั้งก่อน

ยกเว้นการเปลี่ยนจากการทำแนวป้องกันไฟป่ามาสู่การเดินท่อประปารองรับน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้าน  เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้อุปโภคและบริโภคในหน้าแล้งที่กำลังสยายปีกมาห่มคลุมหมู่บ้าน –


กิจกรรมครั้งนี้มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจจากอดีต เช่น  ชาวบ้านรวมพลังมากกว่าครั้งที่แล้ว มีทั้งการออกแรงทรัพย์จัดซื้อท่อประปาและแทงค์น้ำร่วมกับนิสิต  ผ่านกลไก “งานบุญ”  บนศาลาวัดที่พระอาจารย์สุพจน์  สุวโจ ได้เป็นผู้ “บอกบุญ” 

อีกทั้งเมื่อถึงคราว “ลงหน้างาน”  ชาวบ้านก็ออกมาร่วมเดินท่อประปากันเยอะมาก  มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้แทบจะเสร็จสรรพ  บ้างก็เป็น “พ่อช่าง-แม่ช่าง” สอนนิสิตในการเตรียมพื้นที่ การขุดลอกวางระบบท่อ  การเชื่อมต่อท่อ ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้ภูมิปัญญาช่างของชาวบ้านไปแบบนุ่มเนียน  รวมถึงการช่วยดูแลเรื่องข้าวปลาอาหารแก่นิสิตอย่างดียิ่ง 

มิหนำซ้ำยังได้ร่วมจัดทำกุฏิดินร่วมกับพระสงฆ์และชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง  แม้จะยังไม่แล้วเสร็จ  แต่ก็ถือว่าได้ทำงาน  หรือได้เรียนรู้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้   

สิ่งเหล่า คือ  ภาพสะท้อนของหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน หรือมิติแห่ง “บวร” ด้วยเช่นกัน


นอกจากนี้ยังต่อยอดด้วยการนำกิจกรรม “สัตว์ 4 ทิศ” เข้ามาหนุนการละลายพฤติกรรมและทบทวนความเป็นตัวเองสู่การหลอมรวมความเป็นทีมผ่านบุคลิกลักษณะส่วนบุคคลอย่างเด่นชัด  ด้วยการแบ่งกลุ่มตามลักษณะของสัตว์ทั้ง 4 ชนิด  ซึ่งกิจกรรมนี้  ช่วยให้นิสิตได้ทบทวนความเป็นตัวตนของตนเอง  เป็นการแบ่งกลุ่มโดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ มิใช่แบ่งกลุ่มที่เน้นสันทนาการเหมือนที่พบแพร่หลายทั่วไป 

นี่คืออีกหนึ่งพัฒนาการของการจัดการเรียนที่ชี้ให้เห็นพัฒนาการในเชิงสร้างสรรค์ –



และที่ผมชอบมากในอีกแบบก็คือ  การให้เสรีต่อนิสิตในการเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน  สู่การเรียนรู้ชุมชนร่วมกับเด็กและเยาวชน  โดยเด็กเหล่านั้นทำหน้าที่ประหนึ่ง “มัคคุเทศก์ชุมชน”  ไปในตัวอย่างน่ารักน่าชัง  สื่อให้เห็นต้นทุนทางสังคมของเด็กและเยาวชนในมิติของจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดไปในตัว  ช่วยให้นิสิตได้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากกว่าคราวที่แล้ว  บางคนน้องๆ พาไปถึงชายคาบ้านเลยก็มี  บางคนทะลุถึง “ตลาดชุมชน”  โดยมีรถซาเล้งเป็นพาหนะในการเดินทางสู่การเรียนรู้

กระบวนการดังกล่าวนี้  ทำให้นิสิตได้รับรู้ว่าชุมชนบ้านโคกกลาง เป็นชุมชนสองศาสนา  นั่นคือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์  ไม่รวมการนับถือผี-บรรพบุรุษ  ซึ่งต่างก็อยู่ร่วมกันได้ในความต่าง  แถมยังเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อนในทางการเมือง  ยิ่งชวนต่อการเรียนรู้เป็นที่สุด


เช่นเดียวกับการเดินต่อในเรื่องการระดมความคิดในประเด็นทางสังคม  กล่าวคือแบ่งกลุ่มให้ระดมปัญหาต่างๆ ที่มีในสังคมไทยที่น่าหยิบจับมาแก้ไขและให้เสนอทางออกของการแก้ไข  (ปัญหาสังคมไทยเมื่อไหร่จะได้รับการพัฒนาและแก้ไข)  ซึ่งประเด็นที่มีความถี่ซ้ำก็ประมาณการตัดไม้ทำลายป่า  ภาวะซึมเศร้า ยาเสพติด ขยะ

การระดมความคิดที่ว่านั้น  แม้จะไม่ใช่ตรรกะเชิงลึกที่ว่าด้วยการนำไปสู่การขับเคลื่อนจริงจัง  แต่ผมมองว่ากิจกรรมที่ว่านี้คือหนึ่งในกระบวนการละลายพฤติกรรมเตรียมความพร้อมสู่การเรียนรู้ร่วมกัน  เพราะสร้างพื้นที่ให้แต่ละคนรู้จักกันมากขึ้น  แลกเปลี่ยนทัศนะ  ร่วมกันวิเคราะห์ สังเคราะห์-สนทนา  ร่วมกันสร้างสื่อนำเสนออย่างสร้างสรรค์ในครรลองของประชาธิปไตย

ซึ่งจะว่าไปแล้ว  ผมก็เชื่อว่าผมน่าจะวิเคราะห์ไม่ผิด –

 


ส่งท้าย

ดูเหมือนครั้งนี้จะให้ค่าความสำคัญเรื่องการทัศนศึกษาเพิ่มมากขึ้น  เริ่มตั้งแต่การเข้าเยี่ยมชมน้ำตกและกราบขอพรจาก “พญาเต่างอย”  จนนำไปสู่การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว และชื่อบ้านนามเมืองที่เกี่ยวโยงกับกับภูมิศาสตร์ของคำว่า “เต่างอย”

นั่นยังไม่รวมถึงการเดินป่าแล้วได้พินิจใคร่ครวญถึงพืชพรรณนานาชนิด รวมถึงวิถีแห่งสัตว์ แมลงและแมกไม้น้อยใหญ่ที่กำลังเคลื่อนตัวเติบใหญ่และดิ้นรนปรับสภาพในป่าเขาเมื่อยามลมฝนกำลังมาเยือน

ใช่ครับ-ประเด็นนี้ดูเหมือนจะมีความเข้มข้นขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด

เฉกเช่นกับภาวะของการเข้าพักค้างแรมในวัด  ซึ่งนิสิตเกือบหลายคนยืนยันว่านั่นคือประสบการณ์ครั้งใหม่ของการใช้ชีวิต  เพราะไม่เคยออกค่ายแล้วต้องนอนที่วัดเลยแม้แต่ครั้งเดียว  ยิ่งพอมาเจอฝนตกไฟดับยิ่ง-สัญญาณคลื่นโทรศัพท์ไม่มี  ยิ่งตอกย้ำให้นิสิตหลายคนสุขสงบ  เพราะได้เรียนรู้ที่จะตัดขาดจากการสื่อสารของมือถือและสังคมออนไลน์ผ่านมือถือ –

และที่ผมชอบมากอีกประเด็นก็คือ ภายในกองไฟในราตรีกาลของคนคาย  ยังคงมีเพลงบ่มอุดมคติเพื่อชีวิตและนักฝัน  มีการบอกเล่าเปิดเปลือยตัวเองสู่คนรอบข้าง  มีการเผาเผือกเผามันแบ่งปันกันทาน  ผสมผสานกับการสรุปงานรายวัน (AAR)  อย่างละมุนละม่อม

หรือแม้แต่การถอดบทเรียนจากอารมณ์ความรู้สึกสู่การถอดรหัสการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร  ประหนึ่งการหาคำตอบว่า “มีความหมายใดในกิจกรรม” 

รวมถึงการพิสูจน์ว่า ค่ายอาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลาอันยาวนานเสมอไป ขอเพียงค้นหาโจทย์ให้ชัดเจนว่าต้องการทำอะไร  และโจทย์นั้นสัมพันธ์กับชุมชนแค่ไหน  เป็นสิ่งที่เขาต้องการเพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนายกระดับขึ้นมาหรือไม่ และจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับนิสิตหรือไม่-

ผมว่า ถ้าทำได้  3 วัน 2 คืนเหมือนค่ายนี้  ผมว่าก็เป็นค่ายที่ไม่ขี้เหร่หรอกกับการเรียนรู้วิถีจิตอาสาแบบมีส่วนร่วมอย่างง่ายๆ  โดยไม่ต้องทำอะไรที่ซับซ้อนให้เมื่อยล้า ทั้งกาย -ใจ

ครับ-  ผมชอบ นะ 

เขียน : วันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ระหว่างเดินทางเข้ากาฬสินธุ์

ภาพ : เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม

หมายเลขบันทึก: 647401เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2018 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท