ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 24 : ปัญหาระบบแท่ง ตอน 3


ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 24 : ปัญหาระบบแท่ง ตอน 3

17 พฤษภาคม 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]


ความตอนที่แล้วบอกว่าจะมาดูรายละเอียดประเด็นศึกษาของ สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ในเรื่องแท่งท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่อง ความก้าวหน้าในสายอาชีพ แต่พอมาดูจริง พบว่ามันซับซ้อนเกินกว่าที่จะนำเสนอได้ตามปกติ ในที่นี้จึงขอเลือกนำเสนอในบางอย่างที่น่าสนใจ ที่ตัดตอนมาเฉพาะส่วน จากเอกสารการศึกษาของ (สปร.) ที่สำคัญ 3 ฉบับ คือ (1) ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง การปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ระยะที่ 2) 2552 [2] (2) โครงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ตามแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ระบบจำแนกตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น จากระบบซีเป็นระบบแท่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 [3] (3) โครงการติดตามประเมินผลและพัฒนาระบบทรัพยากรบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น รองรับ Thailand 4.0 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 [4]

 

บทสรุปการเปลี่ยนแปลงจากระบบซีเข้าสู่ระบบแท่ง

จากการเปลี่ยนแปลงจากระบบซีเข้าสู่ระบบแท่งตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 นั้นสามารถสรุปได้ 13 ประการดังนี้ [5]

(1) การสรรหาบุคคล การแต่งตั้ง การให้พ้นจากตำแหน่ง การเพิ่มพูนประสิทธิภาพ และเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ และการเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงความรู้ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นตามบัญชีความรู้ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นตามที่ ก.ถ กำหนด (2) ให้มีการกำหนดตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่นมี 4 ประเภท ดังต่อไปนี้ (2.1) ตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น ได้แก่ ตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามที่คณะกรรมการกลางข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด (2.2) ตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น ได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานระดับฝ่าย ระดับส่วน ระดับกอง ระดับสำนักในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือตำแหน่งระดับที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด (2.3) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ตามมาตรฐานทั่วไปที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด เพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตำแหน่งนั้น (2.4) ตำแหน่งประเภททั่วไป ได้แก่ ตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภท อำนวยการ และตำแหน่งประเภทวิชาการ ตามมาตรฐานทั่วไปที่คณะกรรมการกลาง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด เพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตำแหน่งนั้น (5) การกำหนดตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่นให้มีระดับ ดังต่อไปนี้ (5.1) ตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น (ก) ระดับต้น (ข) ระดับกลาง (ค) ระดับสูง (5.2) ตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น (ก) ระดับต้น (ข) ระดับกลาง (ค) ระดับสูง (5.3) ตำแหน่งประเภทวิชาการ (ก) ระดับปฏิบัติการ (ข) ระดับชำนาญการ (ค) ระดับชำนาญการพิเศษ (ง) ระดับเชี่ยวชาญ (5.4) ตำแหน่งประเภททั่วไป (ก) ระดับปฏิบัติงาน (ข) ระดับชำนาญงาน (ค) ระดับอาวุโส ทั้งนี้การจัดพนักงานส่วนท้องถิ่นเข้าสู่ประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไป ที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด (6) การกำหนดมาตรฐานของตำแหน่งและอัตราตำแหน่ง ให้จำแนกตำแหน่งเป็นประเภทและสายงานตามลักษณะงาน และจัดตำแหน่งในประเภทเดียวกันและสายงานเดียวกันที่คุณภาพของงาน อยู่ในระดับเดียวกันโดยประมาณเป็นกลุ่มเดียวกันและระดับเดียวกัน โดยคำนึงถึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงาน ความก้าวหน้าในสายงานของพนักงานส่วนท้องถิ่นประกอบกับลักษณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีขนาดแตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไปที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด (7) ทั้งนี้มาตรฐานทั่วไปตามวรรคหนึ่ง ให้ระบุชื่อตำแหน่งในสายงาน หน้าที่ความรับผิดชอบหลัก คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ความรู้ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นตามบัญชีความรู้ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นตามที่ ก.ถ. กำหนดไว้ (8) ให้มีการจัดประโยชน์ตอบแทนอื่นแก่พนักงานส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นการเสริมสร้าง ความมั่นคง สร้างขวัญและแรงจูงใจให้กับพนักงานส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไปที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด (9) การเลื่อนพนักงานส่วนท้องถิ่นขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นให้พิจารณา จากคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ผลงาน ความรู้ความสามารถ ความประพฤติคุณธรรมและจริยธรรม ประวัติการปฏิบัติราชการ และการผ่านหลักสูตรอบรมตามที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึงจะได้รับ (10) การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในหลักเกณฑ์ให้มีคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามมาตรฐานทั่วไปที่คณะกรรมการกลางข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด (11) การประเมินผลการปฏิบัติงานให้คำนึงถึงระบบการบริหารผลงานที่เชื่อมโยงผลการปฏิบัติงาน รายบุคคลไปสู่ผลการปฏิบัติงานระดับองค์กร คุณภาพและปริมาณงาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานที่ได้ปฏิบัติมา ความสามารถและความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน ความมีคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนการรักษาวินัยที่เหมาะสมกับการเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น โดยจัดทำการประเมินอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกประเมินชี้แจงหรือขอคำปรึกษาด้วย (12) ให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดทำมาตรฐานทั่วไป ตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับจากวันที่ 26 ธันวาคม 2557 อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ยังมิได้จัดทำมาตรฐานทั่วไปตามการเปลี่ยนแปลงภายใต้ระบบแท่งใหม่ ให้นำบรรดามาตรฐานทั่วไปที่ใช้บังคับอยู่ก่อนหน้านี้ ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป จนกว่าจะมีการแก้ไขให้เป็นไปตามระบบแท่งใหม่นี้ (13) มีการกำหนดบัญชีความรู้ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นแนบท้ายประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ดังนี้ (13.1) ความรู้ที่จำเป็นในงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีจำนวน 21 ด้าน [6] (13.2) ทักษะที่จำเป็นในงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีจำนวน 9 ด้าน [7] (13.3) สมรรถนะที่จำเป็นในงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น จำแนกเป็น 3 ประเภท [8]

 

ปัญหาความก้าวหน้าในสายอาชีพและความเป็นมืออาชีพ Career Path& Professionalism

ผู้เขียนลองประมวลปัญหาภาพรวม ณ ปัจจุบัน เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับสภาพปัญหาที่ สปร. ได้สรุปไว้ (1) ในกระบวนการสรรหา หรือคัดเลือกบุคคล (Recruitment and Selection) เข้าทำงานนั้นมีหลายระบบ ผสมผเสกัน เพื่อต้องการ “คนเก่ง” (Talent) ที่มีศักยภาพอย่างแท้จริงเพื่อการเป็นผู้นำในอนาคต เป็นคนประเภท High performance High potential แต่สรุปเส้นทางความก้าวหน้าของท้องถิ่นขาดตอน “ขาดสมดุล เป็นคอขวด” ตำแหน่งบริหารอำนวยการว่างไร้คนครองว่างมานาน อันเป็นผลมาจากความผิดพลาดในการ “กำหนดโครงสร้างและจัดทำแผนอัตรากำลัง” ที่มีแต่หัวหน้า แต่ลูกน้องไม่มีเพราะท้องถิ่นไม่พิจารณาเนื้องานแต่พิจารณาคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรเป็นหลัก อันเป็นที่มาของ “ซี 8 พิเศษ” “การปรับเทศบาลขนาดเล็กเป็นขนาดกลาง” ตามคุณสมบัติของผู้ครองตำแหน่งใน อปท. นั้น ๆ ซึ่งขัดกับหลักการ “Career Path & Professionalism” (2) นอกจากนี้ยังมีปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอันเป็นปัญหาระบบแท่งมาตั้งแต่ระบบซี ที่มีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อเป็นระบบแท่ง คือ ฝ่ายแท่งบริหาร/อำนวยการ และ ฝายแท่งวิชาการ/ทั่วไปเป็นสองขั้ว  นอกจากนี้การไม่มีตัวแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือในแต่ละสายงาน เพื่อเป็นกระบอกเสียงตัวแทนในแต่แท่งแต่ละกลุ่มสายงาน ประกอบกับการทำงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและ ก.กลาง ที่เป็นไปในลักษณะ “เชิงรับ” (Reactive) มิใช่ “เชิงรุก” (Proactive) มานานแล้ว กล่าวคือ เมื่อมีปัญหาจึงค่อยแก้ไปในแต่ละเรื่อง แต่ละครั้งแต่ละคราวไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตการสอบ หรือปัญหาความบกพร่องลักลั่นในการบริหารงานบุคคลอื่นใดก็ตาม เป็นวังวนแห่งการยอมรับสภาพของข้าราชการส่วนท้องถิ่นมานมนาน อันเป็นปัญหาตกค้างจากรุ่นสู่รุ่นทิ้งไว้ให้รุ่นหลังแก้กันไปโดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย ประหนึ่งว่าผู้รับผิดชอบงานบุคคลโดยตรงทั้ง สถ. และจังหวัด กลับลอยตัว มิได้รับภาระแต่อย่างใด เพราะความเป็นองค์กรคนละพวกกันกับ อปท. (No organization commitment) [9] (3) ปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ มาตรฐานตำแหน่งที่กำหนดขึ้นขาดความเป็นมาตรฐานตาม “หลักสากล”(Standardization &Universality) ที่สามารถอ้างอิงตรวจสอบเหตุผลได้ แม้เพียงแค่เหตุผลเชิงตรรกะอย่างง่ายก็ยังดี เพราะตามกฎหมายการบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นนั้นยังต้องอิงกฎหมายของข้าราชการพลเรือนเป็นหลักอยู่ บ้างก็ว่าเป็นความอัปยศโชคร้ายของท้องถิ่นที่ถูกดองไม่ให้โต เพราะมีหลักเกณฑ์หลักการหลายประการที่แปลกแตกต่าง ไม่ปกติทั่วไปในหลายกรณีระบบฐานข้อมูลบุคคลที่ถูกต้องเป็นจริงมีเทคนิคการรายงาน การโยกย้ายสลับตำแหน่งที่ไม่แน่นอน ไม่สามารถตรวจสอบควบคุมกำกับได้จากส่วนกลาง อันเป็นอำนาจอิสระของท้องถิ่นในการบริหารจัดการตามรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าไปขัดกับหลักการบริหารงานบุคคลหรือหลักการของระบบคุณธรรม (Merit System) โดยสิ้นเชิง (4) ควรตำหนิท้องถิ่นว่างานมาตรฐานบุคคลไม่เป็นมาตรฐานกลางเหมือนส่วนราชการอื่น ในสายงานอื่นของท้องถิ่นเกือบทั้งหมดตรงตามมาตรฐานกลาง ก.พ. ทั้งหมด ยกเว้นมาตรฐานงานบุคคลสายงานช่าง [10] ที่มาตรฐานกำหนดตำแหน่งระบุคุณวุฒิไว้ครอบจักรวาลที่มีปัญหาที่แตกต่างไป นอกจากนี้ในมาตรฐานวิชาชีพวิศวกร ช่างท้องถิ่นที่มีวุฒิ ปวช./ปวท./ปวส./ป.ตรี ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านช่าง สามารถไปขอยื่นสอบใบภาคีพิเศษ [11] ได้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมงาน เพียงแต่ออกแบบไม่ได้ นอกจากนี้ในการพิจารณาให้ทุนการศึกษาของ อปท. ไม่ได้เคร่งครัดการรับทุนไปศึกษาต่อเพื่อพัฒนาศักยภาพในสายงานตนเองให้มีความรู้ในสายงาน เช่น จบช่าง จบบัญชี แต่รับทุนไปเรียนสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือ นิติศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่แตกต่างจากคุณวุฒิเดิมพื้นฐานที่มี ทำให้การพัฒนาในสายงานวิชาชีพขาดตอน เป็นต้น นายช่างบางคนมีวุฒิวิศวกรรมแต่เปลี่ยนการเปลี่ยนสายงานเป็น “วิศวกร” ก็มิได้เป็นไปได้ง่ายนัก ซึ่งก็ยากพอๆกับที่นายช่างโยธาวุฒิอื่นที่ขอทุนการศึกษาไปเรียนวิศวกรรมบัณฑิต เหล่านี้เป็นปัญหาทางปฏิบัติในการขาดแคลน “นายช่าง” ใน อปท. โดยเฉพาะการควบคุมงานก่อสร้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 5 ฉบับคือ (4.1) พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (4.2) กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549 ตาม พรบ. สถาปนิก พ.ศ. 2543 (4.3) กฎกระทรวง กำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 ตาม พรบ.วิศวกร พ.ศ. 2542 (4.4) พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และ (4.5) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพราะมีข้อจำกัดในกรณีที่ อปท. ไม่มีวิศวกรว่า ต้องขอความร่วมมืออนุเคราะห์ วิศวกร รับรองแบบจากหน่วยงานข้างเคียง หรือให้มีการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นร่วมมือกับสภาวิศวกร เพื่อให้ช่าง อปท. มีใบอนุญาตเป็นกรณีเฉพาะพื้นที่ที่รับผิดชอบตามขนาดของ “งานก่อสร้าง” ที่ต้องมีการสอบผ่านการประเมินด้วย หรือให้ อปท. ตั้งงบประมาณว่าจ้างออกแบบงานก่อสร้าง เนื่องจากกรมบัญชีกลางตอบข้อหารือเรื่อง “งานก่อสร้าง” ว่าต้องต้องมีวิศวกรรับรองแบบรวมถึงควบคุมงานกับงานก่อสร้างรวมถึงงานซ่อมแซมด้วยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 176 (1) [12] กรรมการตรวจรับพัสดุ (งานก่อสร้าง) ต้องตรวจสอบคุณวุฒิของผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ของผู้รับจ้าง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมอาคาร

 

ข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

          วกตัดมาที่เอกสาร สปร. สรุปประเด็นสำคัญที่มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีความคล้ายคลึงกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เข้าร่วมประชุมสัมมนาจากหลากหลายครั้ง ดังนี้เช่น [13] (1) ควรพัฒนาแนวทางการสอบแข่งขันในการคัดเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตของ อปท. โดยจัดสอบที่ส่วนกลางทุกตำแหน่ง ทุกสายงาน เพื่อให้ได้คนดีมีความรู้ และลดการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือระบบการจ่ายเงิน (2) ควรสร้างมาตรการในการจัดการลงโทษกับผู้ประเมินที่เจตนาประเมินเป็นเท็จ รวมถึงควรมีช่องทางการร้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม (3) ควรสร้างกระบวนการ และแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบการเข้าแท่ง (4) ควรมีการจัดหลักสูตรบังคับเฉพาะสำหรับ ปลัด อปท. รองปลัด อปท. หัวหน้าสำนักปลัด และนักทรัพยากรบุคคล เพื่อสร้างความเข้าใจเชิงลึก (5) ควรมีการจัดทำหลักเกณฑ์และกระบวนการโอนย้ายของข้าราชการท้องถิ่นไปหน่วยงานอื่น  เช่น ข้าราชการสังกัดกรมส่งเสริมฯ (ท้องถิ่นอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด) เป็นต้น (5) ควรทบทวนสวัสดิการภายใต้ระบบแท่ง เป็นต้น

          นี่เป็นบางส่วนจากเอกสาร สปร. มีต่อตอนหน้า

[1]Phachern Thammasarangkoon & Suppapong Songprasert, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 36 วันศุกร์ที่ 18 - วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66 

[2]สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.), “ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report)”, โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง การปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ระยะที่ 2) เสนอต่อ กระทรวงมหาดไทย, 17 ธันวาคม 2552, http://www.local.moi.go.th/2009/pdf/completed_draft_final_report.pdf

[3]โครงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ตามแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ระบบจำแนกตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น จากระบบซีเป็นระบบแท่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558, เสนอ สำนักงาน ก.ถ. สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดย สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.), http://www.local.moi.go.th/200...

[4]โครงการติดตามประเมินผลและพัฒนาระบบทรัพยากรบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น รองรับ Thailand 4.0 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สปร. (สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ) ตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0209.3/ว 4159 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2560

[5]โครงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ตามแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ระบบจำแนกตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น จากระบบซีเป็นระบบแท่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558, หน้า 15-20, อ้างแล้ว

& ประกาศ ก.ถ. เรื่อง การกำหนดมาตรฐานกลางในการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ฉบับที่ 4 ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2558 ให้เริ่มเข้าสู่ระบบการจำแนกตำแหน่งใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2558  แต่ได้ชะลอมีผลเข้าสู่ระบบแท่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

[6]ความรู้ที่จำเป็นในงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีจำนวน 21 ด้าน ดังนี้

1. ความรู้ที่จำเป็นในงาน (ความรู้เฉพาะทางในงานที่รับผิดชอบ)

1.2 ความรู้เรื่องกฎหมาย (ความรู้เฉพาะทางในงานที่รับผิดชอบ)

1.3 ความรู้เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

1.4 ความรู้ทั่วไปเรื่องชุมชน

1.5 ความรู้เรื่องการจัดการความรู้

1.6 ความรู้เรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนยุทธศาสตร์

1.7 ความรู้เรื่องการติดตามและประเมินผล

1.8 ความรู้เรื่องระบบการจัดการองค์กร

1.9 ความรู้เรื่องการวิเคราะห์ผลกระทบต่าง ๆ เช่น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การประเมิน ผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ฯลฯ เป็นต้น

1.10 ความรู้เรื่องการทำงบการเงินและงบประมาณ

1.11 ความรู้เรื่องระบบการบริหารงานการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS)

1.12 ความรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยง

1.13 ความรู้เรื่องบัญชีและระบบบัญชี

1.14 ความรู้เรื่องจัดซื้อจัดจ้างและกฎระเบียบพัสดุ

1.15 ความรู้เรื่องการบริหารงานบุคคล

1.16 ความรู้เรื่องการพัฒนาบุคลากร

1.17 ความรู้เรื่องงานธุรการและงานสารบรรณ

1.18 ความรู้เรื่องสถานการณ์ภายนอกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่

1.19 ความรู้เรื่องสื่อสารสาธารณะ

1.20 ความรู้เรื่องการบริหารจัดการฮาร์ดแวร์ (Hardware) ซอฟต์แวร์ (Software) และเน็ตเวิร์ก (Network)

1.21 ความรู้เรื่องบรรณารักษ์

และการกำหนดความรู้ที่จำเป็นประจำสายงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นมีดังนี้

1. สายงานในตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น ให้กำหนดความรู้ที่จาเป็นประจำสายงานไว้อย่างน้อยสายงานละ 7 ด้าน

2. สายงานในตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น ให้กำหนดความรู้ที่จำเป็นประจำสายงานไว้อย่างน้อยสายงานละ 7 ด้าน

3.  สายงานในตำแหน่งประเภทวิชาการ ให้กำหนดความรู้ที่จาเป็นประจำสายงานไว้อย่างน้อยสายงานละ 5 ด้าน

4.  สายงานในตำแหน่งประเภททั่วไป ให้กำหนดความรู้ที่จาเป็นประจำสายงานไว้อย่างน้อยสายงานละ 3 ด้าน

[7]ทักษะที่จำเป็นในงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีจำนวน 9 ด้าน ดังนี้

1.1 ทักษะการบริหารข้อมูล

1.2 ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์

1.3 ทักษะการประสานงาน

1.4 ทักษะในการสืบสวน

1.5 ทักษะการบริหารโครงการ

1.6 ทักษะในการสื่อสาร การนำเสนอ และถ่ายทอดความรู้

1.7 ทักษะการเขียนรายงานและสรุปรายงาน

1.8 ทักษะการเขียนหนังสือราชการ

1.9 ทักษะการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์

และการกำหนดทักษะที่จำเป็นประจำสายงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีดังนี้

1. สายงานในตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น ให้กำหนดทักษะที่จำเป็นประจำสายงานไว้อย่างน้อยสายงานละ 4 ด้าน

2. สายงานในตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น ให้กำหนดทักษะที่จำเป็นประจำสายงานไว้อย่างน้อยสายงานละ 4 ด้าน

3. สายงานในตำแหน่งประเภทวิชาการ ให้กำหนดทักษะที่จำเป็นประจำสายงานไว้อย่างน้อยสายงานละ 3 ด้าน

4. สายงานในตำแหน่งประเภททั่วไป ให้กำหนดทักษะที่จำเป็นประจำสายงานไว้อย่างน้อยสายงานละ 3 ด้าน

[8]สมรรถนะที่จำเป็นในงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น จำแนกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. สมรรถนะหลัก หมายถึง สมรรถนะที่ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นทุกประเภทและระดับตำแหน่งจำเป็นต้องมีเพื่อเป็นการหล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ร่วมกันซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน สังคม และประเทศชาติประกอบด้วย 5 สมรรถนะ ดังนี้

1.1 การมุ่งผลสัมฤทธิ์

1.2 การยึดมั่นในความถูกต้องและจริยธรรม

1.3 ความเข้าใจในองค์กรและระบบงาน

1.4 การบริการเป็นเลิศ

1.5 การทำงานเป็นทีม

2. สมรรถนะประจำผู้บริหาร หมายถึง สมรรถนะที่ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น และอำนวยการท้องถิ่น ซึ่งต้องกำกับดูแลทีมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจำเป็นต้องมีในฐานะผู้นำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำทีมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย 4 สมรรถนะ ดังนี้

2.1 การเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง

2.2 ความสามารถในการเป็นผู้นำ

2.3 ความสามารถในการพัฒนาคน

2.4 การคิดเชิงกลยุทธ์

3. สมรรถนะประจำสายงาน หมายถึง สมรรถนะที่กำหนดเฉพาะสำหรับประเภทและระดับตำแหน่ง ในสายงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งในสายงานนั้น สามารถปฏิบัติภารกิจในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย 22 สมรรถนะ ดังนี้

3.1 การกำกับติดตามอย่างสม่ำเสมอ

3.2 การแก้ไขปัญหาอย่างมืออาชีพ

3.3 การแก้ปัญหาและดำเนินการเชิงรุก

3.4 การค้นหาและการบริหารจัดการข้อมูล

3.5 การควบคุมและจัดการสถานการณ์อย่างสร้างสรรค์

3.6 การคิดวิเคราะห์

3.7 การบริหารความเสี่ยง

3.8 การบริหารทรัพยากร

3.9 การมุ่งความปลอดภัยและการระวังภัย

3.10 การยึดมั่นในหลักเกณฑ์

3.11 การวางแผนและการจัดการ

3.12 การวิเคราะห์และการบูรณาการ

3.13 การสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

3.14 การสั่งสมความรู้และความเชี่ยวชาญในสายอาชีพ

3.15 การให้ความรู้และการสร้างสายสัมพันธ์

3.16 ความเข้าใจผู้อื่นและตอบสนองอย่างสร้างสรรค์

3.17 ความเข้าใจพื้นที่และการเมืองท้องถิ่น

3.18 ความคิดสร้างสรรค์

3.19 ความละเอียดรอบคอบและความถูกต้องของงาน

3.20 จิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

3.21 ศิลปะการโน้มน้าวจูงใจ

3.22 สร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น

และการกำหนดสมรรถนะที่จำเป็นประจำสายงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีดังนี้

1. สมรรถนะหลัก ให้กำหนดเป็นสมรรถนะที่จำเป็นประจำสายงานในทุกประเภทและระดับตำแหน่ง ทั้ง 5 สมรรถนะ

2. สมรรถนะประจำผู้บริหาร ให้กำหนดเป็นสมรรถนะที่จำเป็นประจำสายงานในตำแหน่งประเภทบริหารและอำนวยการ ทั้ง 4 สมรรถนะ

3. สมรรถนะประจำสายงาน ให้กำหนดเป็นสมรรถนะที่จำเป็นประจำสายงานในทุกประเภทและระดับตำแหน่งไว้อย่างน้อยสายงานละ 3 สมรรถนะ

[9]สร้างให้เกิดความรับผิดชอบร่วม (Commitment)

ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มจากการสร้างความตระหนัก (Awareness) สร้างความเข้าใจอันจะนำไปสู่การยอมรับ  (Understanding) และเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง (Commitment)

ดู โครงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ตามแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ระบบจำแนกตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น จากระบบซีเป็นระบบแท่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558, หน้า 12, อ้างแล้ว

[10]ยกตัวอย่าง “สายงานปฏิบัติงานช่างโยธา” ตำแหน่ง “นายช่างโยธาระดับปฏิบัติงาน” (กำหนด 26 พฤศจิกายน 2558)

มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือคุณ วุฒิ อย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในสาขาวิชาหรือทางเทคนิควิศวกรรมสำรวจ เทคนิควิศวกรรมโยธา ก่อสร้าง เทคนิคสถาปัตยกรรม โยธา สำรวจ สถาปัตยกรรม หรือในสาขาวิชาหรือทางอื่นที่ ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้

2. ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิคหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในสาขาวิชาหรือทางเทคนิควิศวกรรมสำรวจ เทคนิควิศวกรรมโยธา เทคนิคการจัดการงานก่อสร้าง เทคนิค สถาปัตยกรรม โยธา สำรวจ ก่อสร้าง สถาปัตยกรรม ช่างก่อสร้าง ช่างสำรวจ ช่างโยธา หรือในสาขาวิชาหรือทางอื่นที่ ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้

3. ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ในสาขาวิชาหรือทางเทคนิควิศวกรรมสำรวจ เทคนิควิศวกรรมโยธา เทคนิคการจัดการงานก่อสร้าง เทคนิคสถาปัตยกรรม โยธา สำรวจ ก่อสร้าง สถาปัตยกรรม ช่างก่อสร้าง ช่างสำรวจ ช่างโยธา หรือสาขาวิชาหรือทางอื่นที่ ก.จ. ก.ท.และ ก.อบต. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้

“สายงานวิศวกรรมโยธา” ตำแหน่ง “วิศวกรโยธาระดับปฏิบัติการ” (กำหนด 26 พฤศจิกายน 2558)

มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

ได้รับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในสาขาวิชาหรือทางวิศวกรรมโยธา  วิศวกรรมชลประทาน  วิศวกรรมสุขาภิบาล  วิศวกรรมสำรวจ  และได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ก.ว ) ตามที่กฎหมายกำหนด หรือในสาขาวิชาหรือทางอื่นที่ ก.จ., ก.ท. หรือ ก.อบต. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้

[11]ภาคีวิศวกรพิเศษ 7 สาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (1) สาขาโยธา (2) สาขาเครื่องกล (3) สาขาไฟฟ้า (4) สาขาอุตสาหการ (5) สาขาเหมืองแร่ (6) สาขาสิ่งแวดล้อม (7) สาขาเคมี

[12]ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 176 คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้าง มีหน้าที่ดังนี้ (1) ตรวจสอบคุณวุฒิของผู้ควบคุมงานก่อสร้างของผู้รับจ้างให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ...

[13]โครงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ตามแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ระบบจำแนกตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น จากระบบซีเป็นระบบแท่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558,  หน้า 6, อ้างแล้ว



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท