ทำไมต้องตั้งความคาดหวัง ?


ทำไมต้องตั้งความคาดหวัง ? 

เป็นกระบวนการที่กระบวนกรรุ่นใหม่ ต้องเรียนรู้เเละใคร่ครวญถึงความหมายเเละความสำคัญของความหวัง

ปกติเเล้วเราจะใช้กิจกรรมการตั้งความคาดหวัง เป็นกิจกรรมแรกของค่ายกิจกรรมหรือกิจกรรมแรกของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการแรกๆที่นิยมมากที่สุด ในค่ายที่ตั้งจุดหมายว่า "ต้องการให้เกิดการเรียนรู้" 

การตั้งความคาดหวังเป็นการจัดการความรู้ขั้นแรก เรียกว่า BAR : Before action review เป็นการประเมินก่อนทำ เพื่อที่จะนำมาเปรียบเทียบกับช่วงผลลัพธ์ของกิจกรรม ในการประเมินขั้นสุดท้าย เรียกว่า AAR : After action review ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เกิดความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

ทำไมจึงต้องตั้งความคาดหวัง 
๑) เพื่อเป็นการตั้งจุดหมายในการเรียนรู้ ให้เกิดจุดหมายทั้งเชิงปัจเจก(ส่วนตัว) เเละเชิงโครงการ(จุดหมายร่วม) ให้ระยะเวลาของค่ายดำเนินไปด้วยความคาดหวังร่วมกัน สอดคล้องกับเเนวคิดทฤษฎีเครื่องหมายของทอลเเมน ให้ความคาดหวังเป็นเครื่องหมายในการเรียนรู้ สะท้อนคุณค่าเชิงผลลัพธ์ร่วมด้วย กล่าว คือ ตั้งความคาดหวังเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน นั่นเอง
๒) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม "ฝึกตั้งคำถาม" เพื่อใช้ระยะเวลาในค่ายหาคำตอบ โดยอาจต้องวางเงื่อนไขด้วยว่า "ภายในค่ายนี้หาคำตอบให้ได้" เพื่อเป็นเเรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ จากเงื่อนไขที่นำไปสู่การเรียนรู้ สอดคล้องกับเเนวคิดของวัตสัน โดยเงื่อนไขดังกล่าวต้องท้าทายต่อการค้นหาคำตอบพอสมควร
๓) เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางเเละขอบเขตในการเรียนรู้ ว่าค่ายของเรามีทิศทางเเละขอบเขตการเรียนรู้ในเรื่องใด ต้องเรียนรู้เนื้อหาเรื่องใดบ้าง เพื่อความเข้าใจตรงกันตามวัตถุประสงค์โครงการ
๔) เพื่อให้วิทยากรรู้ว่า "จะต้องเติมเต็มเรื่องอะไรบ้าง" เป็นลักษณะของการจัดบทเรียนเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เข้าร่วมที่นอกเหนือจากจุดประสงค์ของค่าย

วิธีการตั้งความคาดหวังสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การเขียนกระดาษ Post it การใช้สุนทรียสนทนา การใช้เกมเพื่อเติมคำ เป็นต้น โดยทุกกระบวนการในการตั้งความคาดหวังล้วนมีหัวใจสำคัญ คือ ชุดคำถามที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยน่าจะถาม ดังนี้

การตั้งความคาดหวัง
๑) มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ในช่วง......นี้ หากเปรียบความรู้สึกนั้นเป็นสี จะเปรียบเป็นสีอะไร เพราะอะไร ? (ใช้ความรู้สึกเปิดก่อนเเล้วจะคิดออกง่ายขึ้น)
๒) มาค่ายนี้ คาดหวังอยากจะเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง หรืออยากฝึกทักษะอะไร หรือ อยากได้รับอะไรบ้าง (ช่วงนี้เป็นการคิดใคร่ครวญ)
๓) จากนั้นให้เขียนใส่กระดาษ Post it เเล้วให้จับกลุ่มใช้สุนทรียสนทนา ในการเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม(Knowledge sharing)
๔) สุดท้ายให้ออกมาติดกระดาษความคาดหวัง หน้าคลาส วิทยากร ก็จะจับประเด็น ในมิติต่างๆ เช่น มิติความรู้ มิติกระบวนการ มิติทักษะ มิติสังคม เป็นต้น เพื่ออธิบายเข้าสู่เป้าหมายของโครงการเป็นลำดับถัดไป

ชุดประสบการณ์เดิม มีผลต่อการตั้งความคาดหวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไม่เคยมีประสบการณ์เดิมมาก่อน เเล้วไม่ศึกษามาก่อน มักจะคิดความคาดหวังไม่ออก ซึ่งเราแก้ไขวิธีนี้ การมีกระบวนการเติมเต็มให้เห็นองค์รวมก่อน เช่น การอธิบาย การใช้เกม การใช้วิดีทัศน์ ที่เอื้อให้เกิดการตั้งคำถาม ก็จะสามารถช่วยให้เกิดการตั้งคำถามได้ง่ายขึ้นเเละสอดคล้องกับจุดประสงค์ของโครงการที่จัด

หากเป็นค่ายเพื่อการเรียนรู้ ก็ควรเติมเต็มเรื่องความคาดหวัง เพราะเป็นกระบวนการเล็กๆ ในกระบวนการใหญ่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ต้องทำซ้ำ อย่างต่อเนื่อง ตามกฎการำซ้ำ ของธอร์นไดค์

อ้างอิง
หนังสือจิตวิทยาสำหรับครู เขียนโดย รศ.ดร.ลักขณา สริวัฒน์

หมายเลขบันทึก: 647028เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2018 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2018 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

BAR inside ทำให้ได้ผลยากมาก ....  ขอบคุณที่ชี้เป้าชัดเจนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท