ชีวิตที่พอเพียง : 3168. ฟิสิกส์สมัยใหม่ กับศาสตร์ลี้ลับตะวันออก



หนังสือคลาสสิค The Tao of Physics : An Exploration of the Parallels between Modern Physics and Eastern Mysticism (1975)  เขียนโดย Fritjoff Capra ไม่มีวันล้าสมัย  

   หนังสือเสนอให้เห็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ควอนตั้ม และทฤษฎีสัมพัทธภาพ กับศาสนาตะวันออก ได้แก่ฮินดู พุทธ และเต๋า ที่อยู่คนละขั้วความคิดและความเชื่อ   คือวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของเหตุผล   ส่วนศาสตร์ลี้ลับเป็นเรื่องความเชื่อ หรือปัญญาญาณ    แต่บัดนี้ทั้งสองขั้วได้มาบรรจบกันที่คุณสมบัติร่วม หรือความคล้ายคลึง หลายประการ 

กว่าสี่สิบปีมาแล้ว ฝรั่งยังมองปรากฏการณ์ทางจิตเป็นเรื่องลี้ลับ (mysticism) แต่เดี๋ยวนี้เรารู้จากการวิจัยด้าน neuroscience ว่าปรากฏการณ์ทางจิตนั้น พิสูจน์ได้ และมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์  

ความคล้ายคลึงของสองขั้วได้แก่

ประการแรกคือความเป็นหนึ่งเดียวของจักรวาล   ความเป็นทั้งหมด  หรือความเชื่อมโยงถึงกันหมด    รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างผู้สังเกต และสิ่งที่ถูกสังเกต   ความเชื่อมโยงระหว่าง space กับ time ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพ   หรือตีความว่า space กับ time เป็นสิ่งเดียวกัน  

ระการที่สองคือความขัดแย้งในตัวเอง (paradox)   เช่นแสงเป็นทั้งคลื่น (wave) และอนุภาค (photon)   

ประการที่สาม  การยืนยันหลักฐานจากการสังเกต (observation)    โดยทางวิทยาศาสตร์ได้จากการทดลอง  ส่วนทางศาสตร์ลี้ลับได้จากการปฏิบัติ และรู้ได้ด้วยตนเอง (introspection)   วงเล็บว่ามาถึงยุคนี้ สองศาสตร์ได้เริ่มเชื่อมเข้าหากันแล้ว  

วิทยาศาสตร์มาจากฐานคิดแบ่งแยกระหว่างกาย กับจิต    หรือแบ่งแยกระหว่างจิต (mind) กับวัตถุ (matter)    แต่ศาสตร์ลี้ลับมองว่ากายกับจิตเป็นหนึ่งเดียว หรือเชื่อมต่อกัน   คือเชื่อในความเป็นหนึ่งเดียว หรือเชื่อมโยงถึงกันหมดของสรรพสิ่ง

ฟิสิกส์กลไกแบบนิวตัน  ได้ถูกแทนที่ด้วยฟิสิกส์ควอนตั้ม และสัมพัทธภาพ   ที่บอกว่า สสารกับพลังงานเป็นสิ่งเดียวกัน   และในระดับ sub-particle สสารไม่มีตัวตนแน่นอน มีแต่ความน่าจะมีอยู่    และการกำหนดตัวตนเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้แน่ชัด   เพราะ “ตัวตน” ของสรรพสิ่งจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นกับตัวผู้เฝ้าสังเกตด้วย       

ตัวอย่าง ความไม่ชัดเจนของศาสตร์ลี้ลับมาจากคำเซน “เสียงของการตบมือข้างเดียว”   เป็นวิธีกระตุกใจคน ให้เห็นคุณค่าของความว่าง หรือ สุญญตา  

ศาสตร์ลี้ลับตะวันออก เน้นที่ความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง และการบรรลุทางสว่างแห่งจิตวิญญาณ   ทั้งศาสนาพราหมณ์  พุทธ  และเต๋า    โดยมีเส้นทางหรือวิธีการสู่ปลายทางที่แตกต่างกัน    ทั้งสามศาสนาให้คุณค่าสูงสุดต่อความรู้ระดับปัญญาญาณ ไม่ใช่เหตุผล    สำหรับพุทธ มีเพิ่มที่อนิจจัง ทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป    จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด    ซึ่งก็ตรงกับฟิสิกส์สมัยใหม่ที่บอกว่า แม้เวลา ก็เป็นสมมติหรือเป็นสัมพัทธ์

 แนวคิดของเต๋า คือสรรพสิ่งล้วนเลื่อนไหล และเปลี่ยนแปลง เป็นวัฏจักร    โดยเฉพาะวัฏจักรแห่งขั้วตรงกันข้าม .. หยิน-หยาง     และฟิสิกส์สมัยใหม่ก็บอกว่า แม้แต่จักรวาล ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ไม่ได้หยุดนิ่ง    ในระดับ subatomic อนุภาคมีการเลื่อนที่เป็นวงกลมเร็วมาก 

ความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง ในความหมายของศาสตร์ลี้ลับตะวันออก  บรรจบกับความเป็นหนึ่งเดียวของจักรวาล ในความหมายของฟิสิกส์สมัยใหม่  

เขาบอกว่า สุญญตา ไม่ใช่ความว่างธรรมดา    แต่เป็นสภาพที่มีพลังมหาศาล    นี่ก็น่าจะเป็น paradox อีกอย่างหนึ่ง    

วิจารณ์ พานิช

๒๔ และ ๒๖ มี.ค. ๖๑

ห้องผู้โดยสาร สนามบินเชียงใหม่  และบนรถยนต์ในท้องถนนกรุงเทพ

 


                                                              

หมายเลขบันทึก: 646988เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2018 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2018 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท