ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 19 : การสอบคัดเลือกสายบริหารอำนวยการ ตอน 3


ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 19 : การสอบคัดเลือกสายบริหารอำนวยการ ตอน 3

12 เมษายน 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย[1]

การวัดความรู้ด้วยการสอบ

มีการตั้งข้อสังเกตว่าข้อสอบอาจวัดความรู้ระดับบริหารไม่ได้สาเหตุหนึ่งคือ ผู้สอบทำข้อสอบแบบไม่มั่นใจ เพราะไม่เคยเจอคำถามที่ออกแบบวัดนี้มาก่อน ว่ากว้างไปหรือง่ายจนไม่ใส่ใจคิด แต่ก็ไม่ง่ายจนทำข้อสอบไม่ได้การสอบครั้งนี้มิใช่การสอบแข่งขันบรรจุบุคคลเข้ารับราชการใหม่ วิธีการคัดเลือกต้องแตกต่างจากการสอบแข่งขันฯจึงไม่ควรมีการสร้างเงื่อนไขหรือขั้นตอนที่เป็นภาระมากมายแก่ผู้สอบ อาทิเช่น การเข้มงวดด้วยกติกาหยุมหยิม หรือไม่ควรมีขั้นตอนมาก ควรเน้นว่าคนที่มีคุณสมบัติย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันเพราะการสอบคัดเลือกฯก็เพื่อได้คนที่เหมาะสมกับงาน เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้คนเก่งคนดีเป็นสำคัญสำหรับการประกาศผลการคัดเลือกนั้นก็ไม่ควรเนิ่นนาน หากรู้ผลได้ในวันคัดเลือกเลยยิ่งดีเพราะการปล่อยเวลานานวันจะเกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสการวิ่งเต้นเด็กฝาก หรืออื่นใด เป็นต้น

 

ทำไม ก.กลางต้องจัดการสอบคัดเลือกฯครั้งนี้

เป็นผลจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 [2]แต่เนื่องจากการไม่สามารถรวม ก.กลางการบริหารงานบุคคลจาก 3 ก. (ก.อบจ., ก.ท. และ ก.อบต.)ให้เป็น ก.เดียวได้ ฉะนั้น การใช้อำนาจดำเนินการโดย ก.กลางต้องย้อนไปสิ้นสุดที่ ก. จังหวัด โดยใช้ประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการบริหารงานบุคคลฯ ของ ก.จังหวัด ที่แยกตามประเภทของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าหลักเกณฑ์การโอนย้าย การบรรจุแต่งตั้งฯ อาทิเช่น การพิจารณารับโอนย้ายตำแหน่งว่างให้รับโอนย้ายได้ใน 150 วัน [3]มองว่าการสอบคัดเลือกครั้งนี้แทบหมดคุณค่า ขาดความศักดิ์สิทธิ์ทันที เพราะการบรรจุแต่งตั้งยังต้องไปแขวนไว้ที่ ก. จังหวัดและยังเป็นการบรรจุแต่งตั้งแบบยินยอม “สามฝ่าย” เช่นเดิม คือ ยินยอมของนายก อปท.ต้นสังกัด นายก อปท. ที่มีตำแหน่งว่าง และ เจ้าตัวข้าราชการผู้สอบ ในฝ่ายของนายก อปท. ไม่มีปัญหา เพราะการปล่อยให้มีตำแหน่งว่างที่ต้องการคนใหม่ไม่ว่าใครก็ตามเป็นความสมยอมของนายก อปท.เองฉะนั้น ความลงตัวในสามฝ่ายอาจมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะฝ่ายข้าราชการที่มีเงื่อนไขในเรื่องภาระความสะดวกสบายในตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง ได้แก่ ภาระครอบครัว ค่าใช้จ่าย การเหลืออายุราชการน้อยเพราะไม่สามารถสอบตามระบบปกติได้ ฯลฯ เป็นต้น

 

การเปิดให้โอนย้ายก่อนบรรจุแต่งตั้งตามบัญชีสอบ

มีสองมุมมอง มุมแรกเป็นประโยชน์แก่คนไกลบ้าน เพราะการขยับย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งในระดับเดียวกันตำแหน่งเดิมก็ว่าง จึงไม่กระทบต่อจำนวนตำแหน่งว่างที่จัดสอบยกตัวอย่าง ผู้สอบได้ที่มีภูมิลำเนาภาคใต้แต่ไปแต่งตั้งในภาคอีสาน ย่อมมีผลกระทบต่อชีวิตครอบครัวแน่นอน ฉะนั้นเมื่อมีตำแหน่งว่างในภาคใต้หรือตำแหน่งที่ใกล้บ้าน (ภูมิลำเนา)ก็ต้องให้โอกาสคนที่บรรจุอยู่เดิมได้มีโอกาสโอนย้ายก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อได้ย้ายกลับบ้าน หากไม่เปิดโอกาสจะเป็นการสร้างภาระในการวิ่งเต้น ติดต่อประสานงานหาทางย้ายที่ขัดแย้งต่อระบบคุณธรรม เป็นการให้เวลาและโอกาส อปท. ก่อน เป็นทางเลือกอีกหนึ่งทางหากพ้น 150 วันแล้ว ให้เป็นอำนาจของ ก. กลางโอนย้ายเพื่อความเหมาะสม หรือสั่งให้แต่งตั้งจากบัญชีต่อไป เป็นการให้โอกาสผู้สอบได้ในที่เล็กที่ไกลกว่าได้มีโอกาสขยับไปที่ใหญ่ที่ใกล้บ้านกว่า เป็นต้น นอกจากนี้ จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะ “รับโอนย้ายข้าราชการอื่น” หรือที่เรียกว่า “รับโอนข้ามห้วย” ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการ “คัดเลือกหรือสอบคัดเลือก” ก็ตาม เพราะสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่มากมายแล้วใน อปท. ที่ไม่มีโอกาสได้แต่งตั้งหรือโอนย้าย แต่กลับมีการโอนย้ายข้าราชการสังกัดอื่นจากต่างหน่วยมาเพิ่มหนักเข้าไปอีก เป็นการสร้างปัญหาการบริหารงานบุคคลมากกว่า การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคคลบริหารงาน ซึ่งเรื่องนี้ ก.พ.ได้ตอบหารือแล้วว่า ไม่สามารถนำแนวทางของ ก.พ. มาเทียบในกรณีรับโอนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้[4]

 

ระบบอุปถัมภ์ไม่มีวันหมด

มุมมองต่างมุมในกรณีที่เป็น “การใช้ระบบอุปถัมภ์ในตำแหน่งว่าง”ในอปท.ใหญ่ หรือ เมืองใหญ่ ที่ได้มีการพิจารณารับโอนย้ายตำแหน่งภายใน 150 วันจนครบหมดสิ้นแล้ว ทำให้ตำแหน่งว่างเหลือที่อื่นคือ อปท. ไกลกว่า เล็กกว่า หรือในจังหวัดห่างไกล โอกาสผู้สอบได้สละสิทธิการแต่งตั้งจึงเกิดขึ้นได้โดยการเว้นช่วงให้โอนย้ายตามที่กล่าวข้างต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 8/2560 นี้มีเป้าหมายที่การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลที่มาจากระบบอุปถัมภ์ มีการทุจริตในการบริหารงานบุคคล ฉะนั้นหากพิจาณาดูเจตนารมณ์ของคำสั่งฉบับนี้แล้ว เห็นว่า “ต้องหยุดเรื่องการโอนย้ายตำแหน่งบริหารและอำนวยการให้หมดเสียก่อน เพื่อแก้ไขระบบอุปถัมภ์ และการทุจริตดังกล่าวแล้ว” ซึ่งในกรณีของการ “สอบแข่งขันก็เช่นเดียวกันด้วย” เพราะเป็นช่วงเวลาที่ ก.กลางได้ดำเนินการสอบแข่งขันอยู่นั่นเอง แต่ปรากฏว่าประเด็นนี้ ไม่ได้มีการพิจารณาให้ความสำคัญนัก ฉะนั้น จึงมีหลักการบริหารงานบุคคลที่แปลกขัดต่อหลักคุณธรรมอย่างที่เห็นเช่น การห้ามรับรองบัญชีเพื่อแต่งตั้งของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิม จะรับรองบัญชีฯ ได้ก็ต่อเมื่อมีการเรียกบรรจุจากบัญชีผู้สอบแข่งขันได้จนหมดสิ้นแล้ว โดยอ้างว่า ได้มีการประกาศไว้เป็นหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการสอบแข่งขันไว้แล้ว [5] ทั้ง ๆ ที่ขัดต่อหลักคุณธรรม เป็นต้น

ฉะนั้น หากเป็นการสอบตามช่วงเวลาปกติก็คงไม่มีประเด็นใดให้โต้แย้ง แต่นี่เป็นการดำเนินการตาม “คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 8/2560” จึงเป็นกรณีที่ ก.กลางต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อให้สมเจตนารมณ์ของคำสั่งที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ การไปทำกติกาที่ขัดแย้งเจตนารมณ์  มันมองได้สองแง่สองมุม แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมองในแง่มุมใด อรรถประโยชน์สูงสุดในการบริหารงานบุคคลต้องมาก่อน กล่าวคือ “มองว่าในครั้งนี้ คสช. ต้องการล้างบางระบบอุปถัมภ์เป็นลำดับแรก การยังคงปล่อยให้ยังคงมีอำนาจตามระบบอุปถัมภ์อยู่มันก็ขัดเจตนารมณ์หากพ้นช่วงนี้ไป จึงจะเข้าสู่วงรอบการบริหารงานบุคคลตามปกติ”เพราะการทำลายระบบอุปถัมภ์ ยังมีไม่สิ้นสุดไปทีเดียว แต่ผู้มีอำนาจสามารถกำหนดกรอบแนวทาง “วิธีการบริหารงานบุคคลที่ใกล้เคียงระบบคุณธรรมมากที่สุดได้”

 

เหตุผลส่วนตัวที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นไม่ไปสอบสายบริหารและอำนวยการท้องถิ่น

มาดูสาเหตุที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นไม่ไปสอบด้วยเหตุผลส่วนตัวในหลายประการ อาทิเช่น (1) มีความพอใจสบายใจในตำแหน่งหน้าที่เดิมที่ดำรงอยู่แล้ว เรียกว่า “อิ่มตัว” (2) ไม่อยากย้ายไปไกลครอบครัว โดยที่ไม่สามารถชี้นิ้วได้ว่าจะไปอยู่ในท้องที่ใด จังหวัดใด ภาคใด (3) เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพสำหรับครอบครัว(4) การเข้าสู่ตำแหน่งบริหารหรืออำนวยการท้องถิ่น ถือเป็น “เบอร์ 1” ที่ข้าราชการท้องถิ่นผู้นั้นต้องพร้อม “ชน”  ในทุกสถานการณ์ท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้การกำกับของ “สายการเมือง” โดยเฉพาะอยู่ในยุคแห่งการตรวจสอบ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก (5) ประสบการณ์ช่วงที่ผ่านมาการย้ายกลับภูมิลำเนาหรือการย้ายกลับตามความประสงค์ค่อนข้างยาก เพราะต้องมีการวิ่งเต้น เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ค่าธุรการต่าง ๆ ที่เรียกรวม ๆ ว่า “ค่าอำนวยความสะดวก” ซึ่งไม่จำเป็นถึงขนาดว่าต้องเป็นการทุจริต ก็ยังถือว่า “ยาก” อยู่ดี (6) ตามร่าง พรบ.บุคคลฯฉบับใหม่ที่ต้องย้ายทุก 4 ปี [6] เป็นหลักการที่ดีมาก เพราะตำแหน่ง “บริหารและอำนวยการ” เป็นตำแหน่งที่เรียกว่า “หัวหน้า” สามารถกระทำการใดในอำนาจหน้าที่ได้ทั้งเชิงบวกเชิงลบ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญขององค์กร การสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตาม อปท. ต่าง ๆ น่าจะเป็นผลดีกว่าการนั่งแช่อยู่ในตำแหน่งเดิม แต่ก็มิใช่ว่าจะเป็นการจับย้ายกันข้ามจังหวัด ข้ามภาค ในมุมมองนี้ “ภายใต้สภาพแวดล้อมแห่งการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น” การเป็นหัวโขน (ตำแหน่ง) อะไรก็คงไม่สำคัญนัก ขอเพียงการประคองตัวในตำแหน่งหน้าที่ให้อยู่รอดปลอดภัยจาก “วินัยและคุกตะราง” ในขณะที่อยู่ทำงานหรือจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ โดยไม่มีภาระหนี้สินพันตัวก็ถือว่าสุดยอดแล้ว 

มีข้อพิจารณาในปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญ 2 ประการว่า (1) คุณสมบัติของข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้มีสิทธิ์สอบที่มี“คุณสมบัติครบ” แต่อาจขาดหรือบกพร่องใน “ความสามารถ” วุฒิภาวะ ประสบการณ์ มากน้อยแตกต่างกัน ที่ทำให้การบรรจุแต่งตั้งขาดความลงตัวไปได้ หรือ (2) ในตำแหน่งตั้งแต่อำนวยการรวมบริหารต้นขึ้นไป ในกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งใน “ที่ที่เหมาะสม” หรืออาจเรียกว่า “ถึงบ้านแล้ว” อาจไม่อยากขยับย้ายกันเพราะการไปสอบเพื่อรับตำแหน่งใหม่ที่สูงขึ้น ไม่รู้ชะตากรรม ไม่ทราบว่าจะได้ไปลงที่ อปท.ใด การอยู่ไกลบ้านทำให้มีภาระปัญหาครอบครัว และค่าใช้จ่าย เป็นต้น ว่าไปในทั้งสองปัจจัยนี้ทำให้มีผู้สมัครสอบน้อยลง กล่าวคือ มีความไม่สมดุลระหว่าง (1) คนมีคุณสมบัติแต่ขาดประสบการณ์ (2) คนมีประสบการณ์แต่ขาดคุณสมบัติ และ (3) คนที่มีทั้งคุณสมบัติและมีประสบการณ์แต่ไม่สนใจไปสมัครสอบไม่ว่าจะจบการศึกษาปริญญาตรี หรือโท หรือเอก

 

การแต่งตั้งจากบัญชีผู้สอบได้

การสอบตำแหน่งบริหารอำนวยการฯครั้งนี้มีสองกรณีคือ (1) ในแท่งเดิมสูงขึ้น เรียก “การคัดเลือก” หรือ (2) ข้ามแท่งจากอำนวยการไปบริหาร จากวิชาการ/ทั่วไปไปอำนวยการเรียกว่า “การสอบคัดเลือก” ทำให้มีปัญหาในการพิจารณาการเรียงอาวุโส หรือ การให้คะแนน “ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในสายงาน” มีข้อสงสัยในเงื่อนไขการแต่งตั้ง (โอนย้าย) ว่าเป็นอำนาจของใครระหว่าง ก.จังหวัด กับ ก.กลาง เพราะ ก.กลาง ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้ดำเนินการสอบแข่งขัน และ สอบคัดเลือกสายบริหารอำนวยการฯ แต่เนื่องจากยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น จึงต้องยึดถือการบรรจุแต่งตั้งตาม พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 15 [7] ที่เป็นอำนาจของนายก อปท. และ โดยความเห็นชอบของ ก.จังหวัด ในประเด็นนี้เห็นว่า “แปลก” เพราะ ก.กลางเป็นผู้ดำเนินการสอบทั้งสอบแข่งขัน และ สอบคัดเลือกสายบริหารและอำนวยการฯ แต่ครั้นจะบรรจุแต่งตั้งกลับต้องย้อนกลับไปที่ ก.จังหวัด อีกครั้ง ในทางปฏิบัติมีปัญหายุ่งยากซ้ำซ้อนทางเทคนิคปฏิบัติเพราะ ก.จังหวัด มีแยกกัน 3 ก. และนอกจากนี้ ก.จังหวัดที่มากถึง 76x3=228 ก.

ตามร่าง พรบ.บุคคลฯ ฉบับใหม่ ในกรณีตำแหน่งบริหารอำนวยการฯ ว่างลง อปท. ต้องแต่งตั้งจากบัญชีสอบภายใน 60 วัน [8] ไม่มีการเปิดโอกาสให้รับโอนย้ายก่อน สำหรับตำแหน่งที่ว่างเดิม หรือสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปสอบเลื่อนตำแหน่ง จึงเป็นปัญหาการจัดคนสอบได้ลงตำแหน่ง (การแต่งตั้ง) หากพิจารณาแนวโน้มจากร่าง พรบ.บุคคลฯฉบับใหม่ เห็นว่าต่อไปการโอนย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นคงจะยากขึ้น หรือ อาจทำไม่ได้หรืออาจได้ย้ายแต่ย้ายไปในตำแหน่งว่างที่อยู่ไกล เพราะหากมีอัตราว่าง ตามหลักทั่วไปการโอนย้ายตำแหน่งในระดับเดิม  “ต้องโอนย้ายได้สะดวก ไม่ควรมีระเบียบฯ ใดมาล็อกปิดกั้น” การกำหนดว่า การแต่งตั้งต้องสอบขึ้นบัญชีไว้อย่างเดียวจึงไม่ถูกต้อง การลอกเลียนหลักการของ ก.พ. มาใช้กับท้องถิ่นต้องปรับใช้ให้ได้

 

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อสอบและธงคำตอบเพื่อความโปร่งใส

มีประเด็นตาม พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 คือ (1) การเปิดเผยคะแนนจำเพาะรายบุคคลที่ขอ และ (2) การเปิดเผยเฉลยปรนัย และธงคำตอบอัตนัยเป็นการทั่วไปไม่ได้แม้ว่า การเปิดเผยข้อสอบฯ หรือไม่ จะเป็นเรื่องของดุลพินิจ แต่เพื่อความโปร่งใส เทียบในการสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิต นบท. ภายหลังการสอบแล้วเสร็จที่จะเปิดเผยธงคำตอบ พร้อมกับคะแนนรวมและรายข้อของแต่ละบุคคลที่ผู้สอบสามารถขอดูของตนเองได้ เพื่อขอดูกระดาษคำตอบของตนเองและคะแนนที่ได้แล้วเอามาเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ไปขอดูด้วยกัน เช่นเดียวกับการสอบพนักงานอัยการผู้พิพากษา โดยเฉพาะ “การเปิดเผยเฉลยข้อสอบตาม (2)” อย่างไรก็ตามการเปิดเผยนั้น จะต้องไม่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาหรือร่างความเห็นของเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นอาจต้องรอการประกาศผลสอบหรือรอขั้นตอนการตรวจข้อสอบเสียก่อน ที่คาดว่าคงประกาศผลการสอบก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 นี้ [9] สำหรับกรณีตาม (1) เปิดเผยได้เฉพาะของตนเองและของคนที่สอบได้ เพราะกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้เข้าสอบแข่งขันไม่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลอันได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ให้เปิดเผย เช่น กรณีการสอบแข่งขันเข้าเรียนของ รร.สาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ [10] และมีตัวอย่างคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กรณีข้าราชการกรมการปกครองขอตรวจดูข้อสอบและผลเฉลยที่อุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกระดาษคำตอบและข้อสอบพร้อมเฉลยที่คณะกรรมการฯ “... ให้เปิดเผยกระดาษคำตอบและคำเฉลยข้อสอบแบบปรนัยซึ่งไม่มีเนื้อหาของข้อสอบทั้งคำถามและคำตอบพร้อมทั้งให้สำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องแก่ผู้อุทธรณ์ และเปิดเผยข้อสอบพร้อมเฉลยที่มีเนื้อหาของข้อสอบทั้งคำถามและคำตอบให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้โดยการเข้าตรวจดูแต่ไม่ให้สำเนา…” [11]

[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 31วันศุกร์ที่ 13- วันพฤหัสบดีที่ 19เมษายน 2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66

[2]คำสั่ง หน.คสช.ที่ 8/2560 ลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น, http://library2.parliament.go....

[3]ดู ประกาศ ก.ท.จ.เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเทศบาล (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) ข้อ 139 กำหนดให้เทศบาลรายงานตำแหน่งสายงานบริหารที่ว่างให้ ก.ท.จ. ทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งว่างหรือที่กำหนดขึ้นใหม่ แล้วดำเนินการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งบริหารที่ว่างภายใน 60 วัน โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธี ...

[4]ดู หนังสือ สำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008/ว 30 ลงวันที่ 15 กันยายน 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเทียบตำแหน่งอย่างอื่นเท่ากับการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตามรพะราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551, http://www.ocsc.go.th/sites/de...

[5]ตอบข้อสงสัย การขึ้นบัญชีบรรจุผู้สอบแข่งขันได้ ขรก.ท้องถิ่น 2560, เรียบเรียงโดยครูวันดีดอทคอม ข้อมูลจาก เฟซบุ๊กSuttipong Juljarern นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น,  3 ธันวาคม 2560, http://www.kruwandee.com/news-...36619.html

จะดำเนินการได้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

(1) มีการบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งว่างตามที่ อปท. ร้องขอให้แล้ว

(2) อปท. มีตำแหน่งที่ประสงค์ใช้การรับรองบัญชีผู้สอบแข่งขันได้นั้น เป็นตำแหน่งว่างภายหลังระยะเวลาที่ กสถ. ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันแล้ว และมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเป็นอัตราเงินเดือนสำหรับตำแหน่งดังกล่าวไว้

(3) อปท. ที่มีตำแหน่งว่างนั้น มีข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นตำแหน่งประเภททั่วไปในสังกัด อปท. นั้นเป็นผู้ได้รับการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ในตำแหน่งประเภทวิชาการ

หากครบตามเงื่อนไขดังกล่าวทั้งหมดจึงจะสามารถขอหนังสือรับรองเพื่อประโยชน์ในการย้ายเปลี่ยนสายงานของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่สอบได้ในตำแหน่งประเภทวิชาการนั้นได้ ซึ่งเมื่อมีการบรรจุผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งที่ อปท. ร้องขอจนครบแล้วจะได้มีการแจ้งรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

& การรับรองบัญชี ตามหนังสือ สำนักงาน ก.กลาง ที่ มท 0809.2/ว163 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 เรื่อง การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นภายหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งใช้สำหรับการย้ายสายงานและใช้ได้เฉพาะบุคคลที่เป็นข้าราชการแล้วเท่านั้น วิธีนี้ ไม่ดูฐานเงินเดือน เป็นกรณี การเปลี่ยนสายงาน (ข้ามแท่งจากทั่วไป เป็นแท่งวิชาการ), http://www.thailocalmeet.com/b...หนังสือ%20มท.0809.2ว163%20ลว.29%20กย.49.pdf

[6]ดู ร่าง พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....ฉบับ ก.ถ. (2561), http://www.local.moi.go.th/200...

[7]ดู พรบ .ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 15, http://www.local.moi.go.th/200...

มาตรา 15 การออกคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้ง การย้าย การโอน การรับโอน การเลื่อนระดับ การเลื่อนขั้นเงินเดือน การสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์หรือการอื่นใดที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ให้เป็นอำนาจของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนด แต่สำหรับการออกคำสั่งแต่งตั้ง และการให้ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดก่อน

อำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจมอบหมายให้ผู้บังคับบัญชาข้าราชการในตำแหน่งใดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนด

[8]ดูล่าสุด ตามร่าง พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... (ฉบับ สำนักงาน ส.ถ.), http://www.local.moi.go.th/200...

มาตรา  56  อปท. ใดมีตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่นและตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น หรือตำแหน่งอื่นที่  ก.ถ. ประกาศกำหนดว่างลง ให้ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นแต่งตั้งผู้ที่ผ่านการทดสอบจากบัญชีรายชื่อตามมาตรา  45 ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวภายใน  60 วัน

มาตรา  45 ให้  ก.ถ. ดำเนินการหรือจัดให้มีการสอบคัดเลือกและคัดเลือกด้วยการทดสอบความรู้ ความสามารถตามมาตรฐานสำหรับตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น  ประเภทอำนวยการท้องถิ่นและตำแหน่งสายงานบริหารสถานศึกษา หรือตำแหน่งอื่นที่  ก.ถ. ประกาศกำหนด  ตามระยะเวลาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการทดสอบเรียงตามลำดับคะแนนที่ผ่านการทดสอบ จากมากไปหาน้อย  แล้วประกาศบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการทดสอบนั้น พร้อมทั้งแจ้งให้ อปท. ทราบ เพื่อใช้แต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น ให้ดำรงตำแหน่งที่สอบคัดเลือกหรือคัดเลือกได้แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ก.ถ. อาจมอบให้ อ.ก.ถ.จังหวัด ดำเนินการแทนได้เท่าที่จำเป็น

ระยะเวลาการจัดให้มีการทดสอบต้องคำนึงถึงการเปิดโอกาสให้ผู้มีคุณสมบัติได้เข้ารับการทดสอบได้อย่างทั่วถึง

การทดสอบ  ขึ้นบัญชีผู้ผ่านการทดสอบ และรายละเอียดที่เกี่ยวกับการทดสอบ ให้เป็นไปตามที่ ก.ถ.ประกาศกำหนด

[9]สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะประธานอนุกรรมการสรรหาข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร (กสถ.) ชี้แจงเมื่อ 25 มีนาคม 2561 (วันสอบ)

[10]คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4126/2543, https://deka.in.th/view-36394....

กระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้เข้าสอบแข่งขันจึงมิใช่เรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์ จึงไม่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลอันได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ให้เปิดเผย

[11] คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 188/2558 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของกรมการปกครอง เกี่ยวกับกระดาษคำตอบและข้อสอบพร้อมเฉลย, http://www.oic.go.th/FILEWEB/C...

ที่ให้เปิดเผยกระดาษคำตอบและคำเฉลยข้อสอบแบบปรนัยซึ่งไม่มีเนื้อหาของข้อสอบทั้งคำถามและคำตอบพร้อมทั้งให้สำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องแก่ผู้อุทธรณ์ และเปิดเผยข้อสอบพร้อมเฉลยที่มีเนื้อหาของข้อสอบทั้งคำถามและคำตอบให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้โดยการเข้าตรวจดูแต่ไม่ให้สำเนา

หมายเลขบันทึก: 646411เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2018 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2018 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท