ชีวิตที่พอเพียง : 3154. ทำงานด้านข้อมูลหลักฐานเพื่อการพัฒนา



วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๑ ผมไปเป็นประธานประชุมมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP Foundation)   ซึ่งทำงานวิชาการด้านการสังเคราะห์หลักฐาน (evidence) เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย     มี นพ. ยศ. ตีระวัฒนานนท์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เป็นหัวหน้าใหญ่   คือเป็นเลขาธิการมูลนิธิ   มี ภญ. พัทธรา ลีฬหวรงค์ เป็นหัวหน้าหรือผู้อำนวยการสถาบันหรือหน่วยงาน   

 หน่วยงานนี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก    เพราะทำงานผลิตผลงานที่มีคุณภาพ   เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อใช้ทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค้า    โดยที่เรารู้กันดีว่า ทรัพยากรสาธารณะที่ใช้ในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านสุขภาพนั้น สูญเปล่าในสัดส่วนที่สูงมาก    คุณหมอยศบอกว่า ความสูญเปล่าของงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐   คือใช้เงินแบบเปล่าประโยชน์ หรือในบางกรณีเป็นโทษด้วยซ้ำ   

เมื่อหลายปีมาแล้ว มีผู้ประมาณการว่า ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ ๒.๔ ล้านล้านเหรียญ   สูญเปล่าประมาณปีละ ๘ แสนล้านเหรียญ 

หน่วยงานแบบนี้ ทำประโยชน์ให้แก่สังคมและแก่โลกมากมาย   แต่ก็ไม่วายมีคนเกลียดชัง    เพราะไปขัดผลประโยชน์เขา   

กลุ่มผลประโยชน์ (ที่มิชอบ) ชอบการปกครองแบบเผด็จการ    เพราะเจรจาผลประโยชน์ง่าย   และผู้มีอำนาจก็สามารถสั่งการต่างๆ ได้โดยใช้อำนาจ   ไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลหลักฐาน  

ยุคดังกล่าวจึงเป็นยุคถอยหลังของบ้านเมือง ที่กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาสังคมหยุดนิ่งหรือชะลอ    และมีการทำลายกระบวนการทางปัญญาของบ้านเมืองส่วนที่ไม่เอื้อผลประโยชน์ของกลุ่มเขา   

มูลนิธิ HITAP ก็ตกอยู่ในยุคทำงานให้แก่ประเทศไทยอย่างยากลำบาก   เพราะมีขบวนการที่นำโดย สตง. ตรวจสอบการเงิน  และกำหนดกติกาให้แหล่งทุนวิจัยเข้มงวดต่อการใช้จ่ายเงิน    ซึ่งที่จริงการตรวจสอบให้มีการใช้เม็ดเงินอย่างเหมาะสมและก่อผลคุ้มค่าเป็นสิ่งดี    แต่การกำหนดสัดส่วนค่าใช้จ่ายโดยไม่เข้าใจลักษณะงานวิจัยแบบที่ HITAP ทำ    ว่าเป็นงานสมองเป็นหลัก   ค่าใช้จ่ายจึงเน้นหนักไปที่ค่าสมอง หรือค่าคน   ไม่ใช่ค่าสิ่งของ หรือค่ากระบวนการ  

สังคมไทยยุคปัจจุบัน ผมตีความว่าเป็นยุค anti-intellectual  หรือยุคขจัดปัญญา    คนที่มีอำนาจส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้มีการวิจัยสร้างข้อมูลหลักฐาน เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า    เพราะเขาต้องการธำรงผลประโยชน์ของเขาหรือกลุ่มเขา   

แปลกมาก ที่ปัจจุบัน งานที่ HITAP ทำได้คล่องคืองานที่ทำให้แก่ต่างประเทศ เพราะความต้องการสูง   และแหล่งทุนเข้าใจธรรมชาติของงาน    น่าเสียดายที่ HITAP ทำประโยชน์แก่ประเทศไทยได้ยากขึ้น จากขบวนการสกัดองค์กรตระกูล ส.   ที่นำไปสู่ความยากลำบากในการทำงานทางปัญญาเพื่อประโยชน์ของประเทศ  

ขออภัยที่บันทึกวันนี้เขียนแนวลบ   เป้าหมายคือให้เป็นจารึกแห่งยุคสมัยไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ มี.ค. ๖๑

 


                                                              

หมายเลขบันทึก: 646367เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2018 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2018 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท