บุพเพสันนิวาส : เกร็ดชาวต่างชาติในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (โดยสังเขป)


ในละครบุพเพสันนิวาสจะเห็นพวกฝรั่งเดินเพ่นพ่านไปทั่วเมือง (ในที่นี้คือการกล่าวรวมชาวต่างชาติจากชาติตะวันตก ไม่ได้หมายถึงฝรั่งเศสชาติเดียว) ฝรั่งบางจำพวกโดยเฉพาะพวกที่ได้รับอำนาจในการดูแลการค้าจากพระคลังสินค้าจะวางอำนาจบาตรใหญ่ เป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้านอยุธยาและพ่อค้าต่างชาติ ในละครแสดงให้เห็นเช่น คำพูดของพี่ผิน พี่แย้มว่าฝรั่งน่ากลัวตัวใหญ่ยังกะยักษ์ เด็กวิ่งชนฝรั่งแล้วทุกคนก็หันมามองเกรงว่าเด็กจะถูกลงโทษ ฝรั่งบางคนเช่น คอนสแตนติน ฟอลคอนไม่มีความเกรงกลัวขุนนางอยุธยา (เรื่องฟอนคอนไม่ขอกล่าวในที่นี้)

ความหลากหลายของเชื้อชาติในอยุธยานั้นไม่ใช่มีเพียงฝรั่งผมทองชาติตะวันตกเท่านั้น ยังรวมถึงชาวจีน ญี่ปุ่น ตุรกี เปอร์เซียร์ มาลายู อินเดีย จาม ลาว มอญ เขมร มากัสซาร์ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นยุคทองของการค้าขายกับต่างชาติ กรุงศรีอยุธยาถือว่าเป็นรัฐเมืองท่านานาชาติที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตลาดกลาง เป็นคลังสินค้า ใช้หลบฤดูฝนช่วงมรสุม แหล่งเติมเสบียงและเติมน้ำจืด อยุธยาเปิดรับชาวต่างชาติหลายชาติให้เข้ามาค้าขาย ให้ชาวต่างชาติตั้งชุมชนได้ อีกทั้งมีขันติธรรมทางศาสนาให้ตั้งศาสนสถาน ให้เผยแพร่ศาสนาได้อีกด้วย จะเป็นการไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่าสังคมอยุธยาในช่วงนั้นเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

ตอนหนึ่งของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยากล่าวถึงชาวต่างชาติว่า

"จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา  
เป็นกรุงรัตนาราชพระศาสนา 
มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฏรจนา
สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล
จบสกลลูกค้าวานิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา
ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยา เป็นอัคคนิษฐ์"

เนื่องจากละครบุพเพสันนิวาส ได้ใช้ฉาก สังคมอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชดังนั้น จึงขอยกบันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส ชาวฝรั่งเศส ได้เขียนเรื่องราวของอยุธยาในสมัยรัชกาลนี้ และเขียนเกี่ยวกับชาวต่างชาติเอาไว้ดังนี้

"มีคนต่างด้าวเหล่าอื่นอีกเหมือนกันที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักร บ้างก็ถูกขับไล่ออกนอกประเทศของตน บ้างก็หลบหนีคดีอาญามา บ้างก็เพราะที่ทำกินและภูมิอากาศแห้งแล้ง ความสำคัญและประโยชน์ที่คนเหล่านี้อำนวยให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน ทำให้ได้รับพระกรุณาธิคุณมาก..."

กล่าวถึงชาวโปรตุเกสว่า

"คนต่างด้าวชาวปรอตุเกศที่ถอนตัวจากการรบในประเทศอินเดียเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก็เข้ามาตั้งรกรากเป็นนิคมอยู่ตั้ง 700-800 หลังคาเรือน... พวกมาลายูมีอยู่มากมายเหลือคณานับ..."

กล่าวถึงชาวฮอลันดาว่า 

" สำหรับชาวฮอลันดานั้นเป็นที่แน่ว่าได้ดำเนินการค้ารุ่นรวยและกว้างขวางมาแล้วตั้ง 40 กว่าปี...อาคารที่พวกเขาสร้างขึ้นริมฝั่งแม่น้ำในบริเวณใกล้นครหลวงนั้นนำว่างามและโอกาสที่สุดในราชอาณาจักร"

กล่าวถึงชาวจีนว่า

" คนจีนมีส่วนทำการค้ามากมายอยู่ในประเทศสยามมีปริมาณไล่เลี่ยกันกับพวกแขกมัวร์ทีเดียว..."

ย้อนกลับมาในละครบุพเพสันนิวาส อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า ฝรั่งบางจำพวกวางอำนาจบาตรใหญ่หาได้เกรงกลัวผู้ใดไม่ คงจะหนีไม่พ้นชาติฝรั่งเศส บันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส ได้กล่าวถึงพวกฝรั่งเศษเอาไว้ว่า

"...พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดปรานชาวฝรั่งเศสยิ่งกว่าชนชาติใดๆ โดยพระองค์ทรงถือว่าชาวฝรั่งเศสมีเกียรติและได้เปรียบที่ได้เกิดมาเป็นพสกนิกรของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ [ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 : ผู้เขียน ] จึงเป็นชนชาติที่เปี่ยมด้วยคุณสมบัติและคุณธรรมเหนือกว่าชนชาติใด ๆ ในพิภพ..." 

ชาวฝรั่งเศสมีบทบาทในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การเมือง การเมืองระหว่างประเทศ การทหาร รวมถึงวิทยาการต่าง ๆ ที่อยุธยาได้รับ หลังจากสิ้นรัชกาล พวกฝรั่งเศสก็หมดอำนาจไปจากอยุธยา มีเพียงไม่กี่ชาติเท่านั้น ที่สามารถค้าขายกับอยุธยาได้เช่นฮอลันดาหรือญี่ปุ่นเป็นต้น
#บุพเพสันนิวาส ดูเอาสนุกก็ได้ ดูเอาความรู้ก็ดี

เขียนโดย วาทิน ศานติ์ สันติ

ภาพจาก
Mello.me บุปเพสันนิวาส
ข้อมูลประกอบการเขียนจาก 
นิโกลาส์แชรแวส. (2550). ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). นนทบุรี : สำนักพิมพ์ศรีปัญญาจำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 2.
กำพล จำปาพันธ์. (2559).  อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก.  กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพลส

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Facebook Fanpage บทความไทยศึกษา คติชนวิทยา วันที่ 15 มีนาคม 2561



หมายเลขบันทึก: 645882เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2018 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2018 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท