PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๗ : ชื่นชมและวิพากษ์แผน PLC แบบ Kanyarat Model


ผมดีใจมากและยินดีมาก ที่ได้รับข้อความทางไลน์จาก ศน.กันยารัตน์ ไวคำ ศึกษานิเทศก์ผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ อบจ.ขอนแก่น ท่านส่งแผนขับเคลื่อนชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (PLC) มาให้ผมพิจารณาให้ความเห็น  เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ ผมขออนุญาตท่านสะท้อนความคิดเห็นของตนเองผ่านบันทึกนี้  

ผมนำเอากระบวนการ PLC ที่ท่านส่งมาให้ (ดาวน์โหลดที่นี่) วาดเป็นแผนภูมิบนฐานคิดของการเรียนการสอนแบบอุปนัยดังรูป ซึ่งผมเคยเขียนไว้ในคราวถอดบทเรียนคุณครูจิรนันท์ จันทยุทธ์ (อ่านที่นี่



กระบวนการ PLC ที่เสนอดังแผนภูมิ เริ่มด้วยกระบวนการพัฒนาครูโดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ ๓ วัน  คาดหวังทั้งองค์ความรู้และทักษะเชิงกระบวนการ (Lesson Study, PLC แบบคุรุสภา) และทักษะการปฏิบัติงานผ่านการทดลองออกแบบการเรียนรู้และสาธิตการสอน และรวมถึงการสร้างความเข้าใจและทักษะการคิดด้วยการสะท้อนผลแบบ PLC ที่กำหนด "รูปแบบ" ไว้ 

หนึ่งเดือนถัดมา คาดหวังให้คุณครูผู้เข้าร่วมกลับไปปฏิบัติจริงในโรงเรียน โดยมีเงื่อนไขให้ปรับปรุงหลักสูตร (น่าจะเป็นหลักสูตรการทำ PLC ในโรงเรียน) และออกแบบการเรียนรู้ขึ้นใหม่ในโรงเรียนของตนเอง(รอบที่ ๑)  ก่อนจะเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มา "พาวิพากษ์และสะท้อน" ร่วมกับศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการโรงเรียน โดยให้ครูแกนนำเป็นผู้สาธิตการสอน 

หลังจากฟังการวิพากษ์จากผู้เชี่่ยวชาญและศึกษานิเทศก์ ให้โรงเรียน (น่าจะหมายถึงครูและผู้บริหาร) ทำ AAR ด้วยตนเองรอบที่ ๑ เพื่อพัฒนารูปแบบหลักสูตรฯ และรูปแบบการสอนของตน ๆ 

นำเอาผลการ AAR ของโรงเรียน มาปรับในการออกแบบการเรียนรู้รอบที่ ๒ และเริ่มนำไปปฏิบัติจริง โดยให้ตัวแทนครูท่านใหม่เป็นผู้สาธิตการสอน ให้ครูแกนนำ (ซึ่งเคยทำแล้ว) ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ในรอบนี้ให้ศึกษานิเทศก์เป็นผู้วิพากษ์และสะท้อนผล ก่อนโรงเรียนจะทำ AAR กันอีกเป็นรอบที่ ๒

นำเอาผลการ AAR รอบที่ ๒ ของโรงเรียน มาปรับในการออกแบบการเรียนรู้รอบที่ ๓ ให้ครูท่านใหม่ที่เหลือเป็นผู้สาธิตการสอน ครูผู้เคยสาธิตแล้วเป็นพี่เลี้ยง และให้ครูแกนนำและผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้วิพากษ์และสะท้อนผล  ก่อนจะจบด้วยการทำ AAR ของโรงเรียนรอบที่ ๓

หากมีเวลาเหลือหรือมีครูที่ยังไม่เคยสาธิตการสอน ให้เริ่มกระบวนการรอบที่ ๔ ที่่ ๕ ต่อไปจนปิดภาคเรียนหรือจนครบทุกท่าน 

สุดท้ายมีการจัด AAR ด้วยกิจกรรม ๔ ตอน ได้แก่ ๑)มีอะไรในกอไผ่นอกจากหน่อไม้ ๒) คุณค่าของปีการศึกษา ๒๕๖๐ คืออะไร ๓) คลี่แบบอย่างแยบยล และ ๔) ก้าวหน้าอย่างท้าทาย ... อันนี้น่าสนใจยิ่งครับ  อบจ.จะได้องค์ความรู้มือหนึ่งไปใช้ในการพัฒนาอย่าง "ต่อเนื่อง" ความต่อเนื่องนี้เองที่จะเป็นหัวใจให้บรรลุผลสำเร็จ 

ความคิดเห็นของผู้เขียน

๑) "การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่" หากสามารถทำได้ตามกระบวนการนี้  เพราะกระบวนการนี้มีองค์ประกอบของความสำเร็จของ PLC ที่สำคัญ ๒ ประการคือ ๑ คือความต่อเนื่อง ครูจะได้อยู่และผ่านกระบวนการกลุ่มแบบ PLC อย่างน้อยถึง ๓ รอบ อีกประการหนึ่งคือการสนับสนุนจากต้นสังกัด (อบจ.) ผ่านการทำงานขับเคลื่อนของทีม ศน. .... ขอชื่นชมจากระยะไกลครับ

๒) "เหนื่อยแน่"  เพราะเป็นกระบวนการที่ทีมขับเคลื่อน  โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์ ครูแกนนำ และผู้อำนวยการ ต้องให้ใจจริงๆ ต้องใส่ใจจริงๆ จึงจะสามารถบรรลุตามกระบวนการที่วางไว้ทุกขั้นตอนได้ เนื่องจากทดลองสาธิตการสอนเพียงรอบเดียว เห็นการวิพากษ์และสะท้อนของผู้เชี่ยวชาญเพียงรอบเดียว ยากยิ่งที่จะสามารถทำได้ด้วยตนเองทันที ในขณะที่ต้องทำหน้าที่พี่เลี้ยง.... ข้อแนะนำคือ ปรับให้ง่ายขึ้น โดยต้องปรับอย่างมีส่วนร่วม คือจัด PLC แกนนำกลุ่มเล็กก่อน เพื่อร่วมกันปรับกระบวนการให้สามารถนำไปปฏิบ้ติได้จริง ท่ามกลางภาระงานอันหนัก

๓) ในช่วงการพัฒนาครู ๓ วัน ควรได้ผลผลิต (Output) เป็นหลักสูตร (PLCในโรงเรียน) และแผนการสอนที่สามารถนำไปใช้ได้เลย โดยจัดกระบวนการให้ผู้เชี่ยวชาญได้วิพากษ์แผนก่อนนำไปใช้  (ไม่ใช่รอไปวิพากษ์และสะท้อนหลังการปฏิบัติเท่านั้น) 

๔) ในช่วงการพัฒนาครู ๓ วัน ควรมีผลลัพธ์ คือ ครูแกนนำและผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถวิพากษ์และสะท้อนการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  และมีผลผลิต (Output) เป็นเครื่องมือนำร่องในการทำ PLC 

๕) ในช่วงการพัฒนาครู ๓ วัน ควรแยกกลุ่มผู้บริหารโรงเรียน มาร่วมกันกำหนดบทบาทและแนวทางในการทำหน้าที่ของตนให้ชัดเจน และกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน รวมถึงการทำแนวปฏิบัติในการติดตามเชิงบวก 

๖) หลังจากการทำ AAR ในทุกขั้นตอน ควรมีตัวแทนในการเขียนบันทึเผยแพร่ แลกเปลี่ยน .... เหมือนที่ผมได้ทำเป็นตัวอย่างแล้ว 


ขอชื่นชมและบูชาครูเพื่อศิษย์ทุกท่านครับ ... สู้ ๆ ครับ  จะสำเร็จไม่สำเร็จ บรรลุไม่บรรลุ ... อานิสงส์จะเกิดกับลูกหลานเราไม่มากก็ไม่น้อยแน่นอน...

หมายเลขบันทึก: 645854เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2018 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2018 06:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท