ชีวิตที่พอเพียง 3117. PMAC 2018 : 1. การประชุมวิชาการโครงการเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ ๖


สัปดาห์แห่งการรับใช้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พ.ศ. ๒๕๖๑ เริ่มวันจันทร์ที่ ๒๙ มกราคม ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เต็ม ๗ วัน

เริ่มด้วยการประชุม Side Meeting จำนวน ๔๐ การประชุม ในวันที่ ๒๙ และ ๓๐ มกราคม   โดยผมไปร่วมการประชุมวิชาการโครงการเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Youth Program Conference)  ในวันที่ ๒๙

การประชุมวิชาการโครงการเยาวชน มีรูปแบบลงตัวแล้ว    คือจัด ๒ วันที่โรงแรมเซนทาราเวิร์ล ซึ่งเป็นสถานที่จัด PMAC   และยังมีการประชุมเฉพาะเรื่องตามคณะแพทยศาสตร์ในกรุงเทพและต่างจังหวัดด้วย  ปีนี้มีจัดที่ศิริราช (Systems Biology) ในวันที่ ๓๐  และ มข.  (Patient-Centered Care) ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์

การประชุมวิชาการโครงการเยาวชน ปีนี้ เป็นปีที่ ๖   โดยที่โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลดำเนินการมาครบ ๑๐ ปีแล้ว    คือเริ่มปี พ.ศ. ๒๕๕๑  วันที่ ๒๙ ผมอยู่กับการประชุมวิชาการโครงการเยาวชน ตลอดทั้งวัน   โดยการประชุมเริ่มด้วยคำกล่าวรายงานของประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ศ. นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล ()  และคำกล่าวเปิดของผม (

หลังจากวีดิทัศน์เล่าเรื่องมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  และโครงการเยาวชน   เป็นการนำเสนอของผู้ได้รับพระราชทานทุนรุ่นที่๗ จำนวน ๕ คน   เรื่องที่ไปศึกษาของสองคนแรกเชื่อมโยงกับการศึกษาแพทยศาสตร์คือเรื่องการเรียนจาก simulationที่ฮาร์วาร์ด  ที่เป็นการเรียนเป็นทีมหลายวิชาชีพ   กับเรื่องการเรียน patient-centered care ในหลักสูตรการศึกษาแพทย์ในอังกฤษ  ซึ่งเขาให้เวลาไปฝึกใน Family Medicine มากกว่าในบ้านเรามาก  

อีกสองเรื่องเป็นโรคในกลุ่มโรคเรื้อรังหรือNCD   ที่มีการวิจัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านgenomics ที่ซับซ้อน  สะท้อนความก้าวหน้าในการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจกลไกทางพันธุศาสตร์ของโรคที่เรียกว่าอยู่ในกลุ่มmultifactorial diseases   คือเกิดจากทั้งสาเหตุทางพันธุกรรม ร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม    และที่น่าตื่นตาตื่นใจคือการศึกษากลไกการถ่ายทอดลักษณะผิดปกติแบบซ่อนเร้น จากพ่อแม่ไปสู่ลูกหลานโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่DNA sequence ที่เรียกว่า epigenetics    เป็นกลไกทำให้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่นโรคอ้วนเบาหวาน อย่างซับซ้อนยิ่ง   โดยที่ยังเข้าใจกลไกไม่ชัดเจน   

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย   ที่หากไม่ระมัดระวังจะสิ้นเปลืองทรัพยากรมหาศาล โดยเกิดประโยชน์น้อย    งานวิจัยที่ทำเป็นการนำข้อมูลผู้เสียชีวิต๒๕,๐๐๐ คน ในช่วงปี 2010– 2015 ในพื้นที่หนึ่งของรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา    ให้ผลที่อาจารย์ mentor ตลึง  เพราะตรงข้ามกับที่คาดไว้    คือการเขียนใบแจ้งความจำนงในช่วง๓๐ วันสุดท้าย ให้หมอไม่ช่วยยืดชีวิต   สู้การเขียนไว้ล่วงหน้านานๆ ไม่ได้   โจทย์วิจัย  วิธีการวิจัยและผลการวิจัยนี้ ปูทางสู่การวิจัยเชิงระบบในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้อีกมาก

อาจารย์ mentor ต่างประเทศพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า    หากมี PMA YP scholar ที่ดีเช่นนี้ให้ส่งไปให้เขาอีก  

ช่วงบ่าย เป็น Symposium เรื่อง บทบาทของปัจจัยด้าน genetic และepigenetic ต่อการทดสอบกรองและการป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ ๒   ที่ให้ความรู้มากมาย   สะท้อนความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้เชิงลึกและความรู้เชิงประยุกต์  

ผู้เข้าร่วมประชุมเต็มห้องนับได้ ๑๖๐ คน  มีนักศึกษาแพทย์มาจากโรงเรียนแพทย์ต่างจังหวัดหลายแห่ง    บรรยากาศของการประชุมคึกคักกว่าปีก่อนๆ   โดยที่ของปีก่อนๆ ก็คึกคักมากอยู่แล้ว     

เห็นได้ชัดเจนว่าโครงการเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กำลังทำหน้าที่เอื้อโอกาสให้เยาวชนทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพไทยในเรื่องใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญ   โดยที่ผู้บริหารของโรงเรียนแพทย์ก็เข้ามาใช้เป็นกลไกสร้างการเปลี่ยนแปลง   

น่าพิศวงมากว่าในเวลาเพียง ๑ ปี  ผู้รับทุนสามารถผลิตผลงานและเรียนรู้ได้มากถึงเพียงนี้

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ม.ค. ๖๑

Aichart blog23feb18 from Pattie KB

Vicharn blog23feb18 from Pattie KB
หมายเลขบันทึก: 645035เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2018 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2020 08:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท