นิยาม Virtual Currency



ปรเมศวร์ กุมารบุญ นบ. วศ.บ. วท.ม. วฟส.

ถ้าจะให้ นิยาม Virtual Currency เหรอ? ผมจะว่าอย่างนี้ 
       หมายถึง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นหน่วยย่อยมีมูลค่า (Value Unit) ตามอุปสงค์และอุปาทานในกลไกตลาด ไม่ใช่เงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎมายขึ้นอยู่กับความสมัครใจระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ และไม่ใช่ทรัพย์ตามกฎหมายแพ่ง แต่เป็นทรัพย์สินตามกฎหมายแพ่ง
 
คำอธิบาย
       เพื่อค้นหารากศัพท์ที่ใช้มานิยามให้สอดคล้องกับสากลและกฎหมายไทยให้มากที่สุด จึงได้พิจารณาเทียบเคียงกับเอกสาร ๔ ชิ้น คือ 
        ๑.๑ Guidance for a RISK-BASED approach, VIRTUAL CURRENCIES, June 2015, FINANCIAL ACTION TASK FORCE (FATF)
        ๑.๒ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
        ๑.๓ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
        ๑.๔ พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑
      ๑.๕ ข่าวธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๘/๒๕๕๗ เรื่อง ข้อมูลเกี่ยวกับ Bitcoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ลักษณะใกล้เคียง

โดยสามารถอธิบายการนิยามศัพท์และให้ความหมายได้ดังนี้
      ในประโยคแรกร่างนิยาม Virtual Currency หรือ Crypto Currency ที่กล่าวว่า “หมายถึง ข้อมูลคอมพิวเตอร์  ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์....” พยายามกล่าวถึงการอธิบายสิ่งที่ระบบคอมพิวเตอร์ทำการประมวลผลออกมาเพื่อใช้งานจะเรียกว่าอย่างไร
     ใน พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ (ตามเอกสารข้อ ๑.๒) ได้บัญญัตินิยามไว้ในมาตรา ๓ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์  หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด บรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย”
 

    ดังนั้นจึงเรียกสิ่งที่ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลออกมาให้ใช้งานว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” อันหมายรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ 
              ประโยคถัดมาในร่างนิยาม “....ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นหน่วยย่อยมีมูลค่า (Value Unit) ตามอุปสงค์และอุปาทานในกลไกตลาด...” เพื่อขยายความ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” นั้น มีหน่วยย่อยที่มีมูลค่า โดยอ้างอิงสอดคล้องกับเอกสาร Guidance for a RISK-BASED approach, VIRTUAL CURRENCIES, June 2015, FINANCIAL ACTION TASK FORCE (FATF) (ตามเอกสารข้อ ๑.๑) ได้นิยามศัพท์ Virtual currency ในหน้า ๒๖ ข้อ (๒) ไว้ว่า
        Virtual currency is a digital representation of value that can be digitally traded and functions as (1) a medium of exchange; and/or (2) a unit of account; and/or (3) a store of value, but does not have legal tender status.
      ส่วนความหมายที่อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันนั้นมีหน่วยย่อยที่มีมูลค่า “ตามอุปสงค์และอุปาทานในกลไกตลาด” นั้นมาจากเอกสาร ข่าวธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๘/๒๕๕๗ (ตามเอกสารข้อ ๑.๕) ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับประชาชนว่า “Bitcoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และไม่มีมูลค่าในตัวเอง มูลค่าของหน่วยข้อมูลดังกล่าวแปรผันไปตามความต้องการของกลุ่มคนที่ซื้อขาย” 
         ดังนั้นจึงได้อธิบายเพิ่มเติมในร่างนิยามประโยคถัดมาว่า “ไม่ใช่เงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎมายขึ้นอยู่กับความสมัครใจระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้....”
            ประโยคที่ว่า “ไม่ใช่เงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา....” นั้นสอดคล้องกับเอกสาร Virtual currency ของ FATF ในหน้า ๒๖ ที่ว่า “but does not have legal tender status” (ตามเอกสารข้อ ๑.๑) และสอดคล้องกับ พรบ. เงินตราฯ (ตามเอกสารข้อ ๑.๔) ซึ่งได้บัญญัติความหมายของเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย อันมีมูลค่าจริงมีหลักประกันเช่นทองคำของรัฐ ทั้งเงินบาทไทยและเงินต่างประเทศที่มีรัฐบาลรับรอง
         ทั้งนี้ ประโยคที่ว่า “ขึ้นอยู่กับความสมัครใจระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้” นั้นหมายถึง หากลูกหนี้ขอชำระหนี้ด้วยสิ่งอื่นแทนเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายและเจ้าหนี้สมัครใจรับ ก็ถือเป็นการปลดหนี้
           และในประโยคสุดท้ายของร่างนิยามกล่าวว่า “....และไม่ใช่ทรัพย์ตามกฎหมายแพ่ง แต่เป็นทรัพย์สินตามกฎหมายแพ่ง”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ตามเอกสารข้อ ๑.๓) มาตรา ๑๓๗ “ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง” มาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Matter” อันมีความหมายเป็น Object ดังนั้น Virtual Currency อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ไม่ถือเป็น ทรัพย์ ตามกฎหมายแพ่ง แตกต่างจากธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่จับต้องได้ 
          “.....แต่เป็นทรัพย์สินตามกฎหมายแพ่ง” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ตามเอกสารข้อ ๑.๓) มาตรา ๑๓๘ บัญญัติไว้ว่า “ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้” มาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Property”
          วัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งมีราคาและถือเอาได้ นั้นเป็นที่เข้าใจได้ง่ายโดยทั่วไป แต่วัตถุที่วัตถุที่ไม่มีรูปร่าง อันมีราคาและถือเอาได้ คือวัตถุที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มีมวล อย่างเช่น กาซ แสง อิเลคตรอน รวมถึงสิทธิอื่นที่ไม่ใช่วัตถุเช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ดังนั้นจึงตีความรวมถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยย่อยที่มีมูลค่านี้ด้วย 



ถ้าจะแปลเป็นไทยเหรอ? Virtual Currency ผมจะเรียกว่า เงินเสมือน
        Virtual Currency เป็นคำที่เรียกถูกต้องเกี่ยวกับการอธิบายเงินดิจิทัลที่คนไทยเข้าใจทั่วไป ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นหน่วยข้อมูลคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องกับเอกสารของ FATF (ตามเอกสารข้อ ๑)
             ดังนั้น Virtual Currency ควรเรียกเป็นภาษาไทยว่า “เงินเสมือน” มากกว่าเงินดิจิทัลหรือเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือเงินคริปโต หรือคำอธิบายอื่นที่ขยายต่อท้ายคำว่า “เงิน” เพราะคำว่า “เงิน” หมายถึงเงินที่ถูกกฎหมายตาม พรบ.เงินตราฯ ดังนั้นหากใช้คำว่า “เงินเสมือน” จึงเป็นการชัดเจนว่าไม่ใช่เงินที่ถูกต้องตามกฎหมายและสอดคล้องกับ FATF
           หากในอนาคตมีความต้องการรักษาข้อมูลบัญชีธนาคารของประชาชนที่เป็นเงินตราที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วยเทคโนโลยี Block chain ที่มีระบบ Distributed ledger ที่มีการเข้ารหัส อาจะเรียกว่า Crypto currency เพื่อความเข้าใจตรงกัน

หมายเลขบันทึก: 644694เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2018 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2018 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท