การศึกษาไทย ปัญหาที่แก้ไขได้ ด้วยแผนการสอนและการนิเทศการสอน


ผู้คนพูดถึงการศึกษาไทยที่ไม่ได้มาตรฐาน เหลื่อมล้ำคุณภาพไม่เท่าเทียม ใครอยากให้ลูกได้เรียนดีเรียนเก่งต้องส่งไปเรียนในโรงเรียนดังตั้งแต่อนุบาล เพื่อไต่เส้นทางแห่งความสำเร็จไปสู่ยอดปิรามิดของสังคม  การกวดวิชาเพื่อสอบเข้า อนุบาลยันมหาวิทยาลัยจึงฟูเฟื่อง และเกิดผลสำเร็จทั้งผู้เรียนและเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาอย่างปฏิเสธไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่ผมแปลกใจและกังขามาตลอดคือ โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ มักจะได้รับการยอมรับว่าสอนดี น่าเชื่อถือกว่าโรงเรียนรัฐบาลทั่ว ๆไป โดยเฉพาะโรงเรียนวัด โรงเรียนตามชนบทหากผู้ปกครองมีเงินมีทองพอจะส่งลูกนั่งรถตู้ไปเรียนเอกชนกันมากขึ้นเรื่อย ๆ พูดอย่างนี้ไม่ใช่ผมคิดว่าโรงเรียนวัดโรงเรียนรัฐบาลไม่ดี หากจะกล่าวกันโดยเอาความสามารถในการสอบเข้าบรรจุรับราชการของคุณครูแล้วโรงเรียนวัดของรัฐบาลประกอบไปด้วยครูที่เก่ง อย่างน้อยก็เป็นครูที่สอบได้สอบผ่านจนมาบรรจุรับราชการกันนั่นแหละ ส่วนครูเอกชนพูดก็พูด ส่วนหนึ่งคือพวกที่ยังสอบบรรจุไม่ได้ ก็ไม่ใช่ว่าไม่เก่งแต่ยังสอบไม่ได้ แสดงว่าน่าจะมีคนเก่งกว่า หากผู้ปกครองกลับยอมรับและนิยมโรงเรียนเอกชนมากขึ้น ๆ อย่างน่าตกใจ และดูเหมือนอีกเช่นกันว่าเด็กจากโรงเรียนเอกชนโดยภาพรวมจะมีระเบียบวินัย และมีความรู้ความสามารถและพัมนาการได้อย่างใจของผู้ปกครองที่ส่งไปเรียนเสียด้วยในภาพรวม ผมลองไปถามคนที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนวัดส่วนใหญ่ก็พูดตรงกันว่าไม่มีทางเลือกพร้อมปลอบใจตัวเองว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน

ผมมีประสบการณ์เป็นครูมา 11 ปี และเกี่ยวดองหนองยุ่งกับครูและผุ้บริหารในรร.ประถมมัธยมมา กว่า 20 ปี สิ่งหนึ่งที่ผมพบก็คือ ไม่ใช่ว่าโรงเรียนวัด โรงเรียนรัฐไม่พร้อม ไม่ใช่ครูไม่เก่ง ไม่ใช่เพราะผู้บริหารประสิทธิภาพต่ำ แต่สิ่งหนึ่งที่รร.รัฐ รร.วัดไม่ทำ ทำแบบแค่ขอให้ทำ ทำโดยไม่ตั้งใจ ปล่อยผ่านละเลย หรือแม้กระทั่งไม่ทำเลยก็คือการควบคุมกำกับติดตามผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก ผ่านการจัดทำแผนการสอนและการนิเทศการสอนอย่างเข้มข้น จริงหรือไม่ว่าที่เราจัดการศึกษาทุกวันนี้เราต้องการเปลี่ยนเด้กจากผู้ไม่รู้ให้รู้ และสิ่งที่เด็กต้องรู้คืออะไร นั่นก็คือผลลัพธ์การเรียนรู้ที่แต่ละวิชา แต่ละชั้นปี แต่่ละประโยคมีความมุ่งหมายให้เกิด ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย ครูทุกคนมีแผนการสอนแต่ผมเชื่อว่ามีไม่กี่เปอร์เซ็นที่ครูทำแผนการสอนเอง และเหลือน้อยเปอร์เซ็นมากที่จะสอนไปตามแผนการสอน เมื่อครูไม่ทำแผนการสอนเอง ไม่สอนตามแผนการสอน ไม่แปลกที่การวัดและประเมินผลจึงไม่สามารถบอกได้ว่านักเรียนทุกคนได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่ควรจะได้ในแต่ละเรื่องหรือไม่ ผมพบว่ามีเพื่อนครูส่วนหนึ่งออกข้อสอบกลางภาค ปลายภาคจากการหาข้อสอบในอินเตอร์เน็ต โดยครูไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้อสอบข้อนั้นและหลาย ๆ ข้อรวมกันเป็นชุด วัดเลิร์นนิ่งเอาท์คัมอะไร มิพักต้องพูดถึงครูประเภทที่ไม่เคยมี ไม่เคยทำ ไม่เคยส่งแผนการสอนและสอนแบบไม่มีแผน ที่ปัจจุบันแปลงร่างกลายร่างไปเป็นผ.อ.โรงเรียนเรียบร้อยแล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านที่มีใจเป้นกลางคงเกิดคำถามว่า มีเยอะไหม รร.แบบนี้ ส่วนท่านผุ้อ่านที่เป้นครูและผู้บริหารในวงการศึกษาคงร้อนอกร้อนใจและหาเหตุผลต่าง ๆ นานามาเถียงอยู่ อาทิ แผนการสอนก็เป็นแค่กระดาษ ครูที่ชำนาญเชี่ยวชาญพิเศษสอนมาเป็นสิบปีไม่มีแผนก็สอนได้ อย่าเหมารวมครูไม่ได้เป็นแบบนี้กันทั้งหมด ฉันสอนแบบมีแผน สอนตามแผนก็ไม่เห้นจะมีอะไรดีขึ้นมา ครูงานเยอะ กิจกรรมมากอบรมมาก จะเอาเวลาที่ไหนไปทำแผนการสอน บริบทชุมชนสังคมต่างกันเราไม่อาจทำให้เกิดได้เหมือนโรงเรียนดัง ๆในเมือง ข้ออ้างทั้งหมดนี้ผมขอตอบด้วยคำๆเดียวว่า ในโรงเรียนเอกชนมีสภาพแบบที่ท่านอ้างหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะเอกชนในต่างจังหวัด แต่โรงเรียนเอกชนก็มีการทำแผน สอนตามแผน นิเทศและควบคุมการสอนให้เป้นไปตามแผนอย่างเป้นระบบ ส่วนคำถามที่ว่ามีเยอะไหม รร.แบบที่ไม่ทำแผนไม่สอนการแผนไม่นิเทศการสอน ตอบแบบถนอมน้ำใจ คือ แค่บางส่วนเท่านั้นแหละครับ แต่เท่าที่ผมเจอมา ยังไม่เจอดรงเรียนที่ทำเรื่องนี้จริงจัง ซักโรงเรียนเดียว เหตุที่ครูไม่ทำแผนการสอน ไม่สอนตามแผน ไม่วัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามแผน เพราะผู้บริหารไม่จัดระบบนิเทศติดตาม รร.ที่ผมพบเห็นส่วนมาก ครูมีอีโก้สูงไม่ยอมให้ใครเข้ามานั่งดูตัวเองสอน การนิเทสการสอนเป้นแค่เพียงการส่งแผนที่ปริ้นท์มาจากแผ่นที่สำนักพิมพ์ซึ่งขายหนังสือให้โรงเรียนแจกมา เปลี่ยนชื่อแล้วทำส่งวางบนโต๊ะรองวิชาการหรือโต๊ะผ.อ. แล้วท่านก็เซ็นต์ให้ใช้สอนได้ จากนั้นแผนการสอนก็จะถูกเก็บเข้าแฟ้มไว้ประเมินตัวครูปลายปี ประกันคุณภาพปลายเทอม หรือบางกรณีถูกรื้อออกมาอีกทีตอนกรรมการมาตรวจประเมินด้านที่ 1 ในตอนที่จะขอเลื่อนวิทยฐานะเป็น คศ.2-3-4-5

มีคนเคยถามผมว่าทำไมโรงเรียนกวดวิชาประสบความสำเร็จ เพราะโรงเรียนกวดวิชาวัดความสำเร็จของติวเตอร์และความสำเร็จของโรงเรียนด้วย ผลการเรียนรู้ที่เกิดกับผุ้เรียนครับ อย่างน้อยที่สุด นักเรียนมี "ของ" เข้าไปในห้องสอบแน่ ๆ แต่รร.ในระบบเราไม่ได้สอนให้เด็กไปแข่งในสนามสอบเท่านั้น มีอีกร้อยพันอย่างที่ต้องสอน แต่กระนั้น  "ของ"ที่เด้กต้องใช้ในสนามสอบ เราก็ไมอาจมีให้เด้กติดตัวไป ผมจึงเชื่อล่ะครับว่า แผนการสอนและการนิเทศติดตามการสอนจะเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับการฟื้นคืนสถานภาพของการศึกษาเรียนรู้ของเด็กไทย ต่อข้อแย้งที่ว่า เด็ก มาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี พ่อแม่ยากจน ต้องทำงานบ้าน รับจ้างหาเงิน ไม่มีสมาธิมาเล่าเรียนจึงคาดหวังอะไรไม่ได้มาก ผมคิดว่าอันนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราครับที่ต้องช่วยกันยิ่งเด้กมีสภาพแวดล้อมทางบ้านแย่เท่าไหร่เรายิ่งต้องช่วยเขาให้พ้นจากสภาพแวดล้อมนั่นไม่ใช่หรือ

ย้อนไป30 กว่าปีที่แล้ว ตัวผมเอง เป็นนักเรียนโรงเรียนวัด ครูมี 5 คน บ้าง 6 คนบ้างแล้วแต่จังหวะ กับนักเรียนประมาณ 7 ห้อง ตั้งแต่ ป. 4 ผมแทบไม่ได้เรียนกับครูที่สอนหน้าชั้น ผมต้องเรียนกับรายการวิทยุของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยแบบเรียนสำเร็จรูป แปลกแต่จริง การเรียนแบบนั้นพวกเรากลับมีผลการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม เหตุผลหนึ่งที่ผมพอจะยกขึ้นมาได้ก็เป้นเพราะการสอนผ่านวิทยุและการแบบเรียนสำเร็จรูปควบคู่ไปนั้นได้ถูกวางแผนการสอนและการวัดผลการเรียนรู้ไว้อย่างดีแล้ว เวลาไปสอบแล้วต้องเอาคะแนนไปเทียบกับใคร ๆ เราจึงไม่เคยน้อยหน้า มากกว่านั้นื เราซื่อสัตย์ เพราะในแบบเรียนมีเฉลยล่อใจ แต่เราไม่เคยเปิดก่อน เรามีจินตนาการเพราะเรื่องราวที่ผูกโยงในบทวิทยุมันไม่เห็นภาพต้องจินตนาการตาม เราซึมซับการพูดการสอนการจัดรายการวิทยุ การอ่านด้วยสำเนียงทำนองท่วงท่าและลีลาที่ถูกต้องจากรายการวิทยุนั่น เมื่อพ้นเวลาบ่ายแ่ก ๆ ที่จะไม่ค่อยมีรายการ เราเอาเวลาไปทำแปลงเกษตร เรียนพละ เล่นกีฬา แบกหิน เทปูน ขนทรายช่วยวัดและดรงเรียนในกิจการก่อสร้างโบสถ์วิหาร ศาลาพักร้อน ที่นั่งใต้ต้นมะขาม 

ไม่รู้สิครับ ก็เลยได้เป็นอย่างที่เป็น ผมไม่มีเจตนาจะกล่าวหาว่าใครอย่างเหมารวม แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า แค่เราเริ่มจากจุดนี้คือ สอนอย่างมีแผน สอนตามแผน วัดผลตามแผน และนิเทศติดตามการสอนตามแผน เท่านี้เราจะยกระดับการศึกษาของเด้ก ๆ เราได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว 

ขออภัยและขอบคุณ

คำสำคัญ (Tags): #แผนการสอน
หมายเลขบันทึก: 643998เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2018 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2018 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุณแสวงเขียนได้ตรงมาก..ตรงตามที่เป็นอยู่จริง..ตรงใจผมและตรงกับปัญหาที่เป็นอยู่ ผมและ คุณครูผู้อ่าน ก็เชื่อว่า..เห็นด้วยทุกประการ..ว่าแผนการสอนและการนิเทศ..มีความสำคัญและแก้ปัญหาการศึกษาได้

ผมให้น้ำหนัก..ที่การนิเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง..ทุกวัน มากกว่าแผนการสอน ทำแบบนี้มาหลายปี เด็กอ่านคล่องเขียนคล่อง..ครูหายใจคล่อง..ผู้ปกครองย้ายลูกมาเรียน..มากขึ้นเป็นลำดับ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เด็กไม่เคยลดลงเลย..

ผมเคยเป็นครู..ที่ใช้..สมุดนัมเบอร์ ทำบันทึกการสอน..ต่อมาเป็น ศน. มองปัญหาโรงเรียนได้ตลอดแนว ปัจจุบันเป็น ผอ.โรงเรียน เกือบ ๒๐ ปี แล้ว...

๕ ปีแล้ว..ให้ครูทำแผนแผ่นเดียว สาระเดียว ลดภาระครู..เพราะครูมีหลายงานเหลือเกิน ไม่ต้องนอนดึก ให้เวลากับครอบครัว ไม่ต้องลอกมาหลอก ผอ. (ยกเว้นคนทำวิทยะฐานะ คงไม่สามารถปฏิเสธระบบได้)

ด้วยมีครูตู้ช่วย และมีแผนสำเร็จรูป..ทำให้เบาสบาย..ขณะเดียวกันก็บอกครูว่า..เตรียมสอนกันด้วยนะ บันทึกไว้ในกระดาษสักแผ่น จะสอนอะไร ตัวชี้วัดใด ใช้สื่ออะไร มีเครื่องมือประเมินผลแบบไหน...วางและเก็บไว้ให้พร้อมใช้..คืออย่ามาแต่ตัว..

"การประชุมทางวิชาการ..ในโรงเรียน มีความสำคัญ เป็นการนิเทศแบบหนึ่ง การเยี่ยมห้องเรียน การติดตามการสอนของครู การทำงานของเด็ก การให้ครูอยู่กับเด็กมากที่สุด จัดงานอีเว้นท์ให้น้อย กระตุ้นครูให้ซ่อมเสริมและแก้ปัญหานักเรียนรายบุคคลให้ได้ อย่าสนใจแต่เด็กเก่งเท่านั้น"

ครับ..เห็นด้วย และขอบคุณมากที่นำมาแบ่งปัน..แต่ก็ยืนยันว่าเป็น ผอ.ที่สอนด้วย รู้ปัญหา และนิเทศหนักมาก..จึงทำให้การศึกษาของโรงเรียน..เริ่มจะดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ



ขอบคุณท่าน ผ.อ.ชยันต์ ไม่ใช่ขอบคุณที่ชมหรือเห็นตรงกับผม  แต่ขอบคุณแทนเด็ก  ผู้ปกครอง ที่ท่านช่วยให้การมาโรงเรียนคือมีค่าสำหรับพวกเขา ขอบคุณแทนคุณครูที่ไม่ต้องทำบาปอีกต่อไป เพราะเผอิญผมถือว่าครูที่สอนโดยไม่มีoutcome น่าจะบาปหนามาก ส่วนครูใหม่ๆ ก็จะได้มีไฟมีวิชา มีหลักมีแบบอย่างที่ดี ผมขอบคุณท่านจากใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท