ชีวิตที่พอเพียง 3089. คณิตศาสตร์แห่งรัก



ผมได้ตระหนักในพลังของ mathematical modelling ในชีวิตจริง ก็เมื่อได้อ่านหนังสือ The Mathematics of Love : Patterns, Proofs, and the Search for Ultimate Equation () เขียนโดย Hannah Fry    ผู้เขียนได้รับเชิญพูด Ted Talk เรื่องนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ()    ทั้งอ่านและฟังแล้วผมสรุปว่า นี่คือเรื่องของ “ความน่าจะเป็น” (probability)  และการทำนายด้วยคณิตศาสตร์   หรือจริงๆ แล้วด้วยข้อมูล (data)   นำมาหา pattern   ด้วยการตั้งคำถาม 

ข้อมูลน่าตกใจสำหรับคนโบราณอย่างผมคือ “Scientists found that the average number of sexual partners was around seven for heterosexual women and around 13 for heterosexual men”  เวลานี้เราอยู่ในยุคเสรีภาพทางเพศ   ที่ผมเป็นคนตกยุค

ยกตัวอย่างบริการของเว็บไซต์หาคู่ OkCupid ซึ่งดำเนินการโดยนักคณิตศาสตร์   สร้าง algorithm เพื่อดู “ความเข้ากันได้” (compatibility) ของตัวเรากับผู้เข้าใช้บริการอื่นๆ ที่เป็นเพศตรงกันข้าม  โดยผู้ใช้บริการต้องให้ profile และภาพของตนเอง  และตอบคำถามในเว็บไซต์   แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์จะบอกรายชื่อคนจำนวนหนึ่งที่น่าจะเข้ากันได้ดี  ให้ผู้ใช้บริการทดลองติดต่อและสัมพันธ์กัน 

เขาบอกตรงๆ ว่า เวลานี้ไม่มี algorithm ใด ที่สามารถทำนายความเข้ากันได้อย่างแม่นยำ ระหว่างตัวเรากับคนอื่น   คือความแม่นยำของระบบคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น   ไม่ใช่ 100%      

ผมฝันว่า ครูคณิตศาสตร์ของไทย จะศึกษาเรื่องแบบนี้   เพื่อนำคณิตศาสตร์สู่ชีวิตจริง   ผมชอบที่เขาบอกว่า “คณิตศาสตร์สามารถช่วยให้มองสรรพสิ่งด้วยมุมมองใหม่” ดังเขาแสดงตัวอย่างการมองความรักด้วยมุมมองคณิตศาสตร์ 

ใน Ted Talk เธอพูดเรื่อง conflict ระหว่างภรรยาสามี   ว่ามันสามารถนำสู่วงจรชั่วร้าย  คล้ายวงจรความขัดแย้งระหว่างประเทศที่นำไปสู่สงครามนิวเคลียร์   โดยมีสมการคณิตศาสตร์ให้ดู   ทำให้ผมคิดว่า ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ก็สามารถปรับตัวสู่ความผูกพัน  โดยมีความรักเป็นพลังยึดเหนี่ยว  

นักคณิตศาสตร์ พัฒนา algorithm สำหรับใช้ทดลองโมเดลต่างๆ  ซึ่งไม่มีเลยที่จะแม่นยำ 100%   ซึ่งก็เป็นจริงสำหรับสมการความรัก   ที่ทำนายได้แม่น แต่ไม่แม่นถึง 100%   ยังมีผิดพลาดบ้าง  

ผมเถียงว่า แม้นักคณิตศาสตร์จะก้าวหน้าในการสร้าง algorithm เพื่อทำนาย “คู่สม”  ได้แม่นยำ 100%   ก็จะไม่ 100% จริงสำหรับชีวิตคู่   ที่เป็นการเดินทางไกลแห่งชีวิตร่วมกัน   ต้องการการพัฒนาความรัก ความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจความแตกต่างระหว่างกัน  และเข้าใจและยอมรับจุดอ่อนของอีกฝ่าย   ที่ไม่โผล่ออกมาตอนตอบคำถามในเว็บไซต์   และไม่โผล่ออกมาตอนจีบกัน  ตอนจีบกันนี่คนเรามองเห็นแต่ด้านดีของอีกฝ่ายนะครับ   รวมทั้งตัวเราก็เสนอแต่ด้านดีให้อีกฝ่ายประทับใจ   เป็นธรรมชาติ ไม่ได้เสแสร้ง     

 Hannah Fry เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ด้านความซับซ้อน (complexity scientist)    เหมาะแล้วที่ศึกษาเรื่องความรัก    เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง 

วิจารณ์ พานิช

๒ ม..ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 643974เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2018 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2018 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบคารวะ ครู KM_LO ของพวกเราชาว Gotoknow ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท