๑๖๒ ปี เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ๑๑ มกรา ๒๕๖๔


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

นักประวัติศาสตร์การสื่อสารสยาม

 

 

      ปีนี้ครบรอบ ๑๖๒ ปี เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ผมได้เขียนบทความรำลึกถึงพระองค์ท่านทุกปีในฐานะผู้ที่ยังระลึกถึงบิดาการสื่อสารไทย แต่ปีนี้พยายามนึกจะหาพระประวัติด้านใดมาเล่าสู่กันฟังไม่ให้เบื่อ ก็เลยเอาเรื่องแสตมป์ดวงแรกที่แท้จริงของสยามมาเล่าให้ฟัง และทรงเป็นอธิบดีกรมโทรเลขก่อนเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์ในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ 
       เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ทรงประสูติเมื่อวันพุธ เดือนยี่ แรม ๔ ค่ำ ปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๒ เวลา ๗ นาฬิกา ๑๖ นาที ณ พระตำหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระศรีสุลาไลย ภายในพระบรมมหาราชวัง
     ครานั้นยามรุ่งอรุณเช้าพระอาทิตย์เพิ่งพ้นขอบน้ำส่องแสงสีทองผ่องอำไพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระบรมชนกนาถทรงพระราชทานพระนามว่า “ภาณุรังษีสว่างวงษ” 
      ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาเติบใหญ่จึงใช้ภาพ “พระอาทิตย์เพิ่งพ้นขอบน้ำ” เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และทรงใช้นามปากกาในการประพันธ์หนังสือว่า “อาทิตย์อุไทย
 


       สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ฯ พระเชษฐาทรงเรียกพระองค์ท่านว่า “ท่านเล็ก” เนื่องจากทรงเป็นพระโอรสองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระครรโภทรกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นพี่น้องที่สนิทกันมากที่สุด ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาเป็นเจ้าของวังบูรพาภิรมย์ ทรงถูกเรียกขานว่า “สมเด็จวังบูรพา


 

แสตมป์ดวงแรกที่แท้จริงของสยาม

       คนไทยมักรู้จักแสตมป์ โสฬส คือ แสตมป์ดวงแรกของสยาม แต่อันที่จริงแล้วแสตมป์ดวงแรกที่แท้จริงของสยามคือ แสตมป์ภาณุรังษี มี ๒ รุ่น และ ๒ ราคา คือ สองสลึงและอัฐหนึ่ง แสตมป์ชุดนี้ถูกสร้างขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๑๘
 
     ใช้ปิดที่หนังสือ Court หรือ “ข่าวสารราชการ” ที่พระองค์ทรงเป็นบรรณาธิการเอง บอกกล่าวเรื่องราวข่าวในรั้วในวัง และข่าวราชการ โดยเก็บค่าสมาชิกรายปี ๒ บาท และหากใครอยากส่งจดหมายสื่อสารถึงใครให้ติดแสตมป์ Rising P และทรงให้มีคนใส่เครื่องแบบสีน้ำเงินพร้อมกระเป๋าสะพายส่งหนังสือ และมีร่มกางป้องกันไม่ให้หนังสือเปียก จากนั้นคนส่งหนังสือจะขีดฆ่าเพื่อแสดงว่าแสตมป์ใช้แล้ว


     ซึ่งพี่เดียวเข้าใจว่า ครานั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๖ ชันษา ได้ร่ำเรียนวิชาภาษาอังกฤษกับครูฝรั่งในหอนิเพทพิทยาคม และคงทรงเห็นครูฝรั่งเขียนจดหมาย ติดแสตมป์ และฝากคนไปส่งไปรษณีย์ที่สิงคโปร์ เลยเอาอย่างมาทำเล่นแต่ใช้งานจริง

 


         แสตมป์ภาณุรังษี รุ่นที่ ๒ ราคาอัฐหนึ่ง พิมฑ์อักษรไทยที่สี่มุมว่า ป ภ ม ส ย่อมาจาก โปสมาสเตอร์ภาณุรังษีสว่างวงษ์ (สัจจธรรม,๒๕๕๑) มีอักษร R P น่าจะหมายถึง Rising prince อันหมายถึงนามของพระองค์ และมีตัวหนังสือด้านล่างว่า “ค่าหนังสือฝาก” ในภาพพี่เดียวไปพบเจอในเว็บไซต์ขายแสตมป์เก่าของฝรั่งเขาเมื่อหลายปีก่อนเสียดายไม่มีเงินประมูล



 

เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ทรงเป็นอธิบดีกรมโทรเลขก่อนเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๔ 
      มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ กำหนดให้ ๔ สิงหาคม เป็นวันสื่อสารแห่งชาติ เนื่องด้วย ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นวันสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข “เหตุผลนี้ผิด” เพราะ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นวันสถาปนาเฉพาะกรมไปรษณีย์อย่างเป็นทางการเท่านั้น ส่วนกรมโทรเลขแยกหน่วยงานต่างหาก มารวมกันเป็นกรมไปรษณีย์โทรเลขเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑
      ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นวันเสาร์ด้วยซ้ำไปน่าสนใจมากเหตุใดจึงเปิดเป็นทางการในวันเสาร์ ฐานะกรมไปรษณีย์อิสระ ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานในวันนั้น
        สำหรับพี่เดียวแล้วหน่วยงานการสื่อสารแรกของสยามเคยค้นคว้าว่า “กรมสายตลิคราฟ”  กำเนิดในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ แต่ในชั่วอายุของเราจะเห็นหนังสือวันสื่อสารแห่งชาติหรือหนังสือกรมไปรษณีย์โทรเลขในอดีตกล่าวเริ่มต้นหน่วยงานการสื่อสารไทยว่าเริ่มเมื่อ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นวันสถาปนากรมไปรษณีย์ ตามหลักฐานในวิทยานิพนธ์ของ ศ.ดร.ปิยะนาถ บุนนาค เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เลยอ้างถึงสืบต่อๆ กันมาและหยุดการค้นคว้าไร้คนสนใจ
         แต่เอาล่ะ หากเราเฉพาะเจาะจงลงไปในยุคของ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ จะพบว่าแท้จริงแล้ว มีการแยกกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ในประวัติศาสตร์การสื่อสารสยามที่พี่เดียวค้นคว้ามาเรื่อยๆ สิบกว่าปีนั้น กรมโทรเลขเกิดมาก่อนกรมไปรษณีย์ช้านานนัก เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโทรเลขตั้งแต่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยะวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหกลาโหม ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ โดยตอนท้ายมีความว่า


        “….ฉันจึ่งเห็นว่าโทรเลขของเราจะทำให้ลูกค้าใช้ต่อไปควรจะมีประโยชน์คิดไปกับการโปสต์ บัดนี้ฉันจึงจะขอต่อเธอให้ท่านเล็กได้เป็นผู้บังคับบัญชากรมโทรเลข….”

      นอกจากทรงรับผิดชอบทั้งกรมโทรเลขและกรมไปรษณีย์แล้ว ยังทรงรับผิดชอบกิจการบ้านเมืองในอีกหลายอย่าง ทั้งการทูต การทหาร ฟื้นฟูศิลปะ วัฒนธรรม และทรงเป็นประธานองคมนตรี ทรงเป็นเสาหลักของบ้านเมืองรับใช้ราชวงศ์จักรีมาจนถึงรัชกาลที่ ๗ 
     เมื่อกิจการสื่อสารของชาติเริ่มมั่นคงแล้ว จึงค่อยถอยห่างให้พระองค์เจ้าปฤษฏางค์สืบสานกิจการสื่อสารก้าวเข้าสู่ในระดับนานาชาติต่อไป และทรงได้รับประกาศเฉลิมพระนามครั้งสุดท้ายของพระชนม์ชีพคือ “จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช”


 

หมายเลขบันทึก: 643908เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2018 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท