การกล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณตนในศาลก่อนพิจารณาคดี เปรียบเทียบกฎหมาย civil law, common law และ Islamic law : กรณีศึกษา ประเทศไทย อังกฤษ และมาเลเซีย


ปรเมศวร์ กุมารบุญ 


บทคัดย่อ
   บทความนี้นำเสนอคติความเชื่อทาง วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา เกี่ยวกับคำสาบานของชาว พุทธ คริสต์ และอิสลาม ซึ่งทำให้คำสาบานเป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาคดีที่ศาลทั่วโลกในทุกระบบกฎหมายปฏิบัติเป็นจารีตประเพณีสืบมา โดยพยานบุคคลก่อนเบิกความจะต้องกล่าวคำสาบานต่อศาลตาม ลัทธิ ศาสนา หรือ จารีตประเพณีแห่งชาติของตน และต่อมาได้มีสิทธิใหม่ให้ผู้ที่ไม่เชื่อในเทวสิทธิ์ (Atheistic) หรือไม่มีศาสนาเลือกที่จะไม่กล่าวคำสาบาน แต่จะต้องกล่าวคำปฏิญาณตนว่าจะให้การตามความสัตย์จริง (Right to Affirmation) ซึ่งกฎหมายไทยนั้นหากไม่กล่าวคำสาบานหรือกล่าวปฏิญาณตนคำเบิกความนั้นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ และบทความนี้ใช้วิธีวิจัยแบบ Documentary research เปรียบเทียบกฎหมายของ ไทย อังกฤษ และมาเลเซีย 

Abstract
   This article presents cultural beliefs, tradition and religion in term of swear an oath for Buddhism, Christian and Muslim, which make the oaths literally important to judicial process in all countries to follow as a basic tradition. Before a witness giving evidences for the prosecution to the court they have to take an oath or make an affirmation that their evidence is true (Right to Affirmation) according to their religion or national tradition. If the defendant doesn’t swear or take a vow, the testimony cannot be taken as an evidence. Apart from those can figure out by comparing the law between Thailand, United Kingdom and Malaysia instead.

1. บทนำ
      “How to convince people when you're telling the truth” ประโยคนี้ใครพูดไว้ผมก็จำไม่ได้เหมือนกันครับ แต่ไม่ลืม เพราะสะดุดหูมาก ทำไมล่ะ? หากเราจะบอกความจริงกับคนทั่วไปจำเป็นที่จะต้องใช้วาทศิลป์โน้มน้าวกันด้วยเหรอ? บอกง่ายๆ ตรงๆ ไม่ได้หรือ?
 


      “ความจริง” ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผ่านมาผมวินิจฉัยทึกทักเอาเองว่า ความจริงที่เกี่ยวข้องกับ “ความเชื่อและความศรัทธา” เท่านั้นครับที่จำเป็นต้องโน้มน้าว อย่างในอดีต กาลิเลโอ ต้องโทษประหารเพราะมาบอกกับชาวโลกว่าแท้จริงโลกนั้นกลม ไม่ใช่แบน แต่ศาสนจักรนั้นเป็นผู้ผลิตความรู้ให้คนเชื่อ ท่านบอกว่าแบนก็ต้องแบนใครเป็นปฏิปักษ์ต้องโทษประหาร แต่สุดท้ายกาลิเลโอถูกกักขังไปตลอดชีวิตแทน
       ฤาอันที่จริงคงมีความจริงที่ไม่เกี่ยวกับ “ความเชื่อและความศรัทธา” ที่เราค้นพบก็ไม่สามารถบอกตรงๆ ได้เลย ต้องโน้มน้าวเหมือนกันนะ แต่วันก่อนอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง จำแม่นเลยว่าเป็นประโยคที่ช่างกล้าท้าทาย “ความเชื่อและความศรัทธา” ของชาวโลกกับความจริงในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้สำหรับผมที่ เอมิล ดูร์ไคม์ (Emile Durkheim: 1858-1927) กล่าวไว้ แต่ไม่รู้ว่าไม่มีใครโกรธเขาหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบได้ (สุภางค์,2559)
       ดูร์ไคม์กล่าวว่า “ศาสนาเป็นสิ่งประดิษฐ์ของสังคม” เขาขยายความว่าศาสนาเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์นั่นเอง ถูกสร้างมาใช้เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยใช้ความกลัวสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นเครื่องมือในการสร้าง “ความเชื่อและความศรัทธา” เพราะสมัยโบราณเป็นยุคเทวสิทธิ์ มนุษย์เราจะกลัวอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ลี้ลับยังไม่แสวงหาความรู้ด้วยเหตุผล และดูร์ไคม์ ยังอธิบายว่าแท้จริงศาสนาเกิดจากการคิดค้นของคนให้ศรัทธา เคารพ กราบไหว้ ปฏิบัติ จนคนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาสืบต่อๆ กันมาเรื่อยๆ 
      ดูร์ไคม์กล่าวว่า ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นตัวเชื่อมโครงสร้างสังคมให้แข็งแกร่ง แน่นอนหากสังคมใดมีคนที่มี “ความเชื่อและความศรัทธา” หรือ มีศาสนา มีวัฒนธรรม แตกต่างกันมาอยู่ด้วยกัน สังคมนั้นจะไม่แข็งแกร่ง แต่หากสังคมใดมีศาสนามีวัฒนธรรมเหมือนกัน สังคมนั้นย่อมแข็งแกร่ง
     สิ่งที่ ดูร์ไคม์ กล่าวอาจจะเป็นความจริง ผมพิจารณาดูแล้วเป็นการอธิบายความจริงตรงๆ ไม่ได้โน้มน้าว แต่ผมเชื่อนะ แม้มนุษย์จะสร้างศาสนาขึ้นมาจริงและคำสอนไม่ได้มาจากสวรรค์จริง ศาสนากลับมีแต่เรื่องดีๆ เสียอีกเมื่อคนเคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธา สังคมจึงอยู่มาได้ทุกวันนี้ และเมื่อพิจารณาย้อนกลับไปพิจารณาความยิ่งใหญ่ของศาสนา หากศาสนาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอาจจะเพื่อต้องการสร้างความสงบเรียบร้อยด้วยศีลธรรมอันดีงามนั้น ผมเชื่อว่าสาเหตุคงมาจากการเกิด “อาชญากรรม” ในสังคม นี่ล่ะ! ความยิ่งใหญ่ของศาสตร์ด้านอาชญาวิทยา
   “ความเชื่อและความศรัทธา” ที่มีต่อศาสนาและวัฒนธรรม หากเป็นไปในทางบวก (Positive) สร้างสรรค์ไม่ทำลายก็นับว่ามีแต่เรื่องดีๆ แต่ผมก็ยอมรับว่าปัจจุบันยังมี “ความเชื่อและความศรัทธา” ที่มีต่อศาสนาและวัฒนธรรมในทางลบ (Negative) ทำลายล้างสร้างความเจ็บปวด ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะสว่างรู้ด้วยเหตุผลกันได้แล้ว
    “ความเชื่อและความศรัทธา” ที่มีต่อสัจจะวาจาหรือ “คำสาบาน” เป็นเรื่องราวที่บทความนี้จะมาพูดถึงในวันนี้ ความดีงามของคำสาบานยังคงดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันที่เน้นเหตุผลและหลักฐานการพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม….

      นักปราชญ์ชาวอังกฤษ จอห์น ออสติน (John Austin) สร้างกฎทั่วไปว่าด้วยเรื่องของการแก้ตัวว่า “หากไม่มีการละเมิดจารีตปฏิบัติในเรื่องนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ตัว” กฎทั่วไปนี้จริงทุกที่ จริงทุกเมื่อในสังคมมนุษย์ปัจจุบัน (ไชยรัตน์, 2558)


       ในกระบวนการยุติธรรมนั้น คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่ากระบวนการพิจารณาคดีจะให้ความสำคัญกับหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีความเป็นวัตถุวิสัย (Objectivity) จับต้องได้ชัดเจนจะมีน้ำหนักต่อกระบวนการพิจารณาคดี อันที่จริงความเป็นอัตวิสัย (Subjectivity) หรือคุณค่าที่จับต้องไม่ได้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นมีผลต่อการพิจารณาข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรมอย่างมากที่สุด ดังปรากฏในตัวบทกฎหมายมากมาย อย่างเช่น “การสาบาน” ในสมัยโบราณนั้นหากไม่ยอมสาบานก็พยานหลักฐานก็รับฟังไม่ขึ้น และถูกดำเนินคดี        
     จารีตประเพณีดังกล่าวได้สืบทอดยึดถือปฏิบัติอยู่ในกฎหมายไทยจวบจนปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ต่อให้มีการพิสูจน์พยานหลักฐานถูกต้องครบถ้วนมากมายเพียงใด หาได้ใช้เป็นเหตุผลรับฟังโดยชอบด้วยกฎหมายได้ไม่ หากพยานไม่กล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณตน 

   “ฎีกาที่ 824/2492 พยานที่เบิกความโดย ไม่สาบานตนหรือกล่าวคำปฏิญาณ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง) มาตรา 112 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) มาตรา 15”

    บทบัญญัติการสาบานตนนั้นอยู่ใน ป.วิ. แพ่ง มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า 
     “ก่อนเบิกความ พยานทุกคน ต้อง “สาบานตน” ตาม ลัทธิศาสนา หรือ จารีตประเพณีแห่งชาติของตนหรือ “กล่าวคำปฏิญาณ” ว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่
         (1) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
         (2) บุคคล ที่มีอายุ ต่ำกว่า สิบห้าปี หรือ บุคคลที่ ศาลเห็นว่า หย่อนความรู้สึก ผิดและชอบ
         (3) พระภิกษุ และ สามเณร ในพุทธศาสนา
         (4) บุคคล ซึ่ง คู่ความทั้งสองฝ่าย ตกลงกันว่า ไม่ต้องให้สาบาน หรือ กล่าวคำปฏิญาณ”

      แม้ก่อนเบิกความพยานทุกคนจะต้องสาบานหรือกล่าวคำปฏิญาณตนเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ตาม แต่ในกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้ถือเอามาใช้ในทางปฏิบัติเป็นจารีตประเพณีให้พยานต้องกล่าวคำสาบานหรือกล่าวคำปฏิญาณตนก่อนเบิกความ โดยมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15  บัญญัติไว้ว่า 
        “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”
        แม้แต่ล่ามแปลให้พยานก็ต้องสาบานหรือปฏิญาณเช่นกันดังใน ป.วิ.อาญามาตรา 13 วรรคสี่ บัญญัติว่า “เมื่อมีล่ามแปล คำให้การ คำพยาน หรืออื่นๆ ล่ามต้องแปลให้ถูกต้อง ล่ามต้องสาบานหรือปฏิญาณว่าจะทำหน้าที่โดยสุจริตใจจะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล ให้ล่ามลงลายมือชื่อในคำแปลนั้น” 

      “คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5476/37 จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยมีล่ามแปลคำให้การ เมื่อล่ามมิได้สาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทำหน้าที่โดยสุจริต จะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปลตาม ป.วิอาญามาตรา 13 วรรคสอง มีผลทำให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ แต่ไม่มีผลทำให้การสอบสวนคดีนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

      นอกจากคำให้การของพยานและล่ามหรือหลักฐานต่างๆ จะไม่สามารถนำมาใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยชอบด้วยกฎหมายได้แล้ว ตรงกันข้ามอาจจะต้องโทษอาญาฐานไม่กล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณตนตามคำสั่งศาลดังบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 171 บัญญัติไว้ว่า 
     “ผู้ใดขัดขืนคำสั่งของศาลให้สาบานตน ปฏิญาณ ให้ถ้อยคำหรือเบิกความ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

       รูปแบบคำสาบานในศาลไทยมิได้มีรูปแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นมาตรฐานใช้เหมือนกันทั่วประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับจารีตประเพณีที่แต่ละศาลแต่ละท้องถิ่นถือปฏิบัติตามกันมา โดยมีตัวอย่างคำกล่าวสาบานตามลัทธิศาสนา ดังนี้

ศาสนาพุทธ
ข้าพเจ้าขอสาบานต่อพระแก้วมรกต เจ้าพ่อหลักเมือง พระสยามเทวาธิราช และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าจะเบิกความต่อศาลด้วยความสัตย์จริงทั้งสิ้น หากข้าพเจ้าเอาความเท็จมากล่าวแม้แต่น้อย ขอภยันตราย และความวิบัติทั้งปวงจงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าและครอบครัวโดยพลัน หากข้าพเจ้า กล่าวความจริงต่อศาล ขอให้ข้าพเจ้า มีแต่ความสุขความเจริญ

ศาสนาคริสต์
ข้าพเจ้าขอสาบานต่อพระเยซูว่า ข้าพเจ้าจะเบิกความต่อศาลด้วยความสัตย์จริงทั้งสิ้น หากข้าพเจ้านำความเท็จมากล่าวแม้แต่น้อย ขอภยันตรายและความพิบัติทั้งปวงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าโดยพลัน หากข้าพเจ้ากล่าวความจริงต่อศาล ขอให้ข้าพเจ้าและครอบครัวจงมีความสุขความเจริญ

ศาสนาอิสลาม
ข้าพเจ้าขอสาบานต่อพระอัลเลาะฮ์ว่า ข้าพเจ้าจะเบิกความต่อศาลด้วยความสัตย์จริงทั้งนั้น หากข้าพเจ้านำความเท็จมากล่าว ขอองค์พระอัลเลาะฮ์ทรงโปรดลงโทษแก่ข้าพเจ้า หากข้าพเจ้านำความจริงมากล่าวต่อศาล ขอองค์พระอัลเลาะฮ์ทรงโปรดตอบแทนข้าพเจ้าด้วยความดีงามทั้งหลายด้วย

      ลักษณะคำสาบาน เป็นการกล่าวคำสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือต่อพระเจ้า ว่าหากตนเบิกความด้วยความสัตย์จริงก็ขอให้ได้ดี แต่หากว่าตนเบิกความเป็นเท็จก็ขอให้เกิดผลร้าย ซึ่งในทางกฎหมายนั้นหากสืบความได้ว่าพยานใดให้การเท็จก็ย่อมได้รับโทษอาญาดังบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 บัญญัติไว้ว่า 
       “ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
      ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท”

2. วิธีวิจัย
   การดำเนินการวิจัยในบทความนี้ใช้วิธีวิจัยแบบ Documentary research จากเอกสารชั้นต้น เอกสารชั้นรอง บทความวิชาการ วิทยานิพนธ์ ตำราโบราณ และกฎหมาย เพื่อค้นหาที่มาของความเชื่อเรื่องคำสาบานในแต่ละชาติอันสืบทอดมาเป็นสาระสำคัญในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม จากนั้นนำมาทำการเปรียบเทียบให้เห็นจุดที่แตกต่าง (Comparison) ระหว่างกฎหมายการกล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณตนในศาลก่อนพิจารณาคดีของ ประเทศไทยคนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ประเทศอังกฤษคนส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ และมาเลเซียคนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม  

3. ผลวิจัยรากเหง้าความเชื่อทางวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา กับคำสาบานและประวัติศาสตร์กฎหมาย
   การกล่าวคำสาบานในกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมาย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแทบทุกประเทศทั่วโลกเป็นจารีตประเพณีอันมาจากความเชื่อทางศาสนา และวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติมายาวนานนับแต่อดีตในทุกระบบกฎหมาย และกลายเป็นหลักปฏิบัติประการหนึ่งที่ทุกระบบกฎหมายถือเป็นเรื่องสำคัญ

      3.1 ความเชื่อเรื่องคำสาบานกับประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
   คำสาบานกับกฎหมายไทยมีมายาวนานนับแต่สมัยโบราณ โดยปรากฏหลักฐานใน กฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายเก่าที่มีมาแต่ครั้งโบราณที่เกิดจากการบอกเล่าต่อกันมา และสูญหายไปจากการศึกสงคราม นำมาประชุมรวบรวมเป็นประมวลกฎหมายลายลักษณ์อักษรขึ้นเมื่อ จุลศักราช 1166 ตรงกับ พ.ศ. 2347


    กฎหมายตราสามดวงแบ่งเป็นพระไอยการต่างๆ  72 ฉบับ ซึ่ง “การสาบาน” บัญญัติอยู่ใน พระไอยการลักษณะพยานและลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มีที่มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งพระองค์ทรงใช้ชำระความกับพระสงฆ์ที่สงสัยว่าไม่อยู่ในศีลอันบริสุทธิ์ อันมีรากฐานความเชื่อมาแต่อยุธยาในการค้นหาข้อเท็จจริงเมื่อสืบจนสิ้นพยานหลักฐานจะพิสูจน์แล้วยังหาข้อยุติมิได้ จึงค่อยสาบานต่อ พระพุทธเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพยาดาต่างๆ ตลอดจนผีตายโหง (อาทิตย์, 2552) แต่กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันกฎหมายไทยห้ามพระสงฆ์กล่าวคำสาบานในการเป็นพยานเบิกความ และการสาบานต้องกระทำก่อนเบิกความ

    นอกจากการสาบานแล้ว กฎหมายพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิงของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น ยังมีทางเลือกอื่นที่เป็นคุณค่าของอัตวิสัยมาประกอบการพิจารณาคดี อาทิเช่น ให้คู่ความพิสูจน์ความจริงด้วยการลุยเพลิงด้วยกัน ใครเท้าพองก่อนคนนั้นกล่าวเท็จ หรือให้ดำน้ำแข่งกันใครโผล่ก่อนคนนั้นกล่าวเท็จ หรือว่ายทวนน้ำแข่งกันใครว่ายแพ้คนนั้นกล่าวเท็จ วิธีการต่างๆ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมดมี 7 รูปแบบ
       ส่วนคติความเชื่อทางศาสนาพุทธนั้น ไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องการสาบาน แต่มีศีลห้ามพูดปด “มุสา วาทา เวรมณี สิกขา ปะทัง สมา ธิยามิ” และคติธรรมกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเป็นนิทานผลของคำสัตย์สาบาน 

     การสาบาน ยังคงสืบทอดจากจารีตประเพณีโบราณมาจวบจนบังคับใช้ในกฎหมายไทยปัจจุบัน และยังให้คุณค่าต่อคำสาบานอย่างสูง อีกทั้งยังเพิ่มสิทธิให้แก่ผู้ที่ไม่ต้องกล่าวคำสาบานโดยเลือกที่จะกล่าวคำปฏิญาณตนแทนดังใน ป.วิ. แพ่ง มาตรา 112 ดังในต่างประเทศ

        3.2 ความเชื่อเรื่องคำสาบานกับประวัติศาสตร์กฎหมายอังกฤษ
       ฟลาวิอุส โยเซฟุส  (Flavius Josephus) นักประวัติศาสตร์ชาวยิวในศตวรรษที่ 1 ได้เขียนหนังสือ (Flavius, 94) เกี่ยวกับนิกายหนึ่งของศาสนายิวว่าพวกเขาห้ามการสาบาน สมาชิกนิกายนี้เชื่อว่าการสาบานชั่วร้ายยิ่งกว่าการโกหก และถ้าใครสาบานเพื่อจะให้คนอื่นเชื่อถือ คนนั้นจะต้องโกหกแน่นอน 

        หนังสือของชาวยิวที่ชื่อว่าบุตรสิรา (Ecclesiasticus) กล่าวว่า “คนที่สาบานพร่ำเพรื่อก็ยิ่งทวีความชั่ว” พระเยซูตำหนิการสาบานในเรื่องที่ไม่สำคัญ ดังนั้นถ้าเราพูดความจริงเสมอ เราก็ไม่จำเป็นต้องสาบานเพื่อให้คำพูดเราดูน่าเชื่อถือ”

       ต่อมาในราวศตวรรษที่ 3 ได้กำเนิด หนังสือปฐมกาล (Book of Genesis) เป็นหนังสือเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิล ชาวยิวเชื่อว่าโมเสสเป็นผู้เขียน ว่าด้วยจุดเริ่มต้นของ โลก มนุษย์ และอิสราเอล ซึ่งเป็นตัวแทนของชนชาติที่พระเจ้าได้เลือกไว้ (ซึ่งมีความนัยทางเทววิทยา) 

       หนังสือปฐมกาล 24 ได้กล่าวถึงคำสาบาน โดยคนรับใช้ของอับราฮัมกล่าวคำสาบานเรื่องการเลือกลูกสะใภ้ตามที่อับราฮัมประสงค์ หากปฏิบัติตามคำสาบานพระยะโฮวาจะส่งทูตสวรรค์ให้การเดินทางประสบความสำเร็จ ผู้สาบานจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากปฏิบัติจนเสร็จสิ้นก็พ้นคำสาบาน แต่หากผิดคำสาบาน ก็อาจถูกลูกหลานของผู้ให้สาบานจัดการด้วยมาตรการใดๆ เพื่อบีบบังคับให้ทำตามสัญญา หรือ อาจเป็นการสาปแช่งผู้สาบานให้ไร้ทายาทสืบสกุล 
         พระบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments) คือรายการคำสอนและข้อปฏิบัติตามคัมภีร์ฮีบรู ซึ่งเชื่อว่าพระยาห์เวห์ได้ประทานแก่วงศ์วานอิสราเอล ผ่านทางโมเสส ที่ภูเขาซีนาย บัญญัตินี้สลักไว้บนแผ่นหิน 2 แผ่น บัญญัติ 10 ประการใช้ในศาสนาคริสต์และศาสนายูดาห์ ความว่า
     1. จงนมัสการ องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าองค์เดียวของท่าน
     2. อย่าออกพระนามพระเจ้าโดยไม่สมเหตุ
     3. อย่าลืมฉลองวันพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์
     4. จงนับถือบิดามารดา
     5. อย่าฆ่าคน
    6. อย่าผิดประเวณี
    7. อย่าลักขโมย
    8. อย่าพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น
    9. อย่าปลงใจผิดประเวณี
    10. อย่ามักได้ทรัพย์สินของผู้อื่น


    การสาบานตามความเชื่อทางคริสต์จึงมี 2 แนวทาง แนวทางที่หนึ่ง นั้นเชื่อว่าการสาบานเป็นเรื่องผิด ชาวคริสต์จะไม่ออกพระนามพระเจ้าโดยไม่สมควร และตนไม่พูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่นตามบทบัญญัติ 10 ประการอยู่แล้วเพราะพระเจ้าสถิตอยู่กับตนตลอดเวลาพระองค์ทรงทราบทุกอย่าง การออกพระนามพระเจ้าในคำปฏิญาณหรือในคำสาบานถ้าผู้นั้นกล่าวคำเป็นความเท็จ จะทำให้พระเจ้ามัวหมอง 

      ส่วนแนวทางที่สอง เห็นว่าการสาบานกระทำได้ หากคำสาบานนั้นใช้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพื่อทำข้อตกลง ทำพันธสัญญา หรือรับรองความจริงในเรื่องสำคัญที่ประกาศออกไป  

    คำปฏิญาณระหว่างอับราฮัมและอาบีเมเลคที่เบเออร์เชบาในปฐมกาล 21 เป็นไปเพื่อยุติความขัดแย้ง และตั้งพันธสัญญาใหม่ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องขุดบ่อน้ำ และเพื่อยืนยันพันธสัญญานั้นตลอดไป อาบีเมเลคจึงพูดกับอับราฮัมว่า

     “…พระเจ้าทรงสถิตกับท่านในทุกสิ่งที่ท่านกระทำ บัดนี้จงปฏิญาณในพระนามพระเจ้า ให้แก่เราที่นี่ว่า เจ้าจะไม่หักหลังเรา ลูกหลานของเรา หรือชาติพันธุ์ในอนาคตของเรา แต่ดังที่เราภักดีต่อเจ้า เจ้าจงภักดีต่อเราและต่อแผ่นดินซึ่งเจ้าอาศัยอยู่นี้” 
     การกล่าวคำสาบานในกฎหมายอังกฤษนั้นเริ่มต้นเมื่อเกิดกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรกและถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลกนั่นคือ Magna Carta ในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1215 เมื่อพระเจ้าจอห์นมีปัญหากับเหล่าขุนนางที่ส่อแววเป็นกบฏ โดยมีการตกลงกันว่ากษัตริย์และขุนนางจะต้องไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทุกคนต้องถูกปกครองโดยกฎหมายถือหลักนิติธรรม เมื่อพระเจ้าจอห์นทรงลงพระปรมาภิไธยประทับพระราชลัญจกรใน Magna Carta เหล่าขุนนางก็กล่าวคำสาบานต่อพระเจ้า (God) ว่าจะจงรักภักดี
     การกล่าวคำสาบานต่อพระเจ้าในอังกฤษนั้นถูกใช้เมื่อขุนนางเข้ารับตำแหน่งสำคัญว่าจะจงรักภักดี และปฏิบัติหน้าที่อย่างดี ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญเมื่อต้องการสัจจะวาจาจากบุคคลใดจนถูกนำมาใช้ในการพิจารณาคดี
       จารีตประเพณีในกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายของประเทศอังกฤษแต่โบราณนั้น ก่อนเบิกความจะต้องวางมือบนคัมภีร์ไบเบิลแล้วยกมือข้างหนึ่งกล่าวคำสาบานต่อพระเจ้าดังนี้    

               “I, _____, do swear by Almighty God….

        แต่ในศตวรรษที่ 17 ได้มีชาวคริสต์ที่เคร่งศาสนากลุ่มหนึ่งในรัฐ เพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐ อเมริกา ที่มาจากประเทศอังกฤษเรียกว่า “Quaker” พวกเขาปฏิเสธการกล่าวคำสาบานและวางมือบนคัมภีร์ไบเบิล (Refused to swear oaths on the Bible) นำโดยยอร์ช ฟอกซ์ (George Fox ค.ศ. 1624 - 1691) 


        Quaker ต้องการรื้อฟื้นศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิม พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาเข้าถึงพระเจ้าโดยตรง พระเจ้าทรงรู้เห็นการกระทำของพวกเขาในทุกวันอยู่แล้ว จึงดำรงชีวิตอยู่ด้วยความซื่อสัตย์และไม่พูดปดตลอดเวลา คริสต์แบบดั้งเดิมอย่างพวกเขาจะไม่กล่าวคำสาบาน ไม่ออกพระนามพระเจ้าโดยไม่สมควรแก่เหตุ และหากต้องสาบานพวกเขาไม่สาบานต่อคัมภีร์ แต่สาบานต่อพระเจ้าโดยตรง 
         ด้วยเหตุดังกล่าวกลุ่ม Quaker จึงไม่กล่าวคำสาบานในศาลหรือที่ใดอันถือว่าผิดหลักศาสนาของพวกเขา ต่อมากลายเป็นประเด็นใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมถึงการลิดรอนสิทธิของประชาชน หากความเชื่อทางศาสนา จารีตประเพณี ไม่เหมือนกันทำให้ขาดสิทธิเสรีภาพในการพิสูจน์ความจริงในกระบวนการยุติธรรม จึงเกิดการเรียกร้องสิทธิในการพิสูจน์ความจริงสำหรับ Quaker 


                          ยอร์ช ฟอกซ์ (George Fox ค.ศ. 1624 - 1691) 

          

        แม้ประเทศอังกฤษนั้นใช้ระบบกฎหมายแบบ Common law ที่กล่าวได้ว่าเป็นระบบกฎหมายที่ไม่ใช้ลายลักษณ์อักษร ใช้จารีตประเพณี ความคิด ความรู้สึก (Common sense) คนท้องถิ่น และคำพิพากษาในอดีตเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินข้อเท็จจริงในกระบวนการพิจารณาคดี แต่เพื่อให้สิทธิ Quaker ประเทศอังกฤษจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติ Quakers Act 1695 เพื่อให้สิทธิทางเลือกที่จะพิสูจน์พยานหลักฐานแก่ผู้ที่มีความเชื่อที่จะไม่กล่าวคำสาบานในศาล
           ต่อมาในปี 1699 เมื่อการกล่าวคำสาบานไปลิดรอนสิทธิ Quaker มากขึ้นนอกจากภายในศาลแล้ว Quaker ท่านหนึ่งนามว่า John Archdale ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา แต่เขาไม่ได้รับตำแหน่งในที่สุดเพราะไม่ยอมกล่าวคำสาบานต่อพระเจ้าตามกฎหมาย ที่ผู้ได้รับเลือกตั้งต้องสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง
          ในปี 1880 การกล่าวคำสาบานไปลิดรอนสิทธิผู้อื่นนอกเหนือจาก Quaker นั่นคือกลุ่มคนที่ไม่เชื่อเรื่องเทวสิทธิ์ (Atheists) ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า เมื่อ Charles Bradlaugh ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญชนแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ (House of Commons) แต่เขาปฏิเสธที่จะกล่าวคำสาบานต่อพระเจ้า จึงไม่ได้เป็นสมาชิกสภา ต่อมาเขาก็ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งและไม่ยอมกล่าวคำสาบานต่อพระเจ้าจึงถูกจำคุก
      จึงเกิดแนวความคิดเรื่อง “สิทธิที่จะพิสูจน์ความจริงของผู้ที่ไม่กล่าวคำสาบาน” แต่ต้องปฏิญาณตนแทนโดยกล่าววาจาว่าจะให้การด้วยความสัตย์จริง (Right to Affirmation)
 

                     รูปที่ 1 Charles Bradlaugh ถูกจับและจำคุกฐานไม่ยอมสาบานตน

      ในที่สุด “การสาบานและสิทธิที่จะไม่สาบาน” ถูกตราเป็นพระราชบัญญัติเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนและมีแบบมาตรฐานคำกล่าวบังคับใช้เหมือนกันทั่วประเทศอังกฤษ คือ “Oath act 1978”
        โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการ “กล่าวคำสาบานต่อพระเจ้า หรือ Oath” และ “การปฏิญาณตนว่าจะเบิกความด้วยสัตย์จริง หรือ Affirmation” โดย Affirmation มีรูปแบบคำกล่าวปฏิญาณดังนี้
               "I, do solemnly, sincerely and truly declare and affirm ..."

        พรบ. Oath act 1978 บัญญัติให้ผู้กล่าวคำสาบานให้วางมือบนคัมภีร์ไบเบิลแล้วยกมือข้างหนึ่งต่อหน้าเจ้าหน้าที่ศาล (Officer) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษา มีรูปแบบฟอร์มคำสาบานและปฏิญาณตนใช้เหมือนกันทั่วประเทศ แต่ไม่ได้ระบุว่าผู้ใดบ้างที่จะต้องกล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณตน

           3.3 ความเชื่อเรื่องคำสาบานกับประวัติศาสตร์กฎหมายมาเลเซีย
         มาเลเซียมีต้นกำเนิดมาจากอาณาจักรมลายูในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แต่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24 ต่อมาหลายประเทศในอาณาจักรมาลายูตกเป็นเมืองขึ้นต่ออังกฤษรวมทั้งมาเลเซีย
     มาเลเซียเป็นประเทศพหุชาติพันธุ์และพหุวัฒนธรรม ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดมีเชื้อสายมลายู โดยมีชนกลุ่มกลุ่มอื่นคือ ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และชนพื้นเมืองดั้งเดิม

        รัฐธรรมนูญประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ยังให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ระบบกฎหมายมีพื้นฐานอยู่บนระบบคอมมอนลอว์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายอังกฤษ  ระบบศาลในประเทศมาเลเซียเป็นระบบศาลเดี่ยว (Unified Court) มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีทุกประเภททั้ง คดีเพ่ง คดีอาญา และคดีปกครอง ซึ่งรวมถึงศาลประจำรัฐ (State Courts) และศาลประจำประเทศ (Federal Court) คดีส่วนใหญ่ถูกนำขึ้นพิจารณาคดีต่อศาลแขวง และ Session Court 
      เนื่องจากมาเลเซียใช้กฎหมาย 2 ระบบ ปัจจุบันมาเลเซียกำลังพัฒนากฎหมายอิสลามที่เรียกว่ากฎหมายชะรีอะฮ์ (Syariah) เพิ่มอำนาจศาลชะรีอะฮ์ (Syariah Court) โดยคดีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตแบบอิสลาม เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว จะถูกนำเข้าสู่ศาลอิสลาม ศาลอิสลามจะมีอำนาจใช้มาตรการลงโทษตามกฎหมายชารีอะห์ เช่น ขว้างหินจนตาย หรือตัดอวัยวะ ส่วนคดีทั่วไปจะขึ้นสู่ศาลในระบบสากล 
      ประมุขแห่งรัฐเป็นพระมหากษัตริย์หรือที่เรียกว่ายังดีเปอร์ตวนอากง ทรงได้รับเลือกจากบรรดาเจ้าผู้ครองรัฐในมาเลเซียตะวันตก 9 รัฐ โดยทรงดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ส่วนหัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี
       ความเชื่อเรื่องคำสาบานของชาวมุสลิมในมาเลเซียนั้นมาจากคำสอนในศาสนาอิสลามซึ่งมีบทบัญญัติไว้ละเอียดชัดเจน การสาบาน (อัลยะมีน) คือ การเน้นย้ำสิ่งที่สาบานด้วยการกล่าวถึงนามของอัลเลาะฮ์ หรือด้วยพระนามหนึ่งจากบรรดาพระนามของพระองค์ หรือด้วยคุณลักษณะหนึ่งจากคุณลักษณะของพระองค์ในรูปแบบที่เฉพาะ และเรียกอีกชื่อว่าอัลหัลฟ และอัลเกาะสัม การสาบานนั้นเป็นการสาบานที่สมบรูณ์ต่อเมื่อ
       3.3.1. เป็นผู้ที่บรรลุศาสนภาวะมีสติสัมปชัญญะ เป็นการสาบานต่อเรื่องที่เป็นอนาคตและสามารถเป็นไปได้ เช่น การสาบานว่าจะไม่เข้าบ้านคนนั้นคนนี้
       3.3.2. เป็นการสาบานโดยสมัครใจ หากเขาสาบานโดยถูกบังคับการสาบานของเขาถือว่าไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
       3.3.3. ตั้งเจตนาในการสาบาน การสาบานโดยไม่ตั้งเจตนาถือว่าไม่สมบรูณ์ เช่น คนที่เคยชินกับการสาบาน 
     3.3.4. การผิดคำสาบาน เช่น กระทำตรงกันข้ามกับคำสาบาน กระทำในสิ่งที่สาบานว่าจะละทิ้งหรือละทิ้งในสิ่งที่สาบานว่าจะกระทำ เป็นการกระทำโดยสมัครใจและรู้สึกตัว เมื่อกระทำผิดคำสาบานจำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชย (กัฟฟาเราะฮฺ) มีกรณีดังต่อไปนี้
     3.3.4.1. แจกจ่ายอาหารให้แก่คนยากจนจำนวน 10 คนโดยให้แจกแต่ละคนครึ่งศออฺ (ประมาณ 2 ลิตร) เป็นอาหารหลักประจำวัน เช่น ข้าวสาร อินทผลัม ข้าวสาลี ฯลฯ หรือหากเขาประสงค์เลี้ยงอาหารเที่ยงหรืออาหารเย็นให้แก่คนยากจนจำนวน 10 คนก็ถือว่าเป็นการใช้ได้
    3.3.4.2. ให้อาภรณ์เครื่องนุ่งห่มแก่คนยาจนจำนวน 10 คน เป็นเครื่องนุ่งห่มที่ใช้สวมใส่ละหมาดได้
   3.3.4.3. ให้ปล่อยทาสผู้ศรัทธา

       ให้เลือกปฏิบัติจาก 3 ประการที่กล่าวผ่านมา หากเขาไม่สามารถปฏิบัติตามที่กล่าวมาได้ก็ให้ถือศีลอด 3 วัน และไม่อนุโลมให้ถือศีลอดนอกจากว่าไม่มีความสามารถที่จะปฏิบัติตาม 3 อย่างที่ได้กล่าวผ่านมาแล้ว
    แก่นแท้ของการสาบานตามหลักศาสนาอิสลามนั้น การสาบานนั้นขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนาของผู้สั่งให้สาบาน  ดังนั้นเมื่อผู้พิพากษา (กอฎี) สั่งให้สาบานในเรื่องการฟ้องร้องหรือเรื่องอื่นๆ ดังนั้นจำเป็นที่การสาบานนั้นต้องเป็นไปตามการตั้งเจตนาของผู้สั่งใช้ให้สาบานมิใช่ตามการตั้งเจตนาของผู้สาบาน และหากว่าเขาสาบานโดยไม่ได้รับคำสั่งก็จะเป็นไปตามการตั้งเจตนาของผู้สาบาน จะเห็นได้ว่าศาสนาอิสลามนั้นบัญญัติเรื่องการสาบานไว้สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้งที่สุด


    มาเลเซียได้มีการตราพระราชบัญญัติ Oaths and Affirmations Act 1949 (Revised 1977) ว่าด้วยการกล่าวคำสาบานต่อพระเจ้าและการปฏิญาณตนว่าจะให้การด้วยคำสัตย์จริง ซึ่งหลักการคล้ายของอังกฤษ
      แต่พระราชบัญญัตินี้ ไม่ได้ระบุว่าผู้กล่าวคำสาบานจะต้องวางมือบนคัมภีร์ทางศาสนาแล้วยกมือข้างหนึ่ง การกล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณตนกระทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ศาล (Officer) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษา มีรูปแบบฟอร์มคำสาบานและปฏิญาณตนใช้เหมือนกันทั่วประเทศ และระบุว่าผู้ที่จะต้องกล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณตน คือ พยาน ล่าม ผู้แปลคำถามให้พยาน และคณะลูกขุน

4. สรุปและอภิปรายผล
   ในการค้นคว้าวิจัยได้พบประเด็นข้อสงสัยว่ารูปแบบคำสาบานในศาลไทยขัดต่อหลักศาสนาอิสลามและคริสต์หรือไม่? จึงได้ทำการสัมภาษณ์ความเห็นเมื่อได้อ่านรูปแบบคำสาบานได้ผลดังนี้
     ได้สัมภาษณ์ผู้นับถือศาสนาอิสลามท่านหนึ่งจากจังหวัดสงขลา ให้ความเห็นว่า รูปแบบการกล่าวคำสาบานต่อองค์อัลเลาะฮ์ก่อนพยานเบิกความในศาลไทยไม่ผิดหลักศาสนา เพราะไม่ได้สาบานต่อสิ่งอื่นที่เป็นภาคีต่อพระองค์ (หรือไม่ได้สาบานต่อวิ่งอื่นที่นำมาเทียบเท่าพระองค์)
     ได้สัมภาษณ์ผู้นับถือศาสนาคริสต์ท่านหนึ่งจากจังหวัด กรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่า รูปแบบการกล่าวคำสาบานก่อนพยานเบิกความในศาลไทย ไม่แน่ใจว่าอาจจะผิดหลักศาสนา 
      ผมได้ทำการค้นคว้าดังในข้อ 3.2 มีความเห็นว่า ชาวคริสต์กล่าวคำสาบานต่อพระเยซูได้ หากคำสาบานนั้นใช้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง
     ประเด็นที่ข้อสงสัยอีกประการคือ ไม่สามารถค้นหารูปแบบคำปฏิญาณตนในศาลไทยหากพยานไม่ประสงค์กล่าวคำสาบานจึงเกิดข้อสงสัยในสิทธิข้อนี้ จึงได้สัมภาษณ์ ทค.วิสุทธิ์ พุฒพวง ให้ความเห็นว่า Right to affirmation มีการแจ้งสิทธิตลอดมา และคำปฏิญาณตนในศาลไทยใช้สำหรับคนที่ไม่มีศาสนาหรือศาสนาอื่นที่ไม่มีรูปแบบคำสาบาน
       จากการค้นคว้าวิจัยแบบ Documentary research เพื่อนำมาเปรียบเทียบคติความเชื่อทาง วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา เกี่ยวกับคำสาบานของชาว พุทธ คริสต์ และอิสลาม ในกระบวนการพิจารณาคดีศาลและกฎหมายของ ไทย อังกฤษ และมาเลเซีย สรุปได้ดังนี้

    คติความเชื่อทาง วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา มีการตราพระราชบัญญัติการสาบานและปฏิญาณตน ไม่สาบานหรือปฏิญาณตนไม่ชอบด้วยกฎหมายรับฟังพยานไม่ได้ คำสาบานและปฏิญาณตนในแต่ละศาลเหมือนกันทั่วประเทศ ปฏิเสธคำสั่งศาลให้สาบานหรือปฏิญาณตนมีโทษอาญา



     ผมอาจจะยังค้นคว้าไม่ครบ แต่เท่าที่ค้นคว้าได้ในประเด็นสำคัญคือ ในกฎหมายอังกฤษและมาเลเซีย หากพยานไม่กล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณตน พยานหลักฐานไม่ถือว่าเป็นโมฆะตัดทิ้งเสียทีเดียว เพียงแต่พยานจะมีน้ำหนักน้อยในการรับฟัง และไม่มีโทษทางอาญา
        แต่ในกฎหมายไทยหากพยานไม่กล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณตน ถือว่าพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมายรับฟังไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธคำสั่งศาลให้กล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณตนดังในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 171 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดขัดขืนคำสั่งของศาลให้สาบานตน ปฏิญาณ ให้ถ้อยคำหรือเบิกความ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” ทิ้งไว้ให้คิดต่อแค่นี้


อ้างอิง
[1] สุภางค์จันทวานิช. ทฤษฎีสังคมวิทยา. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2559
[2] อาทิตย์ ศรีจันทร์. องค์พยานในการกระทำสัตย์สาบานในพระไอยการลักษณะพยานและลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง. วารสารมนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 2552
[3] อาทิตย์ ศรีจันทร์. การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมคําสัตย์สาบานของไทย. วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2552
[4] ศ.ไชยรัตน์ เจริญโอฬาร. อัตวิสัย/วัตถุวิสัยในสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มกราคม 2558
[5] Kit kinports. Criminal Procedure in perspective. Journal of Criminal law and Criminology. Volume 98, issue 1 fall. 2008
[6] The difference between ‘affirmation’ and ‘oath’, BBC news, 20 May 2015. 
  (http://www.bbc.com/news/magazi… )
[7] The Antiquities of the Jews. Flavius Josephus. AD 93 or 94 (หนังสือโบราณไม่สามารถหาสำนักพิมพ์)<p></p>

[8] หนังสือบุตรสิรา  (หนังสือโบราณไม่สามารถหาสำนักพิมพ์)
http://www.kamsonbkk.com/eccle... 

[9] มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์. การสาบาน. หนังสือมุุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์. 
[10] Oaths and Affirmations Act 1949 (Revised 1977). Law of Malaysia. 1 January 2006.
[11] Oaths Act 1978. Law of UK

หมายเลขบันทึก: 643760เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2018 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2018 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท